(คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเกม Persona 4 Golden)
วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2563 การชุมนุม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นำโดยกลุ่มเยาวชน นิสิตนักศึกษาหลายสถาบันที่รวมตัวกันในชื่อ ‘เยาวชนปลดแอก’ ก็จบลงไปอย่างเรียบร้อย มีผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่า 2,000 คน เกิด ‘อาฟเตอร์ช็อก’ หรือการประกาศชุมนุมของกลุ่มเยาวชนในอีกหลายจังหวัดทุกภาคทั่วประเทศ อาทิ เชียงใหม่ อุบลราชธานี ลำพูน ราชบุรี ชลบุรี พัทลุง ฯลฯ แฮชแท็ก #เยาวชนปลดแอก ทะยานเป็นอันดับหนึ่งในประวัติศาสตร์ทวิตเตอร์ไทย ด้วยยอดรีทวีตมากกว่า 10.6 ล้านครั้ง แม้จะมีความชุลมุนวุ่นวายบางจังหวะ บางคนค่อนขอดแกนนำว่ายังอ่อนหัด ด้อยประสบการณ์ ขาดทักษะการจัดการ ข้อเรียกร้องเลื่อนลอย บ้างก็หาว่ามีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง เป็นม๊อบจัดตั้ง ถูกล้างสมอง ฯลฯ
ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราได้ยินเสียงค่อนขอดเหล่านี้มาทั้งหมดแล้วเมื่อครั้งที่เกิดกระแสการชุมนุม #วิ่งไล่ลุง ในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมหลายจังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 เหล่ากองเชียร์รัฐบาลจำนวนมากชอบชักแม่น้ำทั้งห้ามาด่า หัวเราะดูถูก และจับผิดคิดเล็กคิดน้อยกับผู้ชุมนุมในทุกมิติ
พูดง่ายๆ คือ ทำทุกอย่างยกเว้น ‘ตั้งใจฟัง’ เสียงของเด็กๆ ที่ออกไปชุมนุม (การชุมนุมครั้งนี้ไม่ต่างจาก #วิ่งไล่ลุง ตรงที่มีผู้ชุมนุมทุกเพศวัย แต่ในเมื่อผู้จัดการชุมนุมเป็นเยาวชน คนที่ออกไปส่วนใหญ่ก็เป็นเยาวชน ผู้เขียนเห็นว่าการฟังเสียงของเด็กจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้)
ผู้ใหญ่จำนวนมากในสังคมอำนาจนิยมอย่างไทยชอบยกตัวข่มท่าน มองเด็กว่าน่ารักเฉพาะเวลาที่เชื่อฟังและอยู่ในโอวาทเท่านั้น ครั้นเจอเด็กตั้งคำถามที่ตอบไม่ได้หรือมีเหตุผลสู้ไม่ได้ก็จะใช้อำนาจตัดบทหรือข่มขู่ ใจไม่กว้างพอที่จะฟังเด็ก
แล้วทำไมเราต้องฟังเด็ก ผู้เขียนคิดว่าคำตอบง่ายๆ ก็คือ เด็กโดยนิยามยังไร้เดียงสา ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะตีความและรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างเปิดใจมากกว่าผู้ใหญ่ นอกจากนี้พวกเขายังไม่หลงตัวเองเพราะยังมีประสบการณ์ชีวิตไม่มาก ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะมองวิธีแก้ปัญหาและสร้างสิ่งต่างๆ อย่างสร้างสรรค์กว่าผู้ใหญ่ ยังไม่เคยล้มเหลวแรงๆ จึงมีความใฝ่ฝันและมองโลกในแง่ดีกว่าผู้ใหญ่ แทบทุกอย่างในสายตาของพวกเขาเป็นของใหม่ที่น่าตื่นเต้นและน่าพิศวง
การฟังเสียงเด็ก(อย่างเปิดใจ)ไม่เพียงแต่ทำให้เราเข้าใจว่าพวกเขาคิดอย่างไร แต่ยังจะทำให้เรารู้สึกกระชุ่มกระชวย รู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง และที่สำคัญคือ จะทำให้เรารู้สึกมีความหวังกับโลก
เพราะอนาคตเป็นของใคร ถ้ามิใช่เป็นของเด็ก?
ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยเขียนถึง ‘Persona 5’ เกมสวมบทบาทแนวญี่ปุ่น (Japanese RPG หรือย่อว่า JRPG) ขั้นเทพจาก Atlus ค่ายเกมยักษ์จากดินแดนอาทิตย์อุทัย แต่ในเมื่อ ‘Persona 4 Golden’ เกมก่อนหน้านี้ในซีรีส์ ออกวางขายในเวอร์ชั่นพีซีเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา (ในวันครบรอบแปดปีของการวางจำหน่ายเวอร์ชั่นญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.2012) ผู้เขียนคิดว่าควรเขียนถึงเกมนี้ด้วยเพื่อฉลองเวอร์ชันพีซี และเพื่อเป็นเกียรติแด่ #เยาวชนปลดแอก
Persona 4 Golden มีดีอย่างไร คอเกมทั่วโลกถึงได้เล่นแล้วเล่นอีก และถึงแม้เวลาจะผ่านไปแปดปี เวอร์ชั่นล่าสุดคือพีซีก็ยังขายดีเทน้ำเทท่า? ผู้เขียนคิดว่าคำตอบที่ชัดเจนที่สุดก็คือ Persona 4 Golden ไม่ต่างจาก Persona 5 และอีกหลายเกมในซีรีส์นี้ตรงที่จำลองชีวิตวัยรุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ถูกผู้ใหญ่มองว่า ‘ก้าวร้าว’ ‘หัวรุนแรง’ แปลกแยกกับคนอื่น ได้อย่างสมจริงและสนุกที่สุดในประวัติศาสตร์เกม
ในเวอร์ชั่นล่าสุดคือพีซี Persona 4 Golden เพิ่มฟีเจอร์ให้สามารถปรับระดับความยากได้ทุกเวลา แต่ยังรักษาทุกอย่างไว้ครบถ้วนดังเดิม ระบบเกมใช้ ‘สูตร’ เดียวกันกับ Persona 3 และ Persona 5 เกมล่าสุดในซีรีส์นี้ สรุปคร่าวๆ ได้ว่า ครึ่งหนึ่งเป็นเกมสวมบทบาทแบบตัดสินใจตาต่อตาเวลาต่อสู้ (turn-based) ไม่ใช่ในเวลาจริง อีกครึ่งหนึ่งเป็นเกมจำลองชีวิตนักเรียนชั้นมัธยมปลายในญี่ปุ่น
เราเล่นเป็นนักเรียนที่ต้องย้ายจากเมืองใหญ่ไปอาศัยในชนบท ระหว่างที่พ่อแม่เดินทางไกลไปติดต่อธุรกิจ ถูกส่งไปอาศัยอยู่กับลุงชื่อ เรียวทาโร่ โดจิมะ ผู้เป็นตำรวจ และลูกพี่ลูกน้องน่ารักนาม นานาโกะ ตั้งแต่ฉากแรกก็รับรู้ว่าเรามาอยู่ที่นี่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ต้องไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์ แต่จะทำอะไรได้บ้างล่ะในเมืองเล็กแสนเงียบเชียบ แวดล้อมด้วยทุ่งนาป่าเขา เมืองที่หลายคนบ่นว่าน่าเบื่อไม่มีอะไรทำ
โชคดีที่เรายังไม่ทันคุ้นกับบ้านใหม่ดี ก็เกิดคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญปริศนา ในเวลาเดียวกัน เราก็ได้ยินเรื่องราวของ ‘ช่องเที่ยงคืน’ ตำนานพื้นบ้านที่ลือกันว่าถ้าเปิดทีวีดูช่องที่ไม่มีคลื่น ตอนเที่ยงคืนของวันฝนตกพายุกระหน่ำ เราจะได้เห็นเค้าลางของ ‘เนื้อคู่’ ตามบุพเพสันนิวาส โชคร้ายก็คือตำนานนี้เป็นจริง แต่เราไม่ได้เจอเนื้อคู่ดังคำทำนาย กลายเป็นหล่นเข้าไปอยู่ในโลกพิสดารในทีวีที่ให้เบาะแสเกี่ยวกับฆาตกรรม ใครที่ปรากฏตัวบนจอจะเป็นเหยื่อรายต่อไป ในการค้นหาความจริงเราจะมีผองเพื่อนคอยช่วยเหลือ ขณะเดียวกันในโลกจริงก็ต้องไปโรงเรียน สอบไล่ และที่สำคัญที่สุดคือ สร้างและรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ และตัวละครอื่นๆ ในเกม
ปรัชญาและโลกของ Persona 4 Golden (และจริงๆ ก็ทุกเกมในซีรีส์นี้) ตั้งอยู่บนฐานคิดและงานของ คาร์ล ยุง (Carl Jung) นักจิตวิทยาชาวสวิสชื่อดัง ยุงเรียก ‘Persona’ ว่า หมายถึง ‘หน้าตา’ ที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนสร้างขึ้นมาในสภาพสังคม เพื่อทำให้ตัวเองดูดีในสายตาของคนอื่น ขณะเดียวกันก็ปกปิด ‘Shadow’ หรือธรรมชาติที่แท้จริงของตัวเอง ทีมออกแบบนำแนวคิดทางจิตวิทยาเหล่านี้มาแปลงให้มีตัวตน shadow คือบรรดาสัตว์ประหลาดทั้งหลายที่เราต้องเผชิญหน้าและพิชิต มีเพียงการกำราบ shadow และยอมรับว่ามันคือส่วนหนึ่งของตัวตนที่แท้จริงของเราเท่านั้น ที่เราจะสามารถเข้าถึงและใช้ Persona ที่มีพลังพิเศษเหนือมนุษย์ ต่อกรกับบรรดา shadow ที่สิงอยู่ในโลกพิสดารในทีวี ซึ่งโลกนี้ที่จริงก็คือโลกรวมหมู่ของจิตใต้สำนึกหรือ ‘โลกภายใน’ ของจิตใจมนุษย์
เพื่อนๆ ที่ร่วมทีมผจญภัยไปกับเรามี Persona ประจำตัวเพียงร่างเดียว แต่ตัวเราในฐานะหัวหน้าทีมสามารถใช้ Persona หรืออวตารที่หลากหลาย ระบบที่สนุกมากของซีรีส์นี้ก็คือ เราสามารถ ‘ผสม’ (fuse) หรือผนวกรวมร่าง Persona ต่างๆ เพื่อเป็น Persona ตัวใหม่ที่มีความสามารถต่างจากเดิมได้ แต่ก็เลือกได้ด้วยว่าจะให้ Persona ตัวใหม่รับทักษะหรือคาถาอะไรเป็นมรดกจาก Persona ตัวเก่า
บรรยากาศใน Persona 4 Golden สดใสหลากสี กราฟิกสไตล์อานิเมะญี่ปุ่นเตะตาโดยเฉพาะในโลกพิสดาร ฉากการต่อสู้แบบสลับตาเดินกับศัตรู (turn-based) สนุกสนานแม้จะใช้เวลานานและบางครั้งต้องอาศัยการวางแผนพอสมควรถ้าไม่อยากให้ทีมเราตายหมด ความสนุกอย่างหนึ่งอยู่ที่การค้นหา ‘จุดอ่อน’ ของศัตรูและใช้คาถาที่เหมาะสม จุดอ่อนเหล่านี้บางครั้งสามารถเดาได้จากรูปร่างหน้าตาของ shadow เช่น ถ้าตัวแดงก่ำก็น่าจะเข้มแข็งธาตุไฟ โอกาสที่คาถาธาตุน้ำจะกำราบน่าจะมีสูง ถ้าเราโจมตีตรงกับจุดอ่อน เราจะได้รวมพลังกับเพื่อนๆ โจมตีด้วยท่าไม้ตายแบบรวมหมู่
จุดเด่นของ Persona 4 Golden อยู่ที่การเขียนตัวละครทุกตัวอย่างน่าค้นหาและสมจริง ทุกคนมี ‘ปม’ บางอย่างในชีวิตที่อยากหาวิธีคลี่คลาย เพื่อนของเราทุกคนเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงทางจิตใจบางอย่างที่ทำให้เขาหรือเธอขาดความมั่นใจในตัวเอง ที่จริงระบบเกมผลักดันให้เราอยากสร้างและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ (social links) กับตัวละครต่างๆ อยู่แล้ว เพราะยิ่งระดับความสัมพันธ์ดี ตัว Persona หรือ ‘อวตาร’ ของทั้งเพื่อนและของเราในโลกพิสดารยิ่งมีความสามารถมากขึ้น รวมถึงปลดล็อกความสามารถของเพื่อนๆ ในสนามการต่อสู้ แต่ยิ่งเล่นเราจะพบว่า การเพิ่มพูนความสัมพันธ์ (โดยมากทำได้ง่ายๆ ด้วยการใช้เวลากับเขาหรือเธอ) นั้นมีเสน่ห์ในตัวมันเอง นอกจากเราจะได้รับรู้เรื่องราวของเพื่อนๆ และตัวละครอื่นแล้ว ยังทำให้เราสามารถให้กำลังใจ หาวิธีช่วยให้เขาหรือเธอฝ่าฟันความท้าทายส่วนตัวไปได้
ในแง่นี้ Persona 4 Golden นับว่า ‘แหวกขนบ’ ของเกมสวมบทบาทได้อย่างสง่างาม เกมสวมบทบาทส่วนใหญ่เน้นเรื่องราวมหากาพย์ เหล่าฮีโร่ลุกขึ้นรวมพลังสู้กับอสูรร้ายจากอเวจี แต่ Persona 4 Golden และเกมอื่นๆ ในซีรีส์ เน้นเรื่องราวการเดินทาง ‘ภายใน’ ของตัวละคร การออกเดินบนเส้นทางขรุขระของการสร้างความมั่นใจในตัวเอง ออกเดินบนเส้นทางชีวิตที่เลือกเอง ไม่ใช่การเป็นวีรบุรุษกู้โลกหรือเดินตามชะตาฟ้าลิขิตแต่อย่างใด ส่วนคดีฆาตกรรมปริศนาในเมืองที่เราและเพื่อนๆ จะช่วยสะสางนั้นเป็นเส้นเรื่องหลักก็จริง แต่กว่าจะจบเกม เรื่องนี้ก็กลายเป็นว่าน่าสนใจน้อยกว่าและกินใจน้อยกว่าเรื่องราวการรับมือกับความท้าทายในชีวิตของผองเพื่อน
Persona 4 Golden ไม่เพียงแต่ไม่สนใจที่จะยึดขนบของเกมสวมบทบาท แต่ยังตั้งคำถามกับขนบเหล่านี้ด้วยซ้ำว่า ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงแรกของเกม เราจะเดินทางเข้าสู่โลกพิสดารในทีวีพร้อมกับ โยสุเกะ ฮานามูระ เพื่อนคู่ใจ โยสุเกะดูท่าทางเป็น ‘จิ๊กโก๋’ ที่น่าหมั่นไส้ ชอบคิดว่าตัวเองเท่และเจ๋งเกินจริง โยสุเกะอธิบายว่าเขาอยากไขคดีฆาตกรรมเพราะเหยื่อรายหนึ่งเป็นเพื่อนของเขาเองที่เคยปิ๊ง สาบานว่าอยากไขคดีให้ได้เพื่อเธอ ฟังดูสูงส่งเสียสละมาก อย่างไรก็ดี เมื่อเราเข้าสู่โลกทีวี เราก็จะได้เผชิญหน้ากับ ‘ตัวตนที่แท้’ หรือ shadow ของโยสุเกะซึ่งเผยตัวตนที่แท้จริงของเขาออกมา ตัวตนที่ไม่ได้สูงส่งเสียสละเหมือนกับที่เขาอยากให้เราเชื่อ
ฉากนี้เริ่มแบบแผนปริศนาลึกลับหลักในเกม นั่นคือ ใครสักคนจะถูกฆาตกร ‘โยน’ เข้าไปในโลกพิสดารในทีวี ส่งผลให้ตัวตนที่แท้จริง หรือ shadow ของตัวเองผุดขึ้นมาหลอกหลอน เป้าหมายของเราคือ ต้องช่วยชีวิตคนคนนี้ให้ได้ก่อนที่เขาหรือเธอจะถูกตัวตนแท้ของตัวเองกัดกินจนตาย การเอาชนะ shadow แปลว่าเราไม่เพียงแต่ต้องพิชิตสัตว์ประหลาดที่เป็นภาพสะท้อนของตัวตน แต่เจ้าตัวยังต้องยอมรับด้วยว่า shadow นั้นเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ เป็นส่วนหนึ่งของตัวเราที่จะไม่มีวันหายไป เมื่อยอมรับได้แล้ว คนคนนั้นก็จะเข้มแข็งขึ้นมาก ได้เข้าถึงพลังที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าตัวเองมี
การเผชิญหน้ากับความจริงที่ยากลำบากเกี่ยวกับตัวเองทำให้เรามีพลังเหนือมนุษย์
Persona 4 Golden ทำให้เราได้ทบทวนระหว่างเล่นว่า เรากำลังเป็นคนแบบที่เราอยากเป็นจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเรากำลังปฏิเสธตัวตนและความต้องการที่แท้จริง และสำหรับเด็กไทยผู้เข้าร่วม #เยาวชนปลดแอก ที่กำลังถูกผู้ใหญ่ใจแคบจำนวนมากก่นด่าด้วยความไม่เข้าใจ และไม่พยายามจะเข้าใจ เรื่องราวของ ยูกิโกะ อามากิ เพื่อนร่วมทีมคนสำคัญ ก็น่าจะทำให้ผู้ใหญ่เหล่านี้ฉุกใจคิดบ้าง
เมื่อดูจากภายนอก ยูกิโกะดูเป็น ‘เด็กดี’ ทุกกระเบียดนิ้วบนมาตรวัดของผู้ใหญ่ เธอเป็นเด็กสุภาพเรียบร้อย เรียนได้คะแนนดี หน้าตาดี และเป็นที่นิยมชมชอบของเพื่อนๆ รวมถึงครูบาอาจารย์ ครอบครัวของเธอเป็นเจ้าของโรงแรมอามากิในเมือง นอกจากนี้เธอยังทำงานพาร์ทไทม์ที่โรงแรม คนส่วนใหญ่คาดหวังว่าเธอจะรับช่วง บริหารโรงแรมนี้ต่อจากพ่อแม่หลังจากที่พ่อแม่เกษียณ เพราะนั่นคือประเพณีครอบครัวที่ทำกันมาหลายชั่วอายุคน แต่เมื่อยูกิโกะถูกลักพาตัวและโยนเข้าไปในโลกทีวี ตัวตนที่แท้จริงของเธอก็เผยออกมา
ตัวตนที่แท้จริง หรือ shadow ของโยสุเกะไม่พอใจครอบครัวของเธอ และไม่พอใจคนเมืองทั้งหลายที่อยากให้เธอทำตามสิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่ไม่เคยถามเลยว่าตัวเธอเองต้องการอะไร ความไม่พอใจของเธอสะท้อนออกมาในร่าง ‘เจ้าหญิง’ ของ shadow เธอวาดฝันว่าจะมีเจ้าชายหรือใครสักคนมาพาเธอหนีไปจากเมืองนี้ให้ได้ (ร่างสุดท้ายของเธอคือนกในกรง ตอกย้ำอุปมานี้ให้ชัดกว่าเดิมอีก) แต่จุดที่น่าสนใจคือ นานหลังจากที่พวกเราช่วยชีวิตยูกิโกะไว้ได้แล้ว ถ้าเราใช้เวลากับเธอบ่อยๆ (เพิ่มระดับความสัมพันธ์)
เราจะได้เรียนรู้ว่ายูกิโกะไม่อยากรับช่วงการบริหารโรงแรมต่อจากพ่อแม่ก็จริง แต่เธอก็แทบไม่มีความมั่นใจใดๆ ในตัวเอง ไม่เชื่อว่าเธอจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าเธอจะพยายามทำอะไร ไม่ว่าทำกับข้าว หรือหางานทำ เธอก็เจอทางตัน และก็จะกลับมาสมเพชเวทนาตัวเอง ถึงจุดหนึ่งยูกิโกะจะสารภาพกับเราว่า เธอหวังว่าการที่โรงแรมของครอบครัวถูกตีแผ่ในข่าวว่าเป็นสถานที่ฆาตกรรม มีผีสิง จะกดดันให้โรงแรมนี้ต้องปิดตัวลง เธอจะได้ไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันที่จะรับมันเป็นมรดกอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี เมื่อมิตรภาพระหว่างเรากับยูกิโกะเบ่งบานมากขึ้น เธอก็เริ่มตระหนักว่าความเกลียดโรงแรมของเธอนั้นที่แท้มาจากความรู้สึกที่ว่าเธอติดกับ รู้สึกเหมือนชีวิตของเธอมีคนเขียนบทให้แล้วทุกอย่าง การได้มาปรับทุกข์กับเรา ได้ระบายอารมณ์และเล่าปัญหาให้ฟัง ทำให้เธอเกิดแรงบันดาลใจที่จะไปคุยกับพ่อแม่อย่างจริงจัง เปิดเผยความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของเธอ ปรากฏว่าพ่อแม่เพียงแต่ต้องการให้เธอมีความสุขเท่านั้น พวกเขาไม่รู้เลยว่าเธอรู้สึกอย่างไรเพราะเธอไม่เคยเล่า
ยูกิโกะเพียงแต่คิดไปเองเท่านั้นว่าเธอโดดเดี่ยวเดียวดาย
สุดท้ายยูกิโกะก็ตัดสินใจอยู่บ้าน ช่วยพ่อแม่บริหารโรงแรม ไม่ย้ายออกจากเมือง ไม่ใช่เพราะนั่นคือสิ่งที่คนอื่นคาดหวัง แต่เป็นเพราะความรักของเธอที่มีต่อพ่อแม่ และความรักของพ่อแม่ที่มีต่อเธอ รวมถึงความรักของเพื่อนๆ และคนในเมือง ช่วยเปลี่ยนให้เธอกลายเป็นสาวน้อยที่เข้มแข็ง รู้ดีว่าตัวเองอยากทำอะไรเพราะอะไร
เพื่อนๆ และตัวละครคนอื่นในเกมนี้ล้วนเผชิญกับความท้าทายที่มีรากมาจากการขาดความมั่นใจในตัวเอง คล้ายยูกิโกะแต่คนละเรื่องคนละมุม ไม่ว่าจะเป็นความดิ้นรนของนาโอโตะที่อยากให้คนอื่นยอมรับ ความกลัวของคันจิว่าตัวเองจะไม่ ‘เป็นแมน’ มากพอในสายตาสังคม (จุดนี้ผู้เขียนเห็นว่าทีมออกแบบ Persona 4 Golden รับมือกับประเด็น LGBTQ ไม่ดีเลย ดีที่ Persona 5 ทำได้ดีกว่ามาก) หรือความอิจฉาริษยาเพื่อนของชิเอะ
ถึงที่สุดแล้ว Persona 4 Golden ไม่ใช่เรื่องราวของวีรบุรุษผู้มีพลังเหนือมนุษย์หรือมหากาพย์การต่อสู้ เท่ากับเล่าเรื่องความสำคัญของการค้นหาตัวเองให้เจอ การแสวงหาให้เจอว่าเราอยากเป็นใคร และจากนั้นก็หมั่นตั้งคำถามว่า เรากำลังเป็นคนที่เราอยากเป็นอยู่หรือไม่ เพราะอะไร และผู้ใหญ่ก็มีหน้าที่รับฟัง ช่วยเหลือให้เด็กทำสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ไปพยายาม ‘ครอบ’ ให้เขาเป็นคนแบบที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็น เชื่อในสิ่งที่ผู้ใหญ่อยากให้เชื่อ
ผู้เขียนเฝ้าดูความเกรี้ยวกราดฟาดงวงฟาดงาหาเหตุผลไม่ค่อยได้ของกองเชียร์รัฐบาลรุ่นเดอะหลายคนที่ออกมาประณาม #เยาวชนปลดแอก แล้วก็ได้แต่คิดว่า บางทีคนเหล่านี้ก็แค่โกรธที่ตัวเองพยายามล้างสมองลูกหลานแล้วไม่สำเร็จ เลยเชื่อเป็นตุเป็นตะว่าต้องมีคนอื่นทำสำเร็จ