นอกจากวันที่ 24 มิถุนายน ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองให้ประเทศศิวิไลซ์มีรัฐสภาและรัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดิน ก็มีวันที่ 26 มิถุนายนนี่แหละที่น่าหมุดหมายให้เป็นวันสำคัญอีกวันบนปฏิทินไทย เพราะเป็นวันเกิดสุนทรภู่ (2329 – 2398)
สุนทรภู่รับราชการร่างคัดลอกเอกสารสำคัญของราชสำนัก ที่เท่ากับว่าเขาไร้ตัวตน ประกอบอาชีพทำมาหากินเขียนคัดลอกคำพูดรายงานผู้อื่น หากแต่งานอดิเรกและความสามารถส่วนตัวทางด้านกวีนิพนธ์ ที่ทำให้มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับในระดับสากล เขาฝากผลงานไว้มากมายเช่น นิทานพระอภัยมณี สิงหไตรภพ นิราศเมืองแกลง เมืองเพชร ภูเขาทอง พระประธม บลาๆๆ
ถือได้ว่าเป็นคนมีการศึกษา อ่านออกเขียนได้และเข้าถึงความรู้วิทยาการทันสมัยต่างๆมากมาย เป็นปัญญาชนอีกคนก่อนยุคสมัยใหม่ ก่อนที่จะมีการพิมพ์และการอ่านเฟื่องฟูนับตั้งแต่ พ.ศ. 2385 ที่หมอบรัดเลย์หล่อตัวพิมพ์ไทยสำเร็จ ตั้งโรงพิมพ์ ออกหนังสือพิมพ์ และพิมพ์หนังสือตามที่มีผู้ว่าจ้าง กว่าพระอภัยมณีของสุนทรภู่จะได้พิมพ์ขายครั้งแรกในกรุงสยามก็เมื่อพ.ศ. 2413 โดยหมอสมิธเจ้าของโรงพิมพ์ที่บางคอแหลม[1]
ทว่าประวัติของสุนทรภู่ก็เขียนผิดๆ ถูกๆ ก็ เช่นงานชีวประวัติสุนทรภู่ที่แต่งโดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่พยายามจัดระเบียบชำแหละอธิบายประวัติศาสตร์และวรรณกรรมไทยเสียใหม่เพื่อให้เข้ากับจริต อุดมการณ์ เพดานความคิดความอ่านของตนเอง[2]
หนึ่งในการตีความผิดพลาดหลายประการของกรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้นก็คือ ‘สุภาษิตสอนหญิง’ ที่อธิบายว่าเป็นผลงานชิ้นหนึ่งของสุนทรภู่ หากแต่จากการศึกษาภายหลังเสนอว่า เป็นผลงานของอีกภู่นึง ชื่อภู่เหมือนกัน มีความสามารถด้านกวีเหมือนกัน แถมมีชีวิตร่วมสมัยเดียวกัน ภู่นี้มีชีวิตในสมัยรัชกาลที่ 3-5 เคยเป็นอดีตสมภารวัดสระเกศในรัชกาลที่ 3 สึกออกมาในรัชกาลที่ 4 แต่งกลอนไว้เยอะเหมือนกันเช่น จันทโครพคำกลอน นกกระจาบคำกลอน มีทายาทสืบทอดมาจนเมื่อเริ่มมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘นามสกุล’ ก็มีนามสกุลว่า ‘จุลละภมร’[3]
กลับมาที่สุนทรภู่ดีกว่า มีกวีนิพนธ์จำนวนมากของเขาถูกศึกษามากมายด้วยแนวคิดทฤษฎีต่างๆ แม้แต่สตรีนิยมว่าด้วยเพศวิถีเพศสภาพในกวีนิพนธ์สุนทรภู่
แฟนตาซีที่เกี่ยวกับเพศของตัวละครเช่น การแปลงร่างของตัวละครหญิงไม่ให้เป็นหญิงเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ทางเพศของตนเองอย่างนางสุวรรณอำภา และนางทิพเกสรจากเรื่องลักษณวงศ์ จนเพศสรีระของพวกเธอลื่นไหลได้ ในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการนางในวรรณคดี แทนการอธิษฐานให้ตัวเองร้อนเป็นไฟแบบก่อน[4] หรือการศึกษา ‘ความเป็นเมีย’ และ ‘ความเป็นแม่’ อันเป็นวาทกรรมกระแสหลักของ ‘ความเป็นหญิง’ เปรียบเทียบกันระหว่างนางผีเสื้อสมุทรจากพระอภัยมณีกับนางพันธุรัตจากเรื่องสังข์ทอง[5]
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิทานแฟนตาซีพระอภัยมณี ที่ไม่เพียงเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม การค้าการคมนาคมทางเรือทางทะเลเฟื่องฟูในยุคต้นรัตนโกสินทร์ แลกเปลี่ยนสินค้าวิทยาการทางความรู้ระหว่างชาติต่างๆ กัน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นนำในประเทศ การเมือง สังคมวัฒนธรรม จนฉากและสิ่งแวดล้อมของพระอภัยมณีเป็นกลางทะเลลึก ชายหาด เกาะแก่งต่างจากนิทานเรื่องอื่นๆ ที่เป็นป่าเขาลำเนาไพร[6] ยังเป็นผลให้เกิดตัวละครในจิตนาการที่อาศัยตามท้องทะเลเช่น ม้านิลมังกร ผีเสื้อค้างคาว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนางเงือกกับผีเสื้อสมุทร ที่ในมุมมองของเฟมินิสต์สายนิเวศ หรือ Ecofeminism (มีสตรีนิยมสำนักนี้ด้วยว่ะ) นิยามว่า เป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ถูก ‘ทำให้เป็นอื่น’ เป็นอมนุษย์ที่พยายามเหมือนคนหรือมีรูปร่างบางประการคล้ายคน แต่ก็ไม่ใช่คนอยู่ดี และทั้ง 2 ตัวละครก็เป็นตัวแทนของความแตกต่างชนิดที่ตรงกันข้าม
นางผีเสื้อสมุทรเป็นตัวแทนของ ‘หญิงเลว’ และธรรมชาติในด้านป่าเถื่อน โหดร้ายใช้ความรุนแรง ไม่ได้รับการขัดเกลาทางวัฒนธรรม แสดงออกความต้องการทางเพศอย่างตรงไปตรงมา นางพุ่งเข้าหาผู้ มีมารยาสาไถยและความใคร่รุนแรง ซ้ำยังมีใช้อำนาจเหนือผัว พยายามปลุกปล้ำกักขังหน่วงเหนี่ยวพระอภัยมณีจนมีลูกด้วยกัน ขณะที่นางเงือกเป็นตัวแทนของ ‘หญิงดี’ ธรรมชาติในด้านงดงามสุนทรีย์ ที่มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นมิตร เพราะนางเงือกคอยสนับสนุนเกื้อหนุนและอุทิศตัวให้พระอภัยอย่างเชื่องๆ เป็นรอง อ่อนด้อยไร้พลัง เต็มใจกับการถูกควบคุมโดยผู้ชาย และยินยอมให้พระอภัยทอดทิ้งให้อยู่ลำพังแต่โดยดี[7]
แม้จะเป็นนิทานจากจินตนการเพ้อฝันเต็มไปด้วยเรื่องมหัศจรรย์พันลึก แต่มีการศึกษาในฐานะภาพสะท้อนเพศสภาพเพศวิถีในสังคมยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น[8]
และเมื่อถูกบรรจุในตำราเรียนภาษาไทยระดับประถมและมัธยมตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ มันก็ถูกนำมาศึกษาในฐานะเครื่องมือหล่อหล่อมความคิดชายเป็นใหญ่ในยุคปัจจุบัน[9]
และด้วยความที่พระเอกของเรื่องก็กินหลากหลายไม่ว่าจะชาติพันธุ์หรือ species จนถูกตั้งข้อสังเกตว่าการร่วมเพศระหว่างพระอภัยกับนางเงือกทำอย่างไร?[10] เพราะนางสุวรรณมาลี นางวาลี นางละเวงวัณฬาก็เป็นมนุษย์ ส่วนนางยักษ์ก็ยังแปลงกายเป็นหญิงสาวสวยได้
แม้แต่การศึกษาด้าน LGBTQ ยังปรากฎกับงานสุนทรภู่ เพราะทั้ง โคบุตร สิงหไตรภพ ลักษณวงศ์ ก็บอกเล่าถึงหญิงรักเพศเดียวกันหรือ ‘การเล่นเพื่อน’ ว่าเป็นเพศวิถีที่พบเห็นได้ทั่วไปในกลุ่มนางสนมกำนัลในราชสำนัก แต่สำหรับสุนทรภู่แล้ว ‘เล่นเพื่อน’ ทำให้เสียงานเสียการ เพราะเพลินจนละทิ้งหน้าที่ราชการ เหมือนกับที่พรรณนาในสิงหไตรภพว่า
“แต่ลูกสาวท้าวพระยาพวกข้าหลวง ทุกกระทรวงห้ามแหนไม่แม้นเหมือน
ต่างเมินหมางห่างแหทำแชเชือน เที่ยวเล่นเพื่อนพิศวาสละราชการ”
ขณะเดียวกันก็กล่าวถึงหญิงรักหญิงชนชั้นชาวบ้านในนิราศพระประธมว่า
“นี่หลงเพื่อนเหมือนเคี้ยวข้าวเหนียวลาว ลืมข้าวเจ้าเจ้าประคุณที่คุ้นเคย”
ไม่เพียงเป็นการเปรียบเทียบว่าเซ็กซ์ก็เหมือนอาหารกับข้าวกับปลา แต่ยังอุปมารักเพศเดียวกันประหนึ่งเมนูแปลกใหม่กว่า ดึงดูดให้ติดใจได้ง่าย แต่มีลักษณะชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ถาวรจีรัง ไม่เหมือนข้าวเจ้าที่กินเป็นประจำจนคุ้นเคย[11]
ขณะเดียวกัน จากการศึกษาบทอัศจรรย์ในวรรณกรรมไทยยุคสมัยต่างๆ ก็เผยให้เห็นว่าสุนทรภู่ไม่เพียงมีความสามารถด้านภาษา แต่ยังมีจินตนาการทางเพศที่แสบสันต์ตัณหา เปรียบเทียบอวัยวะเพศหญิงเป็นว่าวจุฬารูปร่าง 5 แฉกกางออก กับว่าวปักเป้าที่มีหางยางปะทะลมกระทบสีกันไปมา ก่อนจะ ‘ประกบติดตกผางลงกลางดิน’ หรือเปรียบอาการเสร็จไวของผู้ชายเหมือนกับการลั่นไก เหมือนไฟพุ่งออกจากกระบอกปืน[12] ไม่ก็เปรียบเซ็กซ์กับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติจันทรุปราคา น้ำค้างหยดพร่างพรมลงกลีบดอกไม้ หรือ hardcore เป็นพายุบุแคม[13] และที่แซ่บไปกว่านั้น ยังอุปลักษณ์การร่วมเพศเท่ากับการผจญภัยเดินสมุทรอันปั่นป่วนโคลงเคลง มีทั้งคลื่นสาดซัดและบางครั้งก็ติดเลนตม[14]
แฮ่กๆๆ เสียงหอบเพราะเดินทางเหนื่อย
แต่ถึงกระนั้น การศึกษาวรรณคดีของสุนทรภู่หลายงานก็ยังคงเป็นการศึกษา เลยการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวตนผู้แต่ง ยังคงยึดความเข้าใจของกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นหลักอยู่ดี ที่ยังเชื่อว่าเป็นกวีขี้เมาขี้เอา ซึ่งก็ดันไปสอดคล้องได้ดีกับตัวละครผัวเดียวหลายเมียและบทอัศจรรย์ในเรื่องที่แต่งขึ้น
แต่จากการศึกษาเพียงเท่านี้ ก็มีคุณูปการมากพอที่จะได้เห็นภาพสังคมวัฒนธรรมไทยก่อนสมัยใหม่อย่างแจ่มแจ้งกับการทำความเข้าใจเซ็กซ์ได้อย่างง่ายดาย การพูดและเปิดเผยเรื่องเพศแบบโจ๋งครึ่ม ราวกับแหกปี่มาให้ดูผ่านลายลักษณ์อักษรและวัฒนธรรมบันเทิง
และถ้าหากศึกษาแล้ว เสื้อผ้าท่าเต้นของ ‘ลำไย ไหทองคำ’ แทบจะกลายเป็นเรื่องเล็กขี้ประติ๋วไม่ใช่ปัญหาหรือสลักสำคัญอะไรจนต้องรบกวนนายกรัฐมนตรีออกมาแก้ไขจัดการ ทั้งๆ ที่ลำพังก็มีปัญหาระดับมหภาคมากมายพอและแก้ไขไม่สำเร็จสักที หรือนำไปสู่ความน่าลำไยกว่าก็คือ การกลับมาของระเบียบรัตน์
แต่เดี๋ยว…ไม่ได้ว่าคนพวกนี้ไม่มีการศึกษานะ!!!
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] สุจิตต์ วงษ์เทศ. สุนทรภู่ เกิดวังหลัง ผู้ดี”บางกอก” : มหากวีกระฎุมพี มีวิชารู้เท่าทันโลก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547, น. 95.
[2] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ประวัติสุนทรภู่. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2474.
[3] เทพ สุนทรศารทูล. สุภาษิตสอนหญิง. กรุงเทพฯ : พระนารายณ์, 2536.
[4] สหะโรจน์ กิตติมหาเจริญ. ประเวณีที่ในกายจงหายไป: เพศ(สภาพ) ที่หายไปในลักษณวงศ์ ใน สุนทรภู่ อาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว, กรุงเทพฯ: สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, 2557, น. 224-255.
[5] พรธาดา สุวัธนวนิช. ความรักและความตายของนางยักษ์ในวรรณคดีไทย. การประชุมทางวิชาการระดับชาติ ภาษา วรรณคดีไทย และการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ : การเรียนรู้และสร้างสรรค์จากสังคมไทยสู่สังคมโลก 22 กรกฎาคม 2554, น. 351-360.
[6] กาญจนาคพันธุ์ (นามแฝง) . ภูมิศาสตร์สุนทรภู่.พระนคร, ดวงกมล, 2500. ; นิธิ เอียวศรีวงศ์. ปากไก่และใบเรือ : รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2555.; อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. ความเปลี่ยนแปลงของสำนึกทางประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึง พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฐ, 2531.
[7] ธัญญา สังขพันธานนท์. ผู้หญิงยิงเรือ : ผู้หญิง ธรรมชาติ อำนาจ และวัฒนธรรมกำหนด สตรีนิยมเชิงนิเวศในวรรณคดีไทย. ปทุมธานี : นาคร, 2556, น. 98-115.
[8] วรนุช จรุงรัตนาพงศ์. การวิเคราะห์เพศสถานะในพระอภัยมณี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551.
[9] ปารณีย์ ชะหงษ์รัมย์ และคณะ. การผลิตซ้ำทางอุดมการณ์ “ปิตาธิปไตย” ในหนังสือเรียนการศึกษาภาคบังคับของกระทรวงศึกษาธิการ. ศรีวนาลัยวิจัย 3 (5), มกราคม-มิถุนายน 2556, น. 11-27.
[10] ปรามินทร์ เครือทอง. อ่าน พระอภัยมณี : สงสัยพระอภัยกับนางเงือก ‘นั่น’ กันอย่างไร? ใน วรรณคดีขี้สงสัยกรุงเทพฯ : อ่าน, 2558.
[11] ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. รักร่วมเพศในงานของสุนทรภู่. ใน สุนทรภู่ อาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว. กรุงเทพฯ: สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, 2557, น. 50 – 80.
[12] การุญญ์ พนมสุข.การวิเคราะห์เปรียบเทียบอุปลักษณ์ในบทอัศจรรย์ของวรรณกรรมไทย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์เพื่อการสื่อสาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549. น. 62-63.
[13] เรื่องเดียวกัน, น. 66-69.
[14] เรื่องเดียวกัน, น. 77.