ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน แทบไม่มีใครในโลกเคยได้ยินชื่อแซม แบงค์แมน-ฟรายด์ (Sam Bankman-Fried) ชายที่ปัจจุบันปรากฏในพาดหัวข่าวแทบทุกสำนักและมักแทนตัวเองด้วยอักษรย่อ SBF เขาคือมหาเศรษฐีในวัย 30 ปี ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี FTX ที่เติบโตทะยานขึ้นมาเป็นเบอร์สองเป็นรองเพียง Binance
ท่ามกลางความวินาศสันตะโรในโลกคริปโตเคอร์เรนซีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทั้งการล่มสลายของเหรียญเสถียร Terra Luna การล้มละลายของแพลตฟอร์มอย่าง Celsius ที่ลากพากองทุนเฮดจ์ฟันด์ Three Arrows ตามกันไป SBF ในฐานะมหาเศรษฐีที่ได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนักก็เริ่มแสดงบทบาทนายทุนใหญ่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ที่ประสบพบเจอปัญหาสภาพคล่องจนได้รับฉายาว่า ‘ราชันแห่งโลกคริปโตฯ’ สื่อบางสำนักถึงขั้นเทียบเขากับ เจ. พี. มอร์แกน (John Pierpont Morgan) นายธนาคารผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินต่างๆ ในสหรัฐฯ เมื่อเผชิญวิกฤต
นอกจากบทบาทของผู้ช่วยชีวิตเหล่าสตาร์ทอัพในโลกคริปโตฯ เขายังเดินหน้าผลักดันกฎหมายกำกับดูแลคริปโตเคอร์เรนซีโดยทุ่มเงินมหาศาลไปกับเหล่าล็อบบี้ยิสต์เพื่อเข้าพบปะพูดคุยกับผู้มีอำนาจในวอชิงตัน อีกทั้งยังเป็นผู้ปลุกกระแส ‘การบริจาคอย่างมีประสิทธิภาพ (effective altruism)’ ในแวดวงของเหล่ามหาเศรษฐีอีกด้วย
SBF คือดาวเด่นที่นักลงทุนสถาบันไว้วางใจในอุตสาหกรรมที่ดูเหมือนจะไว้ใจใครไม่ได้ บริษัทที่เขาก่อตั้งได้รับเงินลงทุนก้อนใหญ่จากทั้งกองทุน Temasek จากสิงคโปร์ SoftBank ของญี่ปุ่น Sequoia ของสหรัฐอเมริกา แม้แต่กองทุนบำเหน็จบำนาญครูของออนตาริโอ (Ontario Teachers’ Pension Plan) ประเทศแคนาดาก็เป็นหนึ่งในผู้หนุนหลังแพลตฟอร์ม FTX
แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เม็ดเงินมูลค่ามหาศาลที่ทุ่มลงทุนไปกับ FTX ต้องถูกตัดจนเหลือศูนย์ เมื่อแพลตฟอร์มและบริษัทในเครือกว่า 130 แห่งยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ราชันผู้เคยเป็นดาวเด่นแห่งวงการคริปโตฯ ตกจากบัลลังก์ในเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์โดยมีจุดเริ่มต้นจากบทความหนึ่งชิ้นที่ทำลายความไว้วางใจต่อ SBF อย่างไม่มีชิ้นดี
มหากาพย์แห่งการล่มสลาย
ในมหาอาณาจักรหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของ SBF มีบริษัทดาวเด่นอยู่สองแห่งคือ FTX แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี และ Alameda Research บริษัทเก็งกำไรหลักทรัพย์ที่แม้จะแทบไม่มีคนรู้จักแต่มีมูลค่ามหาศาล ถึงแม้จะมีเจ้าของคนเดียวกัน แต่ทั้งสองก็เป็นคนละบริษัทที่มีโครงสร้างการบริหารและเป้าหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
จุดเริ่มต้นที่สั่นคลอนบัลลังก์ของ SBF คือบทความเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน บนเว็บไซต์ Coindesk ที่ตีแผ่เอกสารงบดุลของ Alameda นักวิเคราะห์พบปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของทั้งสองบริษัท เนื่องจากสินทรัพย์มูลค่ามหาศาลที่ปรากฏในงบดุลคือเหรียญ FTT ซึ่งเสกออกมาจากอากาศโดยแพลตฟอร์มพี่น้องอย่าง FTX แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพียงแต่เป็นหลักฐานยืนยันว่า Alameda ไม่ได้มั่นคงอย่างที่หลายคนคิดเพราะยืนอยู่บนรากฐานของสินทรัพย์บริษัทในเครือไม่ใช่เงินสดหรือคริปโตฯ ของแพลตฟอร์มอื่น
หลายคนอาจสงสัยว่า ‘มหาศาล’ คือมากแค่ไหน คำตอบคือ Alameda ถือ FTT มูลค่า 3.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสินทรัพย์ทั้งหมด 14.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่นับเงินลงทุนในเหรียญต่างๆ ที่ SBF เป็นผู้ร่วมก่อตั้งหรือเอาเงินส่วนตัวไปลงทุน เช่น Solana และ Serum ส่วนในฝั่งหนี้สินก็มีเงินกู้ยืมมูลค่ากว่า 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าเสถียรภาพของ Alameda
ขึ้นอยู่กับมูลค่าของเหรียญ FTT ล้วนๆ
ไม่ว่าใครก็คงไม่สบายใจกับภาพที่เห็นตรงหน้าโดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่อย่าง ฉางเผิง จ้าว (Changpeng Zhao) ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Binance ที่ทวีตในวันที่ 6 พฤศจิกายนว่าจะทยอยขายเหรียญ FTT ขณะที่ผู้บริหาร Alameda ทวีตตอบทันทีว่าจะเข้าซื้อเหรียญทั้งหมดในราคา 22 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
ข่าวดังกล่าวสั่นคลอนราคาเหรียญ FTT ให้ผันผวนอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อแพลตฟอร์ม FTX จนนำไปสู่การแห่ถอนเงินและสินทรัพย์ออกจากแพลตฟอร์มจนต้องหยุดให้บริการ ส่วน SBF ก็ออกแถลงการณ์ให้นักลงทุนสบายใจว่าแพลตฟอร์มเผชิญ ‘ปัญหาสภาพคล่อง’ และกำลังเร่งหาทางออกเพื่อมอบสินทรัพย์คืนสู่อ้อมกอดนักลงทุนทุกคน
ระหว่างนั้นเองก็มีประกาศว่าแพลตฟอร์ม Binance คู่แข่งรายใหญ่กำลังพิจารณาเข้าซื้อกิจการ FTX ซึ่งจะช่วยให้แพลตฟอร์มรอดพ้นจากการล้มละลาย แต่ผ่านไปเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง Binance ก็แถลงการณ์ถอนตัวออกจากการเข้าซื้อกิจการโดยมีข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า “แรกเริ่มเดิมที เราหวังเพียงเพิ่มสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือลูกค้าของ FTX แต่ปัญหาที่เราเจอกลับใหญ่เกินกว่าที่ความสามารถของเราจะช่วยได้”
วันที่ 10 พฤศจิกายน หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศบาฮามาสซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ FTX ก็มีคำสั่งระงับการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ของบริษัท ในวันถัดมา FTX และบริษัทในเครือทั้งหมดรวมทั้ง Alameda Research ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากศาลสหรัฐฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการล้มละลายอย่างเป็นทางการ ปิดฉากราชันแห่งโลกคริปโตฯ และเริ่มต้นการสอบสวนและต่อสู้บนชั้นศาลที่ไม่มีใครตอบได้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร
บทเรียนจาก FTX และอนาคตของโลกคริปโตเคอร์เรนซี
ในแวดวงการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการเงินโลกเก่าที่ต้องพึ่งพาตัวกลางอย่างธนาคาร หรือการเงินโลกใหม่ที่โลดแล่นอยู่บนบล็อกเชน หัวใจสำคัญคือ ‘ความเชื่อมั่น’ ของผู้บริโภค การประกาศเข้าสู่กระบวนการล้มละลายของ FTX ทำให้โลกคริปโตเคอร์เรนซีสั่นคลอน พร้อมกับคำถามในใจของนักลงทุนหลายคนว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกหรือไม่ และใครจะเป็นเหยื่อรายต่อไป
ที่ผ่านมา ผู้ศรัทธาในคริปโตเคอร์เรนซีมักจะโพนทะนาว่า ‘บล็อกเชน’ อัลกอริทึมที่โปร่งใสและเป็นกลางจะมาทดแทน ‘บุคคลที่สามซึ่งได้รับความไว้วางใจ (trusted third party)’ เช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกลาง หรือหน่วยงานรัฐบาล ของระบบการเงินโลกเก่า แต่เหตุการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าก็ชวนให้สงสัยว่าต่อให้เราเชื่อใจอัลกอริทึมได้ แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่า ‘มนุษย์’ ในอุตสาหกรรมนี้จะจริงใจไม่หลอกลวง
ประเด็นที่หลายคนคาใจเกี่ยวกับการล่มสลายของแพลตฟอร์ม FTX คือสาเหตุที่แพลตฟอร์มขาดสภาพคล่อง เพราะ FTX เป็นเพียงตัวกลางซึ่งผู้เปิดบัญชีฝากเงินสดเอาไว้ซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี เงื่อนไขการให้บริการของแพลตฟอร์มก็ระบุอย่างชัดเจนว่า “สินทรัพย์ทั้งหมดในบัญชีของคุณไม่ใช่สินทรัพย์หรือการให้ยืมสินทรัพย์แก่แพลตฟอร์ม FTX Trading” หากแพลตฟอร์มดังกล่าวปฏิบัติตามแนวทางนี้จริงและไม่แตะต้องเงินของลูกค้าแล้วจะมีปัญหาขาดสภาพคล่องได้อย่างไร
คำตอบที่มีในใจหลายคนคือการที่ FTX นำเงินที่ลูกค้าไว้ใจให้ดูแลไปซื้อขายสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อทำกำไร แต่ในจังหวะที่บริษัทตัดสินใจลงทุนผิดพลาดพร้อมกับลูกค้าต่อคิวแห่ถอนเงินออกจากบัญชี สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ‘ปัญหาขาดสภาพคล่อง’
เพราะมูลค่าสินทรัพย์ที่บริษัทนำไปลงทุนไว้
ไม่อาจขายมาจ่ายเงินคืนเจ้าของบัญชีได้
อย่างไรก็ตาม ฉากทัศน์ข้างต้นเป็นเพียงการคาดการณ์ที่เป็นไปได้เท่านั้น รายละเอียดของเหตุการณ์คงต้องรอจนกว่าหน่วยงานภาครัฐจะทำการสืบสวนสอบสวนเสร็จสิ้น
การล่มสลายของ FTX นำไปสู่กระแสเสียงเพื่อเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมโลกคริปโตเคอร์เรนซีซึ่งผู้เขียนขอแบ่งคร่าวๆ ออกเป็น 4 กลุ่มดังนี้
กลุ่มแรกคือเสียงเรียกร้องให้ภาครัฐเดินหน้ากำกับดูแล โดยมองว่าสถาบันในโลกคริปโตเคอร์เรนซีก็ไม่ต่างจากตัวกลางทางการเงินที่ดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล รัฐบาลควรมีการกำหนดเงื่อนไขการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง การสอบทานด้านเสถียรภาพทางการเงิน การดูแลสินทรัพย์ลูกค้า การตรวจสอบโค้ดของแพลตฟอร์มไม่ให้มีช่องว่าเพื่อเอาเปรียบผู้บริโภค หรือกระทั่งการจัดตั้งกองทุนสภาพคล่องโดยเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้เล่นในอุตสาหกรรมเพื่อช่วยเหลือบริษัทที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเฉียบพลัน พร้อมทั้งคุ้มครองความเสียหายของผู้บริโภค
กลุ่มที่สองคือการรณรงค์ให้ผู้ใช้ในแวดวงคริปโตฯ หันมาดูแลสินทรัพย์ด้วยตนเอง (Self-Custody) โดยอย่าฝากฝังสินทรัพย์ดิจิทัลของตนไว้กับเหล่าแพลตฟอร์มซื้อขายเพราะ ‘บิทคอยน์นั้นจะยังไม่เป็นของคุณ จนกว่ามันจะถูกโอนเข้ามาในกระเป๋าที่คุณถือรหัสเพียงผู้เดียว’ หรือหากใครไม่มั่นใจเพราะกลัวว่าจะทำรหัสหายก็อาจมองหาบริการผู้ดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งมีตั้งแต่สตาร์ทอัพไปจนถึงเหล่าธนาคารพาณิชย์ บริการลักษณะนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญในแวดวงการเงินที่เราคุ้นชินแต่อาจไม่คุ้นหูนักในวงการคริปโตฯ
กลุ่มที่สามคือการเสนอให้เพิ่มเติมกระบวนการพิสูจน์ทุนสำรอง (Proof-of-reserves) หรือก็คือการยืนยันว่าสินทรัพย์ที่นักลงทุนฝากฝังเอาไว้นั้นยังอยู่กับแพลตฟอร์มจริงๆ โดยอาจใช้บริการผู้สอบทานจากภายนอก เช่น แพลตฟอร์ม Kraken หรือตรวจสอบด้วยตนเอง เช่น BitMex เป็นต้น
กลุ่มสุดท้ายอาจสุดโต่งสักหน่อย เพราะพวกเขามองว่าปัญหาทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากแพลตฟอร์มซื้อขายแบบรวมศูนย์ (Centralized Exchange) ซึ่งบริหารจัดการก็ไม่ต่างจากแพลตฟอร์มซื้อขายหลักทรัพย์อื่นๆ ผนวกกับการกำกับดูแลที่อ่อนแอในแวดวงคริปโตฯ ยิ่งทำให้ผู้บริหารมีอำนาจล้นฟ้า เหล่าผู้บริโภคจึงทำได้เพียงเชื่อใจว่าคนในบริษัทจะไม่ทำอะไรบ้าบอกับสินทรัพย์ที่ตัวเองฝากฝังไว้ หากยึดถืออุดมการณ์ที่เป็นต้นกำเนิดของบิตคอยน์ เราควรมุ่งหน้าไปยังแพลตฟอร์มซื้อขายแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Exchanges) อย่างเช่น Uniswap ที่อำนาจอยู่ในมือผู้ใช้งาน
ผู้เขียนไม่สามารถตอบได้ว่าวงการคริปโตฯ จะมุ่งหน้าไปยังเส้นทางใดในอนาคต หรืออาจมีทางเลือกใหม่ๆ ผุดขึ้นมาระหว่างทาง แต่เหตุการณ์การล่มสลายของแพลตฟอร์ม FTX เป็นสิ่งยืนยันว่า ‘ความเชื่อมั่น’ เพียงลำพังอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องมีกลไกกำกับดูแลอะไรบางอย่างเพื่อให้เหล่ามนุษย์ที่เห็นไม่ออกนอกลู่นอกทาง
อ้างอิงข้อมูลจาก