หากดูประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของฝ่ายปฎิปักษ์คณะราษฎร นับตั้งแต่ไม่ยอมให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน 2475 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่ให้เป็น ‘ชั่วคราว’ แทน[1] การทำให้ ‘หมุดปฏิวัติ 2475’ หายไปเมื่อ 14 เมษาที่ผ่านมาถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านการปฎิวัติ 2475 ที่ไร้รสนิยมของลิ่วล้อรุ่นหลังๆ
ไม่เพียงแต่ไร้รสนิยม ‘หมุดหน้าใส’ ที่เข้ามาปักไว้แทนแบบลับๆ ซ่อนๆ เหมือนลักกินขโมยกิน ก็ยังไร้ความหมายและที่มา จนเท่ากับว่ามันไร้ตัวตนและไร้ค่า
นักประวัติศาสตร์และหลายคนที่ให้ความสำคัญกับเสรีประชาธิปไตยเกิดความกังวลใจว่า มรดกคณะราษฎรอะไรอีกที่จะถูกทำลาย สถาปัตยกรรมอย่างศาลาเฉลิมไทย ศาลฎีกาก็ถูกทุบทิ้งไปแล้ว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะคณะราษฎร และหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์และส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการการเมืองไทย[2] แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นข่าวดีสำหรับพวกที่ต่อต้านการมีเสรีประชาธิปไตยในประเทศ คิดอย่างตื้นเขินว่าการถอนหมุดเป็นการถอนรากถอนโคนการปฏิวัติ 2475 หรือแค่ได้ถอนสัญลักษณ์ก็ดีใจจนเนื้อเต้นแล้ว
เอาเป็นว่าวิถีชีวิต ทัศนคติ หรือแม้แต่พฤติกรรมโดยอัตโนมัติของเราหลายๆ อย่างในชีวิตปัจจุบันตั้งแต่ทักทาย ‘สวัสดี’ สวมรองเท้าออกจากบ้าน ไม่ขี้เยี่ยวในคูคลอง ไม่ขากเสลดถ่มถุยบนพื้นถนน ก็เป็นมรดกของเจตนารมณ์ของคณะราษฎร หรือที่เรียกว่า ‘หลัก 6 ประการของคณะราษฎร’ ที่ต้องการให้ประเทศเป็นอารยะ ไม่ล้าหลังบาร์บาเรียนอย่างระบอบปกครองก่อน ซึ่งเป็นข้อสรุปเชิงนโยบาย 6 ข้อใน ‘ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1’ ที่ยืนอ่านกันแถวๆ หมุดนั้น อธิบายเหตุผลจำเป็นที่ต้องปฏิวัติ เมื่อเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน ว่า
“๑. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
๕. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”[3]
หรือ “เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา” สำหรับสายย่อ
ดังนั้น ทันทีที่แรกมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศในปี 2476 ซึ่งล่าช้าเพราะกลุ่มอำนาจเก่าที่ทำให้เกิดกบฏบวรเดช รัฐบาลคณะราษฎรก็ได้กำหนดให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายทุกตำบลทั่วประเทศมีสิทธิเลือกตั้งได้ อย่างเสมอภาคกัน หญิงไทยจึงไม่ต้องเดินขบวนกลางวันแสกๆ เรียกร้องให้พวกนางมีสิทธิเลือกตั้งเหมือนประเทศอื่นๆ แม้แต่สหรัฐอเมริกา ที่สิทธิพลเมืองของผู้หญิงไม่ได้หมายถึงสิทธิการเลือกตั้งจนกระทั่งมีการประท้วงเรียกร้อง หลายนางเขียนหนังสือ บทความ เดินขบวนประท้วงและปิดล้อมทำเนียบขาวจนนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกันสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงจนสำเร็จ พวกเธอมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ค.ศ. 1920 (พ.ศ.2463) หลังการต่อสู้มายาวนานนับศตวรรษ
และขณะที่ชนชั้นปกครองระบอบเก่า ผู้ชายได้รับการอนุญาตให้มีเมียจำนวนมากได้เท่าที่สามารถจะมีได้ เพราะนั่นไม่เพียงให้ผู้หญิงทำหน้าที่บำเรอกาม ยังเท่ากับการประกาศอำนาจบารมี สามารถสะสมไพร่ทาสบริวารเพื่อแสดงกำลังทรัพย์และความสามารถในการเลี้ยงดู และเป็นเครื่องมือในการสร้างเครือข่ายระหว่างชนชั้นปกครองด้วยกันเอง แม้จะมีผู้นำบางคนมักแสดงตัวว่าต่อต้านการแต่งงานแต่ผัวเดียวหลายเมีย แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านั้น ทั้งๆ ที่ในเวลานั้นจะมีนิตยสารหนังสือพิมพ์และนักเขียนปัญญาชนจำนวนมากเช่น สตรีนิพนธ์ (2458), สตรีศัพท์ (2465), สตรีไทย (2469), สยามยุพดี (2471) ต่อต้านระบบแต่งงานผัวเดียวหลายเมียของชนชั้นศักดินาในฐานะการกดขี่ ความไม่เสมอภาคทางเพศ[4]
ครั้งนึงในปี 2470 5 ปีก่อนปฎิวัติ กอบกาญจน์ วิศิษฎ์ศรี นักเขียนหญิงใช้นามปากกาว่า ‘กุหลาบขาว’ มีฎีการ้องทุกข์ ผ่านพระราชินีในรัชกาลที่ 7 แทนหญิงชื่อหวิง ที่ผัวไปมีเมียใหม่และทำร้ายทารุณเธอ และขอให้มีกฎหมายจำกัดจำนวนเมียของผู้ชาย โดยให้เหตุผลว่าระบบผัวเดียวหลายเมียอย่างไม่จำกัดเป็นต้นตอนำไปสู่การกดขี่ผู้หญิง แต่ก็ถูกปฏิเสธ รัฐบาลกษัตริย์ แทงเรื่องบอกปัด อ้างว่าเป็นการร้องทุกข์แทนผู้อื่น ควรให้เจ้าทุกข์ร้องเองเสียง[5]
ขณะที่ผู้หญิงสามัญชนไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลในระบอบเก่า พวกเธอได้รับฟังมากขึ้นจากรัฐบาลทันทีที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรเปิดรับหนังสือร้องทุกข์และแสดงความคิดเห็นทางสังคมการเมืองจากข้าราชการและประชาชนโดยตรง ทันทีที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงพ.ศ. 2477 มีหนังสือร้องทุกข์เรื่องต่างๆ ถูกส่งมา 750 ฉบับ ซึ่งรวมถึงเรื่องผัวเมียด้วย[6]
กระทั่ง 2478 รัฐบาลระบอบใหม่พัฒนากฎหมายให้ศิวิไลซ์ขึ้น ด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยเรื่องครอบครัว ที่ไม่ว่าเพศไหนมีคู่แต่งงานแล้วจะจดทะเบียนสมรสอีกไม่ได้ พร้อมกับเร่งสร้างวัฒนธรรมครอบครัวผัวเดียวเมียเดียว ส่งเสริมให้ผัวเมียเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ทุบตี ดูหมิ่น เหยียดหยาม
แม้ว่าจะไม่พัฒนากฎหมายก้าวกระโดดให้คนรักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ แต่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม สมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญก็ได้แก้กฎหมายให้คนรักเพศเดียวกันไม่ใช่อาชญากรรมอีกต่อไป
ใช่ๆๆ … ประเทศเราเคยมีกฎหมายลงโทษคนรักเพศเดียวกัน
เพราะขณะที่สยามตกเป็นประเทศกึ่งอาณานิคมในปี 2442 สมัยรัชกาลที่ 5 จึงมี ‘พระราชกำหนดลักษณข่มชืนล่วงประเวณี ร.ศ. 118’ ซึ่งในมาตรา 6 ใน ‘ผู้กระทำชำเราผิดธรรมดาโลกย์’ ซึ่งได้แก่การร่วมเพศทางเวจมรรค (ร่วมเพศทางทวารหนัก) และการร่วมเพศกับสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งกำหนดความผิดโดย ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500 บาท ขณะที่ผู้สมรู้ร่วมคิด ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300 บาท[7]
ต่อมาอีก 9 ปี พ.ศ. 2451 มีการบัญญัติ ‘กฎหมายลักษณะอาชญา ร.ศ.127’ มาตรา 242 ไว้ว่า การร่วมเพศทางทวารหนักเป็น ‘ชำเราผิดธรรมดามนุษย์’ ต้องจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึง 3 ปี และให้ปรับตั้งแต่ 50 บาท ขึ้นไปจนถึง 500 บาท[8] กล่าวกันว่าผู้ยกร่างคัดลอกเอามาจากประมวลกฎหมายอาญาอินเดีย ค.ศ. 1860 (The Indian Penal Code)[9] ตามมาตรา 377 ที่รับอิทธิพลอำนาจและโลกทัศน์จากจักรวรรดินิยมอังกฤษอีกที ว่าการร่วมเพศทางทวารหนักเป็นการกระทำที่ผิดธรรมชาติ เหมือนมาเลย์ สิงคโปร์ พม่าที่ตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ
หลังสยามเป็นเอกราชสมบูรณ์ Sodomy law จากอังกฤษหรือกฎหมายลงโทษคนรักเพศเดียวกันก็ถูกยกเลิกและไม่มีการบัญญัติห้าม เมื่อมีการยกร่างประมวลกฎหมายอาญาใน พ.ศ. 2499 เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างยินยอมโดยสมัครใจ และเป็นเรื่องส่วนบุคคล ตราบเท่าที่ไม่ใช้กำลังขู่เข็ญหรือทำกับเด็ก[10]
ล้วนแล้วแต่เป็นหมุดหมายพัฒนาการและการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อความเสมอภาคทางเพศ เพราะการเลือกเพศสภาพเพศวิถี ก็เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับอย่างเสมอภาค และนี่ก็คือผลงานของคณะราษฎรก็ได้พยายามปักหมุดสำนึกเหล่านี้ไว้ในสำนึกคิดวิถีชีวิตของประชาชน นี่ก็รอปูเสื่อดูว่า ฝั่งเกลียดชังประชาธิปไตยและคณะราษฎรจะถอดหมุดอะไรออก หรือจะทำลายผลงานคณะราษฎรอะไรอีก
มันเป็นเรื่องยากและไม่จำเป็นที่จะเปลี่ยนความคิดทางการเมืองใคร เพียงแต่การจงใจหรือพลอยยินดีกับการทำลายข้าวของ โบราณวัตถุ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นความทรงจำสาธารณะ (Public memory) เป็นความกากกักขฬะ และไร้สมองคิด
จนเผลอคิดไม่ได้ว่า ฝั่งปฏิปักษ์คณะราษฎรอาจจะพูดถูกเรื่องที่คณะราษฎร ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะเป็นประชาธิปไตย คนไทยไม่พร้อมเลือกตั้ง เพราะดูจากพฤติกรรมของพวกเขาและเธอเหล่านี้แล้ว
บางทีอาจจะยังไม่พร้อมแม้แต่ยกเลิกระบบไพร่ทาสด้วยซ้ำ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ณัฐพล ใจจริง. (2556). ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500). นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน.
[2] ชาตรี ประกิตนนทการ. (2547). การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรมสยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม.;
—–.(2548). คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมือง หลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม “อำนาจ”.กรุงเทพฯ : มติชน.;
—–. (2552). ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร: สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์. กรุงเทพฯ : มติชน.
[3] ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ฉบับเต็ม ดาวน์โหลดต้นฉบับได้ที่ www.scribd.com/document/50200043
[4] Barmé, Scot. (2006). Woman, Man, Bangkok : Love, Sex, and Popular Culture in Thailand. Chiang Mai, Thailand : Silkworm Book, 2006, pp.136-141.
[5] สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ. (2556). “ผัวเดียวเมียเดียว” ในสังคมไทยสมัยใหม่จากทศวรรษ 2410 ถึงทศวรรษ 2480. กรุงเทพฯ : สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น. 83.
[6] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน
[7] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 16 หน้า 16-17 (ประกาศวันที่ 9 เมษายน ร.ศ. 118).
[8] เอกูต์, เอช., เสริม วินิจฉัยกุล. (2477). คำบรรยายกฎหมายอาชญา. พระนคร: ร้านกาญจนพิมพ์ดีด, น. 813.
[9] จรัญ โฆษณานันท์. (2550). นิติปรัชญา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, น. 193.
[10]รายงานการประชุมอนุกรรมการตรวจพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ครั้งที่ 279, 63/2485 19 กุมภาพันธ์ 2482 และรายงานฯ ครั้งที่ 46, 147/2482, 31 ตุลาคม 2482 อ้างถึงใน จรัญ โฆษณานันท์, หน้า 193.