บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญในเรื่อง
Get Out เล่าเรื่องราวของ ‘คริส’ ตากล้องหนุ่มผิวดำที่มีแฟนเป็นสาวผิวขาว ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ดูจะดำเนินไปด้วยดี จนกระทั่งเข้าเดือนที่สี่ตั้งแต่ทั้งสองเริ่มคบกัน และ ‘โรส’ แฟนสาวชวนคริสไปเยี่ยมครอบครัวของเธอซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ อันเงียบสงบ
แรกทีเดียวคริสมีท่าทีอึดอัด ด้วยไม่แน่ใจว่าครอบครัวของโรสจะยอมรับที่ลูกสาวของพวกเขามีแฟนเป็นคนผิวสีได้หรือเปล่า แต่เมื่อเขาไปถึงบ้านของโรส และได้พบปะกับพ่อและแม่ของเธอ ความกังวลภายในใจก็คล้ายจะคลี่คลายลงมาเปลาะหนึ่งด้วยพวกเขาก็หาได้มีท่าทีว่าต้องการจะกีดกันเขาออกจากลูกสาวแต่อย่างใด แต่แล้วอะไรหลายๆ อย่างก็เริ่มผิดเพี้ยน แปลกประหลาด เมื่อคริสได้พบกับคนงานผิวสีของครอบครัวนี้ที่ประพฤติตัวแปลกๆ ต่อเขา แม่ของโรสที่เป็นนักบำบัดแต่มีทักษะในการสะกดจิตและบุกรุกเข้ามาในใจเขา รวมถึงท่าทีซึ่งแม้จะเป็นมิตรของญาติพี่น้องของโรสที่ในทางหนึ่งกลับจะยิ่งทำให้คริสอึดอัดและหวาดกลัว
อาจกล่าวได้ว่า ในบรรดาหนังหลายๆ เรื่องที่วิพากษ์ หรือ deal กับเรื่องความขาว white washing หรือ white supremacist Get Out คือหัวหมู่ทะลวงฟันที่พุ่งเข้าปะทะประเด็นเหล่านั้นได้อย่างห้าวหาญ ดุดัน และอาจถึงขั้นไม่ไว้หน้า ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ทีเดียวครับเมื่อสำรวจจากกระแสนิยมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หนังได้รับ ทั้งจากกลุ่มที่สนับสนุนหนังอย่างสุดโต่งเพราะความกล้าหาญของมัน หรือฝั่งที่ด่าหนังยับ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ defense ให้กับคนขาวจากการที่หนังไม่เหลือพื้นที่ยืนให้กับคนขาวเลย จนบางคนถึงกับเรียกมันว่าเป็นหนังคนดำ เพื่อคนดำอย่างแท้จริง (อนึ่ง การเลือกใช้คำว่าคนดำในบทความนี้ไม่ได้มีเจตนาในทางเหยียดแต่อย่างใด)
ซึ่งผมก็เห็นตามคำกล่าวนี้อยู่พอตัวครับ ด้วยเพราะท่าทีของหนังเองก็ดูไม่ได้จะสนใจกับการแก้ต่างให้กับฝ่ายคนขาวในเรื่องแต่อย่างใด หนังเลือกจัดวางพื้นที่ของคนขาวไว้อย่างชัดเจน แยกพวกเขาออกห่างจากโลกภายนอก หรือพูดให้ชัดขึ้นคือจากโลกซึ่งกระแสความคิดในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ หรือความเท่าเทียมกำลังไหลเวียนในสายธารสาธารณะอย่างข้นคลั่ง เห็นได้จากตัวละครคนขาวคนแรกที่ปรากฏขึ้นในหนังคือตำรวจซึ่งโผล่มาในพื้นที่อันห่างไกลอย่างบนนถนนอันเงียบเชียบกลางป่าเขา พื้นที่ซึ่งราวกับจะตัดขาดตัวเองจากโลกข้างนอกอันเป็นมิตรที่คริสคุ้นเคย ซึ่งก็เป็นในระหว่างการพูดคุยกับตำรวจแค่สั้นๆ นี่เอง ที่เป็นลางบอกเหตุ (foreshadow) ให้กับคริสถึงพื้นที่แห่งอำนาจคนขาวที่เขากำลังจะก้าวเข้าไป
ครอบครัวของโรสเองก็ไม่ต่างกัน ทั้งการที่พวกเขาปลูกบ้านอยู่ในพื้นที่ซึ่งโดดเดี่ยวตัวเองจากเพื่อนบ้านคนอื่นๆ หรืออาชีพของพวกเขาที่คนพ่อก็เป็นหมอ ส่วนคนแม่ก็เป็นนักบำบัดทางจิต ที่ซึ่งเป็นผู้ถือครองอำนาจอย่างสำคัญ กล่าวคือ หมอหรือนักบำบัดทางจิตนั้นดำรงสถานะอยู่เหนือคนไข้หรือผู้รับการรักษาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะในทางความรู้ทางการแพทย์หรือวิถีบำบัดจิต
หากกล่าวตามที่มิแชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ได้เสนอแนวคิดเรื่องการจ้องมองทางการแพทย์ (Medical Gaze) ไว้ในหนังสือ The Birth of the Clinic และอำนาจของแพทย์ที่มีต่อร่างกายของคนไข้ โดยฟูโกต์เสนอไว้ว่า
“…เป็นการพิจารณาว่าร่างกาย มนุษย์เป็นร่างกายที่ว่าง่าย สามารถดัดแปลงหรือดัดแต่งได้ ร่างกายถูกทําให้เห็นว่าเป็นเครื่องจักร เมื่อร่างกาย เรามีปัญหาเราสามารถที่จะแก้ไขได้ แพทย์มีการพัฒนาคิดค้นวิธีการต่างๆ อยู่เสมอที่จะเข้ามาควบคุมวิถี ชีวิตประจําวันของคนทั่วไป ต้ังแต่เกิดจนตาย โดยการเฝ้าดูการเกิดของคนเรา พัฒนาการ ของเราต้ังแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ และปัจจุบันจนถึงวัยผู้สูงอายุ ผ่านกระบวนการจ้องมองของแพทย์ โดยผ่านเครื่องมือต่างๆ การจ้องมองของแพทย์ทําให้มนุษย์ถูกกระทํากลายเป็นวัตถุ (object) เป็นเทคนิคหนึ่งที่สามารถทําให้บุคคลอยู่ ในกฎระเบียบตลอดเวลา วิธีการเช่นน้ีรัฐสมัยใหม่ใช้ในการควบคุม จัดการกับสังคม เช่นเดียวกับการควบคุม การแพร่กระจายของเชื้อวัณโรค” (1)
จากตัวอย่างซึ่งยกมา เราจะเห็นได้ถึงอำนาจที่ฝังตัวอยู่ในกระบวนการทางการแพทย์ ซึ่งใน Get Out ตัวละครซึ่งตกอยู่ภายใต้สถานะของคนไข้ล้วนแล้วแต่เป็นคนดำ เช่นกันกับที่พวกเขาต่างถูกควบคุมจากกระบวนการสะกดจิต ภายหลังการบำบัดทางจิตที่อนุญาติให้ผู้รักษาบุกรุกเข้ามาสอดส่อง ตัดแต่งความทรงจำ รวมถึงบงการร่างกาย
แต่พ้นไปจากประเด็นเรื่องการแพทย์แล้ว อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือมุมมองต่อคนดำที่เปลี่ยนไป จากที่เราอาจคุ้นเคยเรื่องการเหยียดผิวหรือเชื้อชาติในลักษณะการมองว่าอีกฝ่ายต่ำกว่าตนในทางอัตลักษณ์ แต่ Get Out พาเราไปไกลขึ้น เมื่อพวก white supremacist ยอมรับในร่างกายของคนดำ ไม่ว่าจะในเรื่องของสีผิว หรือสมรรถนะหรือพละกำลังที่เหนือกว่า พวกเขายอมรับและปรารถนาที่จะครอบครองเรือนร่างนี้ไว้ หากแต่ภายใต้การยอมรับทางอัตลักษณ์นี้ก็ไม่ได้แปลว่า คนขาวในเรื่องจะยอมรับคนดำว่าเป็นมนุษย์ในระดับเดียวกับเขา กล่าวคือแม้พวกเขาจะก้าวข้ามประเด็นทางร่างกายไปได้ กระนั้นคนดำก็ยังถูกมองเป็นแค่วัตถุดิบหนึ่งๆ ที่จะหยิบฉวยมาใช้ประโยชน์เมื่อไหร่ก็ได้ เป็นแค่เหยื่อเคี้ยวง่ายที่ได้แต่วิ่งหนี ดังเช่นกวางซึ่งถูกชนในตอนต้นเรื่อง ซึ่งเป็นแค่เกมหนึ่ง ที่มนุษย์จะหยิบปืนขึ้นมายิงเมื่อไหร่ก็ได้
หากถึงกระนั้นแล้ว แม้คนดำในเรื่องจะถูกเปรียบกับกวาง ท้ายที่สุดกวาง ซึ่งดำรงอยู่ในหนังก็เป็นกวางสองประเภท นั่นคือกวางที่จบชีวิตลงก่อนจะทันได้ขัดขืน และกวางที่สลัดพ้นจากการกดทับของอำนาจ สะบัดเขา ลุกขึ้นต่อสู้กับนายพราน คัดง้างต่อสถานะของผู้ล่า-และผู้ถูกล่า และทลายเกมไล่ล่านี้ลง
แต่นอกเหนือจากกวางแล้ว หนังยังสอดแทรกสัญญะไว้อีกหลายๆ จุด เช่น ชาในฐานะเครื่องมือสะกดจิต ที่สะท้อนถึงชนชั้นฐานันดรและเครื่องดื่มของปัญญาชนในกาลก่อน เกมบิงโกฆ่าเวลาที่คล้ายว่าจะเกมจะดำเนินผ่านการสุ่มจับสลาก แต่แท้ที่จริงตัวผู้ชนะก็ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า รวมถึงโทรทัศน์ที่ตัวหนังก็เฉลยไว้อย่างชัดเจน
ด้วยพล็อตที่เขียนขึ้นอย่างฉลาด ทั้งประเด็นของมันที่แม้จะเกาะเกี่ยวอยู่กับกระแสปัจจุบัน หากก็นำเสนออย่างสดใหม่ ก็สมแล้วล่ะครับที่หนังจะได้รับคำชื่นชมเสียขนาดนี้ และเชื่อเลยว่า Get Out จะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของหนังในปีนี้อีกเรื่องเลยล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
(1) ธีรยุทธ บุญมี, (2551). มิเชล ฟูโกต์. กรุงเทพฯ. วิภาษา.