เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเพิ่งประกาศไปทางเพจของตัวเองว่า ผมกำลังจะย้ายมาอยู่ญี่ปุ่น เนื่องจากกำลังจะมีลูก ซึ่งตอนนี้ก็ย้ายมาเรียบร้อยแล้วครับ การจะมีลูกเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผมตัดสินใจย้ายกลับมาญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง เพราะดูแล้วอะไรต่อมิอะไรของที่นี่น่าจะเหมาะกว่า และผมก็อยากให้เขาได้เติบโตกับวัฒนธรรมทางฝั่งแม่ของเขาด้วยอีกอย่างคือเขาน่าจะอบรมได้ดีกว่าผม (ฮา) แต่แน่นอนว่าก็มีเรื่องให้ชวนเป็นห่วง นั่นคือ ลูกของผมจะกลายเป็น ‘ลูกครึ่ง’ ในสังคมญี่ปุ่นนั่นล่ะครับ
จริงๆ ในประเทศไทยเราเอง สมัยผมเด็กๆ ก็มักจะมองลูกครึ่งด้วยสายตาแปลกๆ กึ่งไปในทางลบเสียมากกว่า เพราะว่าอาจจะเป็นผลจากช่วงหลังสงครามเวียดนาม ทำให้หลายคนมักมองว่าลูกครึ่งคือลูกของทหาร G.I. ที่มาประจำการที่ไทยในช่วงนั้น และก็มักจะมาพร้อมกับคำว่า ‘มาไข่ทิ้งไว้’ อีกด้วย จนกระทั่งลูกครึ่งส่วนใหญ่ได้เข้ามาโลดแล่นในวงการบันเทิงมากขึ้น รวมถึงสังคมก็เปิดกว้างและมีความเป็นโลกาภิวัฒน์มากขึ้น ประเทศไทยก็เลยมีช่วง ‘ลูกครึ่งบูม’ เกิดขึ้นแทน ใครที่ผ่านยุค 90s มาคงจำได้ดีว่าศิลปินวัยรุ่นยุคนั้นมีคนเป็นลูกครึ่งเยอะมาก จนภาพลักษณ์แบบเดิมๆ หายไป ปัจจุบันเรื่องลูกครึ่งอะไรพวกนี้ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมแล้ว
ในขณะเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน ลูกครึ่ง หรือที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า ‘ฮาฟุ’ (ที่มาจากคำว่า Half แต่ออกสำเนียงญี่ปุ่น เป็นคำที่เรียกว่า Japanglish หรือ Wasei Eigo ซึ่งหากเอาไปใช้กับชาวเนทีฟภาษาอังกฤษก็คงไม่เข้าใจ) ก็มีสถานการณ์คล้ายๆ กับไทยในช่วงยุค 90 คือตอนนี้เป็นยุคที่ลูกครึ่งเริ่มเข้ามาในวงการบันเทิงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกัน ชาวญี่ปุ่นเองก็คงยังต้องทำความเข้าใจกับฮาฟุกันไปอีกไม่น้อย
ด้วยความเป็นประเทศเกาะ และประชากรเกือบทั้งหมดเป็นชาวญี่ปุ่น หรือมีเชื้อชาติญี่ปุ่นที่สืบสายกันมานาน แถมยังเคยปิดประเทศไม่คบค้าสมาคมกับชาวต่างชาติมาเป็นเวลานาน ชาวญี่ปุ่นจึงคุ้นชินกับการที่จะพบแต่คนเชื้อชาติเดียวกัน พอมีคนที่แปลกจากกลุ่มของตัวเองออกไปจึงมองด้วยสายตาแปลกๆ ทันที แต่ในยุคปัจจุบันที่มีการติดต่อสื่อสารกันข้ามชาติมากขึ้น ลูกครึ่งก็เลยเพิ่มมากขึ้นตาม
ถึงอย่างนั้น สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว กว่าที่พวกเขาจะทำความเข้าใจ
คนต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรมได้ ก็เป็นเรื่องที่ใช้เวลาไม่น้อย
จากประสบการณ์ของลูกครึ่งที่เติบโตในญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่นลูกครึ่งญี่ปุ่นกับชาวเคนยา เขาก็เล่าให้ฟังว่าตอนเด็กๆ เขาก็เตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ ชาวญี่ปุ่น พอล้มจนเป็นแผล เพื่อนๆ ก็มารุมดู แล้วพูดว่า “โห เลือดเป็นสีแดงเหมือนพวกเราด้วย” ก็เล่นเอาเจ้าตัวงงเหมือนกัน บางคนก็เป็นลูกครึ่งเกาหลีในญี่ปุ่น ซึ่งแม่ของเธอก็ปกปิดมาตลอดว่าเธอเป็นลูกครึ่ง แต่เธอเองก็ค่อยๆ รู้สึกตัวว่ามีอะไรแปลกๆ เพราะยิ่งดูยิ่งรู้สึกว่าเธอต่างไปจากเพื่อน จนแม่เธอต้องออกมายอมรับทั้งน้ำตาว่าเธอเป็นชาวเกาหลี เล่นเอาลูกครึ่งคนนี้ก็สับสนไปเหมือนกัน
ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่แค่เรื่องลูกครึ่ง แต่สังคมที่เชิดชูความเป็นหนึ่งเดียวแบบญี่ปุ่น เมื่อมองอีกทางหนึ่ง ก็เป็นสังคมที่นิยมการทำอะไรเหมือนๆ กันจนบางที แค่มีใครแตกต่างออกมาหน่อยเท่านั้น ก็มักจะโดนตอกกลับให้เข้าไปในกรอบในแถวเหมือนเดิม ไม่อย่างนั้นก็อาจจะโดนแยกออกไปเลย อย่างเด็กที่ไปโตในต่างประเทศก็เช่นกัน พอกลับมาญี่ปุ่นก็มีปัญหาไม่น้อย แต่ก็ยังไม่เท่ากับเด็กลูกครึ่ง ยิ่งลูกครึ่งที่ต่างเชื้อชาติมากๆ เช่น ชาวตะวันตก หรือชาวผิวสี ก็ยิ่งโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
ยังดีที่ในปัจจุบัน เริ่มมีลูกครึ่งที่สร้างชื่อเสียงในวงการบันเทิงญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในวงการการนางแบบที่มีลูกครึ่งเยอะมากๆ ตั้งแต่ Mizuhara Kiko ที่เป็นลูกครึ่งระหว่างพ่อชาวอเมริกันและแม่ชาวเกาหลีที่เกิดในญี่ปุ่น หรือ Nakajo Ayami ที่เป็นลูกครึ่งอังกฤษ และก่อนหน้านั้นก็มี Rola ลูกครึ่งบังคลาเทศที่โด่งดังในวงการนางแบบมาก่อน รวมถึง Triendl Reina ลูกครึ่งเยอรมัน จนกลายเป็นว่าลูกครึ่งคือมาตรฐานวงการนางแบบขวัญใจสาวๆ วัยรุ่นไปแล้ว
ในขณะเดียวกัน ทางฝ่ายศิลปิน ในวงเครือ Exile ก็มีลูกครึ่งหนุ่มอยู่ในวงเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับ Nogizaka46 ที่ Saito Asuka สมาชิกหลักของวงขวัญใจสาววัยรุ่นก็เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นพม่าด้วย จนในปัจจุบัน ลูกครึ่งในวงการบันเทิงกลายเป็นเรื่องปกติไป แถมอาจเรียกได้ว่า เป็นเทรนด์ที่เป็นที่นิยมมากขึ้นกว่าเดิมก็คงได้ (แต่ในทางกลับกัน หากลูกครึ่งกลายเป็นตัวแทนของชาติญี่ปุ่นเช่นกรณี Miss Universe Japan ที่ชื่อ Miyamoto Ariana ที่ผมเคยเขียนถึงใน ชาตินิยมในนางงาม : มิสยูนิเวิร์สเจแปน Miyamoto Ariana และที่ทางของลูกครึ่งในญี่ปุ่น ก็อาจไม่ได้รับความนิยมมากนัก)
ก็ทำให้ได้แต่หวังว่า กระแสลูกครึ่งในวงการบันเทิง
จะทำให้สังคมญี่ปุ่นยอมรับลูกครึ่งในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น
เพราะในสังคมที่นิยมความเป็นหนึ่งเดียว ความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ และไม่นิยมความแตกต่าง ทำให้ที่ผ่านมาก็มีเรื่องน่าเศร้าเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น กรณีเด็กหญิงลูกครึ่งชาวฟิลิปปินส์ที่ฆ่าตัวตาย ซึ่งพ่อเธอก็เปิดเผยว่าหนึ่งในสาเหตุน่าจะเป็นการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน
ในปัจจุบันก็เริ่มมีหน่วยงานทั้ง NPO NGO ที่พยายามเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องลูกครึ่งให้กับสังคมญี่ปุ่นมากขึ้น เริ่มตั้งแต่อธิบายเรื่องการใช้คำว่า ฮาฟุ ที่จริงๆ แล้วจะมองว่าเป็นคำที่ ‘เหยียด’ ก็ว่าได้ เพราะมันเป็น Japanglish ที่ฟังแล้วก็ราวกับว่า คนๆ นั้นเป็นเพียงแค่ ครึ่งหนึ่ง ของอะไรบางอย่าง จึงเสนอให้ใช้คำอื่นเช่น Mixed Race หรือ Bi-Racial แทน ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาซักระยะหนึ่งกว่าชาวญี่ปุ่นจะมองเรื่องลูกครึ่งเป็นเรื่องธรรมดา
โชคดีที่ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา มีความหวังใหม่ของลูกครึ่งญี่ปุ่น นั่นก็คือ Osaka Naomi นักเทนนิสสาวลูกครึ่งญี่ปุ่นและเฮติที่โตในอเมริกา (ซึ่งผมเคยเขียนถึงไปแล้วใน ใครคือคนญี่ปุ่น? ลูกครึ่งกับการเป็นที่ยอมรับของ Osaka Naomi แชมป์ US Open คนล่าสุด ) แม้ในวัยเด็ก เธอและแม่ชาวญี่ปุ่นของเธอจะถูกครอบครัวหมางเมิน แต่เมื่อเธอเริ่มชนะและสร้างผลงาน กลายเป็นว่าคุณตาของเธอนั้นก็เริ่มเปิดใจยอมรับ และยิ่งเธอสามารถคว้าแชมป์ Grand Slam มาได้ ก็ทำให้กระแสความนิยมในตัวเธอพุ่งสูงขึ้น จนหลายคนเริ่มมองว่า เธอน่าจะเป็นคนที่ช่วยกระตุ้นการทำความเข้าใจเรื่องลูกครึ่งได้ดี
แน่นอนว่า ลูกครึ่งเริ่มเป็นที่ยอมรับในวงการบันเทิง โดยเฉพาะในวงการนางแบบ โดยส่วนใหญ่ก็เป็นลูกครึ่งกับชาวคอเคเซียนหรือชาวผิวขาวเป็นหลัก (แม้จะมีบางคนที่เป็นลูกครึ่งฟิลิปปินส์บ้าง) แต่เมื่อเป็นลูกครึ่งผิวสีหรือเอเชียแล้วก็มักจะถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ มากกว่า การสร้างผลงานของ Osaka Naomi จึงอาจจะช่วยให้คนยอมรับลูกครึ่งกลุ่มนี้มากขึ้น
แต่ก็ยังมีเรื่องที่ชวนให้คิดอยู่ดีครับ ตัวอย่างเช่น โฆษณาทีวีของนิชชินที่เป็นหนึ่งในสปอนเซอร์ของเธอ พวกเขาทำโฆษณาออกมาเป็นเวอร์ชั่นอนิเมะ แต่ Osaka Naomi ในโฆษณากลับกลายเป็นเด็กสาวผิวขาวไปเสียอย่างนั้น จนสุดท้ายกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทางนิชชินต้องออกมาขอโทษ ส่วนตัว Osaka Naomi เองก็ออกมาบอกว่า คิดว่าเขาคงไม่ได้ตั้งใจหรอก
แต่ก็น่าคิดว่า เราเองก็เห็นอยู่ว่าเธอก็คือลูกครึ่งเฮติ
แต่ทำไมพอทำอนิเมะ กลับต้องพยายามทำให้เธอเป็นคนผิวขาว
ตามค่านิยมไปขนาดนั้น
ยังไม่นับเรื่องการถือสองสัญชาติของเธอ ซึ่งตามกฎหมายญี่ปุ่นแล้ว เมื่อบุคคลที่ถือสองสัญชาติโดยกำเนิดมีอายุครบ 22 ปี ก็จะต้องเลือกสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง เพราะญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้ถือสองสัญชาติพร้อมกัน น่าสนใจว่า เธอจะเลือกทางไหน เพราะไม่ว่าจะเลือกสัญชาติใดก็มีผลต่ออนาคตการเป็นนักกีฬาขอเธอแน่นอน
เอาจริงๆ ผมก็ได้แต่หวังว่า กรณีของ Osaka Naomi จะช่วยกระตุ้นให้สังคมญี่ปุ่นหันมามองเรื่องของการถือสองสัญชาติ และเรื่องลูกครึ่งกันใหม่ เพราะถ้าคนที่สามารถสร้างชื่อให้กับประเทศ แต่กลับต้องมาเลือกสละสัญชาติญี่ปุ่นเพียงเพราะมองว่าพวกเขามีโอกาสเติบโตได้มากกว่าถ้าหากเลือกสัญชาติอื่น ก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับญี่ปุ่นไม่น้อย รวมไปถึงศักยภาพของลูกครึ่งที่สามารถนำความสำเร็จและชื่อเสียงมาสู่ประเทศญี่ปุ่นก็อาจจะหายไปด้วย เพราะในตอนนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ Osaka Naomi คนเดียวเท่านั้น แต่ในอนาคตยังมี Hachiyama Rui ที่มีแววว่าจะเป็นดาราในวงการบาสเกตบอลระดับ NBA ได้อีกคนหนึ่งด้วย
ถึงตอนนั้นญี่ปุ่นก็ควรจะเริ่มมองล่ะครับว่า เรื่องเหล่านี้จะได้หรือเสีย หรือคุ้มค่าแค่ไหน