บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง
1. ถ้าย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2001 ที่ Fast & Furious ภาคแรกเพิ่งออกฉาย เชื่อว่าไม่น่าจะมีใครคิดว่าหนังรถซิ่งเรื่องนั้นกลายเป็นแฟรนไชส์ที่อยู่ยั้งยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้นะครับ แถมไม่ใช่แค่ตัวซีรี่ส์เองจะสร้างฐานแฟนคลับได้อย่างแข็งแรงเท่านั้น แต่ยังขยายสเกลหนังให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่ากลายเป็นหนังทุนหนา ที่แต่ละภาคกะหวังรายได้กันที่หลักพันล้านเหรียญไปแล้ว
ผมเองไม่ใช่แฟนของ Fast & Furious มาตั้งแต่แรก และเอาเข้าจริงช่วงแรกๆ ที่เพิ่งได้มีโอกาสดูก็อดจะส่ายหัวให้กับความโอเวอร์ (ถึงขั้นขี้โม้) ของแฟรนไชส์นี้อยู่บ่อยๆ ไม่ได้ ทว่าพอถึงจุดหนึ่ง จากที่เคยมองว่าเป็นแค่หนังบล็อกบัสเตอร์ฆ่าเวลา ไม่มีอะไรมากไปกว่ารถแข่งหรูๆ และการดีไซน์ฉากระเบิดภูเขา เผากระท่อมอันสุดแสนระทึก ผมก็กลับค่อยๆ พบว่า จริงๆ แล้ว Fast & Furious ก็มีอะไรที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน และซึ่ง The Fate of the Furious ภาคที่แปดของซีรี่ส์นี้ ก็สร้างความบันเทิงให้กับผมมากทีเดียวครับ
2. เรื่องย่ออย่างคร่าวๆ คือ ภาคนี้ดอมทรยศครับ ใช่ครับ ดอมินิค ทอเรตโต หรือพี่วิน ดีเซลของเรา ผู้ซึ่งมักจะปรากฏตัวพร้อมประโยคคมๆ ที่มักพ่วงท้ายคำว่า ‘ครอบครัว’ คราวนี้กลับเป็นฝ่ายทรยศครอบครัวเสียเอง ทั้งเลตตี้ (มิเชล โรดิเกซ) คนรักสาว และลุค ฮอบส์ (เดอะร็อค) เพื่อนรักผู้เคยผ่านภารกิจเสี่ยงตายมาด้วยกัน ไม่มีใครเชื่อว่าจู่ๆ คนที่เชิดชูสถาบันครอบครัวอย่างดอมจะหักหลังกันได้ง่ายๆ แต่ก็เพราะตัวร้ายของภาคนี้อย่างไซเฟอร์ (ชาลีซ เธอรอน) ก็ดันเปิดไพ่ไม้ตายที่ทำให้คนอย่างดอมถึงกับต้องยอมทรยศเหล่าบุคคลที่เขารัก และซึ่งไอ้ไพ่ตายที่ว่านี้ก็ไม่ใช่อะไรอื่น แต่คือครอบครัวอีกครอบครัวหนึ่ง คือเอเลน่า กับลูกชายของเธอและดอมนั่นเอง
3. แน่นอนว่า ‘ครอบครัว’ คือธีมหลักของซีรี่ส์นี้ และซึ่ง The Fate of the Furious ก็ยังยึดมั่นอยู่กับธีมนี้ และเลือกนำเสนอมันออกมาในฐานะของเหตุผลที่สร้างความชอบธรรมต่อวินาศกรรมอันรุนแรงที่เกิดขึ้นบนจอ ครอบครัวคือแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ผลักพาให้ตัวละครต่างๆ ยินยอมที่จะเสี่ยงชีวิต และยอมให้มือต้องแปดเปื้อนเลือด ดอมคือตัวอย่างอันชัดเจนของมนุษย์ผู้ยินยอมถวายชีวิตเพียงเพื่อจะรักษาสถานะครอบครัวของเขาไว้ นั่นคือ หากต้องเลือกระหว่างอะไรสักอย่างหนึ่งกับครอบครัว ไม่ต้องสงสัยว่าคำตอบของเขาคือครอบครัวเป็นแน่ เพียงแต่เมื่อการต้องเลือกในภาคนี้ของเขา คือ ครอบครัว A กับ ครอบครัว B มันจึงไม่มีทางเลยที่เขาจะเลือกแค่สักข้อหนึ่ง ดอมต้องการจะรักษาครอบครัวทั้งสองของเขาเอาไว้ ซึ่งเป็นระหว่างที่ดอมต้องกลายเป็นตัวเบี้ยที่เคลื่อนไปตามเกมของคนอื่นนี่เองครับ ที่คล้ายว่าได้มีมือซึ่งมองไม่เห็นได้ยื่นเข้ามากำกับการกระทำของตัวเขา
มือที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงตัวร้ายอย่างไซเฟอร์เสียทีเดียว เพราะเธอเองก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของมือซึ่งมองไม่เห็นนี้เหมือนกัน ซึ่งมันก็ไม่ใช่อะไรอื่น แต่คืออำนาจของผู้กำกับนั่นแหละครับ กล่าวคือ ตัวละครต่างๆ ในเรื่องไม่ได้ขับเคลื่อนไปด้วยเจตจำนงเสรีของพวกเขาเอง พวกเขาไม่ได้เลือกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามเจตนาอันเป็นอิสระของพวกเขา แต่กลับเคลื่อนที่ไปอย่างกับหมากรุกที่ไม่อาจเคลื่อนที่เองได้ รอคอยแต่การตัดสินใจของผู้เล่น (ซึ่งก็คือผู้เล่น หรือผู้มีอำนาจ) ในการจะพาพวกเขาไปยังตำแหน่งต่างๆ ถูกกำหนดไว้แล้วล่วงหน้า
เปรียบเทียบให้ชัดขึ้นก็คงคล้ายกับตัวละครต่างๆ ในหนังของผู้กำกับอย่างเดวิด เฟเชอร์ ที่ตัวละครในหนังของเขาไม่ต่างอะไรกับฟันเฟืองในเครื่องจักร ซึ่งดำเนินไปตามระบบที่ถูกจัดวางไว้แล้ว นั่นคือเพื่อรับใช้ประเด็นของหนัง ตัวละครของฟินเชอร์มักให้ความรู้สึกที่อึดอัดและเป็นระเบียบแบบแผน ซึ่งต่างก็เคลื่อนที่ไปตามช่องตารางซึ่งถูกตีไว้ก่อนแล้ว และหน้าที่ของตัวละครนั้นๆ ก็จะสิ้นสุดลงเมื่อประเด็นในหนังได้ถูกคลี่คลาย
4. เอเลน่า หรืออดีตคนรักของดอมคือหนึ่งในตัวอย่างของตัวละครที่ปรากฏตัวขึ้นในภาคนี้เพียงเพื่อจะรับใช้ประเด็น ‘ครอบครัว’ ในหนัง หรือก็คือ ในการที่เอเลน่ายังมีชีวิตอยู่นั้น ตัวดอมก็จะยังมีชนักปักหลังในความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเลตตี้ ด้วยเหตุนี้เอง ในฉากที่เอเลน่าถูกไซเฟอร์ยิงจนเสียชีวิตนั้น มันจึงเป็นดั่งภารกิจที่ไซเฟอร์ไม่อาจเลือกได้ตั้งแต่แรกว่า ‘จะทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’ เพราะมันไม่มีทางเลือกอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ไซเฟอร์ต้องยิงเพียงเพื่อรับใช้ประเด็นครอบครัวของดอม เพื่อจะชำระสิ่งติดค้างต่างๆ และปลดปล่อยดอมให้สามารถหวนคืนสู่แนวคิดแบบ Monogamy หรือ ความเชื่อแบบผัวเดียวเมียเดียวได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เราจะเห็นได้ว่า ฉากการประหารตัวละครสำคัญเพียงสั้นๆ นี้ ไม่ได้ให้น้ำหนักหรือความสนใจกับการจากไปของตัวละครนี้แต่อย่างใด นั่นเพราะมันเป็นสิ่งที่จะอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เป็นฉากสั้นๆ ที่ควรจะสร้างความน่าเกรงขามให้กับไซเฟอร์ได้ แต่เพราะหลังจากนั้นเราไม่ได้เห็นถึงความชั่วร้ายหรือเลือดเย็นในตัวเธออีกเลย กลับจะมีแต่ความร้อนรน โวยวาย ลุกลี้ลุกลน ท้ายที่สุดไซเฟอร์จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าตัวละครไร้น้ำหนัก และแรงจูงใจ หรือแค่หมากตัวหนึ่งที่ดำเนินไปตามเกมของซีรี่ส์ชุดนี้ก็แค่นั้น
5. The Fate of the Furious หรือพูดให้ถูกคือ ซีรี่ส์ Fast and Furious เอง ถือเป็นแฟรนไชส์ที่เรียกร้อง suspension of disbelief จากคนดูที่สูงมากทีเดียวครับ หรือก็คือ ต่อให้เหตุการณ์ตรงหน้ามันจะไม่เมคเซนส์ ไม่น่าเชื่อขนาดไหน แต่ขออย่าเพิ่งตั้งแง่ ตั้งคำถาม ให้เชื่อตามที่หนังนำเสนอไปก่อนเพื่อที่ความบันเทิงของตัวหนังจะได้ไม่ถูกขัดจังหวะ ซึ่งในภาคแปดนี้ก็ยังเรียกร้องให้คนดูโยนตรรกะต่างๆ ของโลกความจริงทิ้งไป และปล่อยใจไปกับความวินาศสันตะโรที่หนังประเคนให้อย่างไม่บรรยะบรรยัง
และด้วยการที่หนังดูจะรู้ตัวเองดีว่ากำลังเรียกร้องอะไรจากคนดู (เห็นได้ชัดจากฉากที่ดอม ทอเรตโตแกล้งบอกว่ากำลังซ่อมรถ แต่จริงๆ คือแอบเข้าไปวางแผนในบาร์ใกล้ๆ อย่างใจเย็น และไม่รีบร้อน แม้ในตอนหลังหนังจะพยายามหาเหตุผลให้กับฉากนี้ แต่ด้วยท่าทีแสนจะนิ่งสงบของดอมเองก็แสดงให้เห็นถึงการไม่เดือดเนื้อร้อนใจว่าหนังจะต้องวางพาดอยู่บนตรรกะของโลกแห่งความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์) การโกงความจริงของมันจึงถือเป็นเรื่องยอมรับได้ เพราะมันไม่ได้พยายามจะยัดเยียดตัวเองอยู่ในโลกแห่งตรรกะ หรือความสมเหตุสมผลตั้งแต่แรกแล้ว จึงได้สร้างมาตรฐานให้กับตัวซีรี่ส์เองแล้วว่า Fast & Furious ไม่จำเป็นจะต้องเคร่งครัดต่อกฎฟิสิกส์โลก หรือระเบียบการต่างๆ นานาอีกต่อไป
เพราะเหตุนี้การมีฉากอย่างเรือดำน้ำไล่ล่ารถแข่งบนผืนน้ำแข็งจึงไม่ใช่อะไรที่จะมานั่งจับผิด หรือชวนหงุดหงิดใจ จัดเป็นความบันเทิงที่จงใจสร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการของคนดูอย่างไม่ประนีประนอมต่ออะไรใดๆ อีกแล้ว เอาเข้าจริงผมยังแอบลุ้นว่าภาคหน้าจะได้เห็นฉากรถไปซิ่งกันบนอวกาศ หรือวงแหวนดาวเสาร์เลยนะครับ คงจะมันส์ดีไม่น้อย 😛