ในช่วงเดือนเมษายนถึงตุลาคม ปี ค.ศ.1993 มีเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในแถบมิดเวสต์ของสหรัฐอเมริกา อุทกภัยที่เกิดขึ้นตามแนวแม่น้ำมิสซิสซิปปี้และแม่น้ำมิสซูรี ส่งผลกระทบท่วมทำลายพื้นที่ความยาว 1,199 กิโลเมตร และความกว้างขนาด 700 กิโลเมตร รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 830,000 ตารางกิโลเมตร สร้างมูลค่าความเสียหายราว 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 953,000 ล้านบาท
นับได้ว่าเป็นเป็นภัยพิบัติที่เลวร้ายที่สุดของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่มิสซิสซิปปี้ในปี ค.ศ.1927 และเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกไว้ในแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ สถานที่บางแห่งถูกน้ำท่วมเกือบ 200 วัน บ้านเรือนประมาณ 100,000 หลัง พื้นที่เพาะปลูก 60,000 ตารางกิโลเมตร ถูกทำลาย ผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 50 คน และแม้ว่าน้ำจะหายไปแล้ว ดินทรายจำนวนมากยังคงปกคลุมพื้นที่เพาะปลูกและบ้านเรือนจนต้องใช้เวลาหลายเดือนในการบูรณะขึ้นมาใหม่
เหตุการณ์นี้ถูกว่า ‘มหาอุทกภัยปี 1993’ หรือ ‘Great Flood of 1993’
เมืองควินซี (Quincy) เป็นเมืองที่ตั้งในเทศมณฑลอดัมส์ รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองชื่อดังที่รู้จักกันในชื่อ ‘เมืองอัญมณี’ ของรัฐอิลลินอยส์ มันตั้งอยู่แถบแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ และมีประชากรราว 40,000 คน ในช่วงเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ.1993 เมืองควินซีก็ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเมืองควินซีและเมืองฮันนิบาลที่อยู่ถัดไปทางทิศใต้ของเมืองควินซีรวมถึงชาวบ้านบริเวณรอบๆ ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ของพวกเขาในการเสริมความแข็งแรงและความสูงให้กับเขื่อนกั้นน้ำท่วมบริเวณทิศตะวันตกของเมืองควินซีที่คอยกั้นระหว่างเมืองและแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ไม่ให้ไหลพัดเข้ามายังเมือง
การเสริมสร้างความสูงของเขื่อนนั้นได้ผล มันทำให้ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นมหาศาลในแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ไม่ไหลเข้ามายังเมือง สถานการณ์ดูผ่อนคลายลงเรื่อย ๆ จนระดับแม่น้ำหยุดสูงขึ้นรวมถึงยังลดลงต่ำกว่าเขื่อนถึง 46 เซนติเมตร แต่แล้ว ในคืนวันที่ 16 กรกฎาคม กลับเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น แนวกั้นเขื่อนเกิดล้มโดยไม่ทราบสาเหตุและไม่มีใครคาดคิด แม่น้ำไหลทะลุผ่านเขื่อนเข้ามายังเมืองควินซี เกิดน้ำท่วมบนพื้นที่กว่า 14,000 เอเคอร์ หรือ 57 ตารางกิโลเมตร บ้านเรือนหลายพันหลังเสียหาย ธุรกิจหลายแห่งในแถบควินซีตะวันตกถูกทำลาย สะพานที่เป็นทางข้ามแม่น้ำและเมืองทั้งหมดถูกทำลาย เรือลำหนึ่งถูกแรงของแม่น้ำดูดทะลุเขื่อนเข้าไปในเมืองกระแทกเข้ากับปั๊มน้ำมันจนทำให้เกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่ แม้ว่าจะไม่มีใครเสียชีวิต แต่ผู้คนจำนวนมากต้องอพยพหนีตายไปยังเมืองเซนต์หลุยส์ และเมืองเบอร์ลิงตัน รัฐไอโอวา เป็นเวลาหลายสัปดาห์จนกระทั่งน้ำเริ่มลด
แต่มันเกิดอะไรขึ้นกับเขื่อนที่ไม่น่าจะพังได้? ถ้าไม่ใช่จากการกระทำของใครบางคน และชายผู้นั้นนามว่า เจมส์ สก็อตต์ (James Scott)
เจมส์ สก็อตต์ เกิดในปี ค.ศ.1969 เขาอยู่และเติบโตในเมืองควินซี รัฐอิลลินอยส์ มาโดยตลอด เจมส์ในวัย 13 ปีถูกจับเป็นครั้งแรกในข้อหาลอบวางเพลิงโรงเรียนประถมของตน และในวัย 19 ปีเขาก็ถูกจับอีกครั้งในข้อหาลอบวางเพลิง หลังจากนั้นเจมส์ก็เข้าๆ ออกๆ เรือนจำอยู่บ่อยครั้งในข้อหาลักเล็กขโมยน้อย ในปี ค.ศ.1993 เจมส์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ไม่กี่เดือนเขาก็ได้แต่งงานกับหญิงสาวนามว่า ซูซี่
ซูซี่ ทำงานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งบริเวณจุดพักรถบรรทุกในเมืองเทย์เลอร์ รัฐมิสซูรี ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของเมืองควินซี ซึ่งการเดินทางจะต้องขับรถขึ้นสะพานควินซีเมมโมเรียลข้ามแม่น้ำแม่น้ำมิสซิสซิปปี้เท่านั้น และในระหว่างเหตุการณ์ ‘มหาอุทกภัยปี 1993’ ที่ระดับน้ำในเขื่อนกั้นน้ำท่วมบริเวณทิศตะวันตกของเมืองควินซีเริ่มสูงขึ้น เจมส์ก็เริ่มคิดไอเดียขึ้นได้ เขาคิดว่าหากทำให้ถนนสายเดียวที่ซูซี่สามารถกลับบ้านได้นั้นท่วมสนิท เธอคงต้องติดอยู่ในเมืองเทย์เลอร์อีกหลายวัน และเขาก็สามารถไปงานปาร์ตี้ทุกที่ได้อย่างสบายใจและไปมีเซ็กซ์กับใครก็ได้โดยไม่มีภรรยามาตามอย่างแน่นอน
สภาพของเขื่อนกั้นน้ำท่วมในตอนนั้นมันถูกยกสูงขึ้นเพื่อกันน้ำจากแม่น้ำด้วยการด้วยทรายถมขนาด 15 ฟุต และปกคลุมด้วยแผ่นพลาสติกขนาดใหญ่เพื่อลดการกัดเซาะ ตามด้วยการวางกระสอบทรายไว้ด้านบนเพื่อให้มันยึดอยู่กับที่
เย็นวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1993 เจมส์ สก็อตต์ เดินไปยังกระสอบทรายบนเขื่อนแห่งนี้ เขาทำอะไรบางอย่างกับมัน และกลับเข้าไปในเมืองพร้อมสังสรรค์และเมาอย่างบ้าคลั่ง และในคืนนั้นเองเขื่อนก็เกิดล้ม น้ำจากแม่น้ำไหลเข้าปกคลุมสะพานและถนน ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเดินทางไปมาได้อีกต่อไป แต่มันไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะน้ำได้เข้าไปยังเมืองควินซี ทำลายทรัพย์สินและธุรกิจมหาศาล ซูซี่มิอาจเดินทางมาหาเจมส์ได้จริง แต่เขาอาจลืมนึกถึงสิ่งที่ตนทำลงไปว่าจะกลายจะเป็นมหันตภัยที่รุนแรงขนาดนี้
เช้าวันที่ 17 กรกฎาคม มิเชลล์ แมคคอร์แมค นักข่าวของ WGEM-TV ซึ่งเป็นบริษัทสื่อในเครือของ NBC ในเมืองควินซี พร้อมริค จังเกอร์แมน ช่างกล้อง รีบรุดเข้าไปดูบริเวณจุดที่เขื่อนเกิดพังทลายทันที และในบริเวณเขื่อนนั้น เธอก็พบกับชายคนหนึ่งที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ที่เกิดเหตุ ชายคนนั้นคือเจมส์ สก็อตต์ ที่มาแต่เช้าเพื่อดูสิ่งที่เขาทำลงไปเมื่อคืน แมคคอร์แมคเดินเข้าไปหาเจมส์และสัมภาษณ์เขาออกรายการสด เจมส์กล่าวว่าเมื่อตอนเย็นวันที่ 16 เขามาที่นี่เพราะเห็นจุดอ่อนบนเขื่อนและพยายามจะใส่กระสอบทรายเพิ่ม จากนั้นเจมส์ก็บอกว่าเขาได้กลับไปดื่มในเมือง แต่พอมาอีกทีตอนเช้าก็พบว่าเขื่อนได้พังทลายลงไปแล้ว
นีล เบเกอร์ (Neil Baker) ตำรวจประจำเมืองควินซีได้เห็นการสัมภาษณ์เรื่องราวน้ำท่วมครั้งนี้ก็มีความสงสัยทันที เบเกอร์รู้จักเจมส์ สก็อตต์เป็นอย่างดี เพราะเขาเป็นคนจับกุมเจมส์ในขณะที่เขาเป็นสายตรวจเมื่อครั้งที่เจมส์พยายามลอบวางเพลิงในปี ค.ศ.1982 และ ค.ศ.1988 เรื่องราวน้ำท่วมอย่างกระทันหันนี้จึงฟังดูน่าสงสัยสำหรับนีล เบเกอร์ ผู้ที่ไม่เชื่อว่าชายคนดังกล่าวจะเป็นคนที่มีจิตใจอาสามากกว่าอยากทำลายล้าง ประการแรกคือนีลสังเกตเห็นว่า เจมส์นั้นแต่งตัวดูสะอาดและเรียบร้อยเกินกว่าเพื่อจะมาทำงานบนเขื่อนตลอดทั้งวัน ประการที่สองคือเมื่อนักข่าวถามรายละเอียดกับเขาเรื่องเขื่อน เจมส์กลับไม่รู้และไม่สามารถตอบคำถามง่ายๆ เกี่ยวกับเขื่อนกั้นน้ำนี้ได้ และประการที่สามคือเจมส์ไม่ได้สวมเสื้อชูชีพ ทั้งที่คนอื่นทั้งหมดกลับใส่
ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ตำรวจนีล เบเกอร์ เท่านั้นที่สงสัย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐมิสซูรีหลายคนก็กลับสงสัยประเด็นเช่นเดียวกันกับเขา และยิ่งไปกว่านั้นในวันที่เกิดเหตุบริเวณเขื่อนได้รับการตรวจสอบความแข็งแรงอย่างละเอียดราว 2 ชั่วโมงก่อนที่เจมส์จะมาที่เขื่อนตามที่เขากล่าวอ้าง และมันเป็นไปได้ยากมากที่เขื่อนจะพังลงหากไม่ใช่ด้วยความตั้งใจและทุ่มเทลงมือทำลายล้าง
1 สัปดาห์หลังจากเกิดเหตุ เจมส์ได้กลายเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่ง เขาถูกเรียกไปสอบปากคำอยู่หลายครั้ง และไม่สามารถเล่าเรื่องราวดังกล่าวได้ตรงกันสักครั้ง
1 ตุลาคม ค.ศ.1993 ราวเกือบ 3 เดือนหลังจากเกิดเหตุ ตำรวจควินซีได้จับกุมเจมส์ สก็อตต์ แต่ไม่ใช่ข้อหาทำน้ำท่วม ปรากฏว่า เจมส์ได้กลับไปลักทรัพย์เช่นเคย ศาลตัดสินว่าเขามีความผิดฐานลักทรัพย์ และถูกตัดสินจำคุก 10 ปี และในระหว่างที่เขาอยู่ในเรือนจำ ตำรวจได้ทำหน้าที่สืบเรื่องน้ำท่วมต่อ เจมส์ได้ยอมรับว่าเขาได้ดึงกระสอบทรายจำนวน 4 ใบออกจากเขื่อนกั้นน้ำ แต่เขาบอกว่าเขายกมันไปเพื่อย้ายไปยังจุดที่ยังมีปัญหา “เมืองของฉันกำลังมีปัญหา คนในควินซีและในเวสต์ควินซีกำลังจะสูญเสียทุกอย่าง นั่นเป็นเหตุผลที่ฉันลงไปยังที่เขื่อนนั้น ฉันไม่มีแผนจะทำร้ายอะไร พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ” เจมส์กล่าวระหว่างสอบปากคำในเรือนจำ
แต่เจมส์พูดความจริงหรือไม่? โจ แฟลชส์ เพื่อนเก่าแก่ของเจมส์บอกกับเจ้าหน้าที่สอบสวนว่า เจมส์นั้นบอกกับทุกคนที่เขาเจอในผับเมื่อคืนวันที่ 16 กรกฎาคม วันที่เกิดเหตุ ว่าเขานั้นตั้งใจทำเขื่อนพังเพื่อที่ซูซี่ ภรรยาของเขานั้นจะได้ติดอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำมิสซูรี เพื่อเจมส์จะได้จัดปาร์ตี้ได้อย่างอิสระ ได้ตกปลา และมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นได้ เจ้าหน้าที่จึงได้เรียกพยานที่อยู่ในผับวันนั้นมาสอบสวนเพิ่ม ปรากฏว่าทุกคนเล่าว่า เจมส์นั้นคุยโวกับทุกคนจริงเรื่องการพังเขื่อนเพื่อเซ็กซ์ หลักฐานพยานดังกล่าวนี้จึงได้กลายเป็นหลักฐานครั้งสำคัญในการพิจารณาคดีเหตุน้ำท่วมในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1994
สุดท้ายแล้วเจมส์ถูกศาลรัฐมิสซูรีตัดสินว่าจงใจทำให้เกิดภัยพิบัติซึ่งถือว่าเป็นอาชญากรรมอันร้ายแรง อัยการและผู้สอบสวนคดีนี้เชื่อว่า เจมส์ สก็อตต์นั้นไม่ได้ทำแค่ยกกระสอบทรายอย่างที่เขากล่าว แต่เจมส์นั้นตั้งใจถอดหรือตัดแผ่นพลาสติกที่คลุมแนวทราย จากนั้นจึงขุดลงไปในทรายจนกระทั่งเริ่มมีน้ำไหลเข้ามา
แต่ก็มีอีกหลักฐานหนึ่งที่ระบุว่า เจมส์นั้นไม่ได้ทำ เดวิด แฮมเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ดินแห่งมหาวิทยาลัยมิสซูรีกล่าวว่า เขื่อนกั้นน้ำนั้นอาจล้มลงเองเนื่องจากสาเหตุตามธรรมชาติ เนื่องจากการนำแนวทรายมากั้นนั้นอาจทำให้ความสมบูรณ์ของโครงสร้างเขื่อนลดลง แต่หลักฐานดังกล่าวก็มิอาจบดบังหลักฐานพยานหลายคนที่อ้างว่าเคยได้ยินเจมส์คุยโวเรื่องการทำลายเขื่อนลงได้ รวมไปถึงความไม่สอดคล้องกันในเรื่องราวที่เขาเล่าแก่เจ้าหน้าที่สอบสวน
หลังจากการไต่สวนเป็นเวลา 3 วัน คณะลูกขุนได้พิจารณาแล้วจึงตัดสินว่า เจมส์นั้นก่อเหตุภัยพิบัติขึ้นจริง เขาถูกตัดสินจำคุกเพิ่มอีก 10 ปี จากเหตุที่เขาลักขโมยซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนหน้านี้
ในระหว่างการพิจารณาของเจมส์ สก็อตต์
ผู้พิพากษากล่าวว่า
“เริ่มต้นด้วยไฟ แต่จบลงด้วยน้ำ”
ในปีค.ศ.1997 เจมส์ได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน เขาถูกพิจารณาคดีเป็นครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1998 ในครั้งนี้เรื่องราวนี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากสื่อทั่วทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น The New York Times, CBS และ ABC รวมทั้งออกอากาศทาง Court-TV
และครั้งนี้เขาก็กลับถูกตัดสินว่ามีความผิดอีกครั้ง แต่คราวนี้เขากลับถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต อดัม พิธลัค อดีตนักข่าวของ Time ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า ‘Damned to Eternity’ ซึ่งมีเนื้อหาพยายามอธิบายว่าเจมส์ สก็อตต์นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ และแน่นอนว่า ซูซี่ ภรรยาของเจมส์ ได้ทำการหย่ากับเขาเรียบร้อย
ในปัจจุบัน เจมส์ สก็อตต์ในวัย 52 ปี ยังคงรับโทษอยู่ที่เรือนจำเมืองเจฟเฟอร์สัน และเขากำลังจะได้รับทัณฑ์บนออกจากเรือนจำในปีหน้านี้ (ค.ศ.2023) หวังว่าจะไม่ออกไปขโมยของ เผาสถานที่ หรือทำน้ำท่วมที่ไหนอีกนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก