ห้าเดือนหลังจากที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 แพร่กระจายไปยังทุกทวีปในโลก วิกฤตนี้ก็พิสูจน์ให้เราตระหนักแล้วว่ามันไม่เพียงแต่เป็น ‘ทวิวิกฤต’ สุขภาพและเศรษฐกิจ (เพราะการแก้ปัญหาสุขภาพส่วนหนึ่งต้องอาศัยการลดระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ) เท่านั้น แต่กำลัง ‘สั่นคลอน’ สังคมและเศรษฐกิจโลก ต่อคำถามที่ว่าอนาคตหลัง COVID-19 จะเป็นอย่างไรอาจไม่มีใครตอบได้แน่ชัด แต่สิ่งที่แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งก็คือ COVID-19 เผยให้เห็นผลพวงของความเหลื่อมล้ำระดับรุนแรงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่ความเหลื่อมล้ำแย่ติดอันดับโลกอย่างไทย ประเทศที่ประชาชนกว่าสี่ในห้าเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือของรัฐ เด็กนักเรียนไทยที่จนที่สุดมีเพียง 57 เปอร์เซ็นต์ที่เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต ยังไม่นับว่าพ่อแม่จำนวนมากไม่มีเวลาดูแลลูกถ้าหากปรับมาเรียนออนไลน์จากบ้าน ร้อนถึงผู้เชี่ยวชาญหลายคนต้องออกมาเตือนว่าการพึ่งพาแต่เทคโนโลยีในการเรียนการสอนอาจซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ
ยิ่งความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ ยิ่งเผยโฉมและถูก ‘ตอกลิ่ม’ ให้ถ่างกว้างกว่าเดิมด้วยวิกฤต COVID-19 เรายิ่งเห็นสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนิยาย ภาพยนตร์ และเกม หันมาฉายภาพโลกอนาคตในจินตนาการตามขนบนิยายวิทยาศาสตร์ (ไซไฟ) แนว ‘ไซเบอร์พังค์’ (cyberpunk) มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างไซเบอร์พังค์ที่คอเกมคุ้นเคยคือ ซีรีส์เกมดัง Deus Ex ส่วนคอภาพยนตร์คงไม่มีใครไม่รู้จักภาพยนตร์ไซเบอร์พังค์คลาสสิก Blade Runner และซีรีส์ The Matrix หรือเมื่อไม่นานมานี้ ซีรีส์ Netflix เรื่อง Altered Carbon ก็ทำให้คนจำนวนมากได้มารู้จักไซเบอร์พังค์มากขึ้น
‘ภาพจำ’ ของไซเบอร์พังค์คือโลกอนาคตแนวดิสโทเปีย (dystopia) แต่สิ่งที่ต่างจากดิสโทเปียทั่วไปก็คือ การเน้นอำนาจและอิทธิพลของบริษัทขนาดใหญ่ที่ควบคุมกลไกรัฐอย่างสมบูรณ์ ความแพร่หลายของเอไอ (AI) หลายรูปแบบ เทคโนโลยีเสมือนและกึ่งเสมือนหลากหลายรูปแบบที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตมนุษย์ ผู้คนต่อเติมและ ‘ปลูกถ่าย’ อวัยวะเทียมในร่างกาย รวมถึงฉีดสารเคมีเข้าสู่ร่างกายกันเป็นเรื่องปกติ ท้องฟ้าหม่นมืดราวกับดวงอาทิตย์ไม่เคยส่องแสง (นิยายไซเบอร์พังค์หลายเรื่องบอกว่ามลพิษปกคลุมจนมองไม่เห็นสีของท้องฟ้าอีกต่อไป) และขอบฟ้าเต็มไปด้วยรถบินได้สุดเท่
อย่างไรก็ดี ‘รากความคิด’ และ ‘หัวใจ’ ของไซเบอร์พังค์ไม่ได้อยู่ในสถาปัตยกรรม หรือแม้แต่รถบินได้ แต่อยู่ในความเหลื่อมล้ำสุดขีดทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสังคม นักเขียนไซเบอร์พังค์ยุคบุกเบิกมองโลกในแง่ร้ายว่าความเหลื่อมล้ำจะรุนแรงมากขึ้น อำนาจและอิทธิพลทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่จะขยายตัวจนแนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับรัฐ สามารถบงการทุกมิติในชีวิตคนธรรมดาเพราะพวกเขามีทั้งเทคโนโลยี เงินทุน และอำนาจรัฐ ไซไฟไซเบอร์พังค์ถือกำเนิดและเบ่งบานในคริสต์ทศวรรษ 1980 สมัยที่คลื่นการพัฒนาเศรษฐกิจสำนักเสรีนิยมใหม่ (เชื่อมั่นในพลังของตลาดเสรี จำกัดอำนาจรัฐให้เหลือน้อยที่สุด แปรรูปบริการสาธารณะต่างๆ เป็นของเอกชนให้ได้มากที่สุด) พัดแรงจากอังกฤษและอเมริกาไปทั่วโลก เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเริ่มเข้าถึงมวลชน ส่งผลให้คนจำนวนมากมองอนาคตในแง่ดีว่าจะเป็นยูโทเปีย แต่นักเขียนไซเบอร์พังค์มองโลกในแง่ร้ายกว่านั้น พวกเขาไม่เชื่อว่าลำพังความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะนำมาซึ่งโลกพระศรีอาริย์ เพราะธรรมชาติของมนุษย์และความหอมหวานของอำนาจจะยังคงอันตรายไม่เปลี่ยนแปลง
ผู้เขียนเป็นแฟนไซเบอร์พังค์มานานกว่าสามสิบปี ตั้งแต่ตกหลุมรักภาพยนตร์สุดคลาสสิก Blade Runner ได้เล่นเกมสุดเจ๋ง Neuromancer นานหลายปีก่อนที่จะได้อ่านหนังสือชื่อเดียวกันที่เป็นต้นตอของเกม คิดว่าเล่นเกมไซเบอร์พังค์มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยเกม แต่ยังไม่มีเกมไหนที่ให้ ‘ความรู้สึก’ ของการเป็นคนธรรมดาที่อาศัยอยู่ในโลกอนาคตแบบไซเบอร์พังค์ได้ดีเท่ากับ ‘Cloudpunk’ เกมจาก Ion Lands สตูดิโออินดี้สัญชาติเยอรมนี และที่น่าทึ่งกว่านั้นอีกก็คือ สร้างความรู้สึกนั้นได้โดยไมได้ให้เราเป็นพระเอกหนังแอ็กชั่นไซเบอร์พังค์อย่าง The Matrix แต่อย่างใด
Cloudpunk ให้เราเล่นเป็นหญิงสาวสวมฮิญาบนาม ราเนีย (Rania) ในคืนแรกที่เธอเริ่มงานใหม่ หลังรอนแรมตัวคนเดียวจาก ‘คาบสมุทรตะวันออก’ (Eastern Peninsula) มาหางานทำใน นิวาลิส (Nivalis) มหานครหนึ่งในไม่กี่แห่งที่ยังหลงเหลืออยู่หลังวันสิ้นโลก ราเนียทำงานรับจ้างส่งพัสดุให้กับบริษัทชื่อ Cloudpunk ซึ่งไต่เส้นกฎหมายตลอดเวลาและถูก ‘ทางการ’ (ซึ่งก็คือ CorpSec บริษัทยักษ์ใหญ่ที่รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยในเมือง) ไล่ล่า เราจะขับรถบินได้ตระเวนส่งของทั่วเมือง รวมทั้งทำภารกิจเสริมระหว่างทางนอกเหนือจากภารกิจที่ Cloudpunk มอบหมาย แทบทุกครั้งที่ทำงานสำเร็จเราจะได้ค่าตอบแทน เอาเงินนี้ไปเติมน้ำมัน ซื้ออาหาร ซื้อของมาตกแต่งอพาร์ตเมนต์รูหนู ซ่อมรถ (ถ้าขับไม่ระวังพอ ไปชนรถคันอื่น ตึกรามบ้านช่อง ขอบทางด่วน ฯลฯ)
ราเนียพยายามหาเงินให้ได้มากที่สุดไม่ใช่เพียงเพราะเธอต้องเอาตัวรอดให้ได้ แต่เพราะอยากซื้อร่างใหม่ให้ เคมัส (Camus) เอไอ (AI) คู่ใจของเธอ เคมัสในร่างกายภาพครั้งสุดท้ายเคยเป็นสุนัข แต่คราวนี้ตัวตนของเขาถูกย้ายเข้าไปใน HOVA – รถบินได้ที่เราใช้ขับส่งของ ก่อเกิดเป็นกลไกสนุกๆ ที่เราจะมีบทสนทนายืดยาวกับรถยนต์ระหว่างเพลิดเพลินกับการบิน รถที่คอยเตือนเวลาที่เรากำลังจะทำอะไรสุ่มเสี่ยงหรือขัดต่อมโนธรรมสำนึก รถที่โหยหาการกลับไปอยู่ในร่างสุนัขอีกครั้งหนึ่ง
ความโดดเด่นของ Cloudpunk ไม่ได้อยู่ในนวัตกรรมเกมใดๆ แต่อยู่ในการสร้างโลก ตัวละครหลากหลายที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลก และการให้อิสระเราค่อนข้างมากในการสำรวจโลกนั้นตามอำเภอใจ โลกอนาคตในเกมเดินตาม ‘ขนบ’ ของไซเบอร์พังค์รุ่นพี่อย่าง Blade Runner อย่างไร้ที่ติ ขอบฟ้าอัดแน่นไปด้วยตึกระฟ้าหลายรูปทรง บนตัวตึกประดับโลโก้ขนาดยักษ์ในภาษาอังกฤษและญี่ปุ่นของบริษัทยักษ์ใหญ่ สาดส่องออกมาด้วยไฟนีออนหลากสี ป้ายโฆษณาโฮโลแกรมหลายขนาดแข่งกันแย่งความสนใจ ในเมืองที่ไม่เคยหลับใหลแม้กลางดึก แต่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยหมอกควันจากมลพิษ ฝนพรำลงมาบนถนนลอยฟ้าที่สกปรกโสโครก และเต็มไปด้วยถังเผากระดาษให้ความอบอุ่น ยกเว้นในละแวกการค้าและการธนาคารที่ถนนสะอาดสะอ้าน และคอมเพล็กซ์ส่วนตัวของคนรวยที่ใช้ชีวิตอย่างไม่อนาทรร้อนใจ แวดล้อมไปด้วยแอนดรอยด์ (android หุ่นยนต์ที่หน้าตาเหมือนมนุษย์) และเอไอรับใช้หลายรูปแบบ
สถาปัตยกรรมโดยรวมในเกมดูไม่ต่างจากในมหานครใหญ่รอบโลกตอนต้นศตวรรษที่ 21 มากนัก เพียงแต่ตึกสูงเสียดฟ้ามากกว่าปัจจุบันหลายเท่าเพราะคนขับรถบินได้ ทำให้สร้างทางเดินลอยฟ้าหลายชั้น มีลิฟต์สาธารณะเป็นระยะๆ ให้เราเปลี่ยนชั้นเดินทาง มี ‘ทางด่วนลอยฟ้า’ ที่ให้เราขับรถด้วยความเร็วสูงกว่าปกติ แต่การจราจรก็ขวักไขว่มาก ต้องคอยระวังรถเมล์บินได้ รถส่วนตัวบินได้ รถบรรทุกบินได้ และสารพัดพาหนะ เพราะถ้าชนมากๆ รถเราจะเสีย ต้องเอาเข้าอู่ซ่อม (ลอยฟ้าอีกเช่นกัน) ตึกรามบ้านช่องบางละแวกหน้าตาเหมือนจีน หรือญี่ปุ่นโบราณประดับไฟนีออนและข้อความเป็นตัวอักษรจีน หรือคันจิ สะท้อนสุนทรียะแบบไซเบอร์พังค์อย่างชัดเจน (ย้อนไปคริสต์ทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นยุคบุกเบิกของนิยายไซไฟแขนงไซเบอร์พังค์ เป็นยุคทองของเศรษฐกิจญี่ปุ่น นักเขียนรุ่นนั้นหลายคนหลงใหลในสุนทรียะและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ส่งผลต่อสุนทรียะของไซเบอร์พังค์สืบมาจนถึงปัจจุบัน
โลกใน Cloudpunk น่าตื่นตาตื่นใจแทบทุกฉาก แต่ละเขตในเมืองใหญ่ดูเผินๆ คล้ายกัน แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยชวนให้เราสำรวจทุกซอกมุม ถึงแม้ว่าการสำรวจด้วยการเดินเท้าจะน่าสนใจน้อยกว่าการขับรถบินได้ในเกมนี้หลายเท่า การสำรวจด้วยเท้าก็จำเป็นเพราะเป็นวิธีเดียวที่เราจะได้บรรลุภารกิจส่วนใหญ่ (เช่น ส่งพัสดุให้ถึงมือผู้รับ) และได้เก็บไอเท็มตามพื้นที่เอาไปขายหรือทำภารกิจเสริมต่างๆ ได้ (เช่น เก็บแผ่นซีดีเกมเก่าเอาไปขายให้กับสาวนักสะสมเกม) รวมถึงทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่นการซื้ออาหารตามร้านหรือตลาดนัด ซื้อเสื้อผ้า หรือพูดคุยกับชาวเมือง ที่ไม่จำเป็นต่อการทำภารกิจแต่ก็เพลินดี
กราฟิกสามมิติในเกมนี้ใช้เทคนิค voxel (ทุกอย่างสร้างขึ้นจากการต่อบล็อกจิ๋ว คล้ายตัวต่อเลโก้) ซึ่งทำให้ทุกอย่างในเกมเป็นเหลี่ยม ไม่เว้นแม้กระทั่งต้นไม้ ซึ่งก็สอดรับกับสไตล์สถาปัตยกรรมของตึกระฟ้าในเกม และสื่อสารความ ‘แข็งกระด้าง’ และ ‘ปลอม’ ของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นธีมหลักธีมหนึ่งในเกม (และไซไฟแนวไซเบอร์พังค์ทั้งแขนง) ได้อย่างเหมาะเจาะ
กราฟิกที่น่าดึงดูด โลกกว้างที่เปิดโอกาสให้เราสำรวจเมืองตามใจชอบ เพราะภารกิจเกือบทั้งหมดในเกมนี้ไม่มีเส้นตาย จะทำให้เสร็จเมื่อไรก็ได้ ฝนที่ตกลงมาไม่หยุดตลอดทั้งเกม เสียงพึมพำจากโฮโลแกรมโฆษณา เสียงหวอของรถบินได้ CorpSec ที่ตามล่าผู้ร้าย (ซึ่งจริงๆ อาจไม่ใช่ผู้ร้ายก็ได้) รวมถึงดนตรีประกอบแนวเทคโนที่ใช้ซินธิไซเซอร์เป็นแกน ทั้งหมดนี้สร้างบรรยากาศโลกไซเบอร์พังค์ที่น่าหลงใหลอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ดี โลกอนาคตใน Cloudpunk คงไม่น่าสนใจนักถ้าหากมันเป็นโลกที่ไร้ชีวิต ไม่ว่าแสงสีและสถาปัตยกรรมตึกระฟ้าจะน่าดึงดูดขนาดไหนก็ตาม ซึ่งก็โชคดีที่โลกในเกมนี้มีชีวิตอย่างยิ่ง ผู้คนเดินถนนกันพลุกพล่านในย่านจอแจ เราสามารถคุยกับผู้คนนับร้อยในเมือง ทั้งคนที่เจอตามท้องถนนและที่ต้องทำภารกิจตามเนื้อเรื่อง ความที่เรา หรือราเนียเป็น ‘คนนอก’ เหมือนกับเราคนเล่น ไม่รู้จักโลกนี้มาก่อน ทำให้เธออยากถามลูกค้าและทุกคนที่พบเจอเกี่ยวกับทุกเรื่องราว รวมทั้งข้อมูลพื้นๆ ที่ชาวเมืองทุกคนรู้ดี เบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับตัวละครต่างๆ ซึ่งก็ทำให้ทีมออกแบบเกมสามารถสำรวจประเด็นทางสังคมจำนวนมาก อาทิ ผลลัพธ์ของความเหลื่อมล้ำระดับรุนแรง ด้านสว่างและด้านมืดของเทคโนโลยี อคติ (หรือไม่ใช่อคติ) ต่อเอไอ (ในเกมนี้เรียกอย่างสุดหรูว่า Automata หรือเครื่องจักรที่มีความคิดของตัวเอง) ผลพวงจากการขาดความเป็นส่วนตัว การสอดส่องใกล้ชิดของรัฐ อำนาจของบริษัทที่ข้ามเส้นแบ่งระหว่างรัฐกับเอกชนมานานแล้ว เสรีภาพและเจตจำนงของเอไอ และประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย
นิวาลิสอาจดูหรูหราไฮโซ แต่ไม่นานเราก็จะพบรูปธรรมของความเหลื่อมล้ำและสารพัดสารพันปัญหา เขตบางเขตในเมืองมืดมนเพราะไม่มีไฟฟ้าจากส่วนกลาง ลูกค้าบางรายสุ่มเสี่ยงที่จะแข็งตายระหว่างที่เราบินเอาพัสดุไปส่ง นิวาลิสกำลังประสบอุบัติเหตุและเหตุขัดข้องทางเทคนิคมากมายที่ไม่มีใครรู้ว่าเพราะอะไรแน่ จู่ๆ ตึกทั้งตึกอาจถล่มโครมลงมาต่อหน้าต่อตาเรา และเหล่าหุ่นยนต์และแอนดรอยด์ทั้งหลายในเกมก็ระส่ำระสายผิดปกติ คนขับรถให้ Cloudpunk หลายคนสูญหายอย่างเป็นปริศนา อัตราการเกิดอาชญากรรมพุ่งสูง สาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเช่นไฟจราจรและไฟฟ้าขัดข้องบ่อยผิดปกติ (ระบบพื้นฐานต่างๆ ในนิวาลิสไม่ได้บริหารจัดการด้วยคน แต่จัดการด้วยเอไอ) ยิ่งเราทำภารกิจมากขึ้น เราก็จะยิ่งเข้าไปพัวพันกับปริศนาใหญ่ที่ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับนิวาลิส จะได้ปะติดปะต่อว่า ‘CORA’ ที่เราได้ยินชาวเมืองหลายคนพูดถึงคืออะไรกันแน่ระหว่างศาสนาโบราณ เอไอเก่าแก่ หรือองค์กรลับ และจะได้พบกับ CORA และคำตอบของปริศนาใหญ่ ก่อนที่คืนแรกอันยาวนานของการทำงานจะปิดฉากลง
อย่างไรก็ดี เนื้อเรื่องหลักใน Cloudpunk ก็ยังไม่น่าสนใจเท่ากับภารกิจต่างๆ และบทสนทนากับตัวละครมากมายที่เราได้พบ ตัวละครหลายตัวมีสีสันและเรื่องราวส่วนตัวที่ขับเน้นประเด็นทางสังคมให้คมชัดมากขึ้น ในเมื่อเราทำงานรับเงินจากบริษัทที่ทำ ‘ธุรกิจสีเทา’ ไม่นานก็จะเผชิญหน้าภารกิจที่ต้องตัดสินใจยากๆ ทางศีลธรรม เช่น จะเลือกคนและแอนดรอยด์คนไหนและตัวไหนดีเพื่อช่วยชีวิตจากบริเวณที่เกิดอุบัติภัยก๊าซพิษ เพราะรถบินได้ของเรามีที่พอสำหรับสามคนและตัวเท่านั้น เราจะอยากรับเงินจากหัวหน้าม๊อบผู้ทรงอิทธิพลไหม อยากส่งพัสดุน่าสงสัยที่มีเสียงติ๊กต่อกดังออกมาให้ถึงจุดหมาย หรือจะเอามันไปทิ้งลงท่อขยะ จะอยากช่วยปลดปล่อยให้แอนดรอยด์เป็นอิสระจากการเป็นทาสคนรวย ถึงแม้เจ้าตัวจะรู้สึกโอเคกับสถานภาพนี้หรือเปล่า
การตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ของเราทำได้ด้วยกลไกง่ายๆ คือการบินไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ แต่สิ่งที่ไม่ง่ายเลยคือการตัดสินใจ โดยเฉพาะในเมื่อการตัดสินใจเรื่องที่ดูเล็กน้อยอาจขยายเป็นเรื่องใหญ่กว่าจะถึงฉากจบ และในเมื่อเกมนี้เซฟอัตโนมัติให้เรา ไม่มีตัวเลือกให้เราโหลดเซฟเก่ามาลองตัดสินใจแบบอื่นดูได้
การที่ Cloudpunk บรรจงสร้างโลกอนาคต และให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับโลกนั้นในฐานะ ‘คนนอก’ ที่สิ้นไร้ไม้ตอกอย่างราเนีย ทำให้ประเด็นต่างๆ ของดิสโทเปียแบบไซเบอร์พังค์โดดเด่นและกระตุกต่อมคิดเป็นอย่างยิ่ง ความที่มันเดินด้วยบทสนทนาเกี่ยวกับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (บริษัททวงหนี้โหด ซีอีโอหน้าเลือด และเจ้าหน้าที่คอร์รัปชั่น) แทนที่ความรุนแรงทางกายภาพ (เราไม่ต้องยิงใคร หรือแม้แต่จับอาวุธเลยตลอดทั้งเกม) แปลว่าทีมออกแบบ Cloudpunk อยากเน้นเรื่องความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ (หรือไม่สัมพันธ์) ระหว่างคนต่างชนชั้น ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเอไอ/Automata และเทคโนโลยีโดยรวม รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพื้นที่ทางกายภาพ
ประสบการณ์การเล่น Cloudpunk คือการได้เพลิดเพลินเจริญตาไปกับโลกไซเบอร์พังค์ระหว่างที่เราขับรถบินได้อย่างอิสระเสรีเหนืออื่นใด แต่ขณะเดียวกันก็เพลินสมองไปกับการได้ถูกกระตุกให้ฉุกคิดถึงผลลัพธ์ของความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาของเศรษฐกิจที่อาศัยเหล่า ‘แรงงานนอกระบบ’ ไร้ซึ่งสวัสดิการสังคมใดๆ และปัญหาของการปล่อยให้ธุรกิจขนาดใหญ่มีอำนาจครอบงำการตัดสินใจทางการเมืองทุกมิติ