อาจจะเป็นอะไรที่ประหลาดสักหน่อยที่ล่วงเลยวาเลนไทน์มาแล้ว แต่ผมก็ยังจะดันทุรังมาพูดถึงเรื่องนี้อยู่อีก
แต่พอดีในช่วงวาเลนไทน์ที่ผ่านมา ผมได้ดูรายการชื่อ WTF! (Why The Fuss!) ของทางว้อยซ์ทีวี (ลองหาดูออนไลน์นะครับ รายการนี้ยังไม่ดังมากแต่เนื้อหาสาระแน่นดีจริงๆ) ซึ่งเป็นตอนที่เสนอถึงสถิติที่น่าสนใจต่างๆ ของเทศกาลวาเลนไทน์ ที่พอผมได้ชมแล้ว ก็ได้เผลอคิดๆ ตามไปหลายๆ อย่างจนรู้สึกว่ามีเรื่องอยากจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับข้อสังเกตที่ผมมีต่อข้อมูลที่เพิ่งเสพนี้ นั่นแหละครับ ที่สุดแล้วก็เลยดันทุรังจะเขียนถึงเรื่องนี้แม้วันวาเลนไทน์จะพ้นผ่านไปแล้ว
ส่วนแรกของรายการเป็นประวัติศาสตร์โชกเลือดของวาเลนไทน์ที่หลายคนคงพอจะรู้อยู่แล้ว (จริงๆ ผมคุ้นๆ ว่าเคยเขียนถึงไปบ้างเมื่อนานปีก่อน) แต่หากยังไม่รู้ก็ไปลองดูในรายการได้นะครับ คร่าวๆ ก็คือ เป็นการรำลึกถึงนักบุญวาเลนไทน์ที่แอบลักลอบจัดงานแต่งงานให้คู่รักตอนนั้นแม้จะโดนทางการห้าม สุดท้ายพี่แกโดนเก็บเลือดสาด และเราก็มารำลึกถึงวันนี้ในฐานะวันที่แสดงความโรแมนติกกันแทนนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ส่วนที่ผมคิดว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจคือเรื่องความนิยมที่ประเทศต่างๆ มีต่อเทศกาลนี้ ซึ่งเกณฑ์หลักในการดูนั้นอาศัยปริมาณเม็ดเงินที่ถูกใช้ในช่วงเทศกาลนี้ และดูเทรนด์หรือแนวโน้มความนิยมผ่านปริมาณการจับจ่ายของแต่ละปีเทียบกันดู
แน่นอนครับว่าเกณฑ์ดังกล่าวนี้ไม่สามารถสะท้อนภาพทุกอย่างแบบชัดเจนได้ โดยเฉพาะหากจะจำเพาะลงมาที่วาเลนไทน์เลย เพราะปริมาณการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้นลดลงในช่วงเทศกาลนี้นั้นอาจจะไม่ได้สะท้อนเรื่องความนิยมที่ตกลงไปก็ได้ เช่น ปีนี้สถิติการจับจ่ายใช้สอยในช่วงวาเลนไทน์อาจจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ แต่อาจจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจมัน แย่ แย่ แย่ จนจะไม่มีกินกันแล้วมากกว่าความนิยมต่อวาเลนไทน์ที่ลดลงก็ได้ หรือในบางประเทศที่การจับจ่ายกับผลิตภัณฑ์พวกดอกไม้ ช็อกโกแลต ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ ที่ลดลงแบบต่อเนื่องนั้นก็อาจจะมีส่วนที่มาจากการเปลี่ยนวิธีการเสพวาเลนไทน์แทนที่การจะอธิบายโล้นๆ แต่เพียงว่าปริมาณการใช้จ่ายลดลงแปลว่าความนิยมลดลงเลย เป็นต้น
ที่ว่ามานี้เพื่อจะบอกว่า ข้อมูลมันไม่ได้สมบูรณ์ในตัวมันเองหรอกครับ แต่หากจะทำให้สมบูรณ์มันคงต้องเป็นงานวิจัยระดับยิ่งใหญ่เลยทีเดียว เช่น มาไล่ดูอัตราการลดต่ำลงเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือการดูทิศทางของการจับจ่ายใช้สอยที่อาจมีมาแทนที่การบริโภคแบบเดิมที่ลดลง ซึ่งมันงานใหญ่มากทีเดียว และแม้มันจะเป็นข้อมูลระดับมูลฐาน มันก็สะท้อนนัยยะสำคัญหลักๆ ให้เห็นพอได้อยู่แน่ๆ น่ะครับ
(ผมเขียนทั้งหมดมานี้เพื่อจะบอกว่าข้อมูลที่เสนอมามันมากพอจะนำมาคิดต่อได้ หรือตั้งข้อสังเกตในภาพรวมได้อ่ะนะครับ แต่พร้อมๆ กันไปก็เป็นการเขียนดักด้วยว่า “รู้นะจ๊ะว่านี่ไม่ใช่ข้อมูลวิจัย มันไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด” เผื่อคอมเม้นต์ช่างแซะอีกทีหนึ่งด้วย หึหึ)
เอาเป็นว่าข้อมูลที่ได้จากสถิติการเพิ่มลดของการจับจ่ายใช้สอยที่ว่าไว้นั้นหลักๆ มีอย่างงี้ครับคือ
ประเทศในฝ่ายตะวันตกนั้นมีแนวโน้มที่จะฉลองหรือให้ความสนใจกับเทศกาลวาเลนไทน์ลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศที่มาติดท็อปแร้งก์นั้นหลักๆ แล้วอยู่ในฝั่งเอเชียเกือบทั้งสิ้น (รวมถึงไทยด้วย) โดยมากเป็นประเทศกลุ่มอาหรับและเอเชียตะวันออกอย่างพวกเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น
ว่ากันตรงๆ ผมพอจะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับฝั่งตะวันตกและเอเชียตะวันออกบ้างอยู่แล้ว แต่ความนิยมในโลกอาหรับนั้นเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับผม เพราะไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย ซึ่งจุดนี้จะนำไปสู่ข้อสังเกตของผมที่จะพูดถึงต่อไปด้วย
อย่างไรก็ดี ถึงจุดนี้ผมอาจจะต้องหมายเหตุเพิ่มสักนิดด้วยว่าลักษณะของการใช้งานวาเลนไทน์ในไทยกับญี่ปุ่นนั้นอาจจะมีความต่างกันอยู่บ้าง คือ ของไทยมันเป็นเทศกาลที่สะท้อนความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกที่มอบช็อกโกแล็ตหรือดอกไม้ให้กับคนรักของเรา หรืออยากให้เค้ามารักเรา แต่กรณีของญี่ปุ่นนั้นต่างออกไปพอสมควร คือ เคสแบบโรแมนติกที่ว่านี้ก็ยังคงมีแหละครับไม่ใช่ว่าไม่มีเลย โดยเฉพาะกับกลุ่มหนุ่มสาววัยเรียนต่างๆ แต่กับระดับคนทำงานแล้ว ส่วนใหญ่การให้ของในเทศกาลนี้ค่อนข้างจะโอนเอียงไปทาง ‘การให้ตามประเพณี’ (customary) พอสมควรแล้วด้วย เช่น การมอบช็อกโกแล็ตให้เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า หรือบริษัทคู่ค้า เป็นต้น ซึ่งการให้เหล่านี้ไม่ได้สะท้อนถึงความโรแมนติกอะไร แต่กลายเป็นโอกาสในการสร้างหรือรักษาโครงสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ในการทำงานมากกว่าด้วยนั่นเอง
นอกจากนี้ คำวิพากษ์วิจารณ์หนึ่งต่อเทศกาลวาเลนไทน์นี้ที่รายการ WTF! นำมาเสนอก็คือลักษณะแบบ heteronormative หรือ ‘วิถีปฏิบัติแบบรักต่างเพศ’ ครับ
โดยคำวิจารณ์ดังกล่าวนี้บอกว่าเทศกาลวาเลนไทน์นั้นมันสร้างค่านิยมแบบกำหนดหน้าที่ให้กับบทบาททางความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับของที่มีลักษณะของการแบ่งเพศอย่างชัดเจน คือ ผู้หญิงทำแบบนี้ ผู้ชายทำแบบนี้ (ญี่ปุ่นนี่ยิ่งชัดมากเลย คือ ผู้หญิงให้ในวันวาเลนไทน์ และผู้ชายให้คืนในวันไวท์เดย์ หรือ 13 มีนาคม) ฟังจบผมก็เออออห่อหมกตามไป
แต่นั่นแหละครับพอมานั่งคิดดูดีๆ แล้วผมคิดว่าอาจจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามก็ได้ คือ ไม่ใช่ว่าวาเลนไทน์มันสร้างหรือนำไปสู่ค่านิยมแบบนี้ แต่กลับเป็นว่าในสังคมที่ยังมีค่านิยมแบบนี้อยู่ชัดๆ ต่างหากหรือเปล่าที่เทศกาลอย่างวาเลนไทน์จึงจะยังได้รับความนิยมอยู่ได้? ที่ว่ามาแบบนี้เพราะผมลองสังเกตเทียบกลับไปหาข้อมูลทางสถิติที่รายการนำเสนอมาดูนั่นเอง ซึ่งนั่นนำมาสู่ข้อสังเกตของผมน่ะครับ
ประการแรก, คืออย่างที่เกริ่นไป ผมคิดว่าอาจจะไม่ใช่วาวาเลนไทน์สร้าง heteronormative ที่ว่าจนทำให้เกิดความนิยมต่อวิถีคิดแบบนี้ แต่มีโอกาสมากกว่าที่จะเป็นว่า เฉพาะในสังคมที่ยังอยู่ในโครงสร้างแบบ heteronormative นี้ต่างหากที่ทำให้วาเลนไทน์ยังขายได้และเป็นที่นิยมต้องการอยู่ (อย่างน้อยๆ ที่สุดก็คือ ต่างฝ่ายต่างมีอิทธิพลต่อกัน) ที่ผมว่าแบบนี้ก็เพราะว่า heteronormative ดูจะไม่ได้ต้องการการมีอยู่ของเทศกาลนี้ มากเท่าที่เทศกาลนี้จะต้องการวิถีคิดทางเพศแบบที่ว่ามาเพื่อจะได้มีความนิยม
ในจุดนี้หลายคนอาจจะคิดแย้งในใจว่า ประเทศไทยที่นิยมวาเลนไทน์จิตายไปไม่เห็นจะ heteronormative เลย เราเปิดพื้นที่ให้กับเพศที่สาม ตุ๊ด เกย์ เก้ง กวาง LGBTQI (JKLMNOP…) จะตายไป ซึ่งในทางหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าเราเปิดพื้นที่มากกว่าหลายประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกหรืออาหรับจริง แต่การเปิดของเรานั้นก็ควรถูกตั้งคำถามมากๆ เพราะเรามักจะเปิดพื้นที่โดยมีลักษณะคาดหวังหรือลักษณะกำกับให้กับเพศที่ 3 เหล่านี้อย่างตีขลุมด้วย การพรีเซ็นต์ภาพของคนเหล่านี้จึง ‘โดนบังคับให้ไม่หลากหลาย’ จะเป็นตุ๊ดเป็นกระเทยพวกมึงต้องทำตัวเฮฮาตลกเท่านั้น อะไรแบบนี้ ซึ่งหลังๆ มาก็ดีขึ้นบ้างแล้ว (ผมคิดว่าน่าจะต้องให้เครดิตกับหนังอย่าง รักแห่งสยาม พอสมควรกับกรณีนี้ที่ทำให้ภาพแบบอื่นๆ ของ LGBTQI ในบ้านเราถูกนำเสนอบ้าง ไม่ได้มีแต่ภาพอย่างหอแต๋วแตก หรือสตรีเหล็ก)
อย่างไรก็ดีแม้มันจะดีขึ้น แต่ภาพหลักๆ ก็ยังถูกเสนอในลักษณะดังกล่าวอยู่ดี เซเล็บที่เป็น LGBTQI ก็มักจะต้องสวมบทบาทลักษณะนี้ออกสื่อตลอดเวลา อย่างการไปเป็นคอมเมนเตเตอร์รายการโทรทัศน์ต่างๆ ก็มักจะต้องถูกวางบทในฐานะ ‘ตัวฮา ตัวร่าเริง ตัวยิงมุก หรือตัวเด๋อๆ ด๋าๆ’ เท่านั้น เป็นต้น ลักษณะนี้เองมันสะท้อนวิถีคิดแบบ heteronormative ในสังคมไทยอยู่ เพราะมันบอกกับเราว่าเรายังมีความไม่คุ้นชินหรือไม่สบายใจกับคนเหล่านี้อยู่ จึงต้องกวาดพวกเขาไปกองไว้มุมเดียว โดยเป็นมุมแบบที่เรา ‘สบายใจที่จะเห็นได้’ หรือรู้สึกว่า ‘จัดการได้’
โดยสรุปก็คือ ตามสถิติที่รายการ WTF! ว่ามาแล้ว ผมคิดว่ามันสะท้อนว่าประเทศที่เทศกาลนี้ยังนิยมอยู่ มันฟ้องถึงสังคมที่ heteronormative ยังคงมีรากฐานที่เข้มแข็งอยู่นั่นเองครับ
ประการที่สอง, ผมคิดว่าความนิยมของวาเลนไทน์นั้นดูจะอยู่ในประเทศที่มีวัฒนธรรมการแสดงออกทางความรู้สึกมีข้อจำกัดสูงด้วย ซึ่งลักษณะนี้ดูจะเห็นได้ชัดกับประเทศในกลุ่มอาหรับและเอเชียตะวันออกมากทีเดียว ที่การจะแสดงออกหรือมีท่าทีอะไรกับคนอื่นนั้น ‘ต้องระวังมาก’ อย่างอาหรับที่พันตัวอยู่ด้วยข้อบัญญัติทางศาสนาที่ห้ามไว้ หรือเอเชียตะวันออกที่แฝงอยู่ในกติการ่วมของสังคม จริงๆ แล้วประเทศไทยเองกับวัฒนธรรมแบบชาวพุทธชนชั้นกลางเองก็มีลักษณะดังกล่าวไม่น้อย แม้จะลดลงมากแล้ว แต่คำสอนแบบเรื่องกุลสตรีไทย ค่านิยมอันดีต่างๆ ก็ยังคงมีอยู่บ้าง โดยเฉพาะเมื่อ ‘ต้องใช้ด่าหรือโจมตีคนอื่น โดยลืมหันกลับมามองตัวเอง’ นั้นจะเห็นได้บ่อยมาก หรือคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ รุ่นปู่รุ่นย่าของเราที่จะมีอาการเคอะเขินอย่างแรงในการแสดงออกถึงความรัก ขนาดที่เห็นเขากอดเขาหอมกันที อาจจะมีร้องเฮล้อกันทั้งโต๊ะได้ จะเรียกง่ายๆ แบบเหมาร่วมมากๆ ว่า ‘วัฒนธรรม(บังคับให้มี)ยางอาย’ ก็อาจจะได้
ประเทศที่วัฒนธรรมยางอายแข็งแกร่งนี้เองจึงมีความต้องการเทศกาลอย่างวาเลนไทน์มากเป็นพิเศษ เพราะวาเลนไทน์สร้างสถานะของการเป็น ‘ข้อยกเว้น’ ในการไม่ต้องเคอะเขินกับการแสดงท่าทีแบบนี้ เพราะทุกคนในสังคมก็ ‘ล้วนต่างพากันทำในสิ่งที่ไม่คุ้นชินหรือเคอะเขินที่จะทำในเวลาปกตินี้อย่างเป็นหมู่คณะ’ นั่นเอง
ข้อยกเว้นทางวัฒนธรรมที่อนุญาตให้สาวๆ ในฮิญาบสามารถแสดงออกถึงฝันหวานทางความรักของพวกเธอได้สักวัน
ข้อยกเว้นทางวัฒนธรรมที่ทำให้หนุ่มๆ ที่ไม่ใช่สัตว์นักล่าชาวญี่ปุ่นพร้อมจะขวยเขินขอสาวที่ชอบไปออกเดต หรือเปิดซิงอะไรก็ว่าไป
ในไทยเองก็มีนะครับ คือ เราได้ยินกันในสังคมไทยทุกปีแหละครับว่า “ทุกวันคือวันแห่งความรัก จะมีวาเลนไทน์ไปทำไม?” หรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งกับประเทศที่วัฒนธรรมยางอายแข็งแกร่ง (หรืออย่างน้อยดัดจริตว่าแข็งแกร่งว่ามี แต่จริงๆ ไม่เลย) ก็อาจจะคิดในใจกันไปว่า “เออ ความรู้สึกรักน่ะกูมี แต่กูเขินที่จะกระทำออกมาไง” ซึ่งผมคิดว่าในแง่นี้วาเลนไทน์มันก็สะท้อนความวิปริตของวัฒนธรรมและความคุ้นชินของสังคมนั้นๆ ได้ดีนะครับ ลองคิดง่ายๆ แค่นี้แหละครับว่าวัฒนธรรมทางสังคมมันต้องกดทับ ต้องวิปริตขนาดไหน ถึงขนาดที่แค่การแสดงออกถึงความรู้สึกพื้นฐานมากๆ อย่างความรักนั้นยังสามารถถูกจัดวางให้รู้สึก ‘ไม่ใช่เรื่องปกติ จนต้องเคอะเขิน’ ได้ และกลายเป็นว่าต้องรอวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เพื่อมาช่วยกระตุ้นให้กล้าทำไป
ประการสุดท้าย, ที่ผมคิดว่าความนิยมของวาเลนไทน์มันสะท้อนถึงในเชิงวัฒนธรรมคือ วัฒนธรรมแบบปัจเจกบุคคลน่ะครับ คือ แม้วาเลนไทน์มันจะเริ่มจากการเป็นเทศกาลทางศาสนา แต่ผมคิดว่าทุกวันนี้ไม่ว่าจะที่ไหนไม่ได้มีความรู้สึกในเชิงศาสนาอะไรกับวันนี้แล้ว (บางครั้งมันถึงขั้นถูกใช้เป็นข้อยกเว้นต่อวิถีปฏิบัติตามศาสนาด้วย อย่างกรณีในโลกอาหรับ หรือวิถีกุลสตรีพุทธๆ อย่างไทย) มันกลายเป็นประเพณีระหว่างปัจเจกหนึ่งกับอีกปัจเจกหนึ่งล้วนๆ ฉะนั้นการที่เทศกาลที่บอกให้ปัจเจกมาแสดงออกระหว่างกันได้นั้นมันสะท้อนถึงความไม่แข็งแรงต่อฐานคิดเรื่องปัจเจกชนนิยมในสังคมนั้นๆ ด้วย
อย่างในโลกตะวันตกที่ความนิยมต่อวาเลนไทน์ดูจะลดน้อยถอยลงนั้น โดยมากแล้วก็คือรัฐที่ฐานคิดเรื่องปัจเจกชนนิยมมันแข็งแกร่งแล้ว กูจะไปมีปฏิสัมพันธ์อะไรกับใครก็เป็นเรื่องของกูเอง “ไม่ต้องให้สังคมมาบอกก็ได้ว่าวันนี้นะเหมาะที่จะไปปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น หรือไม่ต้องรอให้มันมาสร้างโอกาสให้” ฉะนั้นแล้ว เมื่อ ‘ตัวกูเป็นของกู’ ความจำเป็นต่อวาเลนไทน์ก็ลดลงตาม
ในแง่นี้เองประเทศที่เทศกาลวาเลนไทน์ยังได้รับความนิยมติดท็อปอย่างไทยนั้นดูจะโดดเด่นมาเลย เพราะประเทศเรานั้นเป็นอันดับท็อปแน่นอนในเรื่อง ‘ตัวกูไม่ใช่ของกู สิทธิกูก็ไม่ใช่ของกู’ ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยหรอกครับ อาหรับนี่ก็หนักเหมือนกัน หรืออย่างญี่ปุ่นที่แม้จะเสรีในเชิงกฎหมายแต่ด้วยสังคมที่มีความเป็นปึกแผ่นของวัตรปฏิบัติ (Uniformity) ที่สูงมาก จะเรียกว่าเป็นสังคมชนิดที่ ‘กดแต่ไม่ห้าม’ ก็อาจจะพอได้ ก็เข้าสู่อีหรอบ ‘ตัวกูไม่ใช่ของกู’ เหมือนๆ กันนั่นเอง
นี่แหละครับ ผมเลยรู้สึกว่าข้อมูลเรื่องความนิยมต่อเทศกาลวาเลนไทน์ที่ WTF! มันน่าสนใจ เพราะมันดูจะสะท้อนให้เราเห็นด้วยว่า ‘ตัวเรา ของเราไหม’ และถ้ารู้สึกว่าคำตอบคือ ไม่ ผมก็คิดว่าควรเป็นการบ้านของแต่ละคนแล้วล่ะครับว่า ‘แล้วตัวเรา กลายไปเป็นของของเรา?’ ใครกันหนอมามีสิทธิขาดเหนือชีวิตและอำนาจของตัวเรา
ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นคำถามที่สังคมต้องถามกันให้เยอะๆ ถามจนเจ้าของชีวิตจอมปลอมของเรานี้บุบสลายไปในทางอุดมการณ์ให้จงได้