1. เป็นอีกครั้งที่ Park Chan Wook ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ได้กลับไปเยือนคานน์อีกครั้ง หลังจากที่เคยได้คว้ารางวัลจากเทศกาลนี้มาแล้วสองครั้งด้วยกัน คือครั้งแรกในปี 2003 จากหนังเรื่อง Old Boy และปี 2009 จากเรื่อง Thirst และแม้ในปีนี้ The Handmaiden จะไม่ได้ชนะรางวัลในสายการประกวดใดๆ แต่หนังของชานวุคก็ยังคงเป็นที่กล่าวขวัญถึงในหมู่นักวิจารณ์เช่นเคย บ้างก็ชื่นชมหนังในแง่ของการสร้างโลกและบรรยากาศที่งดงามหากก็ชวนหวาดระแวง แต่บ้างก็วิพากษ์วิจารณ์หนังในแง่ที่มันมุ่งนำเสนอเรื่องของผู้หญิงด้วยสายตาของผู้ชาย (male gaze) มากเกินไป
2. The Handmaiden ดำเนินเรื่องด้วยฉากหลังของเกาหลีในช่วงทศวรรษที่ 1930 ซึ่งขณะนั้นกองทัพญี่ปุ่นได้เข้ารุกรานและปกครองและยึดเป็นอาณานิคมหนึ่งของตน Sook-hee เด็กสาวผู้ถูกเลี้ยงดูมาโดยนักต้มตุ๋นได้ร่วมแผนกับ Fujiwara ศิลปินนักปลอมแปลงงานศิลปะที่จ้องจะฮุบมรดกของ Lady Hideko หญิงสูงศักดิ์ชาวญี่ปุ่นผู้โดดเดี่ยว ทั้งยังจะต้องสมรสกับลุงของตัวเอง ซุกฮีแทรกซึมเข้าใกล้ชิดฮิเดโกะผู้ไร้เดียงสาในฐานะสาวรับใช้ คอยเป่าหูให้เธอตกหลุมพราง นั่นคือให้นายหญิงตกหลุมรักฟูจิวาระ และยินยอมพร้อมเป็นภรรยาตามกฎหมายของเขา แม้เรื่องราวโดยคร่าวจะฟังดูคล้ายกับละครชิงรักหักสวาททั่วไป แต่เมื่อเป็นชานวุกแล้ว ไม่มีทางเลยที่หนังจะดำเนินไปอย่างที่เราคาดคิด เมื่อความลับดำเนินเบื้องหลังค่อยๆ ถูกเปิดเผย และพร้อมกันนั้นที่ความสัมพันธ์ของตัวละครเองก็พันก่ายยุ่งเหยิง เปี่ยมล้นด้วยคาวราคะและความรุนแรง
3. ตัวบทประพันธ์เดิมก่อนจะมาดัดแปลงเป็น The Handmaiden นั้นคือนวนิยายอาชญากรรมโดย Sarah Waters ที่ดำเนินเรื่องในยุควิคตอเรียของอังกฤษ โดยในหนังสือเองก็เล่าเรื่องโดยตัดแบ่งออกเป็นสามตอน เช่นเดียวกับวิธีซึ่งหนังนำเสนอ นั่นคือตอนแรกเล่าเรื่องผ่านสายตาของซุกฮี ตอนที่สองคือฮิเดโกะ และตอนที่สามก็กลับมาที่ตัวซุกฮีอีกครั้ง
ด้วยการที่ตัวหนังเล่าผ่านมุมมองของผู้หญิงเป็นหลัก ซึ่งหากยึดเอาบริบทของวัฒนธรรมทั้งของพื้นที่และเวลาในตอนนั้นแล้ว จะมองว่าการกระทำของซุกฮีและฮิเดโกะก้าวพ้นขนบความคิดของช่วงสมัยไปคงไม่ผิด เมื่อหนังเดินทางมาได้ระยะหนึ่งและเราพบว่าหญิงทั้งสองต่างก็คิดเกินเลยไปกว่าสถานะระหว่างนาย-บ่าว แต่ก้าวล้ำเส้นสู่พรมแดนของรักต้องห้ามระหว่างหญิงสาวซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับ เมื่อทั้งสองต่างโถมร่างเข้าหาอีกฝ่ายด้วยแรงตัณหา ร่วมรักกันอย่างรุ่มร้อนดังว่าต่างก็เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ทั้งคู่ไม่เคยได้เรียนรู้
ฉากบนเตียงของหญิงสาวทั้งคู่นี่เองที่นำไปสู่การวิจารณ์ว่าชานวุกกำกับฉากนี้ด้วยสายตาของผู้ชายจนเกินไป กล่าวคือด้วยถ่ายทอดออกมาอย่างล้นเกินทั้งด้วยองค์ประกอบ มุมกล้อง หรือความกระเส่าเร่าร้อนของนักแสดงที่คล้ายจะสนองตอบต่อคนดูเสียมากกว่า
4. ว่ากันแล้วประเด็นเรื่อง male gaze นี่ก็มีปรากฏขึ้นอยู่เรื่อยๆ นะครับ อย่างปี 2013 ภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง Blue is the Warmest Color เองก็โดนโจมตีในประเด็นนี้เช่นเดียวกัน โดยว่า Abdellatif Kechiche ผู้กำกับของเรื่องนั้นจงใจนำเสนอฉากรักระหว่างตัวละครหลักดังเป็นการฉายภาพจำลองในพิพิธภัณฑ์ นั่นคือเย็นชา ไร้ชีวิตชีวา และดังว่าตัวละครทั้งสองขับเคลื่อนฉากนั้นด้วยหน้าที่ ไม่ใช่ด้วยแรงตัณหาในจิตใจ อย่างที่ Julie Maroh ผู้เขียนกราฟิกโนเวลที่เป็นตัวบทเดิมของหนังเรื่องนี้เคยได้เล่าผ่านบล็อกของตัวเองว่า ตัวเธอและผู้กำกับนั้นนำเสนอความงามของเรื่องด้วยกลวิธีซึ่งแตกต่างกัน ซึ่งเธอเองในฐานะที่เป็นเลสเบี้ยนก็ได้โต้แย้งว่าตัวหนังไม่อาจนำเสนอประเด็นนี้ได้อย่างขาดๆ เกินๆ นั่นคือ ฉากร่วมรักนั้นทั้งเย็นชา รุนแรง และยังถ่ายฉากนั้นออกมาประดุจมุมมองผ่าตัดที่เน้นโคลสอัพที่อวัยวะส่วนต่างๆ เช่นใบหน้า เนินอก และอวัยวะเพศ อย่างกับว่าเป็นหนังโป๊ และมันทำให้เธอคลื่นไส้
หากเทียบกันแค่ระหว่าง The Handmaiden กับ Blue is the Warmest Color แล้ว ในเรื่องของการเสนอฉากร่วมรักนั้น โดยส่วนตัวผมออกจะชอบสายตาของหนังเกาหลีมากกว่า ซึ่งว่ากันที่เรื่องของ male gaze ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ถ่ายออกมาด้วยดวงตาของผู้ชายที่โจ่งแจ้งจนมีปัญหาแต่อย่างใด นั่นคือในฉากบรรเลงรักระหว่างซุกฮีและฮิเดโกะนั้นน่าเชื่อกว่าว่าตัวละครต่างก็ขับเคลื่อนด้วยแรงราคะที่พุ่งพล่านในตัวเอง หาได้รู้สึกว่าเป็นการทำไปตามหน้าที่และบทที่ต้องเล่น นั่นคือเป็นธรรมชาติกว่า และงดงามกว่า เราไม่ได้รู้สึกว่ากำลังดูอะไรที่ผิดประหลาด แต่เป็นพฤติกรรมปกติธรรมดาทั่วไปที่เพียงแต่เกิดขึ้นในช่วงเวลาซึ่งความรักระหว่างสตรียังไม่เป็นที่ยอมรับ และด้วยการนี้ความไม่รู้ถูกรู้ผิด หรืออาการตื่นเต้นเกินกว่าเหตุของตัวละครจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ตามตัวบทเหตุการณ์ของมัน
5. อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในหนังคือความนิยมต่อการเสพเรื่องเล่าและศิลปะกามารมณ์ (pornography) ของสังคมชั้นสูงในอดีต แม้ว่าการเปิดเผยเรื่องคาวโลกีย์ของเหล่าผู้ครองอำนาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หนังหลายๆ เรื่องก็นำเสนอประเด็นนั้นด้วยความกระสันที่จะร่วมเพศ ต่างกับ The Handmaiden ที่ฉายภาพของปัญญาชนผู้อ่านออก เขียนได้ ด้วยตีกระแทกภาพจำที่ว่าผู้เรืองปัญญาจะต้องอ่านแต่หนังสือที่อัดแน่นแต่ความรู้โดยแสดงให้เห็นว่าก็ยังมีคนเหล่านี้ที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องเล่าว่าด้วยการเสพสังวาส หรือเก็บสะสมแต่ภาพวาดลามกอนาจาร