ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ ‘ไม่พอใจ’ ในทางการเมืองเรื่องนั้นเรื่องนี้ (ล่าสุดคือเพลง ‘ประเทศกูมี’) เราจะได้ยินคำพูดประโยคหนึ่งเกือบตลอดเวลา
ประโยคที่ว่าก็คือ – ถ้าไม่พอใจก็ออกไปจากประเทศนี้ไปซะ พูดง่ายๆ ก็คือการ ‘ไล่’ คนออกนอกประเทศนั่นแหละครับ
คำถามก็คือ – คนธรรมดาๆ ทั่วไป ชิงชังเกลียดขี้หน้ากัน หรือเห็นต่างกันในเรื่องทางการเมือง เรามี ‘สิทธิ’ และมี ‘อำนาจ’ ในอันที่จะ ‘ไล่’ คนอื่นออกไปจากประเทศนี้ได้ไหม
แล้วคนอีกกลุ่มหนึ่งล่ะ ถ้าเขายืนยันว่าเขาก็เป็นคนไทย มีสัญชาติไทย เขายืนยันจะอยู่ที่นี่ แล้วหันมา ‘ไล่กลับ’ ตะเพิดคุณเหมือนหมูเหมือนหมา (แบบเดียวกับที่คุณทำกับเขา) ว่าเป็น ‘มึง’ นั่นแหละ ที่ต้องออกไปจากประเทศ ‘กู’ คนเหล่านี้มี ‘สิทธิ’ และมี ‘อำนาจ’ ในอันที่จะ ‘ไล่’ คนที่คิดเห็นต่างออกไปจากประเทศนี้ได้ไหม
หรือว่าการไล่คนออกนอกประเทศ เป็นได้อย่างมากก็แค่ ‘ความพล่อย’ ของปาก – เท่านั้น
อันที่จริง ถ้าย้อนกลับมาดูกฎหมาย เราจะพบว่าความเป็น ‘คนไทย’ (หรือความเป็นคนชาติไหนๆ ก็ตาม) เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยสิ่งที่เรียกว่า ‘สัญชาติ’ หรือ Nationality โดยประเทศไทยเราก็มี ‘พระราชบัญญัติสัญชาติ’ กันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 โน่นแล้ว ทว่ามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้มาตลอด จนได้เป็นพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงล่าสุดคือพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับแก้ไข พ.ศ. 2551
คำถามที่นักไล่คนออกนอกประเทศควรต้องเอามืออุดปากตัวเองเอาไว้สักพัก สูดลมหายใจยาวๆ แล้วตั้งสติเสียก่อน ก็คือต้องถามให้ได้ก่อนว่า – อะไรคือ ‘สัญชาติ’ กันแน่
โดยนิยามสากล คำว่าสัญชาติหรือ Nationality ไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจากข้อตกลงร่วมกันตามกฎหมาย ในอันที่จะพูดถึง ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างตัวคนหนึ่งคน (individual) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต – กับสิ่งไร้ชีวิตที่เรียกว่ารัฐ (state)
การมีสัญชาติ แปลว่าคนคนนั้นยอมสมาทานตัวเองเข้ากับระบบกฎหมายของรัฐ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปกป้องคุ้มครองที่รัฐมีให้กับคนคนนั้น ฟังเผินๆ เหมือนจะเข้าแก๊งอะไรสักแก๊ง ก็ต้องยอมทำตามกฎระเบียบของแก๊ง แก๊งจะได้คุ้มครองคุณ
ฟังแบบนี้แล้ว หลายคนอาจรีบเอามือที่อุดปากออก แล้วบอกว่า นี่ไง – ถ้าเป็นแบบนี้ ฉันไม่พอใจแก ฉันก็จะไล่แกออกจากแก๊งไง แล้วมันผิดตรงไหน
เดี๋ยวครับ เอามือกลับไปวางอุดปากไว้อีกนิด เพราะเอาเข้าจริง รัฐหรือประเทศชาติไม่ใช่แก๊งนะครับ เพราะฉะนั้นมันจึงมีกฎระเบียบต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีกเพียบ ถ้าเป็นแค่การตั้งแก๊ง แล้วคุณเกิดเป็นพวกมาเฟียอำนาจนิยม อยากจะไล่ใครออกจากแก๊งคุณ หรืออันเฟรนด์ไสหัวออกจากเฟรนด์ลิสต์ในเฟซบุ๊ก ก็คงไม่มีใครว่าอะไร จะทำแบบนั้นก็ได้
แต่อย่าเอาสำนึกของการ gang up มาใช้กับความเป็นชาติ!
สัญชาติเป็นเรื่องที่มีกฎหมายและหลักการระหว่างประเทศหลายเรื่องมากำหนด โดยหลักการใหญ่และสำคัญ มีอยู่สองหลัก
หลักการแรกก็คือ Jus Sanguinis ซึ่งเป็นศัพท์ละติน แปลว่า right of blood พูดง่ายๆ ก็คือ มีสิทธิโดย ‘สายเลือด’ นั่นแหละครับ นี่เป็นหลักการของกฎหมายกำหนดความเป็นพลเมืองที่มาจากสายเลือดของพ่อแม่ โดยทั่วไปก็คือ ถ้าพ่อ ‘และ/หรือ’ แม่เป็นพลเมืองของรัฐนั้นๆ เด็กที่เกิดมาก็จะได้รับสัญชาติหรือความเป็นพลเมืองของรัฐนั้นๆ โดยอัตโนมัติ
หลักการนี้ปรากฏชัดเจนในพระราชบัญญัติสัญชาติ ข้อแรกเลยนะครับ นั่นคือ ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
ส่วนหลักการข้อที่สอง คือ Jus Soli ซึ่งก็เป็นศัพท์ละตินอีกเหมือนกัน แปลว่า right of the soil หรือการมีสิทธิใน ‘ผืนดิน’ ที่เกิด ซึ่งกฎหมายไทยก็ยึดหลักนี้ด้วย โดยปรากฏอยู่ในข้อที่สอง คือ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย
อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ต้องมีข้อยกเว้นของมัน เพราะหลักการสองข้อนี้ มันก็มี ‘พรมแดน’ ของการแบ่งอยู่อีกนั่นแหละครับ เช่นว่าต่อให้เกิดในประเทศไทย แต่ถ้าพ่อและแม่เป็นต่างด้าวแบบต่างๆ ตั้งแต่เข้ามาทำงานใช้แรงงานจนกระทั่งมาเป็นทูต หรือแม้แต่ได้รับการผ่อนผันให้เข้ามาอยู่เป็นกรณีเฉพาะรายอะไรทำนองนี้ ลูกที่เกิดก็ไม่ได้สัญชาติไทยนะครับ นอกจากนี้ ในบางช่วงของประวัติศาสตร์ ถ้าพ่อหรือแม่ไม่ได้เป็นคนไทย ลูกที่เกิดมาก็อาจไม่ได้สัญชาติไทยก็มีเหมือนกัน
แต่โดยสรุปก็คือ ในตอนนี้ ถ้าเป็นคนทั่วไปที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทย มีพ่อ ‘และ/หรือ’ แม่เป็นคนไทยโดยสัญชาติ ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นคนไทยที่มีสัญชาติไทยนั่นแหละครับ
นักไล่คนออกนอกประเทศบางคนอาจจะถามว่า – ถ้าอ้ายอีตนใดทำตัวเสื่อมเสีย เราจะเพิกถอนสัญชาติของมันทิ้งเสียได้ไหม
คำตอบอยู่ในพระราชบัญญัติสัญชาติ มาตรา 17 นะครับ มาตรานี้บอกว่า ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวอาจถูกถอนสัญชาติไทยได้
โดยการถอนสัญชาตินี้มีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ไปอยู่ต่างประเทศนานเกินห้าปี ไปใช้สัญชาติของพ่อหรือแม่สัญชาติอื่น แต่ข้อที่น่าจะเกี่ยวกับการ ‘ไล่’ คนออกนอกประเทศอย่างที่เราเห็นคนฮิตๆ กันนั้น น่าจะอยู่ในเงื่อนไขข้อที่ 3 และ 4 นั่นคือ
(3) กระทำการใดๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือขัดต่อประโยชน์ของรัฐหรือเป็นการเหยียดหยามประเทศชาติ
(4) กระทำการใดๆ อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่ ‘ครอบจักรวาล’ นั่นแหละครับ เพราะแทบจะบอกไม่ได้เลยว่า การกระทบกระเทือนความมั่นคงหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีอะไรทำนองนี้คืออะไร ดังนั้น ถ้าจะถูกถอนสัญชาติในกรณีนี้ จึงต้องให้พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลเป็นผู้สั่ง
เพราะฉะนั้น จะมาไล่กันพล่อยๆ แค่เพราะปากพาไปใจสั่งมา – ไม่ได้นะครับ ศาลต้องสั่ง
แล้วที่สำคัญก็คือ การถูกถอนสัญชาตินั้น ต้องเกิดกับคนที่มีสัญชาติไทยโดยมีบิดา ‘หรือ’ มารดาเป็นคนต่างด้าวเท่านั้นนะครับ ถ้าหากพ่อก็ไทยแม่ก็ไทย ศาลไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนสัญชาติด้วยซ้ำ เพราะถือว่าคือการเป็นพลเมืองตาม ‘สิทธิโดยกำเนิด’ หรือ Birthright Citizenship ซึ่งในบางประเทศ แค่เกิดในประเทศนั้นๆ ก็ได้รับสิทธินี้แล้ว โดยพ่อแม่ไม่ต้องถือสัญชาตินั้นๆ ด้วยซ้ำ เช่นสหรัฐอเมริกา (ที่คนร่ำรวยหลายคน โดยเฉพาะบางคนที่ประกาศกร้าวว่ารักชาตินักหนา – นิยมไปคลอดลูกกันที่นั่นเพื่อให้ลูกได้สัญชาติอเมริกัน เวลาไปไหนมาไหนก็เลือกใช้พาสปอร์ตได้ตามสะดวก ไม่ต้องขอวีซ่าให้ยุ่งยาก – ซึ่งที่จริงไม่ใช่เรื่องถูกต้องสักเท่าไหร่หรอกนะครับ)
อย่างไรก็ตาม พอพูดคำว่า ‘ไล่ออกนอกประเทศ’ อย่างที่เราเห็นคนเขียนอะไรกันมากมายตามโลกออนไลน์ คงปฏิเสธไม่ได้ใช่ไหมครับ ว่าความหมายของมันก็คือการ ‘เนรเทศ’ ออกไปให้พ้นหูพ้นตา
คำถามก็คือ ต่อให้เพิกถอนสัญชาติไม่ได้ แต่เรา ‘เนรเทศ’ คนพวกนี้ออกไปได้ไหม
จะไล่หรือเนรเทศ ก็ต้องไปดูกฎหมายอีกนั่นแหละครับ มีกฎหมายพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499 อยู่ฉบับหนึ่ง กฎหมายนี้บอกไว้ในมาตรา 5 เลยครับ ว่า เมื่อปรากฏว่ามีความจําเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอํานาจออกคําสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรมีกําหนดเวลาตามท่ีจะเห็นสมควร อน่ึง เมื่อพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป รัฐมนตรีจะเพิกถอนคําส่ัง เนรเทศเสียก็ได้
นั่นแปลว่าเนรเทศได้นะครับ แถมถ้าเนรเทศแล้วสำนึกตัว กลับตัวกลับใจเสียใหม่ ค่อยต้อนรับกลับมาใหม่ก็ยังได้
นั่นปะไร – หลายคนที่อยากไล่หรือเนรเทศคนอื่นออกนอกประเทศอาจจะรีบเอามือออกจากปาก แล้วตวัดเสียงว่า – กฎหมายบอกว่าทำได้ เพราะฉะนั้นฉันจึงไล่แกออกไปได้
แต่อย่าเพิ่งครับ – กลับไปอ่านให้ดีก่อน เพราะกฎหมายเขียนว่า ออกคำนั่งให้เนรเทศ ‘คนต่างด้าว’ ออกไปนอกราชอาณาจักร นะครับ ไม่ใช่ไล่คนไทยหรือคนที่มีสัญชาติไทย
กฎหมายมาตรานี้ยังเน้นย้ำในบรรทัดถัดมาด้วยว่า ความในวรรคแรกมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่เคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
ในบทความของคุณธัญกมล ลิมาคุณาวุฒิ ซึ่งเป็นนิติกรจากศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็เน้นย้ำไว้ด้วยเหมือนกันนะครับว่า ให้ผู้ที่เคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิดเป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ถูกเนรเทศออกไปนอกราชอาณาจักร เพราะฉะนั้น จะไปออกปากไล่หรือเนรเทศคนกันพล่อยๆ ว่า – ออกไปจากดินแดนบ้านเกิดของฉัน ณ บัดเดี๋ยวนี้นะ, อะไรทำนองนี้ เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ตามกฎหมายนะครับ
ด้วยเหตุนี้ ถ้าเห็นใครทำอะไรขัดหูขัดตา แต่งเพลงที่ตัวเองไม่ชอบใจ หรือมีความคิดเห็นที่ไม่ต้องตรงกับของตัวเองจนอยากไล่ออกนอกประเทศไปให้พ้นหูพ้นตาละก็ ก่อนออกปากหลุดหล่นคำว่าไล่ออกมา อยากให้ลองตั้งสติ เอามืออุดปากตัวเองสักพัก แล้วนึกถึงข้อกฎหมายและความเป็นไปได้ต่างๆ นานาอย่างที่ว่าเสียก่อน
เอาเข้าจริง กฎหมายว่าด้วยสัญชาติและการเนรเทศนั้น ไม่ได้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องเฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว แต่เกี่ยวพันกับประเทศอื่นด้วย เพราะไล่คนออกไป ต่อให้ไล่ได้ ก็แล้วแล้วเขาจะไปอยู่ที่ไหนเล่า ก็ต้องไปอยู่ที่ไหนสักแห่งไม่ใช่หรือ ดังนั้น หลักกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติและการเนรเทศจึงเป็นกฎหมายที่ต้องยึดหลักสากล
การไล่คนที่ถือสัญชาติเดียวกับตัวเองออกไปนอกประเทศอย่างพล่อยๆ นั้น – พูดได้เลยว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปตามหลักการสากล – และกฎหมายไทยก็บอกด้วยเช่นกันว่าทำไม่ได้
รวบรวมสติไว้เสียก่อนนะครับ เพราะสติจะช่วยให้เกิดปัญญา แล้วความยั้งคิดก็จะตามมาเป็นดอกผล
ไล่แต่ปากเพื่อความสะใจเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่สุดท้ายก็จะสะท้อนให้เห็นว่าเรารู้หรือไม่รู้อะไรในโลกนี้บ้าง