การฆ่าตัวตายของ Chester Bennington นักร้องนำวง Linkin Park ก็เป็นไปเช่นเดียวกับการฆ่าตัวตายของคนดังและไม่ดังตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การตัดสินใจของพวกเขานำไปสู่คำถากถางจากคนบางกลุ่มว่าเป็นการ ‘คิดสั้น’ เอาเข้าจริงนักปรัชญารุ่นพ่อจำนวนมากอย่าง Plato, Aristotle, หรือ John Locke ก็ล้วนประณามการฆ่าตัวตายมาโดยตลอด
แน่นอนว่าสำหรับกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น ข้อความใจเร็วด่วนด่าของดีเจชื่อดังอาจใจดำไปสักหน่อย เนื่องจาก Chester มีอาการซึมเศร้า ซึ่งถือเป็นโรคชนิดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ล่าสุดดีเจคนดังกล่าวได้ออกมาขอโทษเรียบร้อย และเรื่องดราม่าก็คงจะจบลงไปแล้ว
แต่ตอนนี้ผมอยากลองชวนเราคิดไปไกลกว่ากรณีของ Chester โดยตั้งคำถามว่าหากเป็นกรณีทั่วไปล่ะ
ถ้าเราตัดประเด็นเรื่องโรคซึมเศร้าทิ้ง มันผิดจริงๆ หรือที่เราๆ ท่านๆ จะอยากตายขึ้นมาบ้าง?
หลายคนอาจสงสัยว่าถ้าไม่ซึมเศร้าแล้วจะฆ่าตัวตายทำไม จริงๆ แล้วการฆ่าตัวตายมีได้หลายสาเหตุนะครับ เช่น เราอาจจะฆ่าตัวตายเพื่อเสียสละเหมือนพวกสายลับในหนังเวลาถูกจับได้ ฆ่าตัวตายเพื่อชดใช้บางอย่างเหมือนพวกซามูไร ฆ่าตัวตายเพื่อหนีความเจ็บปวดสาหัส ฆ่าตัวตายเพื่อประท้วงรัฐบาล หรืออื่นๆ อีกมากมาย หรือต่อให้ไม่มีเหตุผลอะไรเลย คนที่ฆ่าตัวตายเพราะอยู่ๆ รู้สึกขี้เกียจมีชีวิตขึ้นมาก็เคยมีมาแล้ว (ข้อหลังนี้เราๆ ท่านๆ ก็คงเคยแวบๆ กันขึ้นมาบ้าง)
แล้วเราควรจะมีท่าทีอย่างไรต่อการฆ่าตัวตายล่ะ? ในแง่หนึ่ง ผมก็รู้สึกว่าถ้าวันหนึ่งผมอยากตายขึ้นมา ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ก็คงอยากให้คนอื่นเคารพและให้เกียรติการตัดสินของผม ก็ในเมื่อชีวิตมันเป็นของเราเอง การฆ่าตัวตายก็ควรจะเป็นสิทธิของเราไม่มากก็น้อย
แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็รู้สึกว่าในหลายกรณี เช่นถ้าผมเห็นวัยรุ่นอกหักกำลังจะฆ่าตัวตาย หรือเห็นตัวผมเองที่อยู่ๆ ก็อยากตายขึ้นมา ก็คงอดเข้าไปห้ามไม่ได้
เรื่องนี้ก็นำมาสู่คำถามที่ติดใจผมมานานว่า เรามีคำอธิบายที่อนุญาตให้เราเคารพการตัดสินใจฆ่าตัวตายของคน พร้อมทั้งเปิดช่องให้เราช่วยเหลือห้ามปรามในบางกรณีไปพร้อมกันหรือไม่ เรื่องนี้ Michael Cholbi แห่งภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัย California State Polytechnic University ได้ทบทวนข้อถกเถียงเรื่องการฆ่าตัวตายไว้ยาวเหยียด และเปิดบางประเด็นที่อาจจะตอบคำถามในใจของผมได้
การฆ่าบางอย่างก็สมเหตุสมผลหรือจำเป็น เช่น การฆ่าเพื่อป้องกันตัว หรือการการุณยฆาตตามคำร้องขอของคนไข้ซึ่งกำลังจะมีสภาพเป็น ‘ผัก’
ก่อนจะเข้าสู่คำตอบที่ว่า อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจที่ Cholbi ชี้ให้เราเห็น ก็คือข้อครหาต่อการฆ่าตัวตายจำนวนมากที่เราคุ้นเคยนั้น เอาเข้าจริงไม่ได้มีน้ำหนักเหมือนที่หลายคนคิด
ตัวอย่างเช่นคำประณามที่ว่าการฆ่าตัวตายผิดต่อความเป็นมนุษย์ ซึ่งถือเป็นสิ่งมีค่าภายในตัวเรา ที่ทุกคนรวมถึงตัวเราเองต้องเคารพ Cholbi ชี้ว่ามุมมองนี้ไม่น่าจะถูกเท่าไหร่ เนื่องจากมุมมองนี้จะถูกใช้ห้ามปรามการฆ่าในทุกกรณี ทั้งที่การฆ่าบางอย่างก็สมเหตุสมผลหรือจำเป็น เช่น การฆ่าเพื่อป้องกันตัว หรือการการุณยฆาตตามคำร้องขอของคนไข้ซึ่งกำลังจะมีสภาพเป็น ‘ผัก’
อีกตัวอย่างของข้อครหาที่ไม่ถูกต้อง คือการยกเหตุผลว่าการฆ่าตัวตายนั้นเป็นการทำผิดต่อสังคม เพราะเป็นการทำลายความรู้สึกของชุมชนหรือเป็นการทำลายแรงงานทางเศรษฐกิจ เราคงคุ้นเคยกับข้อครหานี้กันดี
แต่ก็อีกนั่นแหละ Cholbi ปฏิเสธข้อครหานี้ด้วยเหตุผลที่ว่ามนุษย์แต่ละคนไม่ได้เป็นสมบัติของรัฐ ชุมชน หรือคนอื่น เราจึงไม่อาจคาดหวังให้เขาต้องทำตัวให้มีประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ เอาเข้าจริง ในชีวิตประจำวันของเราก็ทำอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์เต็มไปหมด
นอกจากนี้ หากยึดเอาประโยชน์ของสังคมเป็นเป้าหมายสูงสุดแบบนี้ เรายังต้องจำใจถลำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า สังคมสามารถฆ่าใครก็ได้ที่ทำตัวไม่มีประโยชน์ เช่นคนที่ไม่ชอบทำงาน ซึ่งแน่นอนว่า คงมีไม่กี่คนที่ยอมรับได้
ในเรื่องความผิดต่อสังคมนี้ บางคนอาจลองอธิบายอีกแบบ ว่าแม้คนจะไม่ใช่สมบัติและต้องทำตัวเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคม พวกเขาก็ควรตระหนักว่ากว่าพวกเขาจะโตขึ้นมาได้จนถึงวันนี้ คนอื่นได้ให้โอกาส ความสุข สิ่งของ หรืออะไรต่างๆ มากมายขนาดไหน เมื่อติดค้างคนอื่นเช่นนี้ พวกเขาก็มีพันธะที่จะต้อง ‘อยู่’ ตอบแทนสังคม ซึ่งการฆ่าตัวตายดูจะเป็นการบิดพลิ้วสัญญาและความยุติธรรมดังกล่าว Cholbi ชี้ว่ามุมมองนี้ก็ยังคงไม่เพียงพออีกเช่นกัน เพราะคนที่กำลังจะฆ่าตัวตายสามารถอ้างกลับได้ว่า ที่เขาอยากตายก็เพราะเขามีชีวิตที่เลวร้าย และเขาไม่ติดค้างสังคมที่ ‘ให้’ ชีวิตแย่ๆ แบบนี้กับเขาเป็นแน่
ท่ามกลางประเด็นถกเถียงอันยาวเหยียด ผมเจอว่า Cholbi ได้กล่าวถึงข้อเสนอหนึ่ง ซึ่งให้คำตอบบางอย่างกับคำถามในใจผมได้ ข้อเสนอดังกล่าวเสนอว่าแท้จริงแล้วการฆ่าตัวตายนั้นอาจเป็นสิทธิในการเลือกกำหนดชีวิตของตน แนวคิดนี้อ้างอิงไปยังหลักพื้นฐานที่แทบทุกคนคงเห็นด้วย ว่ามนุษย์ควรมีสิทธิกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง
Cholbi ชี้ว่ามนุษย์ได้สิทธินี้มา เนื่องจากพวกเขามีความสามารถในการเลือกอย่างมีเหตุมีผล ในอดีตแนวคิดนี้ถูกใช้เพื่อต่อต้านการฆ่าตัวตาย โดยอ้างอิงไปที่ระบบคิดของ Immanuel Kant ซึ่งชี้ว่าการฆ่าตัวตายเป็นการทำตามอารมณ์หรือความปรารถนา ไม่ใช่เหตุผล นอกจากนี้ชีวิตยังเป็นที่สถิตย์ของเหตุผล จึงผิดแปลกที่เหตุผลจะย้อนกลับไปทำลายต้นกำเนิดของตนเอง
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง นักจริยศาสตร์จำนวนหนึ่งตีความต่างออกไป ว่าการฆ่าตัวตายไม่จำเป็นต้องเกิดจากอารมณ์หรือความรู้สึกเสมอไป แต่เกิดจากเหตุผลก็ได้เช่นหลายกรณีที่เราพูดถึงกันไปแล้ว และจริยศาสตร์แบบ Kantian ก็ไม่ได้ปฏิเสธการฆ่าตัวตายเหล่านี้
หากผู้ฆ่าตัวตายได้ใช้เหตุผลคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนฆ่าตัวตายแล้วจริงๆ ก็ไม่อาจนับว่าเป็นการทำตามอำเภอใจ และหากมีเหตุมีผล นี่ก็ถือเป็นสิทธิในการเลือกชะตาชีวิตตัวเองที่คนอื่นต้องเคารพ
เอาเข้าจริงข้อสรุปนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้เราหายงงเท่าไหร่ เพราะมันนำเราไปสู่อีกคำถาม ว่าในหลายกรณี เราไม่รู้จะวัดอย่างไร ว่าคนที่กำลังจะฆ่าตัวตายนั้นมีเหตุผลที่ดีหรือไม่ดี เอาเข้าจริง เรื่องเหตุผลที่ดีหรือไม่ดีนี้ยังยุ่งยากเสียยิ่งกว่าเรื่องการฆ่าตัวตายที่เรากำลังพูดถึงเสียอีก
แต่ที่บอกว่าข้อสรุปนี้มันตอบโจทย์ในใจผมได้ ก็เป็นเพราะเราไม่รู้ว่าเหตุผลไหนดีหรือไม่ดีเนี่ยแหละครับ ในขณะที่ข้อเสนอนี้บอกให้เราเคารพการฆ่าตัวตายในฐานสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของคน มันก็เปิดโอกาสให้ผมเข้าไปห้ามปรามในบางกรณีไปพร้อมกัน ในระดับที่ผมคิดว่าค่อนข้างสมเหตุสมผล หากเราต้องเคารพการตัดสินใจเลือกฆ่าตัวตายอย่างมีเหตุมีผลแล้ว…
เราก็จะสรุปได้ว่าการเหมารวมด่วนด่าคนที่ฆ่าตัวตายไปแล้วไม่เหมาะสมแน่ๆ เพราะบางคนที่ตายไปอาจมีเหตุผลที่ดี แต่เราไม่รู้ก็เป็นได้
ส่วนในหลายกรณีที่ชัดเจนว่าผู้ที่ต้องการตายมีเหตุผลที่ดีของเขา เช่น การร้องขอการุณยฆาตเพื่อหลีกหนีความเจ็บป่วยอันแสนสาหัส แม้ใจเราจะไม่ค่อยเห็นด้วย
แต่ถ้ารู้ได้ว่าเขามีเหตุผลอันหนักแน่นของเขาแน่ๆ มุมมองนี้ก็จะอนุญาตให้พวกเขาตายอย่างไม่ค่อยมีข้อครหาเท่าไหร่ แต่ในขณะเดียวกัน การที่เรายังไม่รู้ชัดว่าเหตุผลแบบไหนดีหรือไม่ดี ก็อนุญาตให้เราสามารถเข้าไปยุ่งกับคนที่กำลังจะฆ่าตัวตายในกรณีที่นอกเหนือในย่อหน้าที่แล้วได้ เช่น คนที่จะฆ่าตัวตายเพราะเครียด ที่ทำได้ก็ด้วยเหตุผลว่าทั้งเราและเขายังไม่อาจแน่ใจว่าเหตุผลในการฆ่าตัวตาย ณ เวลานั้นดีพอหรือยัง โดยเฉพาะเมื่อหลักฐานทางการแพทย์ชี้ชัดว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มักมีภาวะซึมเศร้าผสมโรงอยู่ ซึ่งภาวะนี้ทำลายความสามารถในการคิดและรับรู้เชิงเหตุผลโดยไม่รู้ตัว
การช่วยเหลือห้ามปรามในกรณีสุดท้ายนี้ ไม่ได้เป็นการดูถูกว่าเขาโง่หรือคิดสั้น แต่เป็นการต่อรองด้วยความเคารพ ว่าลองคิดดูอีกทีเถอะ ไว้วันหน้ามั่นใจเมื่อไหร่ ค่อยตายใหม่ก็ได้ ถึงจะฟังดูโหดร้าย แต่มุมมองนี้ก็ช่วยให้เราสามารถเคารพการฆ่าตัวตาย และสามารถช่วยเหลือห้ามปรามในหลายกรณีไปพร้อมกัน