ครั้งหนึ่ง ระหว่างนั่งคุยกันถึงเรื่องการเดินทาง คนนั้นคนนี้ต่างก็คุยโม้กันว่าเคยไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่มาแล้วมากมายก่ายกอง
อยู่ๆ เพื่อนอเมริกันคนหนึ่งก็บอกว่า-เขาไม่เคยได้ ‘ไปเที่ยว’ ไหนเลย
เพื่อนคนอื่นๆ นึกว่าหมอนี่อำเล่น เพราะจะว่าไป เขาเป็นคนที่เดินทางมากที่สุดในกลุ่มคนที่นั่งคุยกันอยู่นั่นก็ว่าได้ เพราะบริษัทส่งเขาไปทั้ง ‘ทำงาน’ และ ‘ดูงาน’ ปีละไม่รู้จักกี่ครั้ง เอาเป็นว่าเขาสามารถแลกไมล์เป็นตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจได้ฟรีปีละหลายใบก็แล้วกัน
แล้วจะบอกว่าไม่ได้ ‘เที่ยว’ เลยได้ยังไงกัน!
เพื่อนหน้าบึ้ง แทบจะลุกขึ้นข่วนเพื่อนคนอื่น เพราะเขาบอกว่าการไป ‘ทำงาน’ หรือ ‘ดูงาน’ น่ะ มันไม่เหมือนกับไป ‘เที่ยว’ นะ ไม่เหมือนเลยจริงๆ
“อย่างล่าสุดไปประชุมที่เจนีวา” เขาเล่า “ก็ไม่ได้เห็นเมืองเลย ไปถึงก็เข้าโรงแรม พักที่นั่น ประชุมที่นั่น อยู่สามวันสามคืน เสร็จแล้วก็นั่งรถไปสนามบิน กลับไปทำงานต่อ ทะเลสาบก็เห็นแวบๆ จากหน้าต่างโรงแรม”
เขาบอกว่า การไป ‘ดูงาน’ หรือไป ‘ทำงาน’ ของเขาเป็นแบบนี้ทุกครั้ง เพราะบริษัทไม่ได้ส่งใครไป ‘เที่ยวเล่น’ แม้แต่จะเที่ยวต่อด้วยการขอเลื่อนตั๋วกลับ แล้วออกเงินเที่ยวต่อเองสักสามสี่วัน ก็ยังเป็นเรื่องที่เขาไม่กล้าทำเลย เพราะมันแลดูคาบลูกคาบดอก คล้ายว่า ‘เอาเปรียบ’ เพื่อนพนักงานด้วยกันที่ไม่ได้มีหน้าที่การงานที่ต้องออกเดินทางไปโน่นมานี่เหมือนเขา
ฟังแล้วให้รู้สึกละอายแก่ใจขึ้นมาไม่น้อย เพราะด้วยความที่ผมเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกเรียกว่า ‘สื่อ’ เลยมักได้รับเชิญไป ‘ทริปสื่อ’ บ่อยๆ และหลายครั้งก็ขอเลื่อนตั๋วขากลับเพื่ออยู่ต่ออีกหลายๆ วัน โดยมีข้ออ้างว่าจะได้เก็บข้อมูลมาเขียนได้ลึกขึ้น แต่ผมไม่เคยนึกเหมือนกันว่า การทำอย่างนั้นเท่ากับผมอาศัยข้อได้เปรียบในการที่มีคนจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินอยู่แล้ว มาลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลง ในขณะที่คนทำงานอื่นๆ (เช่น แม่บ้านที่บริษัท แมสเซนเจอร์ พนักงานพิสูจน์อักษร ฯลฯ) ที่ไม่มีใครเชิญไปไหน ถ้าคิดจะไปเที่ยวก็ต้อง ‘ออกเอง’ ทั้งหมด ไม่ได้มีอภิสิทธิ์เอกสิทธิ์อะไรเหมือนผม
แต่ส่วนใหญ่แล้ว พวกเรา-สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าสื่อ, ถ้าพอมีเวลาและปัจจัยอื่นๆ (เช่นเงิน) ก็มักจะทำแบบนี้กัน โดยมีเหตุผลที่พอจะปลอบใจตัวเองได้บ้างว่า-เพื่อหาประสบการณ์และเก็บข้อมูล (ไงล่ะ!) ก็แหม! เราไม่ได้มีเงินเดือนเยอะแยะมากมายเหมือนคนในประเทศโลกที่หนึ่ง แต่ต้อง ‘ผลิต’ งานออกมาเป็นปริมาณมหาศาลนี่นา ถ้าไม่ฉวยโอกาส (โดยใช้ทุนของตัวเองส่วนหนึ่ง) หา input บ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะควักเงินทั้งหมดเพื่อเดินทางในบางทริป
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าสื่อมานาน ผมเลยมีโอกาสได้เดินทางไปใน ‘ทริปสื่อ’ หลายรูปแบบ และคิดว่าทริปสื่อสามารถแบ่งออกคร่าวๆได้ดังต่อไปนี้
1. ได้รับเชิญไปงานเปิดตัว / ไปสัมภาษณ์ / หรือไปร่วมอีเวนต์อะไรสักอย่าง : ทริปแบบนี้มักจะเป็นทริปของพวกเก๋าประสบการณ์หน่อย เช่น ไปเปิดตัวน้ำหอมแบรนด์หรู เปิดตัวรถยนต์ ไปดูหนังรอบพรีเมียร์ของภูมิภาค ไปร่วมงานแฟร์ หรือไปสัมภาษณ์คนดังๆ ระดับโลกทั้งหลาย ทริปแบบนี้มักจะสั้น เช่นไม่เกินสามวัน (บางครั้งไปเช้าเย็นกลับหรือไปบ่ายกลับเช้าวันรุ่งขึ้นก็มี) คือเรียกว่าไป ‘ทำงาน’ จริงๆ ทริปแบบนี้ให้อารมณ์ Business Trip มักจะหรูหรา เช่นบินชั้นธุรกิจ นอนโรงแรมห้าดาว (เจ็ดดาวก็มี) ทริปแบบนี้มักไม่มีใครมาจัดโปรแกรมอะไรให้เท่าไหร่ (เว้นแต่ผู้เชิญจะอยากให้ได้เที่ยวต่อ ก็อาจจะมีโปรแกรมทัวร์เล็กๆน้อยๆ ให้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่มี-เพราะถือว่าเป็นการเดินทางแบบมืออาชีพ) ต้องดูแลตัวเอง คนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ มักจะไม่ได้ไปทริปแบบนี้
2. ทริปแบบทัวร์ : แบบนี้มักได้รับเชิญจากสายการบินหรือการท่องเที่ยวของประเทศนั้นๆ ทริปแบบนี้เหมือนไปกับกรุ๊ปทัวร์ และผู้เชิญก็มักว่าจ้างบริษัททัวร์มาจัดโปรแกรมให้ เป้าหมายก็คือโปรโมทการท่องเที่ยวเดินทางอยู่แล้ว จึงเป็นทริปที่เรียกว่า ‘ไปเที่ยว’ ได้เต็มปาก เพียงแต่ต้องกลับมาเขียนงานตอบแทนผู้เชิญเท่านั้น ทริปแบบนี้จะมีการต้อนรับขับสู้ดูแลอย่างดี เช่นมีฝ่ายประชาสัมพันธ์ร่วมทริปไปด้วยเพื่อคอยดูแลสื่อ ซึ่งบางครั้งก็ถึงขั้นติดเอามาม่าน้ำปลาพริกติดไปเอาใจสื่อด้วย
3. ทริปที่ไป ‘ดูงาน’ : ทริปแบบนี้มีไม่บ่อยครั้งนัก แต่เป็นการเดินทางที่ผมชอบที่สุด ส่วนใหญ่มักได้รับเชิญจากบริษัทในต่างประเทศเพื่อไปศึกษาเรียนรู้เรื่องต่างๆ จริงๆ เช่นผมเคยได้รับเชิญให้ร่วมทริปกับบริษัทยา ได้ตระเวนไปในหลายประเทศในยุโรป รวมถึงสถาบันการศึกษาที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ (ที่ประทับใจมากคือสถาบันมักซ์ พลังค์ ในเยอรมนี)
4. ทริปแบบอื่นๆ (ที่ผมไม่เคยไป) เช่น ทริปติดตามผู้มีอำนาจเพื่อไปทำข่าวการเดินทางของผู้มีอำนาจทั้งหลายทั้งปวง ส่วนใหญ่จะเป็นทริปสำหรับนักข่าวหนังสือพิมพ์หรือนักข่าวโทรทัศน์มากกว่า
ที่ผมชอบทริปแบบที่สามที่สุด เหตุผลอย่างแรกเพราะเป็นการเดินทางที่ได้ ‘ความรู้’ จริงๆ เช่นตอนไปร่วมทริปเพื่อดูขั้นตอนการรีไซเคิลขยะที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็ไปดูกันถึงโรงงานขยะ ดูกรรมวิธีทั้งหมด ไปสัมภาษณ์คนทำงาน แล้วไม่ได้ดูกันแค่วันเดียว แต่ใช้เวลาดูหลายวันในหลายไซต์งาน (โดยไม่ได้มีการ ‘เที่ยว’ เลย) หรือตัวอย่างทริปเรื่องการผลิตยาที่ว่ามาข้างต้นก็เช่นเดียวกัน ต้องไปทั้งโรงงานผลิตและสถาบันวิจัย ได้เข้าไปดูห้องเก็บตัวอย่างวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ผลิตยา ได้สัมภาษณ์คนในเรื่องต่างๆ ฯลฯ
แต่นอกจากได้ ‘ความรู้’ แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ชอบก็คือได้เห็น ‘วัฒนธรรม’ ในการจัดงานของผู้เชิญด้วย เนื่องจากบังเอิญว่าเคยได้รับเชิญไปร่วมทริป ‘ดูงาน’ ในหลายที่ เช่นอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น จึงเห็นชัดเจนว่าคนชาติต่างๆ นั้นเขาเห็นคำว่า ‘ดูงาน’ คือการ ‘ดูงาน’ จริงจัง ไม่ใช่ดูงานไปด้วยเที่ยวไปด้วย แม้คนอเมริกันจะแลดูผ่อนคลายที่สุด แต่ก็ยังจริงจังกับการให้ความรู้ ในขณะที่ถ้าเป็นญี่ปุ่น เยอรมนี หรือสวิตเซอร์แลนด์นั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง แทบไม่มี ‘ความเล่น’ ใดๆ ทั้งสิ้น หลายครั้งผมเลยเจอสื่อหาวเรอ นั่งหลับระดับกรนเสียงดังอยู่ในห้องประชุมที่เขากำลังให้ข้อมูลอยู่ก็มี
แอบมีเกร็ดเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่ง มีบรรณาธิการที่เคร่งครัดและเข้มงวดเคยส่งนักข่าวในกองบรรณาธิการไปทริปสื่อแบบที่สามในยุโรป แต่เมื่อกลับมาแล้ว นักข่าวเขียนข่าวผิดพลาด ทำให้บรรณาธิการเรียกมาสอบถามจนรู้ว่านักข่าวคนนี้หลับในที่ประชุม (ซึ่งอาจเกิดเพราะการเดินทางเปลี่ยนโซนเวลาด้วยส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือนักข่าวไม่สนใจจริงๆ) ผลก็คือ บรรณาธิการให้นักข่าวคนนี้ออกจากงานทันที-เพราะถือว่าปฏิบัติงานไม่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราย้อนกลับมาดู ‘สื่อไทย’ ที่เติบโตหล่อหลอมมากับ ‘วัฒนธรรมแบบไทยๆ’ เราจะพบว่าสื่อจำนวนมากชอบเดินทางไปกับทริปแบบที่สองมากที่สุด โดยเฉพาะถ้าได้เดินทางไปด้วยกันกับเพื่อนสื่อที่คุ้นเคยกันดี เพราะจะเหมือนการเดินทางไปเที่ยวดีๆ นี่เอง โดยโปรแกรมที่ ‘ต้องมี’ เสมอเวลาเดินทางทริปสื่อ ก็คือต้อง ‘พา’ ไปช้อปป้ิง ยิ่งถ้ามีโปรแกรมไป ‘เอาท์เล็ต’ ได้ยิ่งดี (บางทีก็ไปกันทั้งวัน!)
มันเหมือนกับว่า การ ‘เที่ยว’ คือ default ของการเดินทางออกนอกประเทศ เพราะฉะนั้น ต่อให้ไปทำงาน ก็ต้องมีการเที่ยวอยู่ด้วย แล้วไม่ใช่เป็นตัวประกอบ แต่ต้องเป็นตัวหลัก บ่อยครั้งทีเดียวที่ผมถึงขั้นรู้สึก ‘สงสาร’ ผู้ให้ข้อมูลจากประเทศนั้นๆ ที่พยายามให้ข้อมูลเจาะลึกมากๆ (เช่นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์) เพราะสื่อส่วนใหญ่ที่ร่วมทริปไปด้วยกันไม่ค่อยมีความรู้มากพอที่จะสนใจความรู้ที่จะได้รับ ที่สนใจมากกว่าคือสนใจว่าประเดี๋ยวจะได้ไปช็อปปิ้งที่ไหน มีที่ให้ซื้อ ‘ของฝาก’ ที่คนนั้นคนนี้ฝากซื้อมาหรือเปล่า
พูดง่ายๆก็คือ การไปทริป ‘ดูงาน’ เพื่อให้ ‘ได้งาน’ (หรือได้ ‘ความรู้’) ไม่ใช่ลำดับความสำคัญแรกของหลายคนนั่นแหละครับ
แต่กระนั้น ที่เล่าๆ มานี่ ไม่ได้จะต่อว่าต่อขานอะไรใครนะครับ มันเป็นเพียงข้อสังเกต และอยากจะบอกคุณเพียงว่า-นี่คือ ‘ภาวะปกติ’ ที่เกิดขึ้นกับการเดินทางไป ‘ดูงาน’ หรือ ‘ทำงาน’ ของสื่อจำนวนหนึ่งในสังคมไทยเฉพาะที่ผมได้พบพานมาเท่านั้น ซึ่งก็ต้องขอเน้นย้ำยืนยันเอาไว้ตรงนี้ด้วยนะครับ, ว่าผมไม่เชื่อ-ร้อยไม่เชื่อพันไม่เชื่อ, ว่าสื่อ ‘ส่วนใหญ่’ รวมทั้ง ‘คนส่วนใหญ่’ ในสังคมไทยของเราจะเป็นอย่างนั้น ผมเพียงแต่อาจจะแจ็กพ็อตก็ได้ ที่ตลอดชีวิตที่ผ่านมาได้เจอคน ‘บางคน’ ที่เป็นอย่างที่ว่า (แต่ก็แหม! เป็นส่วนใหญ่ของทริปเสียละมาก!) ก็เท่านั้น
ยิ่งช่วงหลังๆ ได้ยินข่าวที่ออกมาเสียกระหึ่ม-ว่าพวกข้าราชการหน่วยงานต่างๆ มีทั้งหน่วยงานทั่วไปและหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนทั้งในด้านความมั่นคงและความยุติธรรม-มีพฤติกรรมการ ‘ดูงาน’ ที่แปลกๆ เช่น ไปดูงานอะไรกันตั้งเกือบครึ่งเดือน แถมยังมีตารางไปตาม Tourist Spots ต่างๆ มากกว่าไปศึกษาเล่าเรียนเพื่อนำความรู้จากนานาประเทศมาใช้พัฒนาสังคมไทย ยังกับเป็นเด็กโง่เซอะที่พ่อแม่ไม่เคยพาไปเปิดหูเปิดตาที่ไหน พอมีโอกาสก็เลยต้องใช้ (ภาษีประชาชน) ให้คุ้มน่ะ,
ผมยิ่งไม่เชื่อใหญ่!
ข้าราชการไทย โดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายในประเทศนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นคนดีกันทั้งนั้น ท่านๆทั้งหลายจะไปหมกมุ่นกับการเที่ยว กิน ช้อปปิ้ง หรือทำอะไรแบบนั้นไปได้อย่างไรกัน ผมเห็นว่าทุกท่านมีแต่ความมุ่งมั่นตั้งใจดีที่จะพัฒนาประเทศกันถ้วนทั่วทุกตัวคนไป ใครไปว่าท่านนี่ ระวังบาปหนาตกนรกเกิดมาเป็นเปรตปากเท่ารูเข็มไม่รู้ด้วยนะครับ
แต่กระนั้น พอฟังเรื่อง ‘อคติ’ พวกนี้มากๆ เข้า บางทีก็ทำให้ผมนึกถึงบรรณาธิการที่ให้นักข่าวออกจากงานเพราะไปนั่งหลับระหว่างฟังบรรยายคนนั้นขึ้นมาเหมือนกัน ตอนนั้นหลายคนในวงการบอกว่าบรรณาธิการคนนั้น ‘โหด’ เกินไปที่ทำขนาดนั้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผมว่าบรรณาธิการคนนั้นกำลังรักษา ‘ประโยชน์’ ให้กับหลายส่วนนะครับ ตั้งแต่ประโยชน์ของบริษัทของตัวเอง ประโยชน์ของหน่วยงานที่ออกตังค์ค่าเครื่องบินเชิญไป รวมไปถึงประโยชน์ของ ‘ผู้อ่าน’ ในอันที่จะได้รับข้อมูลความรู้ที่ครบถ้วนและพิถีพิถันที่สุด เพื่อให้คุ้มกับการใช้จ่าย ‘รอยเท้าคาร์บอน’ เดินทางไปตั้งครึ่งโลก
แต่คำถามก็คือ-แล้วถ้าเป็นเรื่องที่พวกคนปากเสีย ‘เมาท์’ กันว่าในวงการราชการมีการ ‘ดูงาน’ แบบเที่ยวมากกว่าทำงาน แถมยังใช้ภาษีของประชาชนล่ะครับ จะมีใครคอยทำตัวเป็นเหมือนบรรณาธิการคนนั้นที่คอยดูแลตรวจสอบ โดยมีพื้นฐานแห่งสำนึกเพื่อรักษา ‘ประโยชน์’ ของเจ้าของเงิน-คือประชาชน, อยู่บ้างไหม
ต้ังคำถามนี้ขึ้นมาแล้วผมก็แทบจะตบปากตัวเอง ทำไมถึงคิดอะไรชั่วๆ แบบนี้ขึ้นมาได้นะ ก็ต้องมีอยู่แล้วสิ-ระบบตรวจสอบน่ะ ถ้าเราเชื่อมั่นในคุณงามความดีของข้าราชการไทยนะ มันต้องมีอยู่แล้ว มันต้องมีแน่ๆ
เอ๊ะ! หรือว่ามีใครไม่เชื่อ!