ทุกวันนี้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ใกล้ตัวและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนยากที่ใครจะปฏิเสธอีกต่อไปว่ามันไม่ใช่ปัญหา ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์ยังถกเถียงกันอยู่ว่า เราควรพุ่งเป้าไปที่การเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยไม่เกินกี่องศากันแน่จึงจะถือได้ว่าเป็น ‘ระดับปลอดภัย’ ทุกวันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงในทางที่มนุษย์อยู่ยากขึ้น เราต้อง ‘ปรับตัว’ และหาทาง ‘บรรเทา’ ผลกระทบ ไม่ใช่หาทาง ‘ป้องกัน’ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะนั่นคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว สายเสียแล้วที่จะหาทางป้องกัน
ยังไม่นับข้อมูลเมื่อเร็วๆ นี้ (ต้นเดือนพฤษภาคม 2562) ของคณะทำงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติว่า สัตว์และพืชมากถึง 1 ล้านชนิดกำลังเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ หลักๆ จากกิจกรรมของมนุษย์ ตั้งแต่การจับจองและใช้ที่ดินในธรรมชาติ อาทิ ป่าเขตร้อน การล่าสัตว์ป่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางอากาศและน้ำ รวมถึงพลาสติกมหาศาลที่คุกคามชีวิตในทะเล ไปจนถึงชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่น ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิด ‘วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ’ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและคุกคามระบบนิเวศทุกชนิด
อย่างไรก็ดี มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราลงมือทำได้ทันทีเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์และชีวิตอื่น ตั้งแต่การลดขยะพลาสติกในทะเล เพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ในธรรมชาติ ปกป้องชุมชนของชนพื้นเมือง รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หยุดสร้างบนชายฝั่งที่กำลังจะหดหายจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น ไปจนถึงการหาวิธีปรับเปลี่ยนบ้านเรือนและอาคารต่างๆ ให้สามารถรับมือกับภาวะอากาศ ‘สุดขั้ว’ คือร้อนจัดและเย็นจัดได้ดีกว่าในอดีต
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า จู่ๆ ผู้เขียนก็นึกถึงประเด็นนี้ขึ้นมาตอนเวลาราวตีสอง ระหว่างนั่งจ้องจอและไม่สามารถฉุดตัวเองไปนอนได้ ขอโค่นต้นไม้หย่อมนี้อีกนิด ขุดเหมืองตรงโน้นอีกหน่อย รีดนมวัวตรงนู้นอีกสักสามขวดไปทำชีส อีกนิดเดียวเท่านั้นเอง…
Forager เกมอินดี้ฝีมือดีไซเนอร์ตัวคนเดียวนาม มารีอาโน “ฮ็อพฟรอก” คาวาลเลโร (Mariano “Hopfrog” Cavallero) จากอาร์เจนตินา เป็น ‘เกมขี้เกียจ’ (idle games หมายถึงเกมที่เรากดแล้วไปทำอย่างอื่นได้ ทรัพยากรหรือพลังของเราในเกมจะงอกเงยขึ้นเรื่อยๆ เอง) ที่สนุกติดหนุบหนับที่สุดเท่าที่ผู้เขียนรู้จัก แถมยังเป็น ‘มากกว่าเกม’ ตรงที่มันสามารถสะท้อนจุดแข็ง และจุดบอดของสำนักคิด ‘อิสรนิยม’ (libertarian) รวมถึงธรรมชาติของ ‘ทุนนิยมผูกขาด’ ซึ่งมักจะทวีอิทธิพลขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งในสังคมที่สำนักคิดนี้เป็นใหญ่
สำนักคิด ‘อิสรนิยม’ นับว่าเป็นฐานคิดของ ‘ลัทธิบูชาตลาด’ (market fundamentalism หรือ laissez-faire) ซึ่งยังคงครอบงำการเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในหลายประเทศ ถึงแม้จะเสื่อมอิทธิพลอย่างต่อเนื่องแล้วหลังจากที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขนานใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป และขณะที่ความรุนแรงเร่งด่วนของภาวะโลกร้อนทำให้คนตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ภาวะโลกร้อนคือ ‘ความล้มเหลวของตลาด’ (market failure) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และนี่ไม่ใช่ปัญหาที่ระบบตลาดจะแก้ไขได้ด้วยตัวมันเอง
Forager ดึงดูดเราตั้งแต่ฉากแรกด้วยกราฟิกการ์ตูนน่ารักและวิธีเล่นง่ายแสนง่าย เพียงคลิกเมาส์เพื่อใช้อุปกรณ์ในมือ หลักๆ คือพลั่วที่เราใช้ตัดต้นไม้และทลายก้อนหินและก้อนแร่ต่างๆ เพื่อเก็บทรัพยากรมาสร้างสิ่งปลูกสร้าง ทำอาหาร และผลิตเงินเพื่อซื้อดินแดนใหม่ๆ ใกล้เกาะเดิม เวลาเล่นได้อารมณ์ละม้ายคล้ายเกม Minecraft ผสม Stardew Valley เหยาะด้วยระบบเกมเล่นง่ายคลิกรัว (clicker games) แบบ Candy Box! ซึ่งกำลังมาแรง
ตัวเราในเกมคือก้อนขนมมาร์ชแมลโลว์พูดได้ เริ่มต้นจากศูนย์ทุกสิ่งอย่างบนเกาะโล่งๆ ให้เราบุกเบิกพัฒนา สร้างเนื้อสร้างตัวรวมถึงสร้างเศรษฐกิจของเกาะทั้งหมดขึ้นมาเองกับมือ ด้วยการคลิกเมาส์รัวๆ โค่นต้นไม้ ขุดดิน หาแร่ เก็บเบอร์รี่ ฯลฯ เพื่อสะสมทรัพยากรมาสร้างอาคารและอุปกรณ์ เรียนรู้สกิล (skill) ใหม่ๆ ซึ่งก็จะทำให้มีความสามารถมากขึ้น ปลดล็อกทรัพยากรชนิดใหม่ๆ ในเกม และค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งสกิลเหล่านี้ก็มีมากถึงหกสิบกว่าชนิดเลยทีเดียว
Forager เป็นเกมที่เหมาะกับคอเกมสายชิล ใครก็ตามที่อยากเล่นเกมเพื่อพักผ่อน (เพราะเครียดมามากแล้วกับโลกแห่งความจริง) เพราะทั้งเกมปราศจากความตึงเครียดใดๆ ถึงแม้ในเกมจะมีศัตรูที่วิ่งมาโจมตีให้พลังชีวิตเราลด เช่น เจลลี่ประสงค์ร้าย วัวดุ และสัตว์ประหลาดหลากชนิด ถ้าเราตายก็สามารถโหลดเซฟเก่ามาเล่นได้ทันที โดยที่ข้าวของต่างๆ ยังมีติดตัวเหมือนก่อนตาย ทำให้ไม่ต้องกลัวตาย (ถ้าเทียบกันแล้ว ความตายใน Minecraft น่ากลัวกว่าในเกมนี้มาก)
เวลาที่เราออกแรง (คลิก) ทำงานในเกมไปสักพักตัวเราในเกมจะเริ่มหิว แต่ถ้าไม่กินอะไรเลย เกมก็เพียงแต่จะร้องเรียกเราซ้ำๆ ให้หาอาหาร ซึ่งถึงแม้จะไม่มีเบอร์รี่ เนื้อสัตว์หรือเนื้อปลาสักชิ้นติดตัว และต่อให้แหล่งอาหารหมดทั้งเกาะแล้ว เพียงอดใจรอไม่นานในเวลาจริง เกมก็จะเสกพุ่มเบอร์รี่มาให้เราเก็บคลายหิว เพราะทรัพยากรทุกชนิดในเกมนี้ไม่มีวันหมด ถ้าเราปล่อยเกาะใดเกาะหนึ่งทิ้งไว้สักพัก พอกลับไปดูใหม่มันจะเต็มไปด้วยต้นไม้ ไก่ แมลง และหินแร่ให้แผ้วถางอีกรอบ
Forager สนุกกว่าเกมขี้เกียจทั่วไปเพราะมันมีอะไรๆ ให้ค้นหาและทำเยอะมากจนเวลา(จริง)จะผ่านไปอย่างรวดเร็ว การคลิกรัวในเกมนี้ช่วยเพิ่มแต้มประสบการณ์ พอถึงจุดหนึ่งก็จะได้อัพเลเวล ได้เลือกสกิลใหม่ สกิลเหล่านี้ช่วยปลดล็อกทรัพยากรชนิดใหม่ สร้างอาคารหรืออุปกรณ์ใหม่ หรือไม่ก็ทำให้เราผลิตสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (เช่น ทำให้ผลิตเหรียญจากแท่งทองคำได้มากกว่าเดิม 4 เหรียญต่อแท่ง)
สกิลหกสิบกว่าสกิลในเกมนี้แบ่งออกเป็นสี่สายด้วยกัน ได้แก่ สายอุตสาหกรรม สายเกษตรกรรม สายเวทมนตร์ และสายเศรษฐกิจ เราจะเน้นการอัพเกรดสกิลสายใดสายหนึ่งให้เก่งไปเลยก็ได้ หรือพยายามสร้างสมดุลระหว่างหลายๆ สายก็ได้ แต่ละสายมีความเจ๋งของมัน สายอุตสาหกรรมนำทางไปสู่หุ่นยนต์และการปรับระบบการผลิตเป็นระบบอัตโนมัติ สายเวทมนตร์ปูทางสู่ระเบิดทรงพลังที่ขุดแร่รวดเดียวได้ทั้งเกาะ และคาถาที่ ‘เรียก’ ภูตและสัตว์ประหลาดมาหา สายเกษตรกรรมทำให้เราทำแปลงเกษตรขนาดใหญ่ได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ ส่วนสายเศรษฐกิจทำให้เราเป็น ‘นายทุน’ เต็มตัว นั่นคือ สร้างธนาคารมาใส่เงินแล้วรอเก็บกินจากดอกเบี้ย
ไม่มีทางไหนผิดทางไหนถูกใน Forager และไม่มีทางตันในเกม ทุกอย่างอยู่ที่การลองผิดลองถูกและความชอบส่วนตัวของเราเอง
ความเจ๋งของ Forager ก็คือพอเราทำอะไรซ้ำๆ จนใกล้จะถึงจุดเบื่อ เราจะเจอสิ่งใหม่ๆ ที่ปลุกความสนใจอีกรอบ ไม่ว่าจะเป็นพัซเซิลในดันเจี้ยน (บนเกาะที่เพิ่งไปซื้อมา) ตัวละครใหม่ในเกมที่มอบปริศนาให้แก้ หีบสมบัติลึกลับ หรืออุปกรณ์ใหม่ที่กระตุ้นให้ไปรื้อระบบการผลิตของเราเสียใหม่ ทำให้มันเป็นอัตโนมัติมากขึ้น ทุ่นแรงเราได้มากกว่าเดิม
ความสนุกติดหนึบของ Forager ส่วนหนึ่งอยู่ที่การหาทางสะสมทรัพยากรและผลิตสิ่งของต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเราค้นพบวิธีผลิตโดยอัตโนมัติ ถึงจุดหนึ่งเราจะภาคภูมิใจกับการได้เป็นนักอุตสาหกรรมมือฉมัง เจ้าพ่ออุตสาหกรรมการเกษตรรวยที่ วิศวกรชั้นหนึ่ง หรือนักผจญภัยชื่อก้อง เราสามารถเป็นทั้งหมดทั้งมวลนี้ได้ เพราะเราไม่มีคู่แข่งเลยใน Forager สิ่งเดียวที่เราต้องแข่งคือแข่งกับตัวเองเท่านั้น
ตราบใดที่เราขยัน(คลิก) ตราบนั้นเราก็จะได้รางวัล และโลกทั้งใบก็เป็นของเราแต่เพียงผู้เดียว
เราหยุดเล่น Forager ไม่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะเราหลงใหลในเสรีภาพที่เกมนี้มอบให้กับเรา และปลาบปลื้มที่เราได้เก็บเกี่ยวดอกผลของการลงแรงอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สะท้อนจุดแข็งของสำนักคิด ‘อิสรนิยม’ ซึ่งก็คือความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนกระหายอยากมีเสรีภาพ—รวมถึงเสรีภาพทางเศรษฐกิจ และเสรีภาพในการนำดอกผลจากน้ำพักน้ำแรงไปทำอะไรก็ตามที่เราอยากทำ (ชาว ‘อิสรนิยม’ จำนวนไม่น้อยต่อต้านการเก็บภาษีโดยรัฐทุกประเภท เพราะเชื่อมั่นว่าเงินที่หามาได้นั้นมาจากการลงแรงของตัวเองล้วนๆ โครงสร้างต่างๆ ทางสังคม อาทิ ระบบการศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ มีส่วนเกื้อหนุนน้อยมาก ดังนั้นรัฐจึงไม่มี ‘สิทธิ’ อะไรที่จะมาริบส่วนแบ่งรายได้ในรูปของภาษี)
อย่างไรก็ดี จุดเด่นของ Forager บางประการที่ทำให้มันสนุกวางไม่ลง ตั้งแต่การที่ทรัพยากรในเกมไม่มีวันหมด แต่ปรากฏใหม่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วยิ่งกว่ากามนิตหนุ่ม (ปลูกอะไรมันก็โตเต็มที่ภายในเวลาจริงไม่กี่นาที), การที่เราไร้ซึ่งคู่แข่ง ผูกขาดทรัพยากรทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว และการที่ผลพวงของการผูกขาดและตักตวงทรัพยากรทั้งหมดนี้ไม่มีผลเสียใดๆ เลย โดยเฉพาะสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ‘ผลกระทบภายนอก’ (externalities) นั่นคือ ไร้ซึ่งมลพิษ ไร้ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ท้องฟ้าในเกมสดใสอยู่เสมอไม่ว่าเราจะตั้งเตาเผาอิฐ เตาผลิตเหล็กกล้าเรียงกันเป็นตับกี่สิบเตา—จุดเด่นเหล่านี้ซึ่งไม่สมจริง (แต่จำเป็นต้องไม่สมจริงในเกม) อย่างรุนแรง ล้วนสะท้อน ‘จุดบอด’ ของลัทธิบูชาตลาด โดยเฉพาะความเชื่อรากฐานที่ว่าตลาดรู้ดีที่สุด กลไกตลาดแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีกว่ารัฐ รัฐควรอยู่เฉยๆ ให้ได้มากที่สุด
เพราะโลกจริงไม่สดใสเท่ากับโลกใน Forager ทรัพยากรจำเป็นหลายชนิดมีจำกัด ใกล้หมด และมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและการใช้ทรัพยากร ผลกระทบภายนอกที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก มีอยู่จริงและบ่อยครั้งรุนแรงเกินคาดเดาและเกินขอบเขตการรับมือของกฎหมาย นักธุรกิจที่ก้าวหน้าที่สุดทุกวันนี้จึงเรียกร้องให้รัฐใช้มาตรการใหม่ๆ อย่างเช่นภาษีคาร์บอน และยกระดับกฎกติกาในการกำกับธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กำกับในทิศทางที่ตรงกับประโยชน์สาธารณะมากขึ้น เพื่อกำจัดหรือบรรเทาปัญหาจากความล้มเหลวของตลาดให้ได้มากที่สุด
นักธุรกิจหัวก้าวหน้าเหล่านี้มักมาจากธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่นายทุนผูกขาดที่ร่ำรวยขึ้นมาจากการใช้อำนาจผูกขาดโดยที่มีอำนาจรัฐรองรับสนับสนุน หากินจากการคอร์รัปชั่นกับผู้มีอำนาจทางการเมือง มากกว่าการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคม
เกมจิ๋วแต่แจ๋ว สร้างสรรค์และเปี่ยมจินตนาการอย่าง Forager นอกจากจะ(โคตร)สนุกจนเป็นภัยคุกคามต่อผลิตภาพการทำงานแล้ว จึงสามารถให้บทเรียนเรามากมายถึงความท้าทายของเศรษฐกิจจริง และหน้าตาของระบบตลาดที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21