วันเสาร์ที่ 8 กันยายนที่ผ่านมากลายเป็นวันประวัติศาสตร์ของวงการเทนนิสญี่ปุ่นเมื่อ โอซากะ นาโอมิ นักเทนนิสสาววัยรุ่นที่ลงสนามในฐานะนักกีฬาชาวญี่ปุ่น นาโอมิกลายเป็นนักเทนนิสชาวญี่ปุ่นคนแรกที่สามารถคว้าแชมป์การแข่งขันเทนนิสระดับแกรนด์สแลมประเภทหญิงเดี่ยวได้เป็นครั้งแรก ในรายการ US Open
ก่อนหน้านี้มีเพียง นิชิโคริ เค นักเทนนิสชายที่ทำได้ใกล้เคียงที่สุดคือการแพ้ในนัดชิง US Open ปี 2014 แต่ก็ดูจะน่าเสียดายไปสักหน่อย เพราะแทนที่สปอตไลต์จะไปโฟกัสนักเทนนิสคลื่นลูกใหม่ที่เอาชนะไอดอลของเธอได้ในการแข่งขันครั้งสำคัญ แสงกลับเลือกส่องไปที่ปัญหาดราม่าระหว่างเซเรนา วิลเลียมส์ คู่แข่งของเธอที่ทะเลาะกับกรรมการในสนามจนกลายเป็นประเด็นใหญ่ ไหนจะแตกประเด็นไปเป็นเรื่องของการเหยียดเพศและเหยียดสีผิวในวงการเทนนิสอีก
แต่ถ้าหากคุณไม่ใช่แฟนเทนนิสหรือไม่ได้ติดตามสื่อญี่ปุ่นบ่อย เมื่อได้ยินคำว่า ‘แชมป์ชาวญี่ปุ่น’ แล้วมองไปในสนามอาจจะงงสักหน่อย เพราะคุณจะไม่ได้เห็นภาพของชาวญี่ปุ่นแบบที่มีภาพจำในหัว แต่เด็กสาววัยรุ่นชาวญี่ปุ่นที่เป็นแชมป์คนนี้กลับเป็นเด็กสาวผิวสีเข้ม หัวฟู นั่นก็เพราะว่า โอซากะ นาโอมิ มีความเป็นมาที่น่าสนใจเป็นอย่างมากครับ
โอซากะ นาโอมิ เกิดในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็น่าขำไม่น้อยเพราะนามสกุลเธอเหมือนกับบ้านเกิด จนเป็นมุขที่เธอเอาไว้ใช้อธิบายนักข่าวว่าคนเกิดเมืองนี้ก็นามสกุลนี้กันหมด เป็นมุขที่เธอเองก็เบื่อจะเล่นซ้ำๆ แต่ถึงจะเกิดในโอซาก้า จริงๆ แล้ว ครอบครัวทางฝั่งแม่ของเธอเป็นชาวฮอกไกโด แม่ของเธอก็โตมาในฮอกไกโด แต่พ่อของเธอคือหนุ่มผิวสีจากประเทศเฮติที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยนิวยอร์กแล้วค่อยย้ายไปที่ฮอกไกโด ก่อนที่จะพบรักกับแม่ของเธอ
แน่นอนว่าในประเทศที่ประชากรเกือบ 99% เป็นชาวญี่ปุ่น ไม่แปลกที่จะพบเห็นความกลัวหรือความไม่เข้าใจในชาวต่างชาติ ยิ่งพอเป็นเรื่องของความรักและการแต่งงานกับชาวต่างชาติจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับชาวญี่ปุ่นรุ่นเก่า
แม่ของนาโอมิต้องปกปิดความสัมพันธ์ก่อนจะต้องเปิดตัวแฟนหนุ่ม เพราะครอบครัวของเธอต้องการจะให้เธอเข้าพิธีดูตัว กลายเป็นว่าบ้านแตกครับ แม่ของเธอและแฟนหนุ่มแต่งงานและย้ายไปอยู่ที่โอซาก้า โดยที่แทบจะเรียกได้ว่าตัดขาดจากครอบครัวของตัวเองก็ว่าได้ นาโอมิและมาริ พี่สาวของเธอก็เกิดในโอซาก้าและเลือกใช้นามสกุลของแม่เพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น เพราะหากใช้นามสกุลฟรองซัวร์ของฝ่ายพ่อก็คงจะทำให้ทุกคนหันควับเมื่อพวกเธอถูกเรียก
สองพี่น้องคือ ‘ฮาฟุ’ หรือลูกครึ่งในสังคมญี่ปุ่น (ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีหลายความเห็นว่าควรเลิกใช้คำนี้ หันมาใช้ Mixed Roots แทน เพราะฮาฟุมาจาก Half Bred ซึ่งเป็นคำที่ใช้กับสัตว์มากกว่า) แม้ในปัจจุบันจำนวนลูกครึ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ด้วยความเป็นสังคมที่เคยปิดประเทศมาก่อนและเป็นประเทศเกาะ แม้ทุกวันนี้ 1 ใน 49 ทารกที่เกิดในญี่ปุ่นจะเป็นลูกครึ่ง แต่สังคมญี่ปุ่นก็ยังไม่เคยชินกับเด็กลูกครึ่ง หลายต่อหลายคนต้องพบกับการกลั่นแกล้ง ซึ่งบางทีก็มาจากความไม่เข้าใจในความเป็นเด็กเท่านั้น ขนาดลูกครึ่งกานาที่ผิวสีคล้ำบาดเจ็บเลือดออก เพื่อนรอบตัวเขาก็ยังตกใจว่าเลือดเป็นสีแดงเหมือนกับพวกเขา และความเป็นลูกครึ่งผิวสีของสองพี่น้องโอซากะก็อาจจะมีผลต่อพวกเธอไม่น้อยหากทั้งคู่โตมาในญี่ปุ่น
โชคดีที่พ่อของเธอเปิดโทรทัศน์ดูการแข่งขันเทนนิสแล้วเห็นสองพี่น้องวิลเลียมส์ในช่วงวัยรุ่นลงสนามแข่งเทนนิสแบบคู่ การแข่งขันครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้พ่อของสองพี่น้องตัดสินใจย้ายข้ามฟากแปซิฟิกจากญี่ปุ่นไปอยู่ที่นิวยอร์กกับครอบครัวฝ่ายพ่อในตอนที่นาโอมิอายุได้ 3 ขวบ เพราะเขาคิดว่า อเมริกาน่าจะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการปั้นลูกสาวทั้งสองให้เป็นนักเทนนิสอาชีพมากกว่า ซึ่งก็ดูเหมือนเป็นการตัดสินใจที่ดี เพราะว่าสองพี่น้องก็มีพัฒนาการดีขึ้นมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ตัดสินใจย้ายไปฟลอริดาเพื่อฝึกซ้อมเทนนิสอย่างจริงจัง
การตัดสินใจของพ่อเธอค่อยๆ ส่งผล เพราะสองพี่น้องก็ค่อยๆ สร้างผลงานขึ้นมาเรื่อยๆ ในขณะที่ครอบครัวฝ่ายแม่ก็ยังไม่ได้ติดต่อพวกเธอเช่นเคย จนเมื่อสองสาวสามารถสร้างผลงานเด่นขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นข่าวในญี่ปุ่น ตากับยายก็ค่อยๆ ใจอ่อนและเริ่มเปิดรับหลานสาวทั้งสอง และหลังจากนั้นก็เป็นนาโอมิที่ฟอร์มดีกว่าพี่สาว (แม้เธอจะบอกว่าเธอแพ้พี่สาวเวลาซ้อมเสมอ) พ่อของพวกเธอยังตัดสินใจให้ทั้งสองสังกัดสมาคมเทนนิสญี่ปุ่นและไปฝึกซ้อมในญี่ปุ่นบ้าง แม้จะไม่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้เท่าไหร่นัก แต่เธอก็บอกว่าสนุกกับการไปญี่ปุ่นเสมอและตัวเธอเองก็ชื่นชอบวัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่นด้วย (มังงะเรื่องโปรดของเธอคือ ไฮคิว คู่ตบฟ้าประทาน) ที่สำคัญคือเธอก็ได้ Nissin บริษัทชื่อดังของญี่ปุ่นเป็นสปอนเซอร์อีกด้วย
ที่เหลือก็ตามที่เราทราบกันนั่นละครับว่า ผลงานของเธอพัฒนาอย่างรวดเร็ว ด้วยการฝึกซ้อมกับโค้ชเก่าของสองพี่น้องวิลเลียมส์ ทำให้สไตล์การเล่นของทั้งสี่คนอาจจะมีความคล้ายกันโดยเฉพาะการตีที่ทรงพลัง เธอเริ่มคว้าแชมป์จากรายการเล็ก แล้วค่อยๆ เป็นรายการใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกัน พฤติกรรมเวลาให้สัมภาษณ์ของเธอก็ทำให้มีแฟนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเวลาอยู่ในสนามเธอเล่นอย่างจริงจัง แต่นอกสนามเธอทั้งความถ่อมตัว ยิ้มแย้ม และหลายครั้งก็ยังปล่อยมุขตลกแบบเนิร์ดๆ ที่เล่นเอาคนในห้องแถลงข่าวงงกันหมด
และเมื่อเธอชนะเซเรนา วิลเลียมส์—ไอดอลในดวงใจของเธอ—ในการแข่งขันรายการ US Open และนั่นก็ส่งให้นาโอมิกลายเป็นขวัญใจชาวญี่ปุ่นไปในชั่วข้ามคืน เพราะผลงานระดับนี้ไม่ใช่ธรรมดาจริงๆ ชื่อของเธอปรากฏในสื่อญี่ปุ่น(และสื่อทั่วโลก)ตลอดเวลา และเธอน่าจะเป็นนักกีฬาขวัญใจชาวญี่ปุ่นประจำปีนี้ไปได้ง่ายๆ สปอนเซอร์เจ้าใหม่พร้อมจะเสนอสัญญาให้เธอ ทั้ง Nissan จากที่เธอบอกว่าชอบ GT-R สีขาว และ Adidas ที่เสนอสัญญาว่าจะทำให้เธอมีโอกาสกลายเป็นนักกีฬาหญิงที่มีรายได้สูงที่สุด กระทั่งตาของเธอก็ยังให้สัมภาษณ์ว่าตื่นแต่เช้าเพื่อชมแมตช์นี้ และชมว่าเธอพยายามได้ดีมากๆ อีกสิ่งหนึ่งที่สื่อชมมากๆ ก็คือการพูดหลังการรับรางวัลของเธอที่สามารถเปลี่ยนบรรยากาศในสนามที่กำลังเดือดได้
แต่นอกจากบรรยากาศที่ชื่นมื่นแล้ว ชัยชนะของเธอในครั้งนี้ยังชวนตั้งคำถามว่า ‘ใครคือชาวญี่ปุ่น?’ ได้อีกด้วย
เมื่อปีก่อนผมเคยเขียนถึงเรื่องราวของ อเรียนา มิยาโมโตะ นางงามลูกครึ่งญี่ปุ่นที่ถูกชาวเน็ตโจมตีว่าเธอไม่เหมือนกับชาวญี่ปุ่น (รวมถึงคณะกรรมการตัดสินก็โดนด้วย) และเธอเองก็ไม่ได้ยอมแพ้ใครง่ายๆ แต่เธอใช้โอกาสของเธอในการนำเสนอปัญหาที่เด็กลูกครึ่งพบในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งก็กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกกวาดเข้าใต้พรมไว้นาน แต่นับวันมันก็จะยิ่งเป็นประเด็นสำคัญในสังคมญี่ปุ่นที่ประชากรลดลงเรื่อยๆ และต้องอาศัยชาวต่างชาติในการช่วยให้ธุรกิจหลายต่อหลายกิจการเดินต่อไปได้ในอนาคต ชัยชนะ US Open กลับทำให้นาโอมิได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ชาวญี่ปุ่น’ ไปในทันที ต่างจากเรื่องของอเรียนาที่ระยะเวลาผ่านมาถึงสามปีแล้ว
เมื่อมองจากรากของนาโอมิแล้วก็น่าสนใจ เธอเป็นลูกครึ่งชาวเฮติแต่กลับมีชื่อนามสกุลญี่ปุ่นเพราะเกิดในญี่ปุ่น สีผิวของเธอก็แปลกแยกจากชาวญี่ปุ่น แล้วยังไปโตในอเมริกาเป็นหลัก แต่ตอนนี้ก็ถือสองสัญชาติและยังสังกัดสมาคมเทนนิสญี่ปุ่นที่เธอแวะเวียนมาซ้อมบ้าง แต่ที่ผ่านมาเธอก็ไม่เคยลืมรากของเธอ ถ้านักข่าวลืมเอ่ยถึงเชื้อสายเฮติของเธอ เธอก็พร้อมจะบอกนักข่าวว่าเธอมีเชื้อเฮติด้วย เธอพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ แม้จะพอฟังเข้าใจ แต่เธอก็หลงใหลในวัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่นตามที่บอกไป
จึงเกิดประเด็นขึ้นมาว่า “พอได้แชมป์มีชื่อเสียงแล้วจึงรับเป็นชาวญี่ปุ่นทันที?” เพราะก็มีคนมองว่า จะยอมรับฮาฟุก็ต่อเมื่อทำชื่อเสียงให้ประเทศหรือสร้างผลงานในนาม ‘ประเทศญี่ปุ่น’ เท่านั้นหรือ ในขณะที่อเรียนาที่เติบโตในญี่ปุ่นแท้ๆ ใช้ภาษาญี่ปุ่นได้เป็นธรรมชาติกลับถูกโจมตีเมื่อเป็นตัวแทนประเทศไปประกวด Miss Universe ส่วนนาโอมิไปแข่งเทนนิสอาชีพที่ลงในนามตัวเอง (ถึงสมัครในฐานะนักกีฬาญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ใช่ทีมชาติแบบกีฬาโอลิมปิก) แต่เมื่อชนะก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นชาวญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่เธอเติบโตมาในอเมริกามากกว่าแท้ๆ น่าคิดนะครับว่า ถ้าปีนั้นอเรียนาได้ Miss Universe ขึ้นมาจะเป็นยังไง
ยังไม่นับว่าอเรียนาเลือกที่จะใช้ตำแหน่งของเธอในการเล่าเรื่องราวของการเติบโตมาในฐานะฮาฟุที่ต้องพบกับอุปสรรค์ทางสังคมมากมาย เธอกลับโดนชาวเน็ตนิยมขวาโจมตีถึงขนาดไล่เธอออกไปนอกประเทศ เมื่อเทียบกับนาโอมิที่เป็นเด็กสาวอายุ 20 ยิ้มเล็กยิ้มน้อยและถ่อมตน ภาพลักษณ์ของฝ่ายหลังก็ดูจะ ‘เหมาะสม’ กับสังคมญี่ปุ่นมากกว่า และเธอเองก็ไม่ใช้เวลาในญี่ปุ่นเท่าไหร่นัก จึงอาจจะไม่ได้พบกับประสบการณ์ที่เลวร้ายในช่วงที่โตมา เธอเลยไม่มีเรื่องเล่าที่ชวนให้ชาวญี่ปุ่นปวดหัว ทำให้เป็นที่ยอมรับได้เพราะคล้ายกับชาวต่างชาติที่ชื่นชมหรือสนใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็มักจะได้รับคำชมจากชาวญี่ปุ่นเสมอ (จนกระทั่งโอนสัญชาติแล้วเริ่มวิจารณ์สังคมญี่ปุ่นนั่นละครับ)
แน่นอนว่าชัยชนะของนาโอมิก็อาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้สังคมญี่ปุ่นเปิดกว้างยอมรับฮาฟุได้มากขึ้น แม้ว่าทุกวันนี้สถานการณ์ของฮาฟุในประเทศญี่ปุ่นเองก็ยังไม่ดีนักเพราะขาดความเข้าใจ รวมถึงความกดดันทางสังคมเช่นในกรณีลูกครึ่งของชาติที่เป็นเคยเป็นคู่สงครามกับญี่ปุ่นอย่างเกาหลีหรือจีน ที่บางคนก็ต้องพยายามปกปิดเชื้อสายของตัวเองเพราะรู้สึกกดดันในการเข้าสังคม (ทั้งๆ ที่มีชาวเกาหลีและจีนอยู่ในญี่ปุ่นมากมายแท้ๆ) หรือฮาฟุผิวขาวก็โดนเรียกเป็นฝรั่งๆ อยู่ในโรงเรียนโดยไม่มีใครจำชื่อจริงได้
สภาพสังคมญี่ปุ่นในตอนนี้ก็คงต้องยอมรับความจริงว่า ประชากรญี่ปุ่นเพียวๆ นั้นไม่เพียงพอต่ออนาคตของชาติแล้ว หวังว่าหลังจากการเฉลิมฉลอง ตัวสังคมญี่ปุ่นเองจะเริ่มมีการพูดคุยและทำความเข้าใจถึงปัญหาของฮาฟุบ้าง ไม่ใช่เพื่ออะไร แต่เพื่ออนาคตของญี่ปุ่นเองนั่นละครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก