เมื่อไม่นานมานี้ มีมิตรรักนักอ่านผู้รักศิลปะท่านหนึ่ง ถามไถ่ผมมาว่า กรอบรูปของบรรดาภาพวาดทั้งหลายที่เราเห็นกันในพิพิธภัณฑ์ศิลปะและหอศิลป์ต่างๆ นั้นมีที่มาจากไหน? เป็นของดั้งเดิมที่ติดมากับภาพวาด หรือถูกทำขึ้นมาใหม่ทีหลังกันแน่?
ในตอนนี้ผมเลยขอถือโอกาสค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องประดับงานศิลปะที่มักถูกคนส่วนใหญ่มองข้ามชิ้นนี้ มาเล่าสู่ให้อ่านเลยก็แล้วกัน
กรอบรูป เป็นเหมือนซินเดอเรลล่าในโลกศิลปะ ที่รับใช้ศิลปะอย่างหนักหนาสาหัสในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องงานศิลปะที่ใส่อยู่ หรือขับเน้นคุณค่าของภาพวาด ไปจนถึงดึงดูดความสนใจของผู้ชมไปยังภาพวาดชิ้นนั้นๆ โดยทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างโลกแห่งจินตนาการ ความฝันของศิลปะ และสภาพแวดล้อมรอบข้าง ไม่ว่าจะในพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หรือเคหะสถานบ้านเรือนที่เข้าไปติดตั้งอยู่ นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องมือที่ระบุยุคสมัยของภาพวาดอีกด้วย
นับเป็นเวลาหลายศตวรรษ ที่ศิลปินทำความเข้าใจกับความจริงที่ว่า กรอบรูปที่ดีนั้นมีพลังอำนาจในการนำเสนอและขับเน้นภาพวาดของพวกเขาให้โดดเด่นมากขึ้นแค่ไหน
แรกเริ่มเดิมที ศิลปะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มนุษย์เรารู้จักกันอย่าง ภาพวาดบนผนังถ้ำ นั้นไม่จำเป็นต้องมีกรอบรูป อันที่จริงก็ไม่มีแม้แต่เส้นแบ่งหรือขอบเขตของรูปด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันอย่างชัดเจนว่า ทันทีที่ภาพจิตรกรรมในยุคสมัยใหม่ (หมายถึงยุคที่มนุษย์มีอารยธรรมแล้ว) ถูกทำขึ้น ก็มักจะมีความเกี่ยวข้องกับขอบหรือกรอบที่เป็นตัวจำกัดขอบเขตของภาพ เพื่อแบ่งฉากหนึ่งออกจากอีกฉากหนึ่ง และช่วยสร้างจุดสนใจของภาพให้แก่ผู้ชม
ยกตัวอย่างเช่นภาพวาดในสุสานอิยิปต์เมื่อสี่พันปีก่อน มีการวาดกรอบลงไปในภาพอย่างชัดเจน เพื่อแบ่งฉากของภาพและตัวอักษรเฮียโรกลิฟฟิกที่บรรยายภาพ ซึ่งดูๆ ไปก็คล้ายกับหนังสือการ์ตูนช่องในยุคสมัยใหม่อยู่เหมือนกัน
เช่นเดียวกับภาพวาดประดับแจกันกรีกโบราณ ที่มีกรอบอันซับซ้อนด้วยลายเรขาคณิตและลวดลายธรรมชาติ ช่วยขับเน้นพื้นที่ภายในฉากของภาพวาดและแบ่งแยกมันออกจากโลกของความเป็นจริง แต่ในขณะเดียวกัน ศิลปินก็เล่นสนุก ด้วยการวาดให้หมวกนักรบสองนายทะลุกรอบออกมาในลักษณะที่น่าขบขัน
อย่างไรก็ตาม กรอบรูปได้พัฒนารูปแบบการใช้งานอื่นๆ ขึ้นมาอีก เช่น ใช้ขยายขอบเขตความหมายของภาพที่มันล้อมอยู่ หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือพื้นที่พิเศษที่ใช้ในการใส่สัญลักษณ์เชื่อมโยงกับภาพวาดหรือผลงานศิลปะที่อยู่ภายใน เหมือนเป็นเชิงอรรถ หรือข้อมูลเพิ่มเติมโดยที่ไม่รบกวนเนื้อหาภายใน
อาทิเช่น ประติมากรรมแกะสลักนูนต่ำในพระราชวังแพร์ซโพลิส (Persepolis) ในอิหร่าน ที่แม้ว่าจะเป็นกรอบรูปสลักจากหิน แต่ก็ดูเหมือนกับกรอบรูปในยุคสมัยใหม่ โดยตัวกรอบรูปนั้นตกแต่งด้วยรูปสลักดอกกุหลาบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการปกปักรักษาและเป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิตอันยืนยาวของเหล่านักรบบาบิโลเนียนที่อยู่ภายใน
ในยุคโรมัน มีการพัฒนาของกรอบที่ทำจากไม้ เป็นเหมือนบรรพบุรุษของกรอบรูปในปัจจุบัน ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายกับภาพวาดทางศาสนา โดยกรอบรูปมักจะทำออกมาในขนาดใหญ่ มีปริมาตรและความประณีตละเอียดอ่อนอย่างมาก ด้วยเหตุที่มันทำหน้าที่ในการห่อหุ้มและปกป้องภาพวาดเหล่านั้น กรอบของโรมันในยุคแรกๆ มักจะมีลักษณะคล้ายกับแท่นบูชารูปทรงคล้ายกล่อง บนกรอบตกแต่งด้วยลวดลายประดับรูปดอกไม้และหินมีค่า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความอ่อนน้อมถ่อมตนของพระเยซูคริสต์หรือเป็นสัญลักษณ์แทนดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นเสมือนพลังของพระผู้เป็นเจ้า
ในเวลาต่อมา ได้มีการถือกำเนิดของภาพวาดฉากประดับแท่นบูชา (altarpiece) ทำให้กรอบรูปเริ่มมีความสำคัญในฐานะเครื่องค้ำจุน ประดับตกแต่งภาพวาด และแฝงความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งพัฒนารูปทรงขึ้น โดยเลียนแบบโครงร่างของโบสถ์คริสต์ มักเสริมแต่งด้วยการเคลือบทองและตกแต่งด้วยสีสันคล้ายอัญมณี เพื่อสร้างบรรยากาศให้คริสตศาสนิกชนรู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งจากสวงสวรรค์
ดังตัวอย่างเช่น ภาพวาดฉากประดับแท่นบูชา The Rucellai Madonna (1285) ของ ดุชโช ดิ บัวนิเซญญา (Duccio di Buoninsegna) จิตรกรชาวอิตาเลียนในช่วงปลายศตวรรษที่ 13 ที่ตัวภาพและกรอบมีลักษณะคล้ายกับหน้าจั่วของโบสถ์ ตัวกรอบมีความหนาเพื่อปกป้องภาพวาดจากความเสียหายภายนอก ตัวศิลปิน (หรือลูกมือ) วาดภาพประดับตกแต่งกรอบด้วยลวดลายหลากสี ที่สะท้อนถึงเสื้อคลุมของพระแม่มารีและลวดลายของผ้าที่เป็นฉากหลังในภาพวาด รวมถึงภาพของ เหล่านักบุญ อัครสาวก และศาสดาพยากรณ์
ในช่วงยุคศตวรรษที่ 13 ถึง ศตวรรษที่ 15 กรอบรูปเริ่มมีพัฒนาการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงอันซับซ้อนเป็นสามมิติจนดูคล้ายกับมหาวิหารแบบโกธิค โดยเป็นโครงสร้างไม้ที่มีทั้งหน้าจั่ว เครื่องยอด และเสาที่รับน้ำหนักของภาพวาดฉากประดับแท่นบูชา บนพื้นที่ว่างของกรอบอาจถูกวาดด้วยข้อความจารึก, ลวดลายเรขาคณิต หรือสัญลักษณ์และรูปลักษณ์ของนักบุญทั้งหลาย
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของกรอบรูปภาพวาดฉากประดับแท่นบูชาเหล่านี้คือ มักถูกสั่งให้ทำขึ้นก่อนที่ศิลปินจะถูกจ้างเสียอีก นั่นหมายความว่า ศิลปินต้องวาดภาพเพื่อให้เข้ากับกรอบรูปนั่นเอง ดังเช่นภาพวาด The coronation of the Virgin (1402) ของ โลเรนโซ ดิ นิโคโล (Lorenzo di Niccolò) ที่จิตรกรถูกจ้างให้มาวาดภาพหลังจากกรอบรูปทำเสร็จแล้ว โดยเขาใช้เวลาสองปีในการวาดภาพใส่ในกรอบรูปที่ว่านี้
หรือ Annunciation (1489) ภาพวาดฉากประดับแท่นบูชาของจิตรกรเอกชาวอิตาเลียน บอตติเชลลี (Botticelli) ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างจิตรกรและช่างทำกรอบ
นี่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ช่างทำกรอบรูป (ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาจจะเป็นสถาปนิก, มัณฑนากร, หรือช่างทำเฟอร์นิเจอร์ผู้มีชื่อเสียง) นั้นมีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ภาพวาดฉากประดับแท่นบูชา ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจิตรกรเลย จนมีคำกล่าวว่า
นักทำกรอบรูปชั้นยอดที่สุด จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าที่ศิลปินหลายคนทำกับภาพวาดของพวกเขาเสียอีก
ในอังกฤษช่วงปี 1780 และ 1790 จิตรกรชาวอังกฤษ จอร์จ รอมนีย์ (George Romney) จ้างช่างทำกรอบรูป วิลเลียม ซอนเดอร์ส (William Saunders) ให้ทำกรอบรูปที่มีรายละเอียดและรูปแบบพิเศษเฉพาะตัวของเขาขึ้นมา ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Romney frame นั่นเอง
ในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18 หรือในยุคบาโร้ก ถือเป็นจุดสูงสุดของการออกแบบกรอบรูปในยุโรป กรอบรูปในยุคนี้มักถูกทำเป็นงานแกะสลักด้วยมืออันวิจิตรบรรจง โดยช่างผู้ชำนาญ และเคลือบทองด้วยเทคนิคดั้งเดิมแบบบาโร้ก ที่เรียกว่า Water gilding เพื่อขับเน้นความผุดผ่องของภาพวาด เช่นเดียวกับตัวเรือนของเครื่องประดับที่รองรับอัญมณีเลอค่า และด้วยความที่ช่างทำกรอบทำงานอย่างใกล้ชิดกับศิลปินจิตรกร รวมถึงสถาปนิก, ช่างทำเฟอร์นิเจอร์ และมัณฑนากร กรอบรูปเหล่านั้นจึงไม่เพียงถูกทำออกมาให้เข้ากันอย่างเหมาะเจาะกับภาพวาด แต่มันยังถูกทำออกมาให้สอดรับกับสไตล์การตกแต่งภายในร่วมสมัย (นั้น) ของสถานที่ที่มันจะไปแขวนอยู่ด้วย
ดังเช่นภาพวาด Don Pedro de Barbarana, (1631-33) ของ ดิเอโก เบลาซเกซ จิตรกรเอกแห่งราชสำนักสเปน หรือภาพ Julie de Thellusson-Ployard (1760) ของ ฌอง-เอเตียง ลีโอตาร์ (Jean-Etienne Liotard) จิตรกรชาวฝรั่งเศส ที่สัดส่วนและตำแหน่งของลวดลายประดับบนกรอบรูปถูกคำนวณให้สอดรับกับตำแหน่งขององค์ประกอบในภาพวาดอย่างเหมาะเจาะลงตัว (ดูจากตำแหน่งของเส้นตัดในภาพประกอบ)
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ตลาดกรอบรูปสลักมืออันหรูหราถูกทำลายลงเกือบหมดจากสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars) และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วงสงคราม ไม่มีใครมีปัญญาสั่งทำกรอบรูปแพงๆ ผนวกกับวิธีคิดในระบบอุตสาหกรรมและการเติบโตของชนชั้นกลาง ที่ต้องการความหรูหราแบบที่พวกเขาพอจะจ่ายได้ กรอบรูปแกะสลักอันหรูหราจึงถูกผลิตขึ้นมาใหม่ในระบบอุตสาหกรรม และมักจะทำจากไม้สนที่มีราคาถูกกว่าไม้เนื้อแข็ง และประดับด้วยลวดลายที่ปั๊มขึ้นจากแม่พิมพ์แทน
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เกิดการปฏิวัติต่อต้านธุรกิจการค้าและการหากำไรเกินควรจากการทำกรอบรูป จากที่เคยทำกรอบรูปที่มีลวดลายหรูหราวิจิตร นักออกแบบและช่างทำกรอบรูปเริ่มทำกรอบเรียบง่ายด้วยรูปทรงเรขาคณิต เส้นตรง และสี่เหลี่ยม โดยได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของนักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษ จอห์น รัสกิน (John Ruskin) ผู้เชื่อว่า ไม่ว่าวัสดุใดๆ ก็ไม่ควรเสแสร้งเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวมัน ดังนั้น กรอบรูปไม้ที่สลักเสลาเป็นลวดลายหรูหราและเคลือบทอง จึงไม่ได้รับความนิยมในยุคนี้
ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ที่พัฒนาการด้านการสื่อสารการคมนาคมก้าวหน้า ทำให้ศิลปินมีโอกาสเดินทางแลกเปลี่ยนสื่อสารกันระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น การออกแบบกรอบรูปก็มีการแลกเปลี่ยนกันและกันทั้งในยุโรปและอเมริกา เทคนิคการทำกรอบรูปในยุคเก่าๆ ก็เริ่มถูกรื้อฟื้นกลับมาให้เห็นในหลายประเทศ
อาทิเช่น ศิลปินอิมเพรสชันนิสม์อย่าง เอ็ดการ์ เดอกา (Edgar Degas) ผสมผสานเทคนิคการทำกรอบรูปอันหรูหราแบบดั้งเดิมเข้ากับสไตล์อันเรียบง่ายของยุคโมเดิร์น ด้วยการใช้สีขาวล้วน นอกจากนี้ศิลปินกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์ยังเป็นผู้ริเริ่มการใช้กรอบรูปที่มีสีคู่ตรงข้ามกับโทนสีในภาพวาดอีกด้วย
นอกจากนั้นในยุคนี้ยังนำเอาแนวคิดในการทำให้กรอบรูปเป็นส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อช่วยนิยามความหมายของภาพวาด ขับเน้นองค์ประกอบ หรือสร้างการเชื่อมต่อระหว่างโลกภายในภาพวาดกับโลกภายนอก และย้ำเตือนให้เราตระหนักว่า ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวใดๆ ในการสร้างสรรค์ทางศิลปะ ศิลปินเริ่มหันมาเล่นกับแนวคิดของกรอบรูป ด้วยการให้ตัวละครในภาพวาดเล็ดรอดออกมาจากภาพวาดในหลายรูปแบบ (แบบเดียวกับภาพบนแจกันกรีกนั่นแหละ) ด้วยการทำให้กรอบรูปเป็นส่วนหนึ่งของภาพวาดอย่างแนบเนียน ดังเช่นในภาพวาด Escaping criticism (1874) ของ เปเร บอร์เรล เดล กาโซ (Pere Borrell del Caso) ศิลปินชาวสเปน ที่ใช้การลวงตาของกรอบรูป (ที่ถูกวาดขึ้น) จนดูราวกับว่าบุคคลในภาพกำลังจะหนีออกมาสู่โลกแห่งความป็นจริงได้ยังไงยังงั้น
กรอบรูปยังสามารถใช้ในการสร้างเค้าโครงรูปทรงของภาพวาด ดังเช่นในผลงาน Couple with their heads filled with clouds (1936) ของศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ชาวสเปน ซัลบาดอร์ ดาลี ที่วาดภาพโต๊ะสองตัวและฉากทิวทัศน์เบื้องหลังของสองภาพที่ต่อเนื่องกัน และใช้รูปทรงของกรอบรูป สร้างเค้าโครงของคู่รักสองคนขึ้นมา ดังนั้น กรอบรูปจึงทำหน้าที่เป็นตัวสร้างองค์ประกอบและความหมายใหม่ของทิวทัศน์ในภาพขึ้นมาในเวลาเดียวกัน โดยดาลีหยิบยืมแนวคิดมาจากงานศิลปะยุคเรอเนสซองส์ที่ว่า กรอบรูปคือหน้าต่างไปสู่โลกอื่น
หรือในผลงาน L’évidence éternelle (The eternal evidence) (1930) ของ ของศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ชาวเบลเยียม เรอเน มากริต (René Magritte) ที่วาดภาพหญิงสาวคนรักในความทรงจำของเขา ด้วยการนำเสนอร่างกายแต่ละส่วนของเธอ ในหลายภาพเรียงต่อกัน โดยที่สัดส่วนในภาพไม่ต่อเนื่องกัน ภาพวาดที่อยู่ในกรอบอันเรียบง่ายนี้ แสดงถึงลักษณะพิเศษของความทรงจำ ที่มักจะเป็นเศษเสี้ยวและไม่ปะติดปะต่อกัน
หรือผลงานของศิลปินอเมริกันโกธิค มาร์ค ไรเดน (Mark Ryde) และศิลปินอเมริกัน ฮอลลี เลน (Holly Lane) ที่ใช้กรอบรูปเป็นทั้งเครื่องประดับปกป้อง เป็นสัญลักษณ์แฝงของงาน รวมถึงเป็นงานประติมากรรมไปในตัวด้วยเลย (อ้อ คนที่สลักเสลากรอบอันงามวิจิตรให้มาร์ค ไรเดน ก็ไม่ใช่อื่นไกล ช่างไทยเรานี่แหละครับ!)
กลับมาถึงคำถามที่ว่า กรอบรูปของภาพวาดที่เราเห็นในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทัวโลกนั้นมีที่มาจากไหน?
ก็ต้องดูก่อนว่าภาพวาดชิ้นนั้นเข้ามาพิพิธภัณฑ์อย่างไร ถ้าได้มาจากตัวศิลปินโดยตรงเลย ก็มักจะเป็นกรอบดั้งเดิม เพราะศิลปินส่วนใหญ่มักมีช่างทำกรอบรูปประจำตัว ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า กรอบรูป นอกจากจะเป็นเครื่องป้องกัน เป็นเครื่องประดับตกแต่ง และช่วยขับเน้นสีสันแสงเงาและรายละเอียดของภาพวาดแล้ว ตัวมันก็แทบจะเป็นงานศิลปะในตัวเองเลยด้วยซ้ำ เพราะนอกจากจะมีรายละเอียดลวดลายที่เสริมเนื้อหาของภาพวาดแล้ว บางครั้งกรอบรูปก็เป็นเหมือนงานประติมากรรมดีๆ นี่เอง
แต่ถ้าเป็นภาพวาดของจิตรกรชั้นครูยุคโบราณ ตัวกรอบก็มักจะไม่ใช่ของเดิม เพราะมันมักจะถูกเจ้าของภาพคนใหม่ (ที่ซื้อหรือได้ภาพวาดมาจากเจ้าของเดิมที่จ้างจิตรกรวาด) ทำการเข้ากรอบใหม่ เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของภาพของตน และเพื่อให้ภาพวาดที่จะแขวนในบ้านเข้ากับสไตล์การตกแต่งภายในเคหะสถานบ้านช่อง, คฤหาสน์, โบสถ์วิหาร, ปราสาทราชวัง หรือแม้แต่อาคารสำนักงานต่างๆ ของตน ซึ่งบางครั้งก็ออกมาดี แต่บางครั้งก็ออกมาแย่จนน่าเสียดาย
ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า สมัยก่อนภาพวาดส่วนใหญ่ไม่ได้มีค่ามากไปกว่าของประดับตกแต่งบ้านประเภทหนึ่ง ดังนั้น เจ้าของจะสามารถดัดแปลงหรือทำอะไรกับมันก็ได้ ไม่ว่าจะเข้ากรอบใหม่ ทาน้ำมันเคลือบเงาทับ ไปจนถึงตัดรูปทิ้ง เพื่อให้แขวนโชว์ในสถานที่ได้อย่างพอดิบพอดี
ตัวอย่างผลงานชิ้นเอกศิลปินเอกชาวดัตช์ เรมบรันด์ อย่างภาพวาดThe Night Watch (1642) เอง ก็ถูกตัดขอบภาพทิ้งออกเพื่อให้แขวนโชว์ระหว่างเสาสองต้นของอาคารศาลาว่าการเมืองอัมสเตอร์ดัมได้ นักประวัติศาสตร์ศิลปะรุ่นหลังจะรู้ว่าภาพนี้ถูกเฉือนออกไป ก็ก็ตอนได้เห็นภาพเวอร์ชั่นเต็มที่ศิลปินคนอื่นก็อบปี้จากภาพเดิมก่อนที่จะถูกตัดเอาไว้นั่นแหละ
ถึงแม้กรอบรูป จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพและความน่าสนใจของผลงานศิลปะ รวมถึงมีบทบาทในวงการสะสมงานศิลปะไม่น้อย แต่อย่างไรก็ดี การ ‘ไร้กรอบ’ (หมายถึงไม่ใส่กรอบน่ะนะ) ก็เป็นเรื่องปกติในวงการศิลปะร่วมสมัย ศิลปินหลายคนถือว่าการไม่ใส่กรอบนั้นเป็นการแสดงความเคารพอย่างสุดซึ้งที่พวกเขามอบให้แก่ภาพวาด ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอย่าง มาร์ค รอธโก (Mark Rothko) หรือ แฟรงค์ สเตลลา ที่มักจะแขวนภาพวาดของเขาอย่างเปล่าเปลือยโดยปราศจากกรอบรูปนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก