อันเนื่องจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เพศสภาพของชายรักต่างเพศถูกยกให้มีคุณค่าความหมายสูงกว่า ถูกทำให้กลายเป็นสถาบันหลักๆ เช่น ศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ครอบครัว ศาล ทหาร การทูต รัฐจึงกลายเป็น ‘รัฐผู้ชาย’ (male state) ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ส่งสารรับใช้หรือเป็นตัวแทนของระบบปิตาธิปไตย และก่อตั้งขึ้นเพื่อผลประโยชน์เฉพาะผู้ชายรักต่างเพศมากกว่า และรัฐด้วยตัวของมันเองคือผู้กดขี่ในฐานะโครงสร้างอำนาจแบบชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงและเพศสภาพอื่นๆ กลายเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย คนชายขอบที่โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรน้อยกว่า และถูกให้คุณค่าความหมายต่ำกว่า[1]
สถาบันเช่นนี้ไม่เพียงสร้างโครงสร้างที่อำนวยให้เพศชายมีอำนาจบทบาทเหนือเพศอื่นๆ แต่ยังแยกชายรักต่างเพศออกจากผู้หญิงและชายรักเพศเดียวกัน เป็นพื้นที่สังคมที่มีแหล่งกำเนิดดั้งเดิมเป็นสังคมชายล้วน หรือแม้ว่าต่อมาจะเริ่มมีสมาชิกหญิงหรือเกย์แฝงเข้ามาแต่ก็ยังจะคงเป็นสถาบันในนามของผู้ชายรักต่างเพศ นำไปสู่การสร้างชนชั้นและความเหลื่อมล้ำในโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมในรูปแบบที่สร้างความชอบธรรมให้มีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิงและรวมไปถึงชายรักเพศเดียวกัน ซึ่งกลายเป็นโครงสร้างในทุกๆ วัฒนธรรมบนพื้นที่สาธารณะ[2]
มากไปกว่านั้น การรวมกลุ่มเป็นสังคมผู้ชายก็เกิดมาจากความหวาดกลัวและรังเกียจคนรักเพศเดียวกัน โดยทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ‘homosexual panic’ ซึ่งแท้จริงเป็นเพียงข้ออ้างหรือคำแก้ตัวของผู้ที่รังเกียจคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชาย ที่ใช้ในการป้องกันตนเองจากข้อกล่าวหาทั้งทางกฎหมายหรือสังคม เพื่อให้ได้รับบทลงโทษน้อยลงจากการโจมตีทำร้ายใช้ความรุนแรงต่อคนรักเพศเดียวกัน หรือเพื่อไม่ให้ถูกโจมตีคุกคามกลับ เป็นความหวาดกลัวอันเกิดจากความไม่มั่นคงในเพศสภาพและสถานะ ‘ความเป็นชาย’ ของตนเอง หรือเป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจส่วนบุคคล[3]
และเนื่องจากที่ผ่านมา ประชาชนบางกลุ่มอัตลักษณ์จะได้รับการยอมรับ ไม่ถูกตีตราทางกฎหมาย หรือได้รับสิทธิบางประการก็จากทัศนคติอำนาจในระดับปัจเจกของชนชั้นนำที่ตกลงปลงใจกันเอง ไม่ได้เกิดมวลชนเรียกร้องเคลื่อนไหวเช่น การยกเลิกกฎหมายรักเพศเดียวกันให้ไม่เป็นอาชญากรรมก็มาจากรัฐบาลเผด็จการในปี 2499 การตกเป็นประเทศกึ่งอาณานิคมที่การได้มาซึ่งเอกราชก็ผ่านการแก้ไขสนธิสัญญามากกว่าการลุกฮือของประชาชน และยิ่งระบบอุปถัมภ์ที่เป็นกลไกของรัฐและสังคม การดีลกันระหว่างกลุ่มบุคคลชนชั้นนำย่อมมีความหมายมากกว่าเสียงเรียกร้องของประชาชนจำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้ การต่อสู้และการกดทับกดขี่ของสถาบันต่างๆ ของรัฐแบบไทยๆ ไปจนถึงขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมเอง จึงมีทั้งความประนีประนอมและความเพิกเฉยสูง รวมไปถึงความคุ้นชินกับการยอมจำนนต่อความเหลื่อมล้ำเข้าไปอีก การลุกขึ้นสู้เชิงรุกของ LGBT จึงมักไม่ค่อยปรากฏเด่นชัดเท่าการเป็นฝ่ายรับเมื่อถูกกระทำ หรือรอให้เรื่องมันเกิดก่อนแล้วค่อยไปแก้ไข ไปอุดช่องโหว่ ตั้งแต่วิพากษ์วิจารณ์ออกแถลงการณ์ ไปจนถึงการต่อสู้เชิงรุกที่ลุกขึ้นสู้ผ่านสถาบันของรัฐอีกทีที่ก็เป็นตัวแทนของผู้ชายรักต่างเพศ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศ เช่น เมื่อกะเทยต่อสู้เรื่องการถูกเลือกปฏิบัติในชั้นศาล ที่ไม่เพียงมีกระบวนการขั้นตอนเนิ่นนาน เธอก็จะยังถูกขานคำนำหน้าชื่อว่า ‘นาย’ และการพึ่งความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรมอยู่ดี
การเริ่มต่อสู้ต่อรองของ LGBT จึงเหมือนตกอยู่ในสภาวะผู้แพ้ เป็นรองตั้งแต่เริ่มแรก เพราะช่องทางของการต่อสู้ก็ยังเป็นช่องทางที่ไม่ได้เห็นตัวตนความหมายของ LGBT แต่แรก
Guerrilla warfare จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง มันคือยุทธวิธีของการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่มีทรัพยากรและกำลังน้อยกว่าฝั่งตรงข้าม ซึ่งมาจากภาษาสเปน ตามลายลักษณ์อักษร แปลว่าการก่อสงครามเล็กๆ มีที่มาจากต้นศตวรรษที่ 19 อธิบายกลุ่มผู้ต่อต้านชาวสเปนและยุทธศาสตร์ของพวกเขาที่ต่อสู้กับกองทัพของจักรวรรดินโปเลียน ที่เข้ามารุกรานสเปนในสงครามคาบสมุทรในช่วงสงครามนโปเลียน
นักปฏิวัติ นักวิชาการหลายคน นิยามรวมๆ กันได้ความหมายว่า guerrilla สามารถใช้ได้กับทุกสงครามปฏิวัติ สงครามปลดแอก ประกาศอิสรภาพ ก่อกบฏ จลาจล การก่อกำเริบของไพร่ชาวนา เป็นยุทธศาสตร์ที่มีทั้งคุกคามก่อกวนศัตรู จู่โจมแบบไม่ทันตั้งตัว โจมตีแล้วหนี โดยพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรงและการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของทหาร แต่อย่างไรก็ตาม guerrilla ไม่ใช่การการก่อการร้าย เพราะพุ่งเป้าไปยังเครื่องไม้เครื่องมือ โครงสร้าง ระบบกลไก หรือผู้แทนอำนาจรัฐเช่นตำรวจทหาร ไม่ใช่พลเรือนประชาชน ดังนั้นยุทธวิธีนี้จึงไม่ใช่ก่อการร้ายที่มุ่งเป้าไปยังประชาชนพลเรือนเพื่อก่อให้เกิดความฉิบหายและความหวาดกลัว หากแต่ guerrilla คือการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อย คนพื้นเมือง ผู้มีทรัพยากรยุทโปกรณ์ด้อยกว่า เพื่อต่อต้านการกดขี่กดทับของอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมหรืออาณานิคม [4]
แต่ในโลกภาษาไทย การที่เรียก guerrilla ว่าเป็นกลุ่มกองโจรก็ฟังดูจะเกินจริงรุนแรงไปมาก และมาจากสายตาของอำนาจรัฐที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ในการต่อสู้เคลื่อนไหวกับอำนาจที่มีทรัพยากรมากกว่าและกดทับอยู่ทุกขณะจิตนั้น guerrilla อาจจะเป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งที่เป็นไปได้ เหมือนกับชนพื้นเมือง หรือประชาชนที่พยายามต่อต้านอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมหรือที่เป็นเผด็จการ ซึ่งอาจไม่ถึงประหัตประหารก่อความไม่สงบ แต่อาจเป็นการติดอาวุธทางความคิดหรือบั่นทอนอำนาจความชอบธรรมความน่าเชื่อถือ เช่น เคลื่อนไหวผ่านกราฟฟิตี สติ๊กเกอร์ ใบปลิว การแฮก ไปจนถึงแจก e-book หนังสือต้องห้าม ทำใบแทรกประวัติบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของรัฐในหนังสือประวัติบุคคลสำคัญหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรงนั้น หรือแอบเอาสำเนาหนังสือต้องห้ามเข้าไปวางไว้ในหอสมุดต่างๆ
สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นการก่อความไม่สงบ และภัยต่อความมั่นคงทันที ก็ต่อเฉพาะสถาบันหรือกลุ่มที่มองว่านักเคลื่อนไหวเป็นภัยสำหรับพวกเขา
เพราะมันหมดเวลาแล้วสำหรับ LGBT ที่จะมานั่งตีอกชกนมฟูมฟายเมื่อถูกรังแกเลือกปฏิบัติว่าเพราะฉันเป็นกะเทย เป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยนสังคมไม่ยอมรับ ชาตินี้มีบาปกรรม เลือกเกิดไม่ได้ หากแต่เราทุกคนไม่ว่าเพศสภาพเพศวิถีอะไรเลือกเองได้และเลือกมาแล้วและจะยืนหยัดต่อสู้อย่างไร เพื่อยืนยันการมีอยู่ของเราในฐานะมนุษย์คนนึงที่มีสิทธิเสรีภาพติดตัวมาแต่กำเนิด ขณะที่สำนึกการขอความสงสารเห็นอกเห็นใจ ขอให้มารักมาเมตตาหรือมานั่งปลอบใจกันเองภายในชุมชนว่าเราได้เท่านี้ก็ดีแล้ว ไม่ต้องออกไปเรียกร้องอะไรมากให้เค้ารำคาญ เหมือนเสียงยุงบินผ่านหูเวลาจะนอน ได้คืบจะเอาศอก พาลทำให้ฉันดูแย่ไปด้วย ก็นำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศแบบ ‘สู้ไปกราบไป’ ที่จะไม่มีทางจะได้เห็นชนะได้ในชั่วชีวิตอายุขัย LGBT คนนึง
ไม่ได้หมายความว่าการสร้างชุมชนเพื่อเยียวยาหรือเป็นหลุมหลบภัยให้กับ LGBT หรือการตั้งรับคอยรับเรื่องปัญหาความหลากหลายทางเพศปัญหาไม่สำคัญจำเป็นอีกต่อไป แต่การพุ่งเข้าไปยังหัวใจแห่งการเลือกปฏิบัติและกีดกันทางตรงเลยจะทำปฏิกิริยาทางสังคมรวดเร็วกว่า
เหมือนกับที่กะเทยไปสมัครงานอาชีพครูโดยเลือกเฉพาะโรงเรียนเอกชนชายล้วนเครือคริสตจักร ซึ่งแน่นอนเธอถูกปฏิเสธไม่ให้เป็นอาจารย์ด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ (โรงเรียนให้เหตุผลว่ากะเทย หญิงข้ามเพศไม่เหมาะเป็นครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีศาสนาเป็นหัวใจหลัก ซ้ำยังไล่ให้ไปเป็นดารานางโชว์ช่างแต่งหน้าขายเครื่องสำอางอีก) ไม่ใช่เพราะเธออยากแวดล้อมไปด้วยนักเรียนชายกางเกงน้ำเงินน่ากิน หากแต่เป็นมันเป็นตัวแทนของสถาบันรักต่างเพศนิยมและชายเป็นใหญ่ เพื่อเผยให้เห็นอย่างตรงไปตรงมาของปฏิบัติการที่ธำรงรักษาการให้ศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน ที่เป็นทั้งสถาบันการศึกษาผู้ชายผลิตคุณค่าความหมายของ ‘ความเป็นชาย’ ชุดหนึ่ง และสถาบันศาสนาที่คอยให้ความชอบธรรมให้กับการเลือกปฏิบัติทางเพศอย่างต่อเนื่อง พร่ำสอนศาสนาว่ารักเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดบาป กะเทย ชายแต่งหญิง และเกย์ ถูกจับมัดเหมารวมว่าบาปให้เป็นพวกเดียวกันในนามความวิปริตผิดธรรมชาติและละเมิดต่อคำสอน
เหมือนเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ที่สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยจัดสัมมนา เรื่อง ‘เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เบี่ยงเบน’
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า LGBTQ กำลังต่อต้านตั้งป้อมโจมตีรัฐหรือสถาบันต่างๆ อยู่ หากแต่ต้องการให้รัฐเป็นของประชาชนทุกกลุ่มอัตลักษณ์ เพศศภาพ เพศวิถี ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และการต่อสู้เคลื่อนไหวก็จะหมดพลังความหมายทันที ถ้าสถาบันหลักหรือผู้ถือครองอำนาจอยู่นั้นไม่มองว่าเป็นภัยคุกคามแต่แรก
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Radtke, H. Lorraine and Stam, Henderikus J.. 1994. Power/gender : social relations in theory and practice. London : Sage, p. 145.
[2] Sedgwick, Eve Kosofsky. C 1990. Epistemology of the closet. Berkeley, Calif. : University of California Press, pp.184-185.
[3] Sedgwick, pp. 19-21.
[4] Castro, Daniel, 1999. Revolution and Revolution aries: Guerrilla Movements in Latin America. Wilmington, DE: Scholarly Resources.; Laqueur, Walter, 2002. Guerrilla Warfare: A His torical and Critical Study. New Brunswick & London: Transaction. ; Mao Tse Tung, 1961. On Guerrilla Warfare, trans lated by Samuel B. Griffith, USMC (Ret.). New York & Washington, DC: Praeger. ; Osanka, Franklin Mark, ed., 1962. Modern Guerrilla Warfare. New York: Free Press.