1.
ช่วงการชุมนุมทางการเมืองไทยที่ผ่านมา สิ่งที่ผู้ชุมนุมฝ่ายขวาพูดย้ำอยู่เสมอก็คือ การชุมนุมของคนรุ่นใหม่มีผู้อยู่เบื้องหลัง นอกจากตัวละครที่เป็นบุคคลในแวดวงการเมืองไทยแล้ว บุคคลผู้หนึ่งที่ถูกกล่าวถึงบ่อยมาก คือชายชราวัย 90 ปีที่ชื่อว่า จอร์จ โซรอส (George Soros) เจ้าของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ร่ำรวย โดยจอร์จถูกฉายภาพว่าให้เงินทุนอุดหนุนการชุมนุม โดยมีการจับแพะชนแกะว่า จอร์จเป็นยิว แทรกแซงประเทศไทยในนามอเมริกาเพื่อบ่อนทำลายประเทศ
คำกล่าวหาจอร์จ โซรอสนั้น เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ค.ศ.1997 มาแล้ว โดยชื่อของเขาโด่งดังในวีรกรรม (ที่ถูกกล่าวหา) ว่าแทรกแซงค่าเงินบาทจนต้องลอยตัวค่าเงินและส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเกิดความย่อยยับ ซึ่งชื่อเสียของจอร์จนั้นไม่ได้โด่งดังในฐานะผู้บ่อนทำลายชาติไทยเพียงคนเดียว แต่เขายังถูกกล่าวหาไปทั่วโลกว่าอยู่เบื้องหลังการล้มล้างรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นในฮังการี (บ้านเกิดจอร์จเอง) รัสเซีย อเมริกา (ที่พำนักปัจจุบันของจอร์จ) จีน และแม้กระทั่งในอิสราเอล (ทั้งที่เขาเป็นยิว)
ความวายป่วงและความชั่วร้ายของจอร์จนี้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยน้อยคนนักจะรู้จักชีวิตเบื้องหลังผู้ชายคนนี้ ดังนั้นบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักชายชราที่อยู่เบื้องหลังการบ่อนทำลายชาติไปเสียทุกเรื่องกัน
2.
จอร์จ โซรอสเกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1930 ที่ประเทศฮังการี ในครอบครัวชาวยิว พ่อของเขาเป็นทนายความ แม่มาจากครอบครัวขายผ้าไหม ตอนเกิดนั้นเขามีชื่อว่า ชวาร์ซ ยัวกี้ (Schwatz Gyorgy) แต่พออายุได้ 6 ขวบ พ่อได้ตัดสินเปลี่ยนนามสกุลมาเป็นโซรอสที่แปลว่าผู้สืบทอด และเปลี่ยนชื่อให้ดูไม่เป็นยิวมากนัก เนื่องจากในช่วงนั้นกระแสเกลียดชังชาวยิวพุ่งสูงมากในสังคมฮังการี
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพเยอรมันนาซีบุกยึดฮังการี พ่อของจอร์จรู้เลยว่า อันตรายมาถึงคนยิวอย่างแน่นอน เขาจึงทำการติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อปลอมแปลงเอกสารและประวัติครอบครัวว่าโซรอสไม่ใช่คนยิว แต่เป็นครอบครัวคริสเตียนข้ารัฐการของฮังการี ทำให้ครอบครัวของโซรอสรอดจากการถูกสังหารหมู่คนยิว ซึ่งในฮังการี มีคนยิวถูกสังหารไปกว่า 5 แสนคน ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวพ่อของจอร์จเองได้ช่วยชีวิตคนยิวจำนวนหนึ่งให้รอดจากการถูกส่งไปค่ายกักกันอีกด้วย
จอร์จ โซรอสให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ในอดีตว่า “แทนที่จะยอมรับในชะตากรรม พวกเราได้ขัดขืนต่ออำนาจของปีศาจซึ่งแกร่งกล้ากว่าเรามาก แต่ถึงที่สุดพวกเราก็ชนะ และไม่ใช่แค่พวกเราที่รอด แต่พวกเรายังได้ช่วยเหลือคนอื่นๆ ด้วย”
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง จอร์จ โซรอสได้เดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษในช่วงที่ฮังการีถูกครอบงำโดยสหภาพโซเวียตภายใต้ระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ ซึ่งจอร์จไม่ชอบระบอบนี้และไม่ชอบสหภาพโซเวียตเป็นอย่างมาก
จอร์จเรียนจบด้านปรัชญาแล้วไปต่อด้านเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย LSE โดยทำงานหารายได้เป็นคนยกกระเป๋าบนรถไฟ ตอนกลางคืนก็ไปเป็นเด็กเสิร์ฟในบาร์ ฟันฝ่ากัดฟันเรียนจบ ที่นี่จอร์จได้รับแรงบันดาลใจจากนักปรัชญาชาวออสเตรีย อย่างคาร์ล ป็อปเปอร์ (Karl Popper) ซึ่งได้สอนเขาเรื่องสังคมที่ปิดกับสังคมที่เปิด โดยคาร์ลย้ำกับจอร์จว่า ภายใต้สังคมที่เปิด ผู้คนจะถกเถียงกันด้วยเหตุผล แต่สังคมที่ปิดผู้คนจะสยบยอมต่ออำนาจทั้งศาสนา การเมืองและเศรษฐกิจ
นักปรัชญาที่ลุ่มลึกได้จุดแรงบันดาลใจในตัวเด็กหนุ่มคนหนึ่ง
ซึ่งจะส่งผลต่อเส้นทางชีวิตของเขาในอนาคต
ภายหลังเรียนจบจอร์จเริ่มต้นทำงานในสายธนาคาร โยกย้ายตัวเองไปอเมริกา จนสะสมเงินทุนได้มากพอจะก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์เพื่อแสวงหากำไรในการลงทุน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของอภิมหาเศรษฐีที่ชื่อว่า จอร์จ โซรอสในเวลาต่อมานั่นเอง
ความหลังในวัยเด็กของจอร์จนี้ ถูกฝ่ายขวาจัดเอามาใช้บอกเล่าแต่งเติมประวัติของเสียใหม่ โดยอ้างว่าแท้จริงแล้วจอร์จ โซรอสเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนยิวในฮังการี และมีส่วนร่วมในการยึดทรัพย์สินคนยิวด้วย เพราะประวัติที่ครอบครัวปลอมแปลงว่าเป็นข้ารัฐการ ทำให้ไปเกี่ยวข้องกับการจัดการคนยิว ซึ่งไม่มีหลักฐานใด ๆ เลยมาสนับสนุน
เท่านั้นไม่พอจอร์จ โซรอสเองยังโดนกล่าวหาแบบไม่มีมูลเพียงนิดว่า แท้จริงแล้วเขาไม่ใช่ยิว แต่เป็นนาซีเยอรมันที่รอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการเอาประวัติจอร์จ โซรอสซึ่งเสียชีวิตไปนานแล้วมาสวมใส่แอบอ้างก่อนมาเรียนหนังสือในอังกฤษ
การโดนกล่าวหาในเรื่องนี้ทำให้จอร์จ โซรอสต้องออกมาปฏิเสธอยู่ร่ำไป เท่านั้นไม่พอในอิสราเอลเองก็ไม่ค่อยชอบจอร์จ โซรอสเท่าไหร่นัก เพราะแม้จะเป็นยิว แต่ตัวจอร์จเองไม่เคยสนับสนุนอิสราเอลแม้เพียงนิด จอร์จเคยให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเขานั้นไม่คิดว่าการเป็นยิวจะต้องซื่อสัตย์ต่อเผ่าพันธุ์ตัวเอง หรือจะต้องสนับสนุนอิสราเอล เพราะเขามองตัวเองว่าเป็นชนกลุ่มน้อย เป็นคนนอก ซึ่งสามารถเห็นมุมมองที่แตกต่างได้ดีกว่า
ดังนั้นการบริจาคเงินของเขาจึงไม่จำเป็นต้องทุ่มเทให้อิสราเอลโดยเฉพาะ แต่กลับมุ่งเน้นสนับสนุนสิทธิมนุษยชน โดยตัวจอร์จเองเคยวิจารณ์รัฐบาลอิสราเอลกับการปฏิบัติต่อคนปาเลสไตน์ที่รุนแรงไร้มนุษยธรรมอยู่หลายครั้งมาก
ดังนั้นเขาจึงเป็นยิวที่รัฐบาลอิสราเอลไม่เคยชอบหน้าเลย
3.
ธุรกิจการเงินของจอร์จนั้นไม่ได้รวยพุ่งขึ้นมาทันที แต่กองทุนแสวงกำไรของเขาค่อยๆ เริ่มต้นไปอย่างช้าๆ มีขาดทุนบ้างกำไรบ้างไม่ต่างจากคนอื่นๆ ในโลกแห่งการเงิน แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้จอร์จ โซรอสอย่างโด่งดังคือ การแสวงหากำไรในตลาดซื้อขายเงินปอนด์ของสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ.1992 ซึ่งจอร์จเข้าไปเก็งกำไรในตลาดแลกเปลี่ยนการเงินในยุโรปหลังพบว่า ค่าเงินปอนด์นั้นไปอิงอยู่กับค่าเงินมาร์กของเยอรมันแล้วค่าเงินปอนด์นั้นสูงกว่าพื้นฐานความเป็นจริง นั่นทำให้จอร์จทำการซื้อสะสมเงินปอนด์ระยะสั้น หรือทำการช็อร์ตติ้ง จนทำให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรต้องทุ่มกำลังปกป้องไม่ให้ค่าเงินต่ำลงทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยลงขึ้นเรื่อยๆ
สุดท้ายรัฐบาลต้องประกาศถอนตัวออกจากตลาดแลกเปลี่ยนดังกล่าว จนคนเรียกเหตุการณ์นี้ว่า วันพุธทมิฬกันเลยทีเดียว
การกระทำของจอร์จ โซรอสนี้สร้างกำไรให้ตัวเขาเป็นเงินถึง 1 พันล้านยูเอสดอลลาร์ ต่อมาเขารับว่าจริงๆ แล้วได้กำไรไปถึง 1 หมื่นล้านยูเอสดอลลาร์ต่างหาก จนได้รับสมญานามว่า ชายผู้ทำลายธนาคารของอังกฤษ
ในเวลาต่อมามีคนออกมาให้ความเป็นธรรมต่อสิ่งที่จอร์จทำในเหตุการณ์นี้ว่า ไม่ได้ทำให้ธนาคารหลายแห่งเจ๊ง แต่มันยังช่วยปรับระบบเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรด้วยซ้ำไป ซึ่งจอร์จก็ไม่ได้แสวงหากำไรจากเรื่องนี้เพียงคนเดียว แต่ยังมีเพื่อนร่วมอาชีพคนอื่นด้วย ดังนั้นการที่สื่อมวลชนด่าจอร์จเพียงคนเดียว จึงไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่นัก
ความโด่งดังในเวลาต่อมาของจอร์จ โซรอสก็คือ การที่เขาโดนกล่าวหาว่าไปทำลายระบบเงินตราแลกเปลี่ยนในประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ.1997 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 นั่นเอง ผู้กล่าวหาในครั้งนี้คือ มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย แต่ข้อเท็จจริงก็คือ จอร์จ โซรอสไม่ได้กำไรมหาศาลจากวิกฤตต้มยำกุ้งเหมือนตอนวันพุธทมิฬ แม้ว่าเขาจะสร้างรายได้จากการคุ้มครองค่าเงินบาทของรัฐบาลไทยในเวลานั้น แต่คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ กับเป็นบริษัทกองทุนยักษ์ใหญ่ของโลกมากกว่า
ข้อกล่าวหานี้ทำให้จอร์จ โซรอสต้องเดินทางไปพบมหาเธร์ที่มาเลเซียพร้อมหลักฐานชี้แจงว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังอย่างแน่นอน จน มหาเธร์ต้องยอมรับความจริงในเรื่องนี้ว่า จอร์จไม่ใช่ชายผู้อยู่เบื้องหลังหายนะนี้
แต่ใครๆ (โดยเฉพาะในสังคมไทย) ก็ยังปักใจเชื่อว่า
เขานี่แหละคือวายร้ายผู้อยู่เบื้องหลัง
หายนะทางเศรษฐกิจของจริง
4.
จอร์จ โซรอสก่อตั้งมูลนิธิ Open Society ในปี ค.ศ.1979 ตามคำสอนคาร์ล ป็อปเปอร์ที่ย้ำเตือนโซรอสว่า ไม่มีปรัชญาหรืออุดมการณ์ใดจะเป็นความจริงแท้แน่นอนไม่ สังคมที่จะรุ่มรวยนั้น จะต้องมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีเสรีภาพในการแสดงออก และเคารพสิทธิส่วนบุคคล สิ่งเหล่านี้คือแกนหลักของมูลนิธิที่จอร์จก่อตั้งมา
โดยวัตถุประสงค์ในตอนแรกคือ เพื่อสนับสนุนการศึกษาคนดำในประเทศแอฟริกาใต้ในยุคที่มีการแบ่งแยกสีผิว รวมถึงให้ทุนการศึกษาแก่ประชาชนในยุโรปตะวันออกที่ต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ให้ได้เดินทางไปเรียนในยุโรปตะวันตกเพื่อเปิดกะลาตัวเองด้วย โดยในหมู่นักศึกษาที่ได้รับทุนนั้นมีจำนวนหลายคน หนึ่งในนั้นมีนายวิกโตร์ โอร์บาน(Viktor Orbán) ซึ่งต่อมาจะลงสนามการเมืองได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของฮังการีที่นำประเทศเอียงขวาอิงแอบกับรัสเซีย
ทางวิกโตร์ได้สำนึกบุญคุณกองทุนของโซรอสโดยการกล่าวหาจอร์จว่า ต้องการทำลายชาติฮังการี โดยการสนับสนุนผู้อพยพให้เข้ามากลืนชาติ ซึ่งไม่มีหลักฐานมายืนยันความเท็จเหล่านี้ทั้งสิ้น แต่ก็ดันมีคนเชื่อเป็นจำนวนมาก นั่นก็เพราะสื่อมวลชนฮังการถูกควบคุมโดยรัฐบาลให้นำเสนอข่าวนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ประเทศที่ปกครองอำนาจนิยมหลายแห่งมีจุดร่วมเหมือนกันคือชอบโจมตีจอร์จว่า ต้องการบ่อนทำลายชาติ เป็นท่อน้ำเลี้ยงจ่ายเงินให้กับผู้ต่อต้านรัฐบาลผ่านกองทุนแห่งนี้อยู่เป็นประจำ หลายประเทศได้แบนห้ามมูลนิธิ หน่วยงานเอกชนรับเงินจากกองทุนแห่งนี้โดยเด็ดขาด
สำหรับกองทุนดังกล่าวนอกจากสนับสนุนคุณค่าสิทธิมนุษยชน เสรีนิยมและคุณค่าในระบอบประชาธิปไตยแล้ว มันยังชี้ให้เห็นว่าสงครามยาเสพติดนั้นสร้างความรุนแรงให้กับปัญหายาเสพติดมากกว่าเดิมอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่จอร์จเรียกร้องให้หลายประเทศยกเลิกการปราบปรามยาเสพติดแบบรุนแรง เพราะไม่สามารถลดปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดได้แต่อย่างใด โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีคนไม่ชอบเขาเยอะมาก บางส่วนเกลียดเพราะเขาเป็นยิว และกล่าวหาว่าเขาอยู่เบื้องหลังการชุมนุมประท้วงหลายครั้งด้วย
ในช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เป็นประธานาธิบดี เคยมีการกล่าวหาจอร์จว่า สนับสนุนการประท้วงเพื่อสั่นคลอนรัฐบาลกลาง แน่นอนว่าเงินจากกองทุนแห่งนี้ถูกส่งให้กับมูลนิธิคนดำ คนด้อยโอกาสหลายแห่ง ซึ่งได้ลงถนนประท้วงเหตุการณ์เข่นฆ่าคนดำโดยตำรวจ แต่เงินเหล่านี้ไม่ได้ถูกจ่ายจ้างผู้ประท้วงให้ออกมาชุมนุมแต่อย่างใด แต่ก็ยังมีข่าวปลอมออกมาพูดว่า จอร์จจัดหารถอยู่เบื้องหลังการประท้วงอย่างสม่ำเสมอหรือแม้กระทั่งไปจัดฉากการฆ่าจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) คนดำที่โดนตำรวจเอาเข่ากดคอจนเสียชีวิตบนถนนก็กลายเป็นข่าวกล่าวหาโซรอสมาแล้ว
จอร์จ โซรอสจึงเป็นบุคคลโด่งดังที่อยู่ในทฤษฎีสมคบคิดคนหนึ่งของโลก โดยเฉพาะในโลกอินเทอร์เน็ตที่ข่าวปลอมกระจายได้ดีกว่าข่าวจริง ทำให้ในเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2018 มีคนร้ายเป็นฝ่ายขวาคลั่งส่งระเบิดท่อใส่ในพัสดุส่งไปบ้านเขามาแล้ว ดีที่จอร์จไม่ได้อยู่บ้านในวันนั้นจึงรอดชีวิตมาได้ เพราะหากระเบิดดังกล่าวทำงานมันมีความรุนแรงพอจะสังหารชีวิตคนได้ นี่คือสิ่งที่เห็นได้ชัดว่า คำโกหกที่ถูกปั้นแต่งแก่บุคคลอื่นอย่างต่อเนื่อง มันส่งผลให้เกิดอันตรายขึ้นมาได้
ยิ่งถ้าคำโกหกเหล่านั้นถูกพูดถึงบ่อยๆ จากนักการเมืองขวาคลั่งและสื่อมวลชนที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม ผลเสียจึงไม่ได้ตกอยู่กับประชาชนเท่านั้น คนที่โดนกล่าวหายังมีโอกาสจะเสียชีวิตเพราะเรื่องเลวร้ายแบบนี้ด้วย
5.
แม้จอร์จจะเป็นยิว แต่เขาถือตัวเองว่าเป็นประชากรของโลก แม้เขาจะเป็นนักธุรกิจการเงินที่อยู่เบื้องหลังหายนะทางเศรษฐกิจในบางประเทศ แต่เขาก็จัดตั้งกองทุนเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าตามความเชื่อของเขา หากมองเขาเป็นปีศาจเราจะมองไม่เห็นแง่มุมอื่นในชีวิตเขา แต่หากมองเขาเป็นคน เราจะเห็นเรื่องราวในชีวิตครบถ้วนกว่าเดิม
ที่ผ่านมาแม้มีคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของจอร์จ แต่แทบจะน้อยมากที่มีคนเถียงเขาด้วยเหตุด้วยผล ส่วนใหญ่กลับเป็นการกล่าวหาเรื่องข่าวปลอมไร้หลักฐานหรือเหตุผลใดๆ มาสาดโคลนโจมตีเขาเสียมากกว่า จนแทบละเลยบทบาทของคนที่ลงถนนว่าพวกเขามีความอัดอั้นอันใดถึงก่อการประท้วงเหล่านี้
จอร์จ โซรอสจึงอาจเป็นแพะที่รัฐบาลอำนาจนิยมหลายประเทศต้องการปกปิดลดทอนความไม่พอใจต่อคนในสังคมเพื่อละเลยปัญหาที่หมักหมมควรแก้ไข ซึ่งการกล่าวโทษใครคนหนึ่งนั้นแสนง่ายดาย เพียงเพื่อจะกลบเกลื่อนความจริงตรงหน้า
ดังนั้นเราจึงเห็นความลวงที่ไร้เหตุผลถูกปั้นแต่งขึ้นมาเพื่อสร้างคำโกหกอันยืนยงที่จะทำให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายจะได้รักษาความอยู่รอดของตัวเองโดยไม่สนใจความถูกต้องแต่อย่างใดไม่