[คำเตือน : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเกม Technobabylon]
นิยายวิทยาศาสตร์หรือ ‘ไซไฟ’ (sci-fi ย่อมาจาก science fiction) อยู่คู่โลกมานานกว่าสองศตวรรษ จินตนาการถึงอนาคตที่อาจดูเหลวไหลในสายตาของคนไม่อ่านไซไฟนั้น จำนวนนับไม่ถ้วนล้วนก่อเกิดแรงบันดาลใจให้กับการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ในโลกจริงจำนวนมาก ตั้งแต่หุ่นยนต์ รถยนต์ขับตัวเอง เครื่องปรินท์สามมิติ หูฟังแบบเสียบหู ฯลฯ
ตัวอย่างยุคบุกเบิกที่ลือลั่นก็อย่างเช่น นิยายของ จูลส์ เวิร์น (Jules Verne, 1828-1905) เจ้าของสมญา ‘บิดาแห่งไซไฟ’ เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คิดค้นเฮลิคอปเตอร์ และเรือดำน้ำลำแรกของโลก (คนละคนกัน) ส่วนนิยายของ เอช. จี. เวลส์ (H. G. Wells) นักเขียนไซไฟรุ่นบุกเบิกอีกคน ก็สร้างแรงบันดาลใจให้ โรเบิร์ต ก็อดดาร์ด (Robert Goddard) ประดิษฐ์จรวดเชื้อเพลิงเหลวลำแรกของโลกขึ้นในปี ค.ศ. 1926 และอีกหลายปีต่อมา ลีโอ ซิลาร์ด (Lei Szilard, 1898-1964) นักฟิสิกส์ชาวฮังการี-อเมริกัน ก็ ‘ปิ๊ง’ ความคิดที่จะทำเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จากการอ่านนิยายของเวลส์ที่มี ‘ระเบิดปรมาณู’ เป็นเสาหลักของเรื่อง (และภาพโลกล่มสลายในนิยายเล่มเดียวกัน คือ The World Set Free ก็จะจุดประกายซิลาร์ดให้เดินสายรณรงค์การควบคุมขีปนาวุธนิวเคลียร์และการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติหลังจบสงครามโลกครั้งที่สอง)
นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักประดิษฐ์ทั้งหลายล้วนได้แรงบันดาลใจจากไซไฟตลอดมา ถ้าใครอยากรู้ว่าเหตุใดโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกของโลกจึงเป็นแบบพับได้ มาร์ติน คูเปอร์ (Martin Cooper) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัทโมโตโรลา (Motorola) จะเฉลยว่าเพราะทีมของเขาอยากสร้างอุปกรณ์ที่มีหน้าตาและการใช้งานเหมือนกับอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพาในซีรีส์ดังเรื่องสตาร์ เทร็ค (Star Trek)
“มันไม่ใช่แฟนตาซีสำหรับพวกเรา แต่เป็นเป้าหมายเลยครับ” คูเปอร์ยืนยัน
ไซไฟอยู่เคียงข้างการประดิษฐ์คิดค้นของมนุษย์มายาวนาน แต่ในยุคต้นศตวรรษที่ 21 เมื่อความกลัวผลกระทบทางลบจากหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ทวีความเข้มข้น หลายคนออกมาเรียกร้องให้รัฐคิดเรื่องการรับประกันรายได้ขั้นต่ำ (universal basic income) สำหรับประชาชนทุกคนเผื่อว่าจะตกงานจากหุ่นยนต์ และหาทางใส่ ‘ศีลธรรม’ เข้าไปในปัญญาประดิษฐ์ ก็ไม่น่าแปลกใจที่ไซไฟแนวไซเบอร์พังก์ (cyberpunk) จะเป็นสายที่ได้รับความสนใจแบบมาแรงแซงโค้งไซไฟแนวอื่นๆ และซีรีส์โทรทัศน์แนวไซเบอร์พังก์ชื่อดังอย่าง Black Mirror และWestworld ก็ยิ่งทำให้คนสนใจไซเบอร์พังก์มากขึ้นมาก
ไซเบอร์พังก์คืออะไร? สรุปอย่างรวบรัดที่สุด ไซไฟแนวไซเบอร์พังก์เน้นภาพโลกอนาคตแบบ ‘ชีวิตเฮงซวยในสังคมไฮเทค’ หรือ ‘low life & high tech’
นั่นคือ เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้าครอบงำทุกมิติของชีวิต แอนดรอยด์หรือหุ่นยนต์เหมือนมนุษย์เป็นเรื่องปกติธรรมดา คนท่องโลกออนไลน์ได้ทุกเมื่อจากการเสียบอุปกรณ์เข้าสมองหรือฝังชิพติดตัว แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้กลับตรงกันข้ามกับความล่มสลายทางสังคม เมื่อสงครามโลกหรือความขัดแย้งรุนแรงระหว่างรัฐส่งผลให้ระเบียบโลกเปลี่ยนใหม่แบบถึงราก บริษัทยักษ์ระดับโลกไม่กี่แห่งเถลิงอำนาจจนมีอิทธิพลมากกว่ารัฐบาล ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างยิ่งกว่ายุคปัจจุบัน คนรวยกับคนจนมีชีวิตที่แตกต่างกันเกินกว่าฟ้ากับเหว
ในเมื่อไซเบอร์พังก์เน้นเล่าเรื่องชีวิต (บัดซบ) ของคนจนหรือชนชั้นกลางในอนาคตไฮเทค ก็ไม่น่าแปลกใจที่ภาพยนตร์ เกม และนิยายไซเบอร์พังก์ส่วนใหญ่จะสื่อภาพสังคมแบบดิสโทเปีย (dystopia) เป็นหลัก แต่ไม่มีเกมไหนที่ผู้เขียนเล่นแล้วรู้สึกว่า ฉายภาพอนาคตแนวไซเบอร์พังก์ที่ ‘สมจริง’ ผสม ‘กลมกล่อม’ และสะท้อนมุมมองต่ออนาคตที่หลากหลายเท่ากับ Technobabylon เกมผจญภัยอินดี้จาก เทคโนแครต เกมส์ (Technocrat Games) สตูดิโออินดี้จากอังกฤษ นำทีมโดย เจมส์ เดียร์เดน (James Dearden)
Technobabylon จินตนาการโลกปี ค.ศ. 2087 ในเมืองอนาคตชื่อ ‘นิวตัน’ (Newton) คนหนุ่มสาวที่ไม่มีงานทำจะอาศัยอยู่แฟลตโกโรโกโสที่รัฐจัดหาให้ เข้า ทรานซ์ (Trance) หรือโลกเสมือนได้ทุกเมื่อด้วย wetwear–เทคโนโลยีชีวภาพที่ผนวกผสานคอมพิวเตอร์เป็นชีวมวลเหลว ทำให้คน ‘เชื่อมต่อ’ กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ คนปลูกถ่ายอวัยวะและฝังชิพเพิ่มความสามารถกันเป็นเรื่องธรรมดา งานอดิเรกของคนจำนวนไม่น้อยคือการฉีดเชื้อโรคให้กับตัวเองเพื่อทดลองป่วยเป็นโรค ‘โบราณ’ ที่วงการแพทย์รักษาหายขาดแล้วในอนาคต เทคนิคการตัดต่อตัดแต่งพันธุกรรม (genetic engineering) ถูกนำไปใช้กับปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือเอไอ) ผลิตเอไอจากตัวอ่อนมนุษย์เพื่อจูงใจให้มันมี ‘ความเป็นมนุษย์’ มากพอที่จะไม่มาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
แล้วคนรวยมีงานอดิเรกแพงๆ อะไรในอนาคตแบบนี้? มีเซ็กซ์กับแอนดรอยด์คุณภาพสูง กินเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร (เนื้อที่โคลน (clone) ขึ้นมา ไม่ใช่มนุษย์จริงๆ มิฉะนั้นจะผิดกฎหมาย) และมาสมคบคิดกันว่าจะพัฒนาเอไอไปในทิศทางไหนดี
Technobabylon ให้เราเล่นเป็นตัวละครสามตัวซึ่งชีวิตเข้ามาข้องแวะเกี่ยวพันกันตลอดทั้งเกม–รีจิส (Regis) ตำรวจวัยกลางคน อดีตวิศวกรพันธุกรรม (ในอนาคตเรียกว่า ‘gengineer’ มาจาก gene + engineer) ผู้ระแวงเอไอและไม่เคยยอมฝังชิพใดๆ ในร่างกาย, ลาว (Lao) ตำรวจหญิงรุ่นลูก คู่หูของเรจิส มือแฮ็คอันดับต้นๆ ของเมือง และ ลาธา (Latha) สาวว่างงานติดทรานซ์ แต่ละคนนอกจากจะมีพื้นเพที่แตกต่างกันอย่างยิ่งแล้ว ยังมีมุมมองต่อเทคโนโลยีและสังคมที่แตกต่างหลากหลายกันอย่างมาก
ปัญหาแทบทั้งหมดใน Technobabylon ตั้งแต่ระดับปัจเจกถึงระดับสังคมเกิดจากปฏิกิริยาของคนต่อความรู้สึกว่า โลกดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไร (ในความรู้สึกของพวกเขา) ซึ่งก็มีมากมายหลายความคิด ความเห็น และความเชื่อ ไม่ต่างจากในโลกเราปัจจุบัน และการเน้นถ่ายทอดความรู้สึกที่หลากหลายเหล่านี้อย่างประณีตและเต็มไปด้วยรายละเอียด ของทั้งตัวละครหลักสามตัวที่เราควบคุม รวมถึงของตัวละครอื่นๆ ในเกม คือจุดแข็งของ Technobabylon ที่ทำให้มันเป็นมากกว่าเกมผจญภัยดีๆ หนึ่งเกม แต่สามารถนำเสนอโลกไซเบอร์พังก์ที่น่าจะเป็นไปได้ ไม่ใช่โลกแคบแบบอนาธิปไตยที่มองเห็นแต่ด้านเดียวคือด้านลบเท่านั้น (“ชีวิตเฮงซวยทุกมิติ เทคโนโลยีมีแต่ปัญหา ฯลฯ”)
Technobabylon เปิดฉากด้วยการให้เราควบคุมลาธา เธอออกจากโลกเสมือนในทรานซ์ หวนคืนสู่โลกจริงเพียงเพื่อจะพบว่าเกิดปัญหาทางเทคนิค เปิดประตูห้องไม่ได้ และการแก้ปัญหานี้ก็จะต้องอาศัยการกลับเข้าสู่ทรานซ์ ไปจัดการกับโปรแกรมทำอาหาร (ในรูปเชฟฟี่ (Cheffie) สาวน้อยร่าเริง) และโปรแกรมเฝ้าประตู (ในรูปอัศวินยุคกลาง) แต่แทบจะทันทีที่เปิดประตูได้ ระเบิดก็ปะทุขึ้นในห้องที่อยู่ด้านล่างของลาธาพอ เธอรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด
เกมพาเราสลับฉาก ย้อนเวลากลับไป 22 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น คราวนี้ให้เราควบคุมรีจิส ตำรวจผู้ระแวงเอไอ เขากับคู่หูชื่อลาวถูก ‘เซ็นทรัล’ (Central) เอไอที่จัดการบริการสาธารณะทุกสิ่งอย่างในเมืองนิวตัน รวมทั้งงานรักษาความสงบเรียบร้อยของตำรวจทั้งกรม ส่งไปสืบสวนสถานที่ซึ่งเซ็นทรัลชี้เบาะแสว่าน่าจะเป็นจุดก่อการครั้งใหม่ของ ‘ไมน์ด์แจ็กเกอร์’ (Mindjacker) อาชญากรที่แฮ็กสมองของคนธรรมดา ขโมยข้อมูลแล้วปล่อยให้พวกเขาตาย ไม่นานเราก็จะพบว่ารีจิสนั่นเองคือคนที่วางระเบิดใต้ห้องของลาธา แต่เขาถูกผู้บงการลึกลับบังคับให้ทำ เพราะวายร้ายเจ้านี้ขโมยตัวอ่อนมนุษย์ (embryo) ที่เกิดจากการผสมอสุจิของเขาเข้ากับไข่ของภรรยาที่ล่วงลับไปแล้ว–และก็ขู่ว่าจะทำลายตัวอ่อน (ซึ่งก็คือ ‘ลูกที่ยังไม่เกิด’ ของรีจิส) ของเขาทั้งหมดถ้าหากรีจิสไม่ทำตามคำสั่ง
การได้ควบคุมรีจิส ลาว และลาธา ทำให้เราได้มองโลกใบเดียวกันจากสายตาสามคู่ที่แตกต่างกันมาก แต่ความคิดความเชื่อของตัวละครเหล่านี้ล้วนมีเหตุมีผล รีจิส ตัวละครที่มีอายุมากที่สุดในเกม ยังจำคืนวันที่เอไอและเทคโนโลยีต่างๆ ยังไม่แทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวัน ชีวิตของรีจิสเต็มไปด้วยความรู้สึกผิด เขารู้สึกผิดต่อความตายของภรรยา รู้สึกผิดที่มีส่วนคิดค้นเทคโนโลยีวิศวพันธุกรรมซึ่งถูกเอามาใช้ในทางที่เลวร้ายมากมาย อย่างเช่นการดัดแปลงพันธุกรรมของคนตั้งแต่เกิดให้กระดูกในร่างกายกลายเป็นสารระเบิด เป็นวิธีสร้างมือก่อการร้ายแบบฆ่าตัวตายวิธีใหม่ ไม่ต้องติดระเบิดไว้รอบตัว และโดยที่เจ้าตัวไม่มีส่วนตัดสินใจด้วย ความรู้สึกผิดเหล่านี้ ประกอบความระแวงเอไอ รวมถึงเซ็นทรัลผู้เป็น ‘เจ้านาย’ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งหลาย (เขาเป็นตำรวจคนเดียวทั้งเมืองที่ไม่ยอมฝังชิพติดสมองเหมือนกับคนอื่น) ทำให้รีจิสดูเหมือนจะใช้ชีวิตอยู่ในอดีต ดูเป็นตาแก่เชยๆ และพวก ‘ถ่วงความเจริญ’ (ดังที่ลาวจะแซวเขาตลอดทั้งเกม)
ในทางตรงกันข้าม ลาธาในวัยเพียงยี่สิบต้นๆ ไม่เพียงแต่โอบรับทรานซ์กับเทคโนโลยีทั้งมวล เธอยังคิดว่าชีวิตนี้ขาดทรานซ์ไม่ได้ เธอใช้เวลาในโลกเสมือนมากกว่าโลกจริงหลายเท่า และถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุในห้อง เธอก็ไม่อยากออกมาใช้ชีวิตในโลกจริงหรือ ‘meatspace’ (พื้นที่ของเนื้อหนัง คำเรียกอย่างดูแคลน) เลยด้วยซ้ำไป ลาธารู้สึกว่าเธอมีพลังไร้ขีดจำกัดในทรานซ์ เป็นผู้ใช้เน็ตที่เก่งคอมพิวเตอร์อย่างปราดเปรื่อง ทำอะไรๆ กับมันได้มากกว่าคนอื่น (ซึ่งในช่วงท้ายของเกมลาธาก็จะได้คำตอบว่าทำไม) เธอเชื่อมั่นว่าทรานซ์คือพรมแดนใหม่ที่จะทำให้มนุษย์พัฒนาความสามารถเหนือมนุษย์ และมองตัวเองว่าเป็นเสรีชน ไม่ชอบทำตามคำสั่งทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเอไออย่างเซ็นทรัลหรือมนุษย์ตัวเป็นๆ ก็ตาม
แน่นอน ลาธามองว่ารีจิสคือตาแก่คร่ำครึผู้ตามโลกไม่ทัน ส่วนรีจิสก็มองลาธาอย่างสมเพชว่าใช้ชีวิตอย่างเปล่าเปลืองไปกับโลกเสมือน แทนที่จะใช้ชีวิต ‘จริงๆ’
ดร.ลาว คู่หูของรีจิส ในแง่หนึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างรีจิสกับลาธา เธอเก่งคอมพิวเตอร์มากและชอบเทคโนโลยีเหมือนลาธา ชอบลองอะไรใหม่ๆ และเปิดกว้างทางเพศ (เธอเป็นทรานส์ (transexual) คือมีเพศกำเนิดเป็นชาย ผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิงแล้ว) มองรีจิสว่าเป็นตาแก่เชยๆ เหมือนกัน แต่เธอไม่หลงใหลทรานซ์จนติดเหมือนลาธา ลาวชอบความเป็นระบบระเบียบ (ถึงได้เลือกอาชีพตำรวจ) เชื่อฟังเซ็นทรัล และมองโลกในแง่ดีมากกว่ารีจิส
ชีวิต ความคิด และความเชื่อที่แตกต่างกันของตัวละครทั้งสาม วางกรอบในการมองโลกอนาคตที่มีประเด็นเชิงศีลธรรมให้ขบคิดมากมาย ตั้งแต่การกินเนื้อมนุษย์ (ต่อให้บอกว่า ‘โคลน’ ขึ้นมา ไม่ใช่คนจริงๆ) การสอดแนมอย่างเข้มข้นของรัฐ ไปจนถึงการ ‘สอน’ เอไอให้คิด การทดลองกับมนุษย์เพื่อสร้างมนุษย์เหนือมนุษย์ การมีชีวิตไร้ร่างกายหลังความตาย (เพราะ ‘ตัวตน’ ถูกอัพโหลดเข้าคอมพิวเตอร์) อาการเสพติดโลกเสมือนจนไม่สนใจโลกจริง
ในประเด็นเหล่านี้และประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย Technobabylon ตั้งคำถามอย่างแหลมคมผ่านเส้นเรื่องและมุมมองที่แตกต่างกันของตัวละครต่างๆ ว่า เราควรจะขีด ‘เส้นแบ่ง’ ตรงไหน? เราควรยอมยกอำนาจการตัดสินใจ ‘เท่าไหร่’ ให้กับเอไอ? จะให้เอไอแค่มีอำนาจจัดบริการสาธารณะ หรือควรไปถึงขั้นวางนโยบายพัฒนาสังคม ไม่ต้องใช้รัฐบาลที่เป็นตัวแทนประชาชนอีกต่อไป แบบนั้นจะต่างจากเผด็จการตรงไหน หรือว่าไม่เป็นไร? ‘ความเป็นมนุษย์’ ยังมีความหมายอะไรอีกในโลกที่คนฝังเทคโนโลยีนานัปการในร่างกาย และแอนดรอยด์หรือหุ่นยนต์ร่างคนถูก ‘ปลูก’ ขึ้นมาจากเนื้อเยื่อของคนจริงๆ ไม่ใช่โลหะ?
โลกเสมือนคือพื้นที่อันตรายที่ซ้ำเติมอาการหลีกหนีความจริง หรือว่าเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้เรารับมือกับความโหดร้ายของโลกจริงได้ดีขึ้น?
คำถามเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อันใดสำหรับไซไฟสายไซเบอร์พังก์ แต่ Technobabylon สามารถเสนอคำตอบที่แตกต่าง ผ่านมุมมองที่หลากหลายภายในเส้นเรื่องเดียวกัน และดังนั้น ‘โลกอนาคต’ ในเกมจึงดู ‘สมจริง’ สร้างหมุดหมายใหม่ให้กับเกมผจญภัยและสื่อแนวไซเบอร์พังก์อย่างน่าติดตาม
เพราะไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นใด มีเทคโนโลยีแบบไหนบ้าง มันย่อมประกอบไปด้วยคนที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งเชื้อชาติ วัฒนธรรม รสนิยมทางเพศ พื้นเพ ฐานะทางเศรษฐกิจ และความคิดความเชื่อส่วนบุคคล–และการปะทะสังสรรค์ระหว่างความแตกต่างเหล่านี้ ก็คือสิ่งที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มิใช่การประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีโดยลำพัง.
หลังฉากกับ เจมส์ เดียร์เดน (James Dearden) นักพัฒนาเกมTechnobabylon
ถาม : ในบทสัมภาษณ์หลายชิ้น คุณอธิบายว่าตัวเองเป็นพวก ‘มองโลกในแง่ดี’ เวลามองเทคโนโลยี และ Technobabylon ก็ฉายภาพโลกอนาคตที่คนจำนวนมากรู้สึกดีกับเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ (เช่น บางถึงขั้นยอมฉีดเชื้อโรคให้กับตัวเองเป็นงานอดิเรก เพราะเชื่อมั่นว่าจะหายได้ง่ายๆ) แต่ในนิยายและภาพยนตร์ไซไฟแนวเดียวกันกับเกมนี้ คือ ไซเบอร์พังก์ (cyberpunk) จำนวนนับไม่ถ้วน อนาคตดูเป็นดิสโทเปียหม่นเศร้าชัดเจน จากความเหลื่อมล้ำสุดขั้วซึ่งหลายคนวันนี้เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวการสำคัญในการถ่างให้กว้าง (ยิ่งคุณรวยเท่าไร คุณก็ยิ่งมีอำนาจควบคุมเทคโนโลยีกับปัญญาประดิษฐ์ให้สนองประโยชน์ของคุณเป็นหลัก) คุณคิดว่าอนาคตแนวดิสโทเปียแบบนี้ไม่น่าจะเป็นจริงเพราะอะไร?
ตอบ : ผมคิดว่า ‘ดิสโทเปีย’ ในหลายแง่เป็นเรื่องของมุมมองนะครับ ผมมั่นใจว่าสำหรับบางคน วัฒนธรรมที่โอบอุ้มความแตกต่างหลากหลายทางสังคมอย่างใน Technobabylon จะฟังดูเลวร้ายมาก! ผมเชื่อว่าบางคนเชื่อว่าสังคมแบบในสมัยศตวรรษที่ 18 จะตรงกับรสนิยมของพวกเขามากกว่า สังคมสมัยที่คนรวยมีสิทธิทางกฎหมายเหนือชีวิตของ ‘คนที่ด้อยค่า’ กว่าพวกเขา สำหรับตัวผมเองแล้ว ผมคิดว่าการฉายภาพสังคมอนาคตแบบดิสโทเปียสุดโต่งหรือยูโทเปียสุดขั้วนั้นคือการสร้างโลกที่ขี้เกียจ ไม่มีใครหรอกที่อยากอาศัยอยู่ในโลกที่ดิสโทเปียขนาดนั้น ฉะนั้นจะมีคนที่พยายามทำให้อะไรๆ ดีขึ้นเสมอแหละครับ ณ ที่ไหนสักแห่ง
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อประชากรโลกจำนวนมากในระดับปัจเจก พวกเขาอาจตกงาน หรือถูกสถานการณ์ทางเศรษฐกิจหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) บังคับให้ย้ายถิ่นฐาน อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ทำนองนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เกิดการเปลี่ยนแปลงมโหฬารในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าอัตราว่างงานในระยะสั้นจะเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมากสำหรับคนเดินดิน ประโยชน์สุทธิต่อสังคมก็ปรากฏในที่สุด
มีหลายสิ่งหลายอย่างใน Technobabylon ที่แย่ครับ อย่างเช่นนักวางระเบิดพลีชีพที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรม การล้างสมอง การเสพติดอินเทอร์เน็ตถึงขั้นเชื่อว่ามันมาแทนที่การใช้ชีวิตได้ อย่างไรก็ดี สังคมนี้ก็มีสิ่งดีๆ มากมาย อย่างเช่นปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นมิตรกับมนุษย์ และสวัสดิการถ้วนหน้าที่ประชาชนทุกคนได้รับจากรัฐ
ถาม : เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเอไอในอนาคตจะพัฒนา ‘ศีลธรรม’ อะไรสักอย่างขึ้นมากำกับการกระทำของมัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่มันจะทำลายล้างมนุษยชาติ อย่างเช่นในการทดลองทางความคิดเรื่องการจัดระเบียบคลิปหนีบกระดาษ? (ถ้าให้เอไอคิดวิธีจัดการคลิปหนีบกระดาษทั้งโลกที่ดีที่สุด มันอาจบอกว่าต้องทำลายล้างมนุษยชาติ เพราะมนุษย์โดยรวมไร้ระเบียบ)
ตอบ : ศีลธรรมเป็นเรื่องยากมากที่จะสอนคนครับ ยังไม่นับว่าจะสอนเอไอที่ยังมีตัวตนแต่ในทฤษฎี ผมว่าเรากำลังจะชนเพดานการใช้งานได้ของวิชาปรัชญาแล้วล่ะ!
ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ แต่ผมรู้สึกว่าการทำให้เอไอรู้สึกว่ามันเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของชุมชน น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนะ มอบเหตุผลให้มันรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมของเรา แล้วมันก็จะมีเหตุผลที่จะอยากเห็นสังคมก้าวไปข้างหน้า แทนที่จะทำลายทุกอย่าง