ฮิเดโอะ โคจิม่า (Hideo Kojima) ผู้กำกับเกมชื่อดังชาวญี่ปุ่น เปิดตัวเกม Death Stranding ของเขามาหลายปี และในตัวอย่างของเกมแต่ละตัวนั้นก็มีแต่ความงงงวยให้ผู้ที่รับชมอย่างต่อเนื่อง
อีกไม่นานแฟนเกมหลายๆ คนจะได้ไขความข้องใจให้กระจ่างกันสักที เพราะเกมจะเปิดให้เล่นบนเครื่อง PlayStation4 อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายนปี ค.ศ.2019 นี้แล้ว The MATTER จึงอยากบอกเล่าอะไรเกี่ยวกับเกมนี้สักเล็กน้อย ทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่คุณผู้อ่านไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ แต่เราอยากที่จะเล่าเรื่องเหล่านี้ให้คุณฟัง
1. Death Stranding ถือว่าเป็นเกมแรกที่โคจิม่าจะรับหน้าที่เป็นผู้กำกับ ผู้เขียนบท และ โปรดิวเซอร์ หลังจากที่เขาแยกทางออกจากรัง Konami และมาก่อตั้งสตูดิโอ Kojima Productions ด้วยตัวเองเมื่อปี ค.ศ.2015 ที่ผ่านมา
2. โคจิม่าเคยบอกในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เกม Death Stranding ใช้เวลาพัฒนาทั้งหมด 3 ปี 9 เดือน นับตั้งแต่เริ่มจนถึงวันที่ส่งแผ่นไปผลิตเป็นสินค้าจริง
3. เหตุผลในการผลิตเกมได้เร็วกว่าที่คาดส่วนหนึ่งมาจากการที่ตัวเกมไม่ได้พัฒนาใหม่โดยเริ่มต้นจากศูนย์ทั้งหมด ตัวผู้พัฒนาเลือกใช้ Decima เกมเอนจิ้นของทีมพัฒนาเกม Guerrilla Games จากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เคยใช้สร้างเกมเด่นๆ อย่าง Until Dawn กับ Horizon Zero Dawn
4. เดิมทีเกมเอนจิ้น Decima ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ แต่หลังจากที่โคจิม่าไปร่วมใช้งานและพัฒนาเกมเอนจิ้นตัวดังกล่าว จึงมีการตั้งชื่อ Decima โดยอ้างอิงชื่อมาจาก เดจิมะ เกาะของญี่ปุ่นในยุคเอโดะที่เปิดให้ชาวดัตช์ (หรือ เนเธอร์แลนด์) ทำการค้าขายกับญี่ปุ่น และ เทพธิดาเดซิม่า (Decima) หนึ่งในสามเทพีพาร์เค (Parcae) ตามความเชื่อเทพปกรณัมของชาวโรมัน
5. ตัวเกมดังกล่าวถือว่าเป็นการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งของโคจิม่ากับ นอร์แมน รีดัส (Norman Reedus) และ กีเยร์โม เดล โตโร (Guillermo del Toro) หลังจากที่พวกเขาเคยร่วมงานกันแล้วครั้งหนึ่งในการสร้างเกม Silent Hills แต่โชคชะตาทำให้เกมดังกล่าวต้องถูกยกเลิกไป
6. นี่ถือว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งของกีเยร์โม ที่มีส่วนร่วมกับวิดีโอเกมซึ่งถูกยกเลิกการพัฒนามาก่อนแล้ว อย่างเช่นเกม InSane ที่เปิดตัวในปี ค.ศ.2012 ซึ่งเดิมทีมีคอนเซปต์ในการพัฒนาเป็นเกมสยองขวัญที่ได้แรงบันดาลใจจากนิยายของ H.P. Lovecraft ก่อนจะถูกยกเลิกเพราะบริษัทผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายมีปัญหาด้านการเงิน อีกเกมหนึ่งก็คือเกม Sundown ที่เคยเปิดเผยข้อมูลช่วงปี ค.ศ.2006 ก่อนจะโดนยกเลิกไปในช่วงต้นของการพัฒนาเกม
7. กีเยร์โมปรากฎตัวในเกม Death Stranding ก็จริง แต่เจ้าตัวมาแค่เฉพาะรูปลักษณ์ภายนอก แต่จะได้นักแสดงคนอื่นมาแสดงแทนในการทำโมชั่นแคปเจอร์ รวมถึงมีนักพากย์ท่านอื่นเป็นผู้พากย์เสียงแทน มีบางคนเชื่อว่าการไม่พากย์เสียงเองนั้นเป็นการแก้เคล็ดเพื่อให้เกมออกมาราบรื่นด้วย
8. นอกจากกีเยร์โม ยังมีผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง นิโคลัส ไวดิง รีฟิน (Nicolas Winding Refn) (ผู้กำกับ ‘Drive’ และ ‘Only God Forgive’) ที่มาปรากฎตัวในเกม Death Stranding เฉพาะรูปลักษณ์ภายนอกแต่ใช้นักแสดงกับนักพากย์คนอื่นในการเล่นบทในตัวเกมเช่นกัน
9. ถึงแม้ว่าโคจิม่าจะชอบภาพยนตร์แบบจริงจัง แต่คนที่นำพาให้ผู้พัฒนาเกมท่านนี้ได้พบเจอกับนอร์แมนก็คือกีเยร์โม ที่โทรไปสะกิดนักแสดงชายที่โด่งดังจากซีรี่ส์ ‘The Walking Dead’ ว่า “จะมีคนโทรไปหานายแล้วอยากให้นายทำงานด้วย ให้ตอบตกลงนะ” ระหว่างที่งงๆ ว่าใครจะโทรมากัน ผู้กำกับภาพยนตร์เม็กซิโกก็กำชับว่า “เชื่อฉันสิ ตอบตกลงซะ”
10. ด้วยเหตุที่นอร์แมนได้รับงานแสดงชิ้นแรกๆ จากผู้กำกับชาวเม็กซิโก เขาเลยตอบตกลง แน่นอนว่ามีจังหวะที่เกม Silent Hills โดนยกเลิกที่ทำให้นักแสดงดังคนนี้ติดสตั๊นไปเบาๆ ช่วงหนึ่ง ก่อนที่ผู้กำกับเกมชาวญี่ปุ่นจะกลับมาพูดคุยอีกครั้งพร้อมอธิบายว่าตัวเกม Death Stranding เป็นอย่างไร คราวนี้ Norman ตัดสินใจรับงานเพราะคอนเซปต์เกมล้วนๆ และดีใจที่เกมนั้นออกมาดีกว่า Silent Hills เสียอีก
11. นักแสดงเด่นอีกท่านหนึ่งที่มาร่วมเป็นตัวละคร Cliff ในเกม Death Stranding ก็คือ แมดส์ มิคเคลสัน (Mads Mikkelsen) ที่หลายคนจะจดจำเขาได้จากการรับบทเด่นใน ซีรีส์ Hannibal และบท Le Chiffre ชายหนุ่มผู้หวดไข่สายลับ 007
12. ถ้าใครหลายคนได้ติดตามทวิตเตอร์ของโคจิม่าจะทราบดีว่า เขาเป็นติ่งตัวยงของแมดส์ แต่การที่ได้ตัวนักแสดง ‘สมบัติแห่งชาติของเดนมาร์ก’ (อ้างอิงจากคำพูดของโคจิม่าเอง) มาร่วมงานนั้น มาจากการที่โคจิม่าไปพบกับ นิโคลัส ไวดิง รีฟิน ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเดนมาร์ก เมื่อปี ค.ศ.2014 และปรึกษาเกี่ยวกับเกม Death Stranding พอดีว่านิโคลัสเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกที่แมดส์เป็นนักแสดงนำ เลยแนะนำให้โคจิม่าจ้างแมดส์มารับบทเด่นในเกม พอดีว่าโคจิม่าคิดตัวละครตัวหนึ่งที่อ้างอิงจากแมดส์อยู่แล้ว เลยได้ติดต่อกันนับแต่นั้น
13. ถ้าถามว่าโคจิม่าเป็นติ่งแมดส์ขนาดไหน ก็แค่มีแผ่นภาพยนตร์และซีรีส์ทั้งหมด เท่าที่มีจำหน่ายในญี่ปุ่นเท่านั้นเอง แถมยังเล่าเกี่ยวกับบทบาทของแมดส์ในภาพยนตร์แต่ละเรื่องบน Hideo Tube หรือช่วงรายการ YouTube ของตัวโคจิม่าเองอย่างยาวเหยียด
14. ถึงโคจิม่ากับแมดส์จะมีการติดต่อกัน แต่กว่าจะได้เจอตัวเห็นหน้าแบบเป็นๆ ก็ในช่วงปี ค.ศ.2016 ที่งาน San Diago Comic Con ในงานแมดส์ยังได้พบกับนอร์อมน ซึ่งก็สนับสนุนการติดสินใจให้ร่วมรับบทนำในเกม Death Stranding โดยยังไม่ได้อ่านบทเลย หลังจากนั้นในปีเดียวกัน โคจิม่ากับแมดส์ก็ไปทำงานกันต่อที่ประเทศอังกฤษในการแสกนร่างกายทั้งตัวเพื่อใช้ในเกม Death Stranding
15. บทบาทของ Cliff ในเกม Death Stranding เดิมทีแล้วไม่ได้ถูกเขียนบทมาให้สูบบุหรี่ แต่ทว่าตัวผู้กำกับเห็นความเท่ของแมดส์ในการสูบบุหรี่จึงมีการแก้บทให้ตัวละคร Cliff สูบบุหรี่ไปด้วย… ไม่ได้เป็นความติ่งส่วนตัวเลยครับ!
16. ย้อนกลับไปพูดถึง นิโคลัส ไวดิง รีฟิน เล็กน้อย เพราะนอกจากที่เขาจะได้มารับเชิญในเกม Death Stranding แล้ว ในทางกลับกัน โคจิม่าก็ได้ไปเป็นนักแสดงรับเชิญในซีรีส์ ‘Too Old to Die Young’ ที่นิโคลัสเป็นผู้กำกับด้วยเช่นกัน
17. นักแสดงอีกคนที่โคจิม่าเลือกมาจากความชื่นชอบและชื่นชมฝีมือการแสดงก็คือ ลินด์เซย์ แวกเนอร์ (Lindsay Wagner) อดีตดารานำของซีรีส์ ‘The Bionic Woman’ ฉบับปี ค.ศ.1976-1978 ที่ตกลงมารับบท Amelie และ Bridget โดยที่ ตัวละคร Bridget นั้นใช้การสแกนหน้าตา การแสดง และเสียงพากย์จากตัวลินด์เซย์เอง ส่วนตัวละคร Amelie นั้นเป็นการนำโมเดลของลินด์เซย์มาลดอายุและได้ เอมิลี โอไบรอัน (Emily O’Brien) มาพากย์เสียงให้
18. ลินด์เซย์ แวกเนอร์ เป็นนักแสดงที่ออกความเห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่สมัยก่อนแล้วว่า เธอไม่อยากมีส่วนร่วมกับผลงานที่แสดงความรุนแรง ซึ่งดูตรงข้ามกับวิดีโอเกมมากเหลือเกิน และโคจิม่าก็รู้เรื่องนี้จากเอเยนต์ของนักแสดงสาวใหญ่ กระนั้นด้วยความที่ตัวเกม Death Stranding มีเป้าหมายในการ ‘เชื่อมโยงผู้คนที่แยกห่างออกจากกัน’ เจ้าตัวจึงอยากจะลองพูดคุยกับลินด์เซย์ด้วยตัวเองสักครั้ง และเมื่อนักแสดงหญิงค้นข้อมูลก็พบว่าถึงเกมของโคจิม่าจะมีความรุนแรง แต่ก็มีการแฝงข้อความต่อต้านสงครามกับต่อต้านนิวเคลียร์อยู่เช่นกัน และนั่นทำให้มีการนัดพูดคุยกันเกิดขึ้น
19. ซึ่งโคจิม่าก็อธิบายคอนเซปต์เกม Death Stranding ว่า ตัวเกมตั้งใจจะเป็น ‘เชือก’ ให้ผู้เล่นทำการ ‘เชื่อมโยง’ ระหว่างกัน ก่อนจะลงรายละเอียดของเกมที่ทำให้นักแสดงหญิงรุ่นใหญ่ประทับใจ (สื่อบางเจ้าระบุว่าเธอฟังแล้วน้ำตาไหลด้วย) และร่วมมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวละครในเกมที่หลายคนยังรอการเล่นเพื่อให้เข้าใจว่า ทิศทางของเกมแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร
20. นักแสดงหญิงอีกคนที่รับบทเด่นในเกม Death Stranding ก็คือ Léa Seydoux นักแสดงสาวจากฝรั่งเศสที่โด่งดังจากการแสดงในภาพยนตร์ Blue Is the Warmest Color โดยเธอรับบทเป็นตัวละคร Fragile ที่เธอรับการสแกนหน้าตา, การแสดง และเสียงพากย์ และเหมือนทางทีมพัฒนาเกมตั้งใจไม่เสวนาถึงเธอมากนัก สอดคล้องกับการรีวิวของเกมนี้จากหลายสื่อระบุว่าเธอเป็นตัวละครที่สำคัญมากในเกม
21. นอกจากนักแสดงเด่นที่มาจากทวีปยุโรปแล้ว โคจิม่ายังนำอีกสิ่งหนึ่งมาจากยุโรป นั่นก็คืองานด้านดนตรี นับตั้งแต่การเลือกใช้เพลงของวง Low Roar วงดนตรีจากประเทศไอซ์แลนด์มาประกอบตัวอย่างแรกของเกม Death Stranding และเพลงที่จะใช้เป็นเพลงปิดของเกมก็เป็นเพลงของวง Chvrches จากประเทศสกอตแลนด์
22. แล้วก็เป็นเรื่องบังเอิญที่ ลุดวิก ฟอรส์เซล (Ludvig Forssell) ผู้ทำเพลงประกอบให้ตัวเกม Death Stranding เป็นชาวสวีเดน พอดิบพอดี
23. แต่ก็มีนักดนตรีท่านอื่นๆ มารวมทำเพลงประกอบด้วย อาทิ The Neighbourhood จากสหรัฐอเมริกา Bring Me The Horizon จากอังกฤษ และ Silent Poets จากญี่ปุ่น โดยจะมีการขายเพลงประกอบแยกต่างหากในชื่ออัลบั้ม Death Stranding: Timefall
24. ตัวเกม Death Stranding ถูกบอกกล่าวว่าเป็นเกมแนว ‘Strand Game’ ซึ่งฟังดูเข้าใจยากสักหน่อย จนมีคนเคยแซวว่าเกมน่าจะเป็นแนว Walking Simulator (จำลองการเดิน) มากกว่า แต่ถ้าอ้างอิงจากการรีวิวของสื่อเจ้าต่างๆ ตัวเกมมีความ Strand ที่อยู่ในความหมายว่า ‘การเดินทางจากคนหนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง’ และในแง่ความหมายของ ‘เส้นเชือกที่เชือมโยงวัตถุ’
25. ความ Strand ที่ว่าคือการให้ผู้เล่นควบคุมตัวเอก แซม “พอร์เตอร์” บริดเจดส์ (Sam “Porter” Bridges) และเดินทางส่งของเพื่อเชื่อมโยงสหรัฐอเมริกาที่ตอนนี้อยู่ในภาวะต่างคนต่างอยู่มากขึ้น และการรักษาสมดุลในการจะส่งของแต่ละครั้งเป็นเรื่องสำคัญ กระนั้นก็ต้องมีบ้างที่แซมต้องป้องกันตัวเองทั้งจากมนุษย์กันเอง และจากสิ่งมีชีวิตปริศนา
26. เกมยังเปิดให้สร้างไอเท็มเพื่อช่วยแซมในการเดินทางส่งของแต่ละครั้งด้วย ซึ่งก็ต้องผ่านเนื้อเรื่องบางช่วง หรือการส่งของบางอย่างเพื่อพัฒนาไอเท็มภายในเกม
27. ด้วยความงงๆ ในลักษณะนี้ ทำให้คะแนนรีวิวออกมาในลักษณะเสียงแตกพอสมควร และสื่อหลายเจ้าออกตัวแรงๆ ว่า เกมนี้อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน แต่สื่อแทบทุกเจ้าก็ระระบุ ว่ามันเป็นปรากฎการณ์แปลกใหม่สำหรับการเล่นเกมอย่างแน่นอน
28. Death Stranding เป็นเกมแบบผู้เล่นคนเดียวก็จริง แต่เกมยังมีฟีเจอร์ออนไลน์ ด้วยการให้ผู้เล่นสามารถสร้างสิ่งก่อสร้าง หรือ วางไอเท็มไว้ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้เล่นคนอื่นๆ สามารถมาใช้งานได้
29. ส่วนนี้เองที่เกมมีความ ‘Strand’ ที่ทำให้ผู้เล่นรู้สึกมีการเชื่อมโยงกับคนอื่น ในขณะเดียวกันถ้าผู้เล่นสร้างสิ่งก่อสร้าง หรือวางไอเท็มไว้ให้คนอื่นๆ ใช้ ก็จะรับทราบด้วยว่ามีคนมาใช้งานและทำการ ‘Like’ สิ่งของเหล่านั้น
30. แล้วก็ด้วยระบบของเกมที่จะมีการ ‘ล้างบาง’ พื้นที่อยู่ ทำให้สิ่งก่อสร้างนั้นไม่ได้อยู่อย่างถาวรทุกชิ้น และถ้ามีการอัพเดตแผนที่บางส่วนภายในเกมอยู่เป็นประจำ อาจจะทำให้เกมนี้มีความหลากหลายมากกว่าที่คาด
31. ถึงจะเพิ่งมีการประกาศในช่วงเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.2019 ว่า เกม Death Stranding จะเปิดให้วางจำหน่ายในปี ค.ศ.2020 สำหรับ PC ด้วย กระนั้นก็เคยมีข่าวออกมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 (หรือในช่วงที่โคจิม่าตั้งบริษัทใหม่) ว่าเกมจะวางจำหน่ายบน PlayStation 4 ก่อน แล้วตามมาด้วยการลงใน PC ในภายหลัง
32. ถึงจะเป็นความฝันมาตั้งแต่เด็กๆ และเกมส่วนใหญ่ของเขาก็มีฉากคัตซีนจนยาวเหมือนกับดูหนัง แต่เขาเพิ่งเอ่ยปากแบบเต็มๆ กับทาง BBC Newsbeat ว่า “ในอนาคตทาง Kojima Productions จะทำภาพยนตร์ด้วยครับ”
33. แต่เหตุผลในการทำเกมไม่ใช่เพราะเป็นความติ่งส่วนตัว แต่มาจากการที่โคจิม่ามองว่าแพลตฟอร์มในอนาคตจะเปลี่ยนไป “ผมคิดว่าอีกไม่กี่ปีการเล่นเกมจะขยับไปอยู่เป็นบริการสตรีมมิ่งมากขึ้น ภาพยนตร์และละครเองก็เหมือนกัน” โคจิม่าเสริมอีกว่า “เกมเองก็สามารถนำไปเล่นผ่าน iPad, iPhone หรือหน้าจอแบบอื่นที่ไหนก็ได้เมื่อใดก็ได้ ถ้าไปถึงจุดนั้นแล้ว ภาพยนตร์ ละคร และเกมต้องแข่งบนตลาดเดียวกัน ผมรู้สึกสนใจมากว่าเกมในรูปแบบใหม่นั้นจะเป็นแบบไหนและนั่นคือสิ่งที่ผมอยากทำต่อครับ”
34. อยากจะลงท้ายนิดนึงว่า ถ้าใครเล่นเกมนี้แล้วก็ไม่ต้องรีบสปอยล์ให้คนที่อยากจะสัมผัสเนื้อเรื่องของเกมด้วยตัวเองนะ
35. และเชื่อว่าโคจิม่าน่าจะทำอะไรที่ให้คนเล่นเกมชวนแปลกใจออกมาอีกด้วย เพราะเขาได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า อาจจะต้องทำเกมภาคต่อของ Death Stranding ออกมาเพราะงานยากที่สุดของการสร้างอะไรใหม่ จำเป็นจะต้องมีภาคต่อและภาคที่สามตามมา ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถระบุว่า ‘genre’ หรือ ‘ประเภท’ ใหม่ๆ ของงานที่ตัวของเขาสร้างได้นั้นคืออะไร