ผมสารภาพตามตรงว่าไม่ใช่คอหวย เพราะเคยนั่งบวกลบคูณหารแล้วพบว่าถ้าซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลไทยไปเรื่อยๆ จะขาดทุนเฉลี่ยประมาณ 30 บาท/ฉบับ (ใครสนใจตามไปอ่านต่อได้ที่ เล่นหวยรวยเมื่อไหร่? ทำไมการเล่นหวยไม่ทำให้คุณรวยในชาตินี้) แต่ในวันเกิดลูกชายก็อดไม่ได้ที่จะให้เลือกลูกหยิบหวยจากแผงแบบขำๆ ในปั๊มน้ำมันแถวบ้าน แต่ก็ต้องผงะเพราะเจอราคาใบละ 120 บาท หรือแพงกว่าราคาที่ควรจะเป็นถึง 50%
ปัญหาการขายหวยเกินราคาเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อยาวนานและสร้างความปวดหัวให้กับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ใช้มาตรการบังคับก็ไร้ผล ลงพื้นที่ตรวจสอบก็ไม่เคยเจอหวยเกินราคา (แหม! ก็ไม่เคยจะเห็นใครติดราคากันสักคน) พยายามคัดเลือกตัวแทนจำหน่าย ปรับเปลี่ยนวิธีกระจายโควตา แต่ปัญหาก็ยังเหมือนเดิม สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ ‘แพลตฟอร์ม’ ซื้อขายหวยออนไลน์ภาคเอกชนที่ตั้งราคาขายเกิน 80 บาทอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายด้วยเหตุผลที่ว่า ‘รับซื้อมาแพง’
แต่ก่อนที่จะไปพูดคุยกันเรื่องทางออก ผมขอชวนมาเข้าใจโครงสร้างราคาหวยว่าเหล่าพ่อค้าแม่ขายรายย่อยได้กำไรกันเท่าไหร่ แล้วปิดท้ายด้วยกรณีศึกษาในการจัดการลอตเตอรีในสหราชอาณาจักรที่รัฐให้สัมปทานเอกชนในการบริหารจัดการ นับเป็นทางเลือกที่อาจช่วยตัดตอนปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนและความไร้ประสิทธิภาพของวงการหวยแบบไทยๆ
จ่าย 80 บาท เข้ากระเป๋าใครบ้าง?
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าเงิน 80 บาท ที่เราจ่ายซื้อหวยแต่ละฉบับจะไหลเข้ากระเป๋าใครบ้าง ก้อนใหญ่ที่สุดก็หนีไม่พ้นเงินรางวัลคิดเป็น 48 บาท (60%) ต่อหนึ่งฉบับ รองลงมาคือรายได้เข้ารัฐ 18.40 บาท (23%) ตัวแทนจำหน่ายเก็บไป 9.60 บาท (12%) ที่เหลือก็เป็นค่าบริหารจัดการอื่นๆ อีก 4 บาท
ในแต่ละงวด พ่อค้าแม่ค้าขายหวยรายย่อยจะได้โควตาทั้งสิ้นคนละ 5 เล่มหรือ 500 ฉบับ โดยเป็นการขายขาด กล่าวคือถ้ารับมาแล้วจำหน่ายไม่หมดก็ต้องเก็บไว้ลุ้นรางวัลเอง นับว่าเป็นการแบกรับความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง เพราะสัดส่วนกำไรต่อฉบับหากขายตามราคาที่กฎหมายกำหนดนั้นค่อนข้างน้อย แถมรายได้โดยรวมก็ยังไม่พอต่อการเลี้ยงชีพซึ่งสำนักงานสลากฯ ก็ทราบดีและระบุเหตุผลว่า ต้องการให้การขายหวยเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น
เพื่อให้เห็นภาพความเสี่ยงที่ต้องแบกรับและผลกำไรอันน้อยนิดของผู้ค้ารายย่อย ผมขอยกตัวอย่าง 3 สถานการณ์ของพ่อค้าแม่ค้าที่ขายหวยเพื่อยังชีพดังนี้ครับ
สถานการณ์ที่ 1 ขายหวย 80 บาท
เหล่าพ่อค้าแม่ค้าขายหวยจะรับสลากกินแบ่งรัฐบาลจากกองสลากฯ ตามโควตา 500 ฉบับในราคาฉบับละ 70.4 บาท คิดเป็นเงินลงทุน 35,200 บาทในแต่ละงวด หากผู้ค้าปลีกขายหวยในราคาฉบับละ 80 บาท พวกเขาหรือเธอก็จะต้องขายหวยทั้งสิ้น 440 ฉบับหรือราว 90% จึงจะถึงจุดคุ้มทุน กล่าวคือถ้าขายไม่ถึง 440 ฉบับก็จะเสมือนหนึ่งว่าควักกระเป๋าเงินตัวเองมาซื้อหวยนั่นเอง
หากงวดนั้นขายดีเป็นเทน้ำเททิ้งทั้ง 500 ฉบับ ผู้ค้าปลีกจะได้กำไรทั้งสิ้น 4,800 บาท/งวด หรือเท่ากับ 9,600 บาท/เดือน นับเป็นผลตอบแทนที่ไม่สูงนักหากเทียบกับการที่ต้องลงทุนร่วม 70,000 บาทในแต่ละเดือน แถมยังมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะขาดทุนเพราะคอหวยต่างก็มีเลขในใจ ทำให้สลากบางเลขขายค่อนข้างยาก
สถานการณ์ที่ 2 ขายหวย 100 บาท
สำหรับกลุ่มนี้ก็ได้รับสลากกินแบ่งรัฐบาลตามโควตาและใช้เงินลงทุนเท่ากับกลุ่มแรก แต่ยอมเสี่ยงทำผิดกฎหมายโดยขายปลีกในราคาฉบับละ 100 บาท ราคาที่ดูจะเพิ่มมาไม่มากกลับทำให้เป้าหมายที่จะคุ้มทุนลดเหลือการขายหวยให้ได้ 352 ฉบับ หรือคิดเป็น 70% เท่านั้น แถมในงวดที่ขายหมดยังทำกำไรได้ถึง 3 เท่าตัวคือราว 14,800 บาท/งวด หรือเท่ากับ 29,600 บาท/เดือน เรียกว่าอยู่ได้แบบไม่ลำบาก
สถานการณ์ที่ 3 รับมาเพื่อขายต่อให้พ่อค้าคนกลาง
กลุ่มสุดท้ายอาจไม่นับว่าเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายหวยรายย่อย แต่เปรียบเสมือนนักขอโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลเสียมากกว่า พวกเขาจะไม่แบกรับความเสี่ยงไว้กับตัวเอง แต่ขายหวย 5 เล่มที่ได้รับมาให้กับพ่อค้าคนกลางทันที หมายความว่าพวกเขาจะได้รับรายได้เดือนละราว 10,000 บาทในฐานะผู้ให้บริการขอโควตาหวยจากรัฐบาล
กลุ่มนี้มองเผินๆ ก็ไม่ได้ทำผิดกฎหมายข้อไหนเพราะขอโควตาตามระบบและขายหวยในราคา 80 บาท แต่หากมองในภาพใหญ่จะเห็นว่ากลุ่มนี้คือต้นเหตุสำคัญของปัญหาหวยเกินราคาเพราะพ่อค้าคนกลางที่รับหวยไปในราคา 80 บาท ย่อมต้องบวกกำไรของตัวเองเข้าไปเพื่อกระจายให้กับผู้ค้าหวยรายย่อยอีกทอดหนึ่ง เช่น ขายต่อในราคาฉบับละ 90 บาท พ่อค้าแม่ค้าที่รับมาก็ไม่มีทางเลือกนอกจากจะเพิ่มราคาขายเพื่อเก็บกำไรบางส่วนเข้ากระเป๋า กว่าหวยจะเดินทางมาถึงมือผู้บริโภค ราคาก็อาจปาเข้าไป 100 ถึง 110 บาท
จะเห็นว่ากลุ่มคนขายหวยในราคา 80 บาท นับว่า ‘อยู่ยาก’ ที่สุด เพราะนอกจากจะต้องแบกรับความเสี่ยงสูงแล้ว ผลตอบแทนยังต่ำอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนยอมเสี่ยงทำผิดกฎหมายโดยการขายหวยเกินราคา หรือตัดสินใจขายต่อให้กับพ่อค้าคนกลางแบบยกชุดซึ่งไม่ว่าทางเลือกใด ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ต้องซื้อหวยแบบเกินราคาอยู่ดี
แต่นอกจากโครงสร้างราคาและกำไรที่เป็นปัญหาแล้ว การจัดสรรโควตาหวยของไทยยังมี ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ ผ่านการจัดสรรโควตาให้กับเครือข่ายคนรู้จัก ซึ่งวิธีหนึ่งที่จะขุดรากถอนโคนเหล่าเสือนอนกินส่วนต่างก็คือการส่งไม้ให้ภาคเอกชนเป็นคนบริหารจัดการแทนที่จะให้ภาครัฐควบคุมดูแลดังเช่นปัจจุบัน
ผลประโยชน์ทับซ้อนของวงการหวยไทย
ในแต่ละงวด สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะพิมพ์สลากจำนวนทั้งสิ้น 100 ล้านฉบับ โดย 31 ล้านฉบับ จัดสรรให้กับตัวแทนจำหน่าย ส่วน 69 ล้านฉบับ จำหน่ายผ่านระบบซื้อและจองล่วงหน้า แต่รายละเอียดของผู้ได้รับการจัดสรรนั้นไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2558 สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้ยื่นคำร้องให้เปิดเผยโควตการขายสลากของรัฐบาลเนื่องจากเป็นข้อมูลสาธารณะตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ทำให้เราพอได้แง้มเข้าไปเห็นภาพเหล่า ‘เสือ’ ตัวกลางที่กินส่วนต่างของสลาก โดยอันดับหนึ่งคือมูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (9.2 ล้านฉบับ) รองลงมาคือสมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (2.7 ล้านฉบับ) และองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (2.35 ล้านฉบับ) นอกจากนี้ หนึ่งในห้าอันดับแรกที่ได้รับจัดสรรโควตาหวยมากที่สุดยังมีนักการเมืองที่เรารู้จักชื่อกันดีอย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
แม้เครือข่ายอำนาจเก่าจะถูกโค่นล้มลงไปจากการรื้อระบบโควตาหวยโดย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แต่ปัญหาก็ยังคาราคาซังจวบจนปัจจุบัน น่าเสียดายที่ปัจจุบันผมเองไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่าใครบ้างที่ได้โควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลระบบใหม่ที่มีการพิมพ์สลากเพิ่มจาก 72 ล้านฉบับเป็น 100 ล้านฉบับ ซึ่งสร้างรายได้เข้ารัฐแบบเป็นกอบเป็นกำจนตัวเลขทะยานมากกว่ารัฐวิสาหกิจข้ามชาติยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท. เสียด้วยซ้ำ
เมื่อหวยแพงกลับมาเป็นพาดหัวข่าวอีกครั้ง รัฐบาลก็ยังใช้กลยุทธ์เดิมๆ ที่เคยพิสูจน์แล้วว่าแก้ไขปัญหาไม่ได้ เช่น การคัดสรรผู้ค้าหวยรายย่อย ‘ตัวจริง’ หรือการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น แม้ว่าคราวนี้จะมีการขยับไปขายผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ แต่ก็ยังไม่กล้าหันไปขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพราะกังวลว่าคนพิการราว 28,000 คนที่ต้องพึ่งพาการจำหน่ายหวยเป็นรายได้หลักจะไม่มีงานทำ
การแก้ไขปัญหาเช่นนี้ไม่ต่างจากความพยายามปะเรือเก่าที่ผุพัง ในเมื่อเราได้พิสูจน์แล้วว่าทางออกดังกล่าวใช้แก้ปัญหาไม่ได้ ผมจึงขอเสนอโมเดลใหม่ที่ใช้ในหลายประเทศคือเปลี่ยนบทบาทของรัฐบาลจากผู้ผลิตให้เป็นผู้กำกับดูแล เปิดให้ภาคเอกชนผู้เชี่ยวชาญเข้ามาขอสัมปทานหวย พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขที่ต้องการ เช่น การแบ่งกำไรให้ภาครัฐ การดูแลผู้บริโภคหากมีอาการเสพติดการพนัน หรือการส่งเสริมผู้พิการ
สหราชอาณาจักรจัดการหวยอย่างไร?
The National Lottery ของสหราชอาณาจักรมอบสัมปทานให้บริษัท Camelot เข้ามาบริหารจัดการตั้งแต่ พ.ศ.2537 โดยสิ่งแรกที่บริษัทดำเนินการคือการติดตั้งตู้ (terminal) สำหรับซื้อ-ขายสลากตามราคาที่กำหนดไว้ โดยใช้ข้อมูลความหนาแน่นของประชากรและอัลกอริทึมในการกำหนดจุดติดตั้งตู้ที่เหมาะสมที่สุด โดยร้านรวงที่ติดตั้งตู้จะได้ 5% ของยอดขายบวกกับ 1% ของเงินรางวัลในกรณีที่ลอตเตอรีจากตู้นั้นถูกรางวัล ก่อนจะขยับขยายให้มีการซื้อขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มเติม
นอกจากนี้ Camelot ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกเหนือจากลอตเตอรีธรรมดามาจูงใจผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มลูกเล่น Thunderball ลูกบอลพิเศษที่เพิ่มโอกาสถูกรางวัลมากขึ้น หรือลอตเตอรี Set For Life ที่หากถูกรางวัลก็จะสบายไปตลอดชีวิตเพราะรางวัลที่ 1 คือการได้รับเงินเดือนละ 10,000 ปอนด์ (ราว 430,000 บาท) ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 30 ปี
การบริหารที่เน้นผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางทำให้ผู้ใหญ่ชาวอังกฤษกว่า 60% ต่างก็เคยแวะเวียนเข้ามาเล่นลอตเตอรี แต่ในขณะเดียวกัน หน่วยงานกำกับดูแลเองก็เข้าใจว่าคนจำนวนหนึ่งอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเสพติดการพนัน จึงมีเครื่องมือเชิงรุก เช่น ระบบวิเคราะห์พฤติกรรมการเล่นลอตเตอรีที่เข้าข่ายว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที รวมทั้งช่องทางต่างๆ เพื่อทำแบบประเมินและขอคำปรึกษาอีกด้วย
ส่วนรายได้ที่จะเข้าภาครัฐก็มีการจัดสรรอย่างเป็นระบบ โดยกฎหมายกำหนดให้เงินก้อนดังกล่าวต้องใช้สนับสนุนด้านศิลปะ 20% ด้านกีฬา 20% ด้านมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ 20% ส่วน 40% ที่เหลือจะต้องจัดสรรเพื่อประโยชน์สาธารณะ โครงการด้านสุขภาพ การศึกษา หรือสิ่งแวดล้อม
ที่สำคัญ สัมปทานลอตเตอรีนั้นมีอายุจำกัด แม้ว่า Camelot จะดำเนินการให้ The National Lottery มาร่วม 30 ปี แต่ล่าสุดคณะกรรมการการพนันของสหราชอาณาจักรตัดสินใจมอบสัมปทานให้บริษัท Allwyn ที่มาพร้อมกับข้อเสนอที่น่าสนใจกว่า ทั้งจำนวนเงินรายได้เข้ารัฐที่สูงกว่า และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อดึงดูดใจฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่ซึ่งมองว่าการเล่นหวยนั้นไม่สนุกอีกต่อไป
ระบบสัมปทานจึงนับเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดเพราะให้แต่ละฟากฝั่งทำหน้าที่ที่ตนเองถนัด ไม่ต้องขยับตัวแบบอิหลักอิเหลื่อเหมือนสำนักงานสลากฯ ของไทยที่เมื่อ 30 ปีก่อนเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิมสักเท่าไหร่ เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างเชื่องช้าและยากเย็นตามสไตล์รัฐบาล
ในเมื่อระบบเก่าล้าหลังและเต็มไปด้วยปัญหา จะดีกว่าไหมหากเราจะมองหาระบบใหม่ที่พิสูจน์ในต่างประเทศแล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่า?
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart