เรียกว่าไม่ปล่อยให้คอวรรณกรรมได้หายใจหายคอกันเลยล่ะครับ เพราะหลังจากที่รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเพิ่งประกาศผลไปไม่กี่สัปดาห์ก่อน (รางวัลตกเป็นของ คาซูโอะ อิชิกูโระ นักเขียนชาวอังกฤษ) ก็ถึงคราวของรางวัล Man Booker Prize กันบ้างครับ แต่ก่อนจะไปพูดถึงผู้ชนะของปีนี้กัน เรามารู้จักรางวัลนี้กันก่อนดีกว่า
Man Booker Prize คือรางวัลที่มอบให้กับวรรณกรรมซึ่งเขียนด้วยภาษาอังกฤษ และตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรครับ โดยจะมีการมอบรางวัลทุกๆ ปี Man Booker Prize เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 1969 ไฮไลต์สำคัญที่หลายๆ คนจดจำรางวัลนี้ได้ก็อย่างเช่น ปี 1993 ซึ่งครบรอบ 25 ปีของรางวัลนี้พอดี ทางผู้จัดเลยตัดสินใจให้มีการมีรางวัลพิเศษขึ้นในชื่อ Booker of Bookers Prize โดยเลือกหนังสือที่ดีที่สุดจากผู้ชนะที่ผ่านๆ มา ซึ่งรางวัลก็ตกเป็นของ Midnight’s Children วรรณกรรมเล่มหนาของ Salman Rushdie นักเขียนบริติชอินเดียนผู้โด่งดัง แต่ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ตรงนี้หรอกครับ เพราะต่อมาในปี 2008 Man Booker Prize ก็ได้จัด The Best of the Booker ขึ้นในวาระครบรอบ 40 ปี ซึ่งก็ยังคงเฟ้นหาสุดยอดหนังสือจากผู้ชนะที่ผ่านๆ มาเหมือนเดิมครับ ตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ก็ย่อมจะเพิ่มความยากเป็นธรรมดา แต่กลับกลายเป็นว่า Midnight’s Children ยังคงคว้ารางวัลมาได้เช่นเคย เอากับเขาสิ!
แต่นอกจาก Rushdie แล้ว ยังมีนักเขียนดังๆ อีกหลายคนที่คว้า Man Booker Prize มาแล้ว อย่าง J.M. Coetzee และ Kazuo Ishiguro ที่ต่อมาก็ไปคว้ารางวัลโนเบลมาได้ หรือ Margaret Atwood และ Arundhati Roy ก็เคยได้สลักป้าย Man Booker Prize บนปกหนังสือของตัวเองมาแล้วทั้งนั้น ส่วนปีนี้รางวัลก็ตกเป็นของ George Saunders นักเขียนชาวอเมริกันผู้ขึ้นชื่อลือชาจากการเขียนเรื่องสั้น แต่ Lincoln in the Bardo หนังสือที่ส่งให้เขาคว้ารางวัลนี้มาได้กลับเป็นนวนิยายขนาดยาวที่เขาเพิ่งจะเริ่มเขียนเป็นเรื่องแรกครับ
ออกตัวไว้เล็กน้อยก่อนจะเข้าเรื่องของ Saunders ว่าผมยังไม่ค่อยจะได้อ่าน Lincoln in the Bardo หรอกนะครับ ไม่สิ พูดให้ถูกคืออ่านไปแล้วนิดหน่อยแต่ไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ยังปะติดปะต่อเรื่องราวได้ไม่แม่นนัก เลยตัดสินใจวางพักไว้ก่อน เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังครับว่าทำไม แต่กับเรื่องสั้นชิ้นก่อนๆ ของ Saunders ผมพอจะคุ้นเคยอยู่บ้าง และบางเล่มที่เคยได้อ่านก็ยังฝังความประทับใจไม่เคยจางเลยล่ะครับ
ผ่านหน้ากระดาษแค่สั้นๆ หากเขาสามารถอัดความซับซ้อนของตัวละคร ให้ผสานพอดีกับพล็อตเรื่องที่ขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว และเต็มไปด้วยรายละเอียดสุดแพรวพราว
อย่างที่เกริ่นไป George Saunders เป็นนักเขียนชาวอเมริกันที่เชี่ยวชาญในการเขียนเรื่องสั้น แต่นอกไปจากนี้เขายังเก่งกาจในการเขียนคอลัมน์และบทความมากทีเดียวครับ ผลงานของเขาปรากฏอยู่บนนิตยสารอย่าง The New Yorker และ GQ เป็นพักๆ ทั้ง Saunders ยังเคยมีคอลัมน์รายสัปดาห์ที่เขียนให้กับ The Guardian ในชื่อ American Psyche ซึ่งเขาก็ใช้พื้นที่นี้วิพากษ์วิจารณ์อเมริกาไว้อย่างดุเด็ดเผ็ดด้วยสำบัดสำนวนที่อ่านได้มันดีทีเดียว
ผลงานที่ผ่านๆ มาของ Saunders ก่อนหน้า Lincoln in the Bardo ล้วนแต่เป็นรวมเรื่องสั้น เล่มที่ได้รับคำชื่นชมมากๆ คือ CivilWarLand in Bad Decline (1998) หนังสือเล่มบาง ประกอบด้วยเรื่องสั้นเจ็ดเรื่อง และส่งให้ชื่อ Saunders เป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมเรื่องสั้นชิ้นนี้ (และอาจพูดได้ว่าเป็นธีมหลักในงานเขียนส่วนใหญ่ของ Saunders) คือการเสียดเย้ยอเมริกานั่นล่ะครับ เพียงแต่เป็นการเสียดเย้ยอย่างเหนือชั้นผ่านมุกตลกที่บ้างก็หัวเราะลั่น แต่บ่อยครั้งก็ได้แต่ขำขื่นๆ อย่างสิ้นหวัง พลางบ่นพร่ำว่าชีวิตเราก็เท่านี้ (หดหู่ขึ้นมาเลย) CivilWarLand in Bad Decline เป็นการจำลองภาพอเมริกาในอนาคตที่ผสมกลิ่นอายแบบ wasteland และ dystopian หน่อยๆ แต่ก็ยังฝังอยู่ด้วยชีวิตชีวาที่ไม่ชวนให้รู้สึกว่าแห้งแล้งจนเกินไป แต่พ้นไปจากความเก่งกาจในการสอดแทรกมุกตลกแล้ว
การอ่านเรื่องสั้นของ Saunders ยังให้ความรู้สึกว่ากำลังอ่านนิยายขนาดยาวนี่สิ ผมก็ไม่รู้จะอธิบายยังไงให้เกิดภาพชัด แต่ผ่านหน้ากระดาษแค่สั้นๆ หากเขาสามารถอัดความซับซ้อนของตัวละคร ให้ผสานพอดีกับพล็อตเรื่องที่ขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว และเต็มไปด้วยรายละเอียดสุดแพรวพราว ถ้าจะให้เปรียบก็คงคล้ายๆ กับงานเขียนของ Alice Munroe นักเขียนเรื่องสั้นชาวแคนาดานั่นละมั้งครับ ที่ผลงานของเธอเองก็อัดแน่นด้วยความซับซ้อนจนยากจะเชื่อว่าเรื่องราวที่เราเพิ่งได้อ่านจะเล่าผ่านหน้ากระดาษเพียงไม่กี่สิบหน้าเท่านั้น
มาว่ากันที่ Lincoln in the Bardo พระเอกของเรากันบ้าง งานเขียนชิ้นนี้บอกเล่าเหตุการณ์ในค่ำคืนหนึ่งของปี ค.ศ. 1862 เมื่ออับราฮัม ลินคอล์น ต้องฝังร่างวิลลีลูกชายวัย 11 ขวบของเขา ณ สุสานวอชิงตัน แต่แทนที่ตัวนิยายจะจับจ้องแค่ตัวลินคอล์น หรือเหล่าผู้มีชีวิตเพียงอย่างเดียว Saunders กลับพาเราไปติดตามวิญญาณของวิลลีที่ติดอยู่ใน bardo พื้นที่กึ่งกลางระหว่างชีวิตและการเกิดใหม่ตามคติความเชื่อของชาวทิเบต
ใช่ครับ นิยายเรื่องนี้คือส่วนผสมระหว่างประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง นั่นคือความตายและความโศกเศร้าที่ลินคอล์นมีต่อบุตรชายของเขา แต่งเติมด้วยจินตนาการของ Saunders เองซึ่งสร้างพื้นที่ในโลกหลังความตายขึ้นเพื่อสำรวจจิตใจของเด็กชายผู้ไม่เชื่อว่าตัวเองได้ตายไปแล้ว และยังคงรอคอยอย่างมุ่งหวังว่าพ่อจะกลับมารับเขากลับบ้านในสักวัน
พ้นไปจากเรื่องราวที่น่าสนใจแล้ว เอกลักษณ์สำคัญของงานเขียนชิ้นนี้เห็นจะอยู่ที่สไตล์ซึ่ง Saunders เลือกใช้ นั่นเพราะตัวเนื้อเรื่องไม่ได้ประกอบสร้างขึ้นจากวิธีการเล่าที่เราคุ้นเคยกัน แต่ถ่ายทอดผ่านคำพูด คำบอกเล่า เสียงกระซิบกระซาบ หรือการถกเถียงของตัวละครต่างๆ ในเรื่อง โดยแทบจะไม่ใช้การบรรยายคอยเชื่อมเรื่องราวเลย อีกทั้งในบางครั้ง Saunders ยังหยิบฉวยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ทั้งเนื้อความจากบันทึก จดหมายเหตุ หรืออัตชีวประวัติของบุคคลจริงมาสอดแทรกอยู่เรื่อยๆ อีกด้วยครับ
เท่าที่ผมได้อ่านไป Lincoln in the Bardo เป็นหนังสือที่ให้รสชาติแปลกอยู่สักหน่อย ยอมรับกันตรงๆ ว่าผมเองก็ยังจูนกับหนังสือไม่ค่อยจะติดสักเท่าไหร่ เพราะไม่เพียงจะเรียกร้องสมาธิค่อนข้างจะสูงเท่านั้น แต่ด้วยท่าทีการเล่าเรื่องก็ท้าทายผู้อ่านไม่น้อยทีเดียว