เพราะสถาบันทางการเมืองของรัฐ เป็นพื้นที่ของผู้ชายและ ‘ความเป็นชาย’ เมื่อพูดคำว่า ‘นักการเมือง’ เรามักเห็นหน้าผู้ชายลอยมา ผู้หญิงที่จะมาประกอบอาชีพนักการเมือง จึงมักถูกเรียกว่า ‘นักการเมืองหญิง’ มีเพศของเธอเป็น suffix ให้กับอาชีพ
ครั้งบ้านเมืองยังดีอยู่ หรือบ้านเมืองยังเป็นเสรีประชาธิปไตยมีการเลือกตั้ง วัฒนธรรมการเรียกนักการเมืองเพศหญิงของสื่อมวลชนกระแสหลัก ก็มักจะถูกเรียกด้วยชื่อเล่นตามหลังคำว่า ‘น้อง’ เช่น ‘น้องแบม’ จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ โฆษกพรรคและรองเลขาธิการพรรคชาติไทย, ‘น้องยิ้ม’ วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ และ ‘น้องเดียร์’ ขัตติยา สวัสดิผล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ราวกับว่านักการเมืองที่เป็นผู้หญิง ยังไม่ได้รับการยอมรับว่าโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ยังคงเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลา ต่ำศักดิ์กว่า ควรค่าแก่การถูกผู้ชายอบรมสั่งสอน ต้องพึ่งพิงได้รับการปกป้องดูแลโดยผู้ชาย[1] ขณะเดียวกันก็ให้คุณค่าความหมายน่าเอ็นดู น่ารัก เป็นรองบนพื้นฐานของความเลื่อมล้ำทางสถานะทางสังคม แต่เมื่อเทียบกับผู้ชายในแวดวงการเมือง แม้ว่าจะไม่ได้มาจากการยินยอม การเลือกตั้งโดยประชาชนแต่เป็นทหารที่เข้ามายึดอำนาจ ก็มักได้รับการตั้งฉายาจากสื่อมวลชนด้วยคำว่า ‘บิ๊ก’ นำหน้า เช่น ‘บิ๊กบัง’ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน, ‘บิ๊กป๊อก’ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา, หรือ ‘บิ๊กตู่’ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะเรียกชื่อเล่นเพื่อง่ายต่อการจำและสร้างความใกล้ชิดสนิทสนม แต่ก็มีนัยยะถึงอำนาจบารมีเหนือกว่า ซึ่งก็สอดคล้องกับระบอบเผด็จการ
ขณะเดียวกัน ความสวยความงามก็กลายเป็นวัฒนธรรมการเมือง ผู้หญิงที่เป็นนักการเมืองจะถูกจับจ้องทั้งเสื้อผ้าหน้าผมรองเท้าสรีระว่าสวยเก๋เหมาะสมหรือไม่ที่แต่งตัวเช่นนั้น ขณะที่ผู้ชายมักปลอดจากการควบคุมกำกับด้วยสายตาเช่นนี้ ความสวยจึงเป็นต้นทุนในการสร้างประชานิยม เครื่องมือในการเอาชนะเข้ามามีอำนาจทางเมือง เช่นผู้หญิงในสภาผู้แทนราษฎร เย็นจิต ระพีพัฒน์ เคยเป็นนางเอกและผู้ประกาศข่าวก่อนจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพสังกัดพรรคประชากรไทย,[2] ปวีณา หงสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพฯ ก็เคยทำงานนิตยสาร Lookeast Magazine และเป็นน้องสาวของ อาภัสรา หงสกุล ผู้เป็นนางงามจักรวาลชาวไทยคนแรก, และศรีสกุล พร้อมพันธุ์ ขณะที่แต่งงานกับ พรเทพ เตชะไพบูลย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เธองามสะจนคนอ้าปากค้างมากกว่าฟังสิ่งที่เธอพูด[3] แต่แทบไม่มีใครสนใจความสามารถของพวกเธอ
เนื้อตัวร่างกายของ ‘นักการเมืองหญิง’ จึงเหมือนถูกจับกางขึงพืดกลางที่สาธารณะมากกว่า ‘นักการเมืองชาย’
และแม้ผู้หญิงจะสามารถก้าวจากครัวเรือน ออกสู่พื้นที่การเมืองภาครัฐที่เป็นพื้นที่สาธารณะ แต่พวกเธอก็ไม่ได้ตัดขาดจากพื้นที่ส่วนบุคคลภายในบ้าน ครอบครัว การแต่งงาน เครือญาติในฐานะแหล่งทรัพยากรและเครือข่ายทางการเมือง แม้จะมาจากการเลือกตั้งเป็นตัวแทนของประชาชน แต่เธอก็ยังถูกมองว่าเป็นสมาชิกในครอบครัวของนักการเมืองด้วยกันอยู่ดี อาชีพนักการเมืองของพวกเธอถูกให้ความหมายว่าเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว แทนที่จะมองอุดมการณ์และความพยายามเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เช่นขัตติยา สวัสดิผล ก็ยังมีภาพลักษณ์ว่าเป็นลูกสาวของ ‘เสธ.แดง’ ขัตติยะ สวัสดิผล เช่นเดียวกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีภาพของน้องสาวทักษิณ ชินวัตรมากกว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
นักวิชาการที่สนใจการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ James Ockey ได้ตั้งข้อสังเกตว่าสภาผู้แทนราษฎรไทยมีแบบแผนหรือธรรมเนียมปฎิบัติประการหนึ่งคือ ทั้งเครือข่ายคะแนนเสียงและโครงสร้างการทำงานของพรรคการเมืองมีสายสัมพันธ์ส่วนบุคคลจัดการอยู่ ผู้หญิงที่สมัครรับเลือกตั้งจำนวนมากมักมีสมาชิกครอบครัวมีที่นั่งอยู่ในรัฐสภาแล้ว เธอมักเป็นลูกสาวหรือภรรยาของส.ส.อยู่ก่อนแล้ว จากการสำรวจพบว่า ผู้หญิงที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภาก็จะใช้นามสกุลร่วมกับส.ส. ที่มีอยู่แล้ว มากกว่าผู้ชายที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา เช่นเดียวกับโอกาสที่ผู้หญิงจะได้อยู่ในคณะรัฐมนตรี สุพัตรา มาศดิตถ์ผู้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ่อของเธอ สุรินทร์ มาศดิตถ์ ก็เคยดำรงมาก่อน เช่นเดียวกับ กัญจนา ศิลปอาชารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นลูกสาวบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี[4]
เป็นเช่นนี้ตั้งแต่แรกมีผู้หญิงเข้ามาเป็นนักการเมือง ในปี 2492 ส.ส.หญิงคนแรกของไทยมาจากจังหวัดอุบลราชธานี เธอชื่อ อรพิน ไชยกาล เป็นภรรยาของ เลียง ไชยกาล ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกของจังหวัดและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย[5] การหาเสียงของอรพิน ใช้คำขวัญโฆษณาว่า “งัวงามคู่” หมายถึงวัวสองตัว เธอและสามี ที่ใช้เป็นคู่ลากเกวียน ที่มีความแข็งแรง งดงามทัดเทียมกัน รับใช้ชาวอุบลราชธานี เพราะสามีของเธอได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยอยู่ก่อนแล้ว ก่อนจะย้ายมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก่อนจะย้ายมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2494 เธอพ้นตำแหน่งส.ส.เมื่อรัฐประหาร 2494 และเมื่อมีการเลือกตั้งพ.ศ. 2495 เธอและสามี ชนะการเลือกตั้งและเข้าทำงานในสภาอีกครั้งและได้อยู่ครบวาระ
และในการเลือกตั้งปี 2492 นี้ยังมีผู้หญิงอีก 2 คน ที่ก้าวเข้ามาสู่รัฐสภาพร้อมกันคือ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภรรยาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเอง และคุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ภริยา ควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นส.ว.[6]
เมื่อความงามและสถาบันครอบครัวสัมพันธ์กับตำแหน่งแห่งที่ของ ‘นักการเมืองหญิง’ พวกเธอจึงถูกคาดหวังให้ต้องนิ่มนวล มีมารยาท เจียมเนื้อถ่อมตัว ไปจนถึงมีภาพแม่ผู้รักลูก ภรรยาผู้เลื่อมใสในศาสนา
ถ้ายังไม่มีลูกผัวอย่างน้อยก็ต้องมีภาพรักเด็กอ่อนอย่างมีเมตตากรุณา เพื่อให้มี ‘ความเป็นเพศหญิง’ ตามอุดมคติ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริหารการเมืองภาครัฐแต่อย่างใด
ในขณะเดียวกันกระบวนการทำร้ายเธอก็เป็นเรื่องง่ายมาก โดยไม่ต้องมีความรู้ความเข้าใจอะไรเกี่ยวกับการเมืองเลยก็ได้ ขอแค่ผลิตซ้ำมายาคติภาพเหมารวม ‘ความเป็นเพศ’ ว่าผู้หญิงต้องอ่อนแอ จิตใจไม่มั่นคงเด็ดเดี่ยว ไม่กล้าตัดสินใจอ่อนแอ จนไม่สามารถแบกรับปัญหาประเทศได้ หรือไปหยิบเรื่องเพศสักเรื่องมาใส่ร้ายป้ายสีโจมตีด่าทอ มีชู้บ้าง เป็นกิ๊กบ้าง ไม่ว่าเรื่องเพศสัมพันธ์ของเธอนั้นจะจริงหรือไม่ก็ตาม
และเมื่อผู้หญิงได้เป็นนายกรัฐมนตรี ระดับการโจมตีทางเพศบนที่สาธารณะก็ยิ่งเข้มข้นและต่ำตมลงเรื่อยๆ อย่างที่นายกรัฐมนตรีชายจะไม่เคยต้องประสบพบเจอ ตั้งแต่สรรหาคำด่า อีร่าน อีแรด กะหรี่ ลามไปถึงอวัยวะเพศของเธอ
ประเสริฐ วศินานุกร บุคลากรจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ขึ้นปราศรัยบนเวที กปปส. เมื่อเดือนมกราคม 2557 กล่าวเหยียดหยามทอยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะรักษาการนายกรัฐมนตรี ว่า “จะทำรีแพร์ให้ใหม่ชนิดที่สามีคนต่อไปต้องยกนิ้วให้” หรือ “ยังไม่สายเกินไปที่คุณยิ่งลักษณ์จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะยังไม่แก่เกินไปที่จะเป็นนางแบบปฏิทิน เพราะว่าประจำเดือนยังไม่หมด” ไปจนถึงหากเธอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนไทยทั้งประเทศอาจจะทำเหรียญยิ่งลักษณ์แก้ผ้าให้ก็ได้ และเขาจะเป็นผู้เสียสละซื้อและเปลี่ยนโกเต๊กให้ตลอดไป[7]
จนมันกลายเป็นการล่วงละเมิดและความรุนแรงทางเพศ เพราะภายใต้วัฒนธรรมข่มขืน การข่มขืนชำเราไม่ใช่ทางกายภาพเท่านั้น หากแต่มันยังสามารถกระทำผ่านทางอื่นได้ (ผลของมันก็แตกต่างกันไป) ที่ไม่ว่าใครก็เป็นผู้กระทำและเหยื่อได้โดยไม่ต้องสัมผัสเนื้อตัวร่างกาย ไม่ต้องเห็นหน้าคร่าตาเผชิญกันซึ่งๆ หน้า และไม่ว่าผู้ข่มขืนและเหยื่อจะเป็นเพศอะไร โดยไม่เกี่ยวข้องกับรสนิยมทางเพศ เหมือนกับที่ ‘แตงโม’ ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ขึ้นเวทีกปปส. ราชดำเนินพร้อมพ่อของเธอ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 แล้วด่าทอยิ่งลักษณ์ ชินวัตรด้วยการเล่นคำผวนเป็นวลี ‘ปีแสบหู’
จากดาราที่มักสถาปนาตนเองว่าเป็น ‘บุคคลสาธารณะ’ มาสู่ ศิลปินแห่งชาติ (เรามีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องมีศิลปินแห่งชาติก็เป็นสิ่งที่ต้องขบคิดนะ) คำผวนยังคงถูกใช้อีกเครื่องมือในการล่วงละเมิดทางเพศกับเหยื่อคนเดิม ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือ ‘ไพฑูรย์ ธัญญา’ สาขาวรรณศิลป์ ก็ใช้วรรณศิลป์ของตนเองเขียนกลอนคำผวนด่ายิ่งลักษณ์ ‘หูคุณปี’ ไปจนถึงครูบาอาจารย์นักวิชาการสถาบันทักษิณคดีศึกษา จรูญ หยูทอง ใช้นามปากกา ‘รูญ ระโนด’ กับกลอน ‘ใครพาหูหนี’
อันที่จริง ต่อให้ไม่ต้องผวน ทุกคนเข้าใจกันได้อยู่แล้วว่าว่า ‘หู’ มีนัยยะถึงอะไร เช่นคำว่า ‘คันหู’ ‘สั้นเสมอหู’
ในการคุกคามล่วงละเมิดทางเพศครั้งนี้ เจ้าตัวออกมาแก้ตัวและลิ่วล้อก็พลอยออกมาช่วยแถไปแถมา อ้างวรรณศิลป์ภาษาไทยว่ามุกหูมุกหีนี่เป็นคำผวนใช้เพื่อความตลกโปกฮา ในลักษณะของหาสยรส (รสแห่งความขบขัน) รสหนึ่งของวรรณคดี เพื่อความสนุกสนานบันเทิง แถไปถึงวรรณกรรมเก่าแก่พื้นบ้าน ราวกับว่าตราบใดที่คนยังสามารถอ่าน ‘สรรพลี้หวน’ หรือ ‘พระเอ็ดยง’ ได้ เราก็มีความชอบธรรมผวนคำเที่ยวชี้หน้าด่าจิ๋ม ด่าจู๋คนนั้นคนนี้ได้
เรื่องแค่นี้ ไม่เพียงยังแยกไม่ออกระหว่างแฟนตาซีนิทานพื้นบ้านกับความรุนแรงทางเพศในชีวิตจริง แต่ยังได้รับการปกป้องอย่างเข้มแข็งขึ้นมาอีกโดยสถาบัน เมื่ออธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม อันเป็นหน่วยงานคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ปฏิเสธการร้องเรียนให้ถอดถอนไพฑูรย์ ธัญญาออกจากศิลปินแห่งชาติ อ้างว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ซ้ำพระเทพปฏิภาณวาที จากวัดสุทัศนเทพวราราม ก็แต่งกลอนโผเข้าปกป้องเช่นกันประมาณว่า ว่าอย่าทะเลาะแตกแยกกันเพียงเพราะกลอนบทเดียว ควรตักเตือนพองาม อย่าวิตถาร อย่าพล่านวิจารณ์ แต่ไม่ได้สนสี่สนแปดอะไรกับการล่วงละเมิดทางเพศในบทกลอนที่ว่า
เล่นขุดทั้งวัฒนธรรมท้องถิ่น วรรณกรรมพื้นบ้านก่อนสมัยใหม่มาอ้างสิทธิ ทั้งสยายจีวรมาห่มขนาดนี้ แถมหน่วยงานของรัฐยังแอ่นอกออกมาบอกว่าการคุกคามทางเพศลักษณะนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคล จนกระทั่งต่ำตมไม่หยุด ไม่ว่าใคร พระสงฆ์องค์เจ้าที่ไหนที่ในสมองพอจะมีแต่เรื่องพรรค์นี้ก็เห่กลอนผวนคำด่าคนอื่นเรื่องเพศสนุกมือสนุกปาก ทั้ง ‘หักยิ่งหลี’, ‘เหอของที’, ‘ดีเฝ้าเห็ก’, ‘หายของนีนี้อยากใช้ให้เข้าคิว’ ซ้ำยังแยกเขี้ยวขู่ว่าใครด่ากลับจะฟ้องแม่งให้หมด
อันที่จริง อวัยวะหีด้วยตัวของมันไม่ใช่ของต่ำ แต่ใครที่เที่ยวไปด่าคนอื่นเรื่องนี้ หรือคนที่พร้อมจะแก้ต่างให้นั้นต่ำ ต่ำตมกันทั้งรสนิยม อารมณ์ขัน สติปัญญา เพดานความคิด และสามัญสำนึก
เห็นที กระทรวงวัฒนธรรมธรรมคงต้องประกาศให้การข่มขืนชำเรา และความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นวัฒนธรรมประจำชาติไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Beauvoir, Simone de, translated and edited by H.M. The Second Sex. Parshley New York : Vintage Books, 1974, p. 665 อ้างถึงใน ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. เมื่อผู้หญิงคิดจะมีหนวด : การต่อสู้ “ความจริง” ของเรื่องเพศในสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2549, หน้า 8.
[2] พิศ ภูมิวิถี. (ม.ค. 2531). สัมภาษณ์ เย็นจิตร รพีพัฒน์ จากผู้ประกาศทางทีวี สู่ชีวิตนักการเมือง บานไม่รู้โรย 3,12.
[3] Ockey, James. (2005). Making democracy : leadership, class, gender, and political participation in Thailand.Chiang Mai : Silkworm Books, p. 62.
[4] Ibid, p. 60.
[5] นรนิติ เศรษฐบุตร. (20 กุมภาพันธ์ 2558). สส.หญิงคนแรกของไทย, เดลินิวส์
[6] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ). (2555). กาลานุกรมสยามประเทศไทย, 2485-2554. กรุงเทพฯ : โพสต์บุ๊กส์.
[7] ภัควดี วีระภาสพงษ์. (1 มกราคม 2557).จดหมายเปิดผนึก : กรณีการปราศรัยของแพทย์จากสงขลานครินทร์บนเวที กปปส. prachatai.com