ใครๆ ก็รู้ว่า ‘เวลา’ เป็นสิ่งที่มีค่าในชีวิต เพราะมันเดินเป็นเส้นตรงทางเดียว และทุกคนเกิดมาแล้ววันหนึ่งต้องตาย
แต่ปกติเราไม่ค่อยคิดถึง ‘ค่าเสียโอกาส’ ว่าเป็น ‘ต้นทุน’ จนกว่าจะเกิดความเสียหายขึ้นกับตัว หรือเวลาผ่านไปนานพอให้เราได้ทบทวนตัวเองและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เราเสียโอกาสอะไรไปขนาดไหนในห้วงเวลานั้นๆ
ในสังคมไทย คนไทยทุกคนอาจตั้งคำถามกับช่วงเวลาเกิน ‘หนึ่งทศวรรษที่สูญหาย’ (lost decade) ที่ระบอบการเมืองตกหล่มจมปลักและถดถอยอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่รัฐประหารปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ยิ่งภายหลังรัฐประหารปี พ.ศ.2557 และรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มเสียดายโอกาสทั้งของตัวเองและประเทศชาติ แต่ยังมองไม่เห็นอนาคต (ที่ดีกว่าเดิม) ได้อย่างถนัดชัดเจนนัก บางคนเพียรพยายามส่องทางสว่าง สร้างแสงแห่งความหวังเรืองรองที่อาจริบหรี่ แต่ไม่เคยมอดดับ
ในภาพใหญ่ของสังคมโลก คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า กังวลและเครียดกับแนวโน้มระดับโลกที่ส่งผลกระทบมาถึงตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบอบทุนนิยมเสรีสุดขั้วไร้หัวใจ และล่าสุดก็รวมโรคระบาดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 ซึ่งแผลงฤทธิ์ก่อเกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตสุขภาพ วิกฤตเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะรุนแรง และเรื้อรังกว่าปกติ โดยเฉพาะในประเทศที่รัฐบาลไม่ดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่าง ‘เข้าอกเข้าใจ’ มากพอ และยิ่งวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง วิกฤตสุขภาพยิ่งซึมลึก โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิตของทั้งคนที่ต้องกักตัวอยู่บ้านและคนที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ เผชิญอาการเครียดจากภาวะหนี้สิน ขาดรายได้ ฯลฯ
ในห้วงยามเช่นนี้ ง่ายเหลือเกินที่เราจะรู้สึกหมดหวังกับสังคมที่เราอยู่ หมดหวังแม้กระทั่งกับมนุษยชาติและโลกทั้งใบ รู้สึกว่าเราแต่ละคนเป็นเพียงธุลีเล็กจ้อยเมื่อมองจากกาลของเอกภพ การกระทำของธุลีจะมีส่วนเคลื่อนให้สังคมขยับไปข้างหน้าได้อย่างไรกัน ยิ่งคิดยิ่งท้อแท้มิใช่น้อย
‘Outer Wilds’ เกมผจญภัยสำรวจระบบสุริยะแฟนตาซี มองโลกจากบุคคลที่หนึ่ง ผลงาน โมเบียส ดิจิทัล (Mobius Digital) ทีมพัฒนาอเมริกัน เป็นเกมที่สื่อสารเรื่องเป้าหมาย ความตาย และความก้าวหน้า ได้อย่างแยบคายและลึกซึ้งถึงแก่นของความเป็นมนุษย์เกมหนึ่งเท่าที่รู้จัก ใครที่กำลังรู้สึกท้อแท้หรือหมดหวังกับสังคม การเล่นเกมนี้น่าจะทำให้ผ่อนคลาย ได้ระบายอารมณ์ และครุ่นคิดถึงสิ่งที่เราทำได้ และสิ่งที่เราควรทำ
เกมนี้ให้เราเล่นเป็นมนุษย์ต่างดาวเผ่า ฮาร์เทียน (Hearthian) ตัวสีฟ้าสี่ตา เผ่าของเราเป็นนักผจญภัยในตำนาน เดินทางด้วยยานอวกาศออกไปไกลสุดกู่ในระบบสุริยะขนาดจิ๋วที่มีดาวเคราะห์ไม่กี่ดวง ค้นหาคำตอบของปริศนาต่างๆ มากมายที่ชาว โนมาย (Nomai) เผ่าต่างดาวผู้สูญพันธุ์ไปอย่างลึกลับ ทิ้งไว้ให้เราดูต่างหน้า ชัดเจนตั้งแต่ไม่กี่นาทีแรกของเกมนี้ ตั้งแต่ตอนที่เราฝึกบังคับการทรงตัวในภาวะไร้น้ำหนัก การบังคับยาน การใช้กล้องถ่ายรูปและอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณ–ชัดเจนว่าเผ่าพันธุ์ของเราเดินด้วย ‘ลูกบ้า’ มากกว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ยานอวกาศดูเหมือนยานกระป๋องที่เด็กมัธยมต้นทำเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ส่งครู ดูแล้วยานจะทำให้ชีวิตเราเสี่ยงตายมากกว่าอะไรก็ตามที่จะเจอในอวกาศ
ก่อนสตาร์ทจรวดพุ่งทะยานออกนอกดาวบ้านเกิด Outer Wilds ก็ชวนให้เราตั้งคำถามแล้วว่า เผ่าฮาร์เทียนถูกธรรมชาติสรรค์สร้างมาให้เหมาะเจาะกับการท่องอวกาศ หรือเพียงแต่พวกเขาตั้งเป้าหมายนี้ร่วมกันทั้งสังคม และเอาเข้าจริง ระหว่างสองอย่างนี้แตกต่างกันจริงไหม
ปกติ ‘ความตาย’ ในเกมเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิด และเวลาที่ตัวละครของเรา ‘ตาย’ เกมก็จะโหลดช่วงก่อนตายหรือให้เราเซฟมาลองใหม่ ทว่า ‘ความตาย’ ในเกมนี้กลับถูกเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น เพราะเป็นกลไกหลักและอุบายในการเล่าเรื่อง
เมื่อเราและเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ทั้งมวลประสบกับ ‘ความตาย’ ครั้งแรกใน Outer Wilds จากการระเบิดของดวงอาทิตย์ที่กลายเป็นซูเปอร์โนวา (supernova) ในวาระสุดท้ายของดาวฤกษ์ เราก็จะถึงบางอ้อว่า อนุสาวรีย์ประหลาดของชาวโนมายทำให้เราติด ‘ลูปเวลา’ (time loop อย่างในหนังเรื่อง Groundhog Day, Predestination และ Twelve Monkeys) และการหาทางออกจากลูปเวลานี้ก็คือปริศนาหลักในเกม เรามีเวลาเพียง 22 นาทีเท่านั้นในลูปแต่ละลูป ยังไม่นับการตายอีกหลากหลายรูปแบบที่เกิดได้ก่อนหน้านั้นนานก่อนที่ซูเปอร์โนวาจะระเบิด ตั้งแต่ขาดออกซิเจนตาย โดนปลายักษ์กิน ขับยานแย่จนโหม่งดาว หรือหล่นคว้างลงไปในดวงอาทิตย์หรือหลุมดำ ฯลฯ
ทุกครั้งที่ตาย เราจะ ‘ตื่น’ ขึ้นมาใหม่รอบกองไฟในหมู่บ้าน แต่คราวนี้มีความรู้เพิ่มเติมที่ได้จากลูปเวลาก่อนหน้า
ประสบการณ์การเล่น Outer Wilds เหมือนเอาส่วนเจ๋งๆ ของเกมเอาตัวรอดอย่าง Subnautica มาผนวกเข้ากับเกมสำรวจอวกาศฮาร์ดคอร์อย่าง Kerbal Space Program และกลไกวนลูปเวลาจากเกมอย่าง Minit มาผสมรวมกันแล้วเขย่าออกมาเป็นเกมที่มีเอกลักษณ์อย่างยิ่ง ‘ความรู้คืออำนาจ’ อย่างแท้จริงในเกมนี้ เพราะสิ่งเดียวเท่านั้นที่เรามีติดตัวตอนเริ่มลูปใหม่ก็คือความรู้ ผ่านการสำรวจดาวเคราะห์น้อยใหญ่ในระบบสุริยะที่ผ่านการออกแบบอย่างละเอียดลออ เต็มไปด้วยดินแดนลึกลับและระบบนิเวศเฉพาะตัว ระหว่างทางเราจะได้ค้นพบจารึกโบราณของชาวโนมาย ค่อยๆ คลี่คลายออกมาว่าเป้าหมายร่วมของสังคมของพวกเขาเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่นั้นคืออะไร
ปริศนาใหญ่ที่รอให้เราค้นพบในเกมนี้คือ เราติดลูปเวลาได้อย่างไรและทำไม เราเป็นคนที่ถูกชาวโนมายเลือกมาหรือเปล่า หรือเพียงแต่โชคร้าย หรือว่ามีเหตุผลอื่น
ระบบสุริยะใน Outer Wilds สวยงาม กราฟิกออกแนวการ์ตูนแต่ใช้ฟิสิกส์ที่สมจริงกำลังดี ตั้งแต่การสำรวจอวกาศในภาวะไร้น้ำหนัก ดาวแรงโน้มถ่วงต่ำ และรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย ดาวที่ผู้เขียนชอบมากคือ Brittle Hollow (แปลเป็นไทยได้ประมาณ ‘ดาวกลวงเปราะ’) ดาวแห่งหินผาแห้งแล้ง สิ่งที่อยู่ใจกลางของดาวเคราะห์ดวงนี้คือหลุมดำขนาดยักษ์ คอยดูดกลืนแผ่นดินที่แตกเป็นเสี่ยงๆ จากการพุ่งชนของอุกกาบาตที่เกิดจากดวงจันทร์ภูเขาไฟของมัน อุกกาบาตเหล่านี้ถูกดึงด้วยแรงโน้มถ่วงอย่างสมจริง และก็ไม่เคยชน Brittle Hollow แบบเดียวกันเป๊ะทุกครั้ง
ถึงแม้ว่าเวลาส่วนใหญ่ของเราใน Outer Wilds จะหมดไปกับการสำรวจอวกาศ สังเกตสังกา สะสมความรู้เพื่อแก้ปริศนาน้อยใหญ่ ทุกครั้งที่เราเจอดาวเคราะห์ดวงใหม่ เราก็จะได้พบพานเพื่อนนักเดินทางจากดาวเคราะห์ดวงเดียวกัน แบ่งปันเรื่องเล่าและมาร์ชแมลโลวรอบกองไฟ ซึ่งก็เป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของพวกเขา ทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จ
และความล้มเหลวก็สอนอะไรๆ
เราได้มากมายกว่าความสำเร็จ
Outer Wilds ให้เราตายแล้วตายเล่าได้หลากหลายรูปแบบ และเราก็จะตายไม่หยุดหย่อนในเกมนี้ แต่ความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ในลูปเวลาทุกลูปทำให้เราเข้าใกล้การแก้ปริศนาของเอกภพมากขึ้นอีกหนึ่งก้าว ส่วนความล้มเหลวก็จะให้บทเรียนที่สำคัญ เกมนี้วางสมดุลระหว่างความล้มเหลวและความสำเร็จได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดาเกมที่เคยเล่นทั้งหมด ทำให้ความตายของเรามีน้ำหนัก ขับเคลื่อนเส้นเรื่องไปข้างหน้า แต่ก็ยังทำให้รู้สึกว่าเวลาทุกนาทีมีคุณค่า (ตรงนี้ควรหมายเหตุว่า เกมคือสื่อเล่าเรื่องชนิดเดียวที่ ‘ความตาย’ ของผู้เล่าเรื่องเป็นเรื่องปกติธรรมดา คนเล่นที่ตายในเกมอย่างมากก็มักจะงุ่นง่านหัวร้อน รีบโหลดเซฟเก่ามาเล่นใหม่ มากกว่าที่จะเศร้าสร้อยหรือมาครุ่นคิดทบทวนถึงชีวิตของตัวละครที่ตาย)
ทีมผู้สร้าง Outer Wilds เข้าใจดีว่า
เวลาของเราทุกคนล้วนมีค่า
และมันมีค่าก็เพราะว่าไม่มีใครหนีพ้นความตาย
‘ความก้าวหน้า’ ใน Outer Wilds วัดจากสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ในลูปล่าสุด และการแก้ปริศนาต่างๆ ในเกมนี้ก็ต้องอาศัยการรักษาและใช้ความรู้ที่ได้รับ ปูมยานอวกาศ (ship’s log) ของเราบันทึกบทเรียนสำคัญๆ ทุกบทที่ได้เรียนรู้จากการแปลจารึกชาวโนมาย แต่สิ่งที่เจ๋งกว่านั้นอีกคือ ‘ความก้าวหน้า’ ในเกมนี้เป็นความก้าวหน้าที่สมจริงเป็นอย่างยิ่ง ในด้านหนึ่งเราไม่มีทางสูญเสียความก้าวหน้าในเกมเหมือนอย่างเกมอื่นๆ เพราะความรู้ที่เราได้รับมานั้นรู้แล้วรู้เลย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ลำพังการที่ปูมยานอวกาศบันทึกข้อมูลสำคัญอะไรสักอย่างเอาไว้ให้ ไม่ได้แปลว่าเราจะรู้โดยอัตโนมัติว่าข้อมูลนั้นจะมีประโยชน์ตอนไหน หรือจะจำได้ว่ามีข้อมูลนั้นอยู่เมื่อต้องการใช้มัน
ความก้าวหน้าใน Outer Wilds จึงเป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์ไม่อาจละเลยหรือหลงลืมไปได้ แต่เราจะก้าวหน้าได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อทำงานศึกษาค้นคว้าจริงๆ ด้วยอุปกรณ์สองชนิดที่เรามี นั่นคือ การอ่าน และการถ่ายรูป จากนั้นก็คอยครุ่นคิดเปรียบเทียบข้อมูลที่เรามีกับสถานการณ์ต่างๆ
ในแง่นี้ Outer Wilds จึงเป็นเกมเกี่ยวกับการ ‘ส่งต่อ’ ข้อมูลและความรู้ เกี่ยวกับการทิ้งอะไรไว้ข้างหลัง การสำรวจจารึกโบราณของชาวโนมายและบันทึกอัตโนมัติของปูมยานอวกาศเป็นวิธีที่ส่งต่อข้อมูลให้กับคนรุ่นหลัง เราเล่นเกมตัวคนเดียวก็จริง แต่ตัวเราในเกมให้ความรู้สึกเหมือนเป็นคนหลายรุ่นที่สืบทอดและส่งต่อความรู้ระหว่างกัน การที่เราล้มเหลวในลูปหนึ่ง (คนรุ่นหนึ่ง) ไม่ได้แปลว่าเราจะล้มเหลวอีกในลูปต่อไป (รุ่นต่อไป) และเมื่อเราตระหนักว่าความรู้ที่สะสมและส่งต่อข้ามรุ่นนั้นรวมกันอาจมีพลังพอที่จะหยุดยั้งวาระสุดท้ายของระบบสุริยะ หรืออย่างน้อยก็เข้าใจว่า ‘ทำไม’ เมื่อนั้นเราก็จะตระหนักในพลังของปัจเจก
ปัจเจกมีพลัง
เพราะปัจเจกทุกคนสามารถรวมพลัง
และพลังที่รวมกันก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้
ถึงที่สุดแล้ว การผจญภัยของเราใน Outer Wilds คือการต่อสู้กับเวลาและธรรมชาติ ความพยายามที่จะขุดคุ้ยความรู้ออกมาจากระบบสุริยะที่กำลังจะตาย ถ้าเราโชคดีพอที่จะเอาตัวรอดจนครบลูป ‘รางวัล’ ของเราก็คือการจ้องมองทุกสิ่งพินาศสิ้นในแสงฟ้าแสบตาของซูเปอร์โนวา ดวงอาทิตย์ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตทั้งมวลกำลังจะตาย เราไม่รู้ว่าเราหยุดยั้งมันได้ไหม
แต่ไม่ว่าจะหยุดหายนะได้หรือไม่ได้ เราก็ต้องพยายามต่อไปอยู่นั่นเอง และถ้าเรามีส่วนทำให้โลกตอนที่เราจากไป เป็นโลกที่ดีกว่าตอนที่เราเกิดมา ไม่ว่าส่วนร่วมนั้นจะเล็กน้อยเพียงใด–ในตัวมันเองนั่นก็อาจนับได้ว่าเป็น ‘ความสำเร็จ’ แล้ว เป็นสิ่งที่ควรทำให้เราพอใจแล้ว และถึงแม้ชีวิตของเราจะแสนสั้น นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์ที่เราสร้างกับเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ไม่มีความหมาย ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถมีความสุขเล็กๆ น้อยๆ จากเรื่องที่อาจดูไร้สาระในสายตาของคนอื่น
Outer Wilds ปิดฉากด้วยมุมที่เป็นมนุษย์และส่วนตัวอย่างลึกซึ้ง (ไม่อยากขยายความ จะได้ไม่สปอยล์) เทียบไม่ได้เลยกับความมหึมาและกว้างใหญ่ไพศาลของดาวเคราะห์ในเกม เทียบไม่ได้กับสัตว์ประหลาดและสิ่งมหัศจรรย์ที่ได้พบเจอ แต่ Outer Wilds ก็ใช้โอกาสสุดท้ายนี่เองย้ำเตือนเราว่า ช่วงเวลาแห่งความสุขเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้แหละ คือห้วงยามที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย และเราก็ควรทำงานเพื่อสร้างหลักประกันว่า คนรุ่นหลังจะได้มีโมงยามแบบนี้เช่นกัน
ประเด็นที่ผู้เขียนชอบมากใน Outer Wilds คือการที่ทีมพัฒนาตัดสินใจไม่แสดงนาฬิกาใดๆ ที่จะนับถอยหลังให้รู้ว่าเหลือเวลาอีกเท่าไร ก่อนที่ลูปเวลาจะวนกลับมาใหม่ (22 นาที คือตัวเลขที่ได้จากการที่คนเล่นเกมนี้จับเวลากันเอง) ทำให้เรา ‘อยู่กับปัจจุบัน’ เพลิดเพลินกับความสุขเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างที่พยายามทำให้ทุกนาทีมีค่า และแก้ปริศนาแห่งเอกภพ
Outer Wilds เป็นเกมมหัศจรรย์ที่ให้แง่คิดลืมไม่ลงเกี่ยวกับเวลา ความตาย เป้าหมาย และความก้าวหน้าของสังคม กระตุ้นเตือนใจเราว่า ชีวิตนี้ช่างสั้นนัก โดยเฉพาะเมื่อมองจากสายตาของเอกภพ