แม้นักวิจารณ์และนักอ่านหลายคนจะพร้อมใจลงความเห็นว่า The Handmaid’s Tale ของ Magaret Atwood จะเป็นวรรณกรรมแบบ ‘Feminist Dystopia’ ทว่า ตัว Atwood เองเคยกล่าวไว้ว่า การที่เธอเลือกเขียนงานแนว Dystopia แต่เล่าผ่านน้ำเสียงและมุมมองของผู้หญิง ไม่ได้ส่งผลให้งานเขียนชิ้นนี้กลายเป็น Feminist Dystopia โดยทันที และในทางหนึ่ง สิ่งที่ Atwood สนใจและพาเราสำรวจผ่านวรรณกรรมเล่มนี้ คือระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม (Totalitarianism) ในสังคมหนึ่ง ซึ่งกำหนดสถานะของผู้หญิงให้เหลือเพียงกระจิริดกระจ้อยร่อยเท่านั้น
Atwood ไม่เคยปฏิเสธ หากใครจะมองนวนิยายเล่มนี้ว่าเป็น Feminist Dystopia หรืออย่างไร เพราะมันค่อนข้างชัดเจนจากการที่เรื่องราวของ The Handmaid’s Tale ได้ฉายภาพชีวิตและชะตากรรมของตัวละครหญิงหลากชีวิต แม้ว่าในเวลาเดียวกัน หากเราลองถอยห่างออกสักเล็กน้อยจะเห็นได้ว่า Atwood ต้องการแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของตัวละครต่างๆ ที่ล้วนถูกบีบคั้นจากระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ซึ่งตัวละครเหล่านี้ไม่ได้มีแค่เพียงผู้หญิง
Magaret Atwood เขียน The Handmaid’s Tale ในลักษณะที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสัญญาณเตือนต่อปัจจุบันที่อาจนำพาไปสู่อนาคตที่ล่มสลาย ผ่านโลกที่จินตนาการรังสรรค์ขึ้นมา เธอได้เปิดเผยถึงปัญหาในสังคมทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ เสรีภาพที่ถูกจำกัด พฤติกรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้มีอำนาจ รวมถึงความหวาดระแวงว่าชีวิตส่วนตัวของเรากำลังถูกสอดส่องจากคณะผู้ปกครอง
The Handmaid’s Tale พาเราเดินทางไปในสังคมเผด็จการที่ยึดถือแนวคิดว่า ผู้หญิงคือทรัพย์สินของผู้ชาย และพื้นที่ของเธอก็คือ ‘บ้าน’ แต่ในขณะเดียวกัน Atwood ก็ชี้ชวนให้เราได้สังเกตถึงที่ทางและการชอนไชของอำนาจ ที่คอยจัดระเบียบความคิด คำพูด และพฤติกรรม ของผู้คนใต้ปกครองอย่างแนบเนียน หล่อหลอมสำนึกแห่งความกลัวและหวาดระแวง กล่อมเกลาให้เชื่องเชื่อต่อตรรกะและคำสอนที่อาจฟังไม่สมเหตุสมผลในทีแรก แต่เพียงไม่นานก็ได้ค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นศรัทธาที่น่ายึดถือในที่สุด
ประชาชนในสังคมแห่งนี้ล้วนถูกฝึกฝนให้อยู่ภายใต้ระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด เพราะพวกเขาต่างรับรู้ว่าตัวเองอยู่ภายใต้การตรวจสอบของรัฐตลอดเวลา Michel Foucault นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเคยเสนอแนวคิดลักษณะนี้ใน ‘วินัยและการลงทัณฑ์’ (Discipline & Punishment) ที่เป็นงานเขียนเล่มหนึ่งของเขาว่าด้วยการตรวจตาของดวงตาแห่งอำนาจในลักษณะคล้ายกันนี้ โดย Foucault ได้กล่าวถึงสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เปิดเผยให้เห็นถึงผู้คนที่อยู่ในอาคารนั้นๆ ได้ ตัวอย่างเช่น การออกแบบเรือนจำแบบ ‘Panopticon’ ของ Jeremy Bentham ด้วยแนวคิดที่ต้องการควบคุมนักโทษให้ได้มากที่สุดโดยใช้เจ้าหน้าที่น้อยที่สุด
ภายใต้เรือนจำรูปแบบนี้ นักโทษแต่ละคนจะถูกแยกขังจากกัน และไม่สามารถมองเห็นกันได้ ห้องขังแต่ละห้องถูกเรียงกันเป็นวงกลม รายรอบหอบัญชาการที่ผู้คุมจะประจำการอยู่ และคอยสอดส่องพฤติกรรมของนักโทษอยู่ที่นั่น แม้ในความเป็นจริงเหล่าผู้คุมอาจสอดส่องนักโทษแค่นานๆ ครั้ง แต่สำหรับเหล่านักโทษที่ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผู้คุมกำลังมองอยู่เมื่อไหร่ พวกเขาจึงเชื่อว่ากำลังถูกสอดส่องอยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่า ต่อให้ภายในหอบัญชาการแห่งนั้นจะไม่มีผู้คุมอยู่สักระยะหนึ่ง อำนาจของเขาก็ยังคงอยู่ สายตาที่จ้องแต่จะตรวจสอบยังคงอยู่ แม้ว่าเจ้าของดวงตาจะหลับอยู่ก็ตาม
ใน The Handmaid’s Tale นั้น ประชาชนล้วนแต่สถานะแตกต่างกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสาวรับใช้ (The Handmaid) ผู้พิทักษ์ (Guardian) หรือท่านผู้บัญชาการ (Commander) ต่างรับบทบาทของผู้คุม ไปพร้อมๆ กับบทบาทของนักโทษ หรือก็คือ ประชาชนต่างคอยสอดส่องซึ่งกันและกันเฉกเช่นตำรวจลับ เพราะต่างตระหนักถึงข้อเท็จจริงและปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะพลเมืองอย่างเคร่งครัด สังคมใน Handmaid’s Tale จึงขับเคลื่อนอยู่ภายใต้โครงสร้างเรือนจำแบบ panopticon ที่อำนาจและสายตาของผู้คุมถูกนักโทษรับรู้อยู่ตลอดเวลา
การมีลูกในโลกของ The Handmaid’s Tale เป็นเรื่องยาก การใช้ชีวิตคู่กับผู้หญิงแค่สักคนไม่ได้การันตีว่าครอบครัวนั้นๆ จะมีลูกสืบสกุลเสมอไป เพราะเหตุนี้บทบาทของสาวรับใช้จึงได้สถาปนาขึ้นในฐานะการสร้างความเป็นไปได้ต่อการผลิตทายาทให้กับสกุลหนึ่งๆ หน้าที่ของพวกเธอก็ไม่มีอะไรมาก แค่เพียงร่วมรักกับท่านผู้บัญชาการสักคน จากนั้นก็เฝ้ารอว่าผลลัพธ์จากการมีเซ็กซ์ครั้งนั้นจะเป็นการตั้งท้องและให้กำเนิดบุตรอย่างที่สังคมคาดหวังหรือเปล่า ในการปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้ สาวรับใช้ที่มีสถานะทางสังคมต่ำเตี้ยนอกจากไม่ได้ค่าจ้างแล้ว หากเซ็กซ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพวกเธอและเหล่าผู้บัญชาการไม่ได้นำมาซึ่งความสุขสม แต่ดำเนินไปภายใต้กฎระเบียบทางสังคมยุบยับที่ต้องการจะควบคุมให้การร่วมรักระหว่างคนสองสถานะหยุดอยู่แค่เรื่องของหน้าที่ ขาดไร้ซึ่งอารมณ์ และความรู้สึกร่วม ปิดกั้นความเป็นไปได้ใดๆ ที่จะทำให้ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายเกิดความผูกพันซึ่งกันและกัน
หากเราลองพิจารณาประเด็นนี้อีกสักหน่อยจะเห็นได้ว่า แม้หน้าที่ของผู้หญิงคือการผลิตทายาทเพื่อเพิ่มบุคลากรใหม่ๆ ที่จะรับใช้รัฐ หากในทางกลับกัน เราอาจมองได้ว่า ในสังคมที่ประชากรค่อยๆ ลดน้อยลงทุกปี การให้กำเนิดบุตรสักคนจึงถูกมองเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ และการที่ผู้หญิงสามารถให้กำเนิดทายาทได้นี่เอง จึงเท่ากับการมีอำนาจควบคุมการเพิ่มขึ้นของประชากรรัฐไปในตัว ด้วยเหตุนี้ ‘การทำหมัน’ จึงเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมของ The Handmaid’s Tale นั่นเพราะสำหรับผู้ชาย การทำหมันเท่ากับการต่อรองทางอำนาจของผู้หญิง หากเธอต้องการเรียกร้องอะไรใดๆ ผู้หญิงคือแรงงาน ฉะนั้นผู้ชายที่เป็นนายจ้างจึงต้องการจำกัดความเป็นไปได้ที่อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งหรือการปะทะกันระหว่างชนชั้น สำหรับพวกผู้ชาย ผู้หญิงเพียงแค่ต้องก้มหัวทำงานหลังขดหลังแข็ง ไม่ต้องมาต่อล้อต่อเถียง หรือหวังว่าสักวันจะได้เลื่อนสถานะ นั่นเพราะในสังคมแห่งนี้ ทุกบทบาทและหน้าที่ถูกกำหนดไว้อย่างแน่นิ่งตายตัวไปเรียบร้อยแล้ว
สาวรับใช้และผู้หญิงในเรื่องต่างก็มีอำนาจ เพียงแต่พวกเธอกลับถูกรัฐและผู้ชายควบคุมไม่ให้ตระหนักถึงอำนาจที่ตัวเองมี ร่างกายและพฤติกรรมของผู้หญิงถูกจัดระเบียบ ความคิดอ่าน และสามัญสำนึกถูกจัดระบบ และแปรเปลี่ยนให้ยึดถือแต่อุดมคติของรัฐแบบชายเป็นใหญ่ เช่นเดียวกับความขัดแย้งทางชนชั้นหลายๆ ครั้งในอดีตที่ผู้มีอำนาจ (แรงงาน) ถูกบดบังจากอำนาจที่ตนถือครอง และเพราะผู้ชายใน The Handmaid’s Tale ต่างก็หวาดกลัวว่า หากมีสักวันที่ผู้หญิงในเรื่องตระหนักถึงอำนาจที่ตนมี ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่เพียงแค่การเรียกร้องสิทธิต่างๆ แต่อาจทำให้เกิดการรวมตัวกันของชนชั้นแรงงานเพื่อล้มล้างระบบที่กดขี่บีฑาพวกเธออยู่ก็เป็นได้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นแค่ประเด็นยิบย่อยเพียงน้อยๆ ภายในจักรวาลของ The Handmaid’s Tale เท่านั้นครับ และแน่นอนว่ายังมีรายละเอียดและความลับอีกมากที่แอบซ่อนอยู่ในวรรณกรรมเล่มสำคัญเล่มนี้ที่รอให้คุณได้ค้นพบ ผมคงไม่เล่าอะไรไปมากกว่านี้ แค่อยากจะส่งเสียงเชียร์ดังๆ ให้กับใครที่อาจยังลังเลที่จะหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน เชื่อเถอะครับว่า The Handmaid’s Tale จะมอบประสบการณ์การอ่านที่บีบเค้นอย่างที่สุดให้กับคุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Gutting, Gary. 2005. Foucault: A Very Short Introduction.