“เรารู้สึกว่าเวลาที่เราจะชวนใครดูหนังสารคดี เราก็อยากจะชวนให้เขาเห็นอะไรหลายๆ อย่างที่มองข้ามภาพจำเดิมๆ ต่อสารคดี ว่าจริงๆ หนังสารคดีมีสารพัดหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องที่เข้าถึงง่ายไปจนถึงหนังที่มีวิธีการพิศดารท้าทายคน มันมีเยอะมากเดี๋ยวนี้ ไม่ได้มีแต่สารคดีน่าเบื่อๆ แล้ว” ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
คุณจำหนังเรื่องแรกที่ดูได้ไหม? หลายคนเริ่มเสพหนังมากมายเพราะความบันเทิง ความตื่นเต้น หรือแม้แต่ความน่ากลัว บางคนชอบแนวดราม่า บางคนชอบคอมเมดี้ บางทีกรี๊ดหนังซูเปอร์ฮีโร่ บ้างหลงใหลหนังอีกหนึ่ง genre ที่กำลังเป็นเทรนด์ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศคือ ‘หนังสารคดี’
สำหรับคนที่สงสัยว่าทำไมต้องดูหนังสารคดี คนที่มีภาพจำของหนังสารคดีในแบบเดิมๆ หรือคนที่อยากจะเริ่มดูแต่ไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหน Young MATTER ชวนคุณมารู้จักหนังสารคดีให้มากขึ้น แถมท้ายด้วยทิศทางของหนังสารคดีในอีก 5 ปีข้างหน้า พร้อมแนะนำ 6 หนังสารคดีง่ายๆ โดย ‘ธิดา ผลิตผลการพิมพ์’ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club ที่ล่าสุดมีพื้นที่ไว้ฉายหนังและจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ต่อยอดประเด็นสนทนาทางสังคมเพิ่มที่ Warehouse 30 โกดังแห่งใหม่บนถนนเจริญกรุง
บอกได้แค่ว่า คุณต้องติดใจจนต้องไปหามาดูเพิ่มอย่างแน่นอน
หนังสารคดีสนุกยังไง ทำไมถึงต้องดู
“เวลาที่เราดูหนังที่มันดีสำหรับเรา มันทำให้เราเกิดความรู้สึกเยอะแยะมากมายหรือแรงบรรดาลใจ แต่ทว่าถ้ามันเป็นหนังทั่วไปเราก็จะรู้ว่าสิ่งนี้คือความสามารถของผู้กำกับหรือของคนเขียนบท ของคนถ่ายทำ หรือคนถ่ายภาพ”
เป็นที่รู้กันว่าหนังสารคดีสร้างจากบันทึก หรือเหตุการณ์จริง ซึ่ง ‘ธิดา ผลิตผลการพิมพ์’ บอกว่า “มันอาจจะมีหนังทั่วๆไปที่บอกว่า based on true story แต่ว่าหนังสารคดีคือการเอาสิ่งที่เป็นเรื่องจริงและเอาหลักฐานพยานที่มีอยู่จริงจำนวนหนึ่ง แล้วก็นำสิ่งเหล่านั้นมาเล่าให้เป็นหนัง เพียงแต่ว่ามันไม่ได้หมายความว่าทางเลือกจะมีแค่ของจริง อาจจะมีจำลองเสริมขึ้นมาบ้างเพื่อเสริมเนื้อเรื่องให้สมบูรณ์ แต่องค์ประกอบหลักๆ คือนำมาจากหลักฐานการบันทึกที่มีอยู่จริง เพื่อที่จะถ่ายทอดเรื่องจริงอะไรบางอย่าง”
ความหลงใหลในหนังสารคดีของธิดานั้นมีมากกว่าแค่ความชอบธรรมดา ธิดายังเล่าว่า “พอได้เจอหนังสารคดีที่มันทำงานกับเราในระดับนั้น เราจะรู้ว่าสิ่งที่เราได้เห็นหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น เป็นเพราะบุคคลคนนั้นมีตัวตนจริง มันเกิดจากเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ เมื่อสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องจริงมันกระทบใจเรา มันก็จะกระทบมากขึ้นเป็นพิเศษ เช่นเราทึ่งกับเรื่องราวว่ามันมีแบบนี้อยู่ด้วยหรอ เราไม่ได้ทึ่งว่าผู้กำกับเขาคิดขึ้นมาได้ไง แต่เราคิดว่ามันมีเรื่องนี้อยู่จริงๆ ในโลกแล้วพี่รู้สึกว่าเวลาที่เรารู้สึกกับอะไรที่มันเป็นเรื่องจริง มันจะกระทบใจนานแล้วก็มีผลต่อความคิดของเราเยอะ พี่ว่าพลังแบบเนี่ยที่ทำให้เวลาเจอสารคดีดีๆ แล้วเราจะรู้สึกกับมันมากเป็นพิเศษ”
และต่อไปนี้คือ 6 หนังสารคดีที่ธิดาแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้นดู
1. Waltz with Bashir (2008)
ด้วยการเล่าเรื่องที่น่าสนใจของ Waltz with Bashir ทำให้เรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่ธิดาแนะนำให้ดูเป็นอย่างมาก เสียงพากย์ของตัวละครในเรื่องเป็นเสียงจริงของทหารในเหตุการณ์การลอบโจมตีช่วงสงครามอิสราเอล ปี 1982 เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นฝันร้ายที่เขาจดจำมาตลอด แต่ด้วยความที่เหตุการณ์นี้ถูกปิดเป็นความลับทำให้ไม่มีภาพจริงหรือฟุตเทจใดๆ จึงก่อให้เกิดเป็นหนังสารคดีอนิเมชั่นที่มีเสียงพากย์จากบุคคลจริงในเหตุการณ์แทน และสร้างความน่าสนใจต่อสาธารณะชนไม่น้อยเลย
ธิดา : “เป็นสารคดีที่เป็นการ์ตูนทั้งเรื่อง เหตุผลที่บอกว่าเป็นสารคดีก็เพราะว่า มันสร้างขึ้นมาจากเสียงเล่าของทหารคนหนึ่งซึ่งอยู่ในช่วงสงครามอิสราเอล รบกับประเทศในตะวันออกกลาง มีช่วงเหตุการหนึ่งที่มีเหตุโจมตีกลางดึกและเกิดการสังหารหมู่จำนวนมาก ผู้คนและชาวบ้านตายจำนวนมาก แต่ว่าเหตุการณ์นี้กลับถูกรัฐบาลกลบเกลื่อน แทบจะไม่เคยถูกบันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการในประวัติศาสตร์ หนึ่งในทหารก็จดจำภาพฝันร้ายในคืนนั้นที่มีการถล่มและมีคนตายมากมาย มันกลายเป็นฝันร้ายที่หลอกหลอนเค้า และไม่รู้จะไปบอกกับใครเพราะมันไม่มีหลักฐานที่ทางการยอมรับว่าได้กระทำผิดไป
“หนังเรื่องนี้เหมือนกับเป็นพื้นที่ที่เขาระบายความทรงจำที่เจ็บปวดออกมา แต่พอมันไม่มีหลักฐานที่จะถ่ายทอดให้คนดูเห็น วิธีการที่ถูกเอาเข้ามาใช้ก็คือทำทั้งหมดจากสิ่งที่เขาเล่า วาดขึ้นมาใหม่ แล้วกลายเป็นการ์ตูนทั้งเรื่องโดยมีเสียงเขาเล่าประกอบ มันจึงเป็นสารคดีนำเทรนด์ของหนังกลุ่มนี้
“กลุ่มที่เริ่มในระยะ 10 ปีมานี้ เริ่มแสดงให้เห็นว่าวิธีการของหนังสารคดีมันก้าวพ้นไปจากภาพข่าวฟุตเทจที่เราคุ้นๆ ไปได้ แบบนี้ก็เป็นสารคดีได้และมีพลังด้วย ก็เป็นอีกเรื่องที่แนะนำเพราะคิดว่าคนที่ไม่เคยดูแล้วพอดูมันเป็นอะไรที่น่าตื่นตะลึง”
2. Jiro Dreams of Sushi : จิโระ เทพเจ้าซูชิ (2011)
เชื่อว่าผู้ที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่น ต้องสนใจเรื่องราวของคุณปู่วัย 85 คนนี้แน่ เพราะหนังสารคดีเรื่องนี้จะพาไปรู้จัก Jiro Ono ชายชราผู้มีฝีมือไม่ธรรมดา เจ้าของ Sukiyabashi Jiro ร้านซูชิเล็กๆ ในกรุงโตเกียวซึ่งมีที่นั่งรองรับเพียง 10 ที่นั่งเท่านั้น และต้องจองคิวก่อนอย่างน้อยหนึ่งเดือนอีกด้วย ไม่เพียงแต่เราจะเห็นซูชิน่ากินทั้งหลายซึ่งอาจจะทำให้ใครหลายคนทั้งอิ่มเอมและหิวไปในเวลาเดียวกัน แต่แง่มุมอันเป็นแรงบันดาลใจของคุณปู่จิโร่ยังชวนน่าติดตาม และยังสร้างความเพลิดเพลินให้กับหนังอีกด้วย
ธิดา : “เรื่องก็พูดถึงคุณลุง Jiro เจ้าของร้านซูชิ ขึ้นชื่อเรื่องราคาสูง จองคิวนานเป็นเดือนๆ ถึงจะได้กิน แล้วก็เป็นคนที่มีมาตรฐานสูงในการทำซูชิ เรื่องแบบนี้คนไทยค่อนข้างที่จะเข้าถึงง่าย บางคนที่อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเยอะๆ เราจะเก็ทวัฒนธรรมและจริยธรรมในการทำงานลักษณะนี้ของคนญี่ปุ่น
“เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของหนังสารคดีที่ดีมากเพราะในแง่หนึ่งเราเรียกว่าสารคดีแบบ Food Porn คือทำให้คนเห็นภาพอาหารสดสวย เห็นแล้วหิวตลอดเวลา แต่ว่าหนังนี้มันก็สำรวจวิธีคิดของคุณ Jiro ค่อนข้างละเอียด และพูดถึงเรื่องการบริโภคปลาในญี่ปุ่นทุกวันนี้เพราะในตลาดโลกมีการจับปลาที่มันล้นเกินความสามารถในการสร้างทรัพยากรของธรรมชาติ หนังแตกประเด็นไปได้ไกลพอสมควร ไม่ซีเรียส และเป็นหนังที่ดูง่าย เชื่อว่าเป็นตัวเลือกที่บันเทิงเหมาะกันคนที่ต้องการเริ่มต้นดูสารคดี”
3. Man on Wire : ไต่พลิกโลก (2011)
หากใครเป็นคนที่ชอบหนังลุ้นระทึก thriller หน่อยๆ หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีมากและการันตีความสนุกด้วยรางวัลมากมายอย่าง OSCAR หนังเล่าจากเรื่องการลักลอบปีนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ของ Philippe Petit นักไต่ลวดชื่อดังชาวฝรั่งเศส แต่ไม่ใช่แค่การเดินธรรมดาเท่านั้น เขาทำการแสดงทั้งเต้น คลานเข่า หรือแม้แต่นอนอยู่บนเส้นลวดรวมแล้วเป็นเวลานานถึง 45 นาที ซึ่งการจะขึ้นไปปีนได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เขาต้องวางแผนมากมายเพื่อลักลอบเข้าไปไม่ให้ใครเห็น บางส่วนของฟุตเทจจึงเป็นแบบจำลองขึ้นมาแต่ก็ไม่ได้ลดความตื่นเต้นไปเลยแม้แต่น้อย
ธิดา : “เรื่องนี้เป็นสารคดีที่ได้รางวัลเยอะแยะมากมาย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนตึก World Trade จะโดนถล่ม หนังเรื่องนี้เล่าจากฟุตเทจในอดีต มีการจำลองฉากขึ้นใหม่เพราะมันไม่ได้ถูกถ่ายเอาไว้ในตอนที่เขาเตรียมตัวปีนตึก ใช้วิธีเล่าราวกับหนัง thriller เพราะการขึ้นไปปีนตึกต้องวางแผนหลบซ่อนเจ้าหน้าที่ต่างๆ นานา หนังยังเล่าถึงจิตวิญญาณของมนุษณ์บางคนที่เหนือกว่ามนุษณ์คนอื่นๆ เช่น คนบ้าในวัดที่มีความใฝ่ฝันคือไปปีนตึก World Trade ซึ่งเพียงแค่ก้าวพลาดไปสองเซ็นคุณก็ตกลงมาตายได้ แต่ว่ามีความฝันที่จะทำให้ได้ขนาดนั้น และมีบรรดากลุ่มเพื่อนที่ทุ่มเทที่จะทำให้ความฝันของ Phillip เป็นจริง
“หนังมีองค์ประกอบจัดจ้านแบบหนังบันเทิง คนที่สงสัยว่าหนังสารคดีมันน่าเบื่อหรือเปล่าก็อาจจะเริ่มต้นด้วยหนังสไตล์แบบนี้ได้ มันอาจแปลกสำหรับคนที่เคยมีภาพว่าสารคดีคงจะเป็นนิ่งๆ เต็มไปด้วยเสียงบรรยาย เล่าเหตุการณ์ที่น่าเบื่อ หรือว่าได้แต่เล่า fact ไปทื่อๆ แต่ Man on Wire เล่าด้วยลีลาเหมือนหนังตลาดเรื่องหนึ่งเลย ดูแล้วลุ้นระทึก สลายภาพสารคดีที่อยู่ในความทรงจำของคนที่ไม่ชอบสารคดีได้พอสมควร”
4. The Act of Killing : ฆาตกรรมจำแลง (2012)
เรื่องราวของผู้กำกับที่เข้าไปในประเทศอินโดนีเซียเพื่อคุยกับชาวบ้านและเจอกับรายละเอียดเหตุการณ์ช่วงยุค 50-60 ที่อินโดนีเซียมีการบุกลัทธิคอมมิวนิสต์ มีการตั้งกองกำลังชาวบ้านไปไล่ฆ่าชาวบ้านด้วยกันที่สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ผู้กำกับเลือกนำเสนอแบบหนังซ้อนหนัง โดยเล่าเรื่องผ่านคนร้ายซึ่งแสดงออกอย่างไร้ความรู้สึกผิดต่อการกระทำของตัวเอง ทำให้เห็นความจริงที่จริงมากเข้าไปอีกของการเป็นอดีตมือสังหาร
ธิดา : “มันน่าตกใจตรงที่ว่า จนถึงปัจุบันครอบครัวของคนที่ถูกฆ่าตายก็ยังมีชีวิตอยู่ ฆาตกรที่เห็นว่าลากลูกไปฆ่าก็ยังมีชีวิตอยู่ หลายคนอยู่ร่วมในหมู่บ้านเดียวกันด้วย ไปตลาดก็ยังเห็นหน้าคนที่ฆ่าลูกเราอยู่เลย The Act of Killing เล่าเรื่องของกลุ่มฆาตกร ซึ่งความย้อนแย้งก็คือว่ากลุ่มฆาตกรก็จดจำเหตุการณ์ที่ตัวเองทำเหมือนเป็นวีรกรรม แล้วก็จำว่ามันเป็นความทรงจำด้านสวย ซึ่งผู้กำกับก็ใช้วิธีหลอกล่อให้คนกลุ่มนี้เล่าเรื่องตัวเอง และโกหกว่าเดี๋ยวจะเอาเรื่องนี้มาทำเป็นหนังเชิดชูวีรกรรม คนก็มาแสดงความเป็นตัวเองอะไรกันใหญ่เลยแต่ภายหลังก็ถูกตัดออกมาอีกแบบ
“เรื่องนี้ในแง่ความเป็นภาพยนต์มันก็ท้าทายเพราะใช้วิธีของหนังซ้อนหนัง หลอก subject มาแสดงอะไรซับซ้อนไปหมด กับสอง มันก็ถูกวิพากษ์ว่า คนทำนี่มันมีสิทธิหลอกลวง subject ขนาดไหน มันก็เป็นที่ถกเถียงที่ไม่มีคำตอบสุดท้ายหรอกว่าทำถูกทำผิด แต่ว่าสุดท้ายหนังมันก็มีพลังในแง่ของการเปิดเผยความจริงแบบที่ว่า ถ้าคุณใช้วิธีธรรมดาไปสัมภาษณ์เขา เขาคงไม่พูดอะไรแบบนี้ออกมาอย่างที่เราเห็น เรื่องนี้คนที่ไม่เคยดูสารคดีมาดูอาจตกใจ ว่านี่มันหนังบ้าอะไร”
5. Amy : เอมี (2015)
คอดนตรีคงไม่มีใครไม่รู้จักนักร้องสาวคนนี้เเน่ นี่เป็นบันทึกเรื่องราวชีวิตอีกด้านหนึ่งของ เอมี ไวน์เฮ้าส์ ศิลปินหญิงมากความสามารถผู้ประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลมากมาย แต่ช่วงชีวิตของเธอหลังจากนั้นกลับเปลี่ยนไปอย่างไม่น่าเชื่อจากการเป็นโรคซึมเศร้าและข่าวการเสพยาของเธอ หนังสารคดีเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของเอมีตั้งแต่เด็กจนโต และนำเสนอมุมมองที่มีต่อเธอในแง่ที่ต่างออกไป
ธิดา : “เป็นหนังที่คนดูสัมผัสง่ายเพราะมันมีดนตรี เป็นตัวอย่างของสารคดีในเชิงของการสัมผัสง่าย มันมีเพลง Amy Winehouse เป็นตัวดึงให้คนรู้สึกอินไปกับเรื่องได้ไม่ยาก ในขณะเดียวกันตัวหนังก็มีคุณภาพสูงในเชิงของการเป็นหนังสารคดี เป็นตัวอย่างของหนังที่เล่าถึงศิลปินที่เสียชีวิตไปแล้วและเผอิญเป็นศิลปินที่ไม่ค่อยมีหลักฐานพยาน ประวัติศาสตร์ ที่ชัดเจนมาก เพราะ Amy Winehouse ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อแบบจริงจัง ส่วนใหญ่เรื่องราวของเค้าจะถูกเล่าผ่านสื่อประเภท gossip paparazzi ซึ่งในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ก็สร้างภาพลักษณ์ค่อนข้างจะลบให้กับตัวเขา คนจำนวนมากจึงมีความทรงจำด้านลบกับชีวิตของ Amy Winehouse
“หนังได้นำเอาฟุตเทจมาร้อยเรียงใหม่เพื่อที่จะอธิบายชีวิตของเค้า ซึ่งมันก็ให้ผลในเชิงของการเปลี่ยนทัศนะคติของคนดูที่มีต่อศิลปินคนนี้ได้มาก เลยคิดว่ามันเป็นตัวอย่างที่ดีของการที่คนดูเข้าถึงหนังไม่ยาก ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวอย่างการทำสารคดีในรูปแบบนี้ที่ค่อนข้างจะดีมาก”
6. Where to Invade Next : บุกให้แหลก แหกตาดูโลก (2015)
เรื่องราวการเดินทางไปประเทศฝั่งยุโรปและแอฟริกาของ ไมเคิล มัวร์ ผู้กำกับสารคดีผู้เดินทางราวกับเป็น ‘invader’ หรือผู้บุกรุก ด้วยการมองหาไอเดียและวิธีแก้ปัญหาของประเทศต่างๆ มาปรับใช้ในสหรัฐอเมริกา หนังนำเสนอประเด็นความแตกต่างในด้านการศึกษา สุขอนามัย เพศสัมพันธ์ ความเท่าเทียมและอีกหลายๆ ประเด็นที่น่าสนใจ ระหว่างฝั่งยุโรปและอเมริกา
ธิดา : “หนังเรื่องนี้ในตอนที่เขาฉายหรือแม้แต่ตอนที่ฉายไปเกินหนึ่งปี ก็เป็นเรื่องที่พิสูจน์ตัวเองว่ามันค่อนข้างทำงาน โดยเฉพาะทำงานกับคนดูบ้านเราค่อนข้างเยอะ เพราะหนังพาไปดูประเทศในยุโรปหลายๆประเทศที่เจอปัญหาทางสังคมแบบนี้ แต่มีวิธีแก้ไขแบบนี้ๆ มีนโยบายการพัฒนาที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนและถูกนำไปปฏิบัติจริงๆ
“หนังเรื่องนี้ทำมาเพื่อที่จะสื่อสารกับคนอเมริกัน แต่พอเราดูเราก็จะรู้สึกว่าปัญหาสังคมหลายแบบประเทศไทยก็มี แล้วในโลกนี้มันมีประเทศที่เขาสามารถแก้ได้ด้วยแนวคิดที่มันล้ำหน้าขนาดนี้เลยเหรอ สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มดูเรื่องนี้มันจะเหมาะทั้งในแง่เพราะมันดูง่ายและเป็นหนังที่มีอารมณ์ขัน สนุกสนาน ขณะเดียวกันมันก็เป็นหนังสารคดีเชิงสังคมที่สามารถบันดาลใจเราได้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสารคดี เรื่องนี้ คนดูก็จะนึกภาพได้ว่า สารคดีนี่มันย่อยง่าย ในขณะเดียวกันมันบันดาลใจ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็ทำงานได้เป็นอย่างดี”
ทิศทางหนังสารคดีในอีก 5 ปีข้างหน้า
หากพูดถึงมุมมองของสารคดีในอีก 5 ปีข้างหน้า ธิดาก็ได้เล่าถึงเทรนด์ที่เคยมีมาและคาดว่ายังจะเป็นเทรนด์ที่ดำเนินต่อไปเช่น สารคดีดนตรี เพราะเป็นเทรนด์ที่เชื่อมโยงกับคนดูได้ง่าย และมันคือการเชื่อมโยงความเป็นสารคดีเข้ากับวัฒนธรรมความบันเทิงซึ่งผู้ผลิตก็เชื่อว่ามีฐานแฟนรอดูอยู่แล้ว เทรนด์ที่ว่านี้คือสารคดีที่พยายามเข้าหาความเป็นแมสมากขึ้น และไม่จำกัดว่าสารคดีต้องซีเรียสหรือเป็นการบันทึกข่าวใหญ่โตของโลก
“อีกประเภทคือ สารคดีที่นำเอาเหตุการณ์ที่เคยถูกปกปิด หรือไม่เคยถูกสำรวจแบบจริงจังมาก่อนกลับมาสำรวจใหม่ ซึ่งเห็นได้ชัดผ่านทางสารคดีทีวี โดยเฉพาะสารคดีอาชญกรรมที่นำคดีฆาตกรรมโด่งดังทั้งหลายกลับมาสำรวจ เพราะโลกสมัยนี้เข้าหาข้อมูลได้ง่าย คนทำมีความกล้าหาญมากขึ้นที่จะทำให้มันโปร่งใสและชัดเจนมากขึ้น”
“กลุ่มสุดท้ายที่เห็นได้ชัดมากคืออุปกรณ์การถ่ายทำสารคดี พัฒนาขึ้นเยอะ ตะลุยไปได้ทุกที่ อย่างสารคดีประเภทคลุกวงในก็คือคนทำเข้าไปคลุกอยู่ในเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยง หรือมีความเป็นส่วนตัวสูง ซึ่งเมื่อก่อนเวลาเอาอุปกรณ์ใหญ่เข้าไปมันไม่สามารถทำได้ แล้วก็จะมีสารคดีประเภทเข้าไปตะลุยกลางดงสงครามเมือง อยู่กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย หนังแบบนี้ก็จะเป็นประเภทที่อาศัยพลัง ความกล้าของคนทำ ตะลุยไปที่ที่สำนักข่าวใหญ่ๆ ไม่กล้าเข้าไป และเราคนทั่วไปไม่เคยมีโอกาสเห็น”