ใกล้เข้ามาแล้วสิ สำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 ประจำปี 2561 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคมถึง 8 เมษายน ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แน่ล่ะ บรรดานักอ่านทั้งหลายจะต้องไปทอดน่องสอดส่ายสายตาเสาะหาทั้งหนังสือคลาสสิกและหนังสือเพิ่งตีพิมพ์หมาดใหม่ในงานบุ๊กแฟร์ (book fair) ระดับประเทศหนนี้ ส่วนผมคงไม่แคล้วพบตัวเองเบียดเสียดมวลมหาประชาหนอนหนังสืออยู่ด้วยตามเคย
จริงอยู่ จุดประสงค์หลักอันเย้ายวนให้มิอาจอดใจไหวคือการเที่ยวชมและจับจ่ายเล่มนั้นเล่มโน้นจากหลากหลายสำนักพิมพ์ที่มาออกร้านในคราวเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น ผมยังได้ตระเวนเลียบๆ เคียงๆ ด้อมๆ มองๆ ดูสาวๆ สวยๆ ทั้งคนมาขายหนังสือและคนมาซื้อหนังสืออย่างแช่มชื่นหัวใจ แหม ความสวยก็มีอิทธิพลต่อหนังสือบ้างเหมือนกันนะฮะ (ฮ่า ฮ่า) อ้อ ไหนๆ หลุดสารภาพแล้ว งั้นถือโอกาสบอกเล่าเรื่อง ‘คนสวยและการเผยแพร่หนังสือ’ ในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยซะเลย
ร่นเวลาถอยไปยังทศวรรษ 2450 ตรงกับช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ต้นรัชกาลที่ 6 หนุ่มๆ ชาวกรุงเทพพระมหานครย่อมแว่วยินกิตติศัพท์ความสวยของแม่สาวขายหนังสือคนหนึ่งซึ่งถูกกระพือลือสะพัด เรียกว่าสมัยนั้นละแวกย่านประตูผีเห็นจะไม่มีใครไม่รู้จัก ‘แม่เลื่อนลอยฟ้า’ น่าติดตามเชียวครับ เจ้าของรูปโฉมงามหยาดเยิ้มราวนางฟ้านางสวรรค์ เหตุไฉนจึงมาเลื่องลือระบือนามเคียงคู่บริเวณที่ฟังแล้วชวนขนลุกสยดสยองเยี่ยงประตูผี
แวะเสริมความรู้เสียหน่อย คุณผู้อ่านจะได้แจ่มแจ้งกระจ่างชัด ประตูผีในอดีตเคยเป็นจุดที่มีการหามศพชาวสยามรวมถึงชาวต่างชาติผ่านทางไปไว้ที่วัดสระเกศ ยิ่งหากศพไหนปราศจากญาติมิตรหรือม้วยมรณาลงด้วยโรคระบาด พอเรือนร่างถูกหามเข้าเขตป่าช้าแห่งอารามจักถูกวางทิ้งไว้ให้หมาแทะแร้งทึ้ง หลายคนอาจคลับคล้ายคลับคลาอยู่บ้าง ‘เหยื่อแร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์’ โอ๊ย ลองไปหาดูภาพเก่าๆ กันเถอะ ซากศพเปื่อยเน่าตับไตไส้พุงเละเทะ พี่แร้งพี่หมากินอิ่มเมื่อไหร่เหลือแต่โครงกระดูกและหัวกะโหลก มองดูไม่น่ารักน่าหยอกเย้าแบบ ‘น้าผี’ แห่งละครจักรๆ วงศ์ๆ ตอนเช้าวันเสาร์อาทิตย์ทางช่องเจ็ดสีทีวีเพื่อคุณหรอกฮะ (น้าผีบอกแล้ว บอกแล้วบอกอีก ก็ไม่เชื่อ…) นั่นคือวันวานร้อยกว่าปีที่แล้ว ตัดภาพมายุคปัจจุบัน ย่านประตูผีช่างเปี่ยมล้นชีวิตชีวา ถนนสายจอแจเต็มไปด้วยของกินสารพัดอย่าง เมนูจานเด็ดๆ ดังๆ เช่นผัดไทยขึ้นชื่อหลายต่อหลายร้าน ล่าสุดร้านเจ๊ไฝข้างทางเพิ่งคว้ามิชลินสตาร์จนใครๆ ก็ใคร่ลองลิ้มรสชาติไข่เจียวปู
วกกลับมาคุยต่อเกี่ยวกับ ‘โฉมงามประจำถิ่นประตูผี’ รุ่นคุณทวด เริ่มจากเปิดเผยชีวประวัติของเธอ แม่เลื่อนลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2433 ถ้านับศักราชตามแบบปฏิทินเดิมย่อมถือได้ว่าเธอเกิดวันแรกสุดเลยของปี เติบโตขึ้นในบ้านริมคลองโอ่งอ่าง ทว่าบรรยากาศห้วงยามนั้นคงไม่น่าหวาดกลัวเท่าไหร่ เพราะตรงประตูผีมีถนนบำรุงเมืองอันทันสมัยอย่างตะวันตกตัดผ่าน การสัญจรจึงเป็นของคน เป็นของรถยนต์แล่นฉิว หาใช่มีแต่ผีถูกหามผ่านดังเก่าก่อน
แม่เลื่อนเรียนหนังสือจากโรงเรียนแหม่มสี (ปัจจุบันคือโรงเรียนสตรีวิทยา) ครั้นล่วงเข้าทศวรรษ 2450 แม่เลื่อนพลันแตกเนื้อสาวสะพรั่ง เป็นที่ร่ำลือกันทั่วถึงหน้าตาสะสวย มิหนำซ้ำ เจ้าหล่อนค่อนข้างสมัยใหม่ อ่านออกเขียนได้และชอบเหลือเกินในการจดจ่อสายตาต่อตัวหนังสือจำพวกบทร้อยกรองจักรๆ วงศ์ๆ เป็นต้นว่าอิเหนา, รามเกียรติ์, สังข์ศิลป์ชัย, พระอภัยมณี, คาวี และยอพระกลิ่น ทางด้านนิยายอิงพงศาวดารจีนอย่างไซอิ๋ว, ซิยิ่นกุ้ย, สามก๊ก และห้องสิน ก็โปรดปรานมาก หนังสือแนวธรรมะมีหรือเธอจะไม่เก็บสะสม เล่มสำคัญประจำยุคอย่าง ไตรโลกวิตถาร ที่ถูกเรียบเรียงขึ้นในปีพุทธศักราช 2437 ย่อมมิพ้นอยู่ในครอบครอง ด้วยความที่หลงรักหนังสือ แม่เลื่อนทดลองริเริ่มกิจการร้านเช่าหนังสือขึ้น โดยเธอไปซื้อหนังสือจากโรงพิมพ์วัดเกาะแล้วมาเปิดบริการให้เช่าหน้าบ้านตนเอง
ควรให้ข้อมูลอีกด้วยว่าช่วงทศวรรษ 2450 สิ่อสิ่งพิมพ์ยอดนิยมในหมู่ชาวสยามได้แก่นิทานคำกลอนจักรๆ วงศ์ๆ นี่แหละ ส่วนพวกงานเขียนบันเทิงคดีแบบสมัยใหม่ที่รับอิทธิพลฝรั่งยังเพิ่งก่อตัวได้ไม่แม่นมั่นนัก การเติบโตของสิ่งพิมพ์ข้างต้นหนุนเนื่องระบบโรงพิมพ์ ระบบซื้อขายหนังสือ กระทั่งระบบร้านเช่าหนังสือ ยุคนั้นประเทศเรายังไม่ปรากฏแนวคิดทำนองจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ร้านหนังสือยังไม่ค่อยแพร่หลาย ใครอยากอ่านเล่มไหนไปหาซื้อได้จากโรงพิมพ์ อันที่จริง ประวัติศาสตร์ร้านหนังสือไทยนี่น่าสนใจมากๆ ร้านหนังสือที่ขายหนังสือเป็นหลักแบบที่เราเห็นในปัจจุบันเพิ่งมามีตอนหลัง ยุคแรกๆ หนังสือจะถูกจัดวางร่วมกับสินค้าอื่น พูดง่ายๆ ในร้านขายของชำมีหนังสือบทกวีขายด้วย ที่แทบไม่น่าเชื่อคือในร้านขายเตียง ร้านขายอุปกรณ์การเกษตร ร้านขายยารักษาโรคก็มีหนังสือวรรณกรรมระดับโลกวางจำหน่าย ถ้าไปอ่านโฆษณาสินค้าตามหน้าหนังสือพิมพ์เก่าๆ คงอดอมยิ้มมิได้ อาจพบยารักษาริดสีดวงทวารขายคู่กับหนังสือแปลจากนวนิยายของแมรี่ คอเร็ลลี (Marie Corelli)
หนังสือนิยายประโลมโลกวัดเกาะตกราคาเล่มละหนึ่งสลึงหรือในระหว่าง 25-50 สตางค์ ดังปรากฏคำกลอนโฆษณาเชิญชวนซื้อหนังสือโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญว่า ” เล่มสลึงพึงรู้ท่านผู้ซื้อ ร้านหนังสือน่าวัดเกาะเพราะนักหนา ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี…” หลายคนที่สนใจประวัติศาสตร์หนังสือและสิ่งพิมพ์คงพอจะร้อง อ๋อ ใช่ไหมฮะ แต่หลายคนก็ขมวดคิ้วสงสัยทำไมเรียกขาน ‘วัดเกาะ’ แท้แล้วชื่อเต็มๆ คือวัดเกาะแก้วลังการาม ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นวัดสัมพันธวงศ์ แม้ปรากฏหลายโรงพิมพ์เรียงรายบริเวณวัดนี้ กระนั้น หากเอ่ยถึงหนังสือวัดเกาะแล้ว ตามความเข้าใจนักอ่านย่อมไม่ผิดไปจากโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ
อย่างไรก็ดี หนังสือเล่มละประมาณหนึ่งสลึงอาจฟังดูไม่แพงสักนิด แต่สมัยนั้นในสายตาชาวบ้านทั่วๆ ไปถือเป็นของราคาค่อนข้างสูง แล้วนิทานคำกลอนใช่จะจบบริบูรณ์ในเล่มเดียวที่ไหนกัน บางเรื่องปาเข้าไปหลายสิบๆ เล่มโน่น จุดนี้ล่ะ กิจการร้านให้เช่าหนังสือจึงพรั่งพรู บุคคลหนึ่งที่เล่ารายละเอียดไว้อย่างน่าสนใจคือ ส. บุญเสนอ (เสาว์ บุญเสนอ) เขาคือนักเขียนชื่อดังคนสำคัญของไทย น่าเสียดายที่ทุกวันนี้มีน้อยคนรู้จักเขา กระทั่งที่ตั้งสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เดิมทีเป็นบ้านของ ส.บุญเสนอซึ่งเขาได้ยกให้ ปลายทศวรรษ 2450 และทศวรรษ 2460 เสาว์คือนักเรียนที่คลั่งไคล้นิทานคำกลอน เขามักไปเช่าหนังสือที่ร้านเชิงสะพานกิมเซ่งหลี (เดี๋ยวนี้สะพานอยู่ตรงถนนสามเสน ใกล้ๆ วัดโบสถ์) ค่าเช่าหนังสือเล่มละ 1 สตางค์ สามารถเช่าได้ไม่เกินครั้งละ 5 เล่ม กำหนดเวลาให้อ่านภายใน 3 วัน ไม่มีค่ามัดจำ แต่ส. บุญเสนอมิได้ระบุว่าเขาเคยมาเช่าหนังสือร้านริมคลองโอ่งอ่างของสาวสวยย่านประตูผี (เพราะกว่าเสาว์จะขึ้นโรงเรียน แม่เลื่อเธอแต่งงานไปเสียแล้ว)
หาได้เสียแรงเปล่าเลยที่แม่เลื่อนอุตส่าห์ดั้นด้นไปซื้อหนังสือถึงวัดเกาะ เพราะหน้าบ้านเธอมิเคยเงียบหงอย หนุ่มๆ ชาวพระนครแวะเวียนมาเช่าหนังสืออย่างคับคั่งสม่ำเสมอ ไม่แน่ใจนักว่าพวกเขาดื่มด่ำซาบซึ้งอรรถรสหนังสือมากมายเพียงไร แต่เมื่อบังเอิญแลเห็นแม่สาวประจำร้านเช่าหนังสือช่างพริ้มเพรา การมายืนเกาะติดแผงคอยหยิบหนังสือพลิกอ่านจัดเป็นภารกิจสำคัญ ดูพลางๆ สายตาก็แอบจ้องมองแม่เลื่อนไม่รู้จักกะพริบ
เกือบจะลืมบอก! เหตุที่ฉายาเคลือบติดริมฝีปากหนุ่มๆ ว่า ‘แม่เลื่อนลอยฟ้า’ เนื่องจากดวงหน้าหญิงสาวสวยแฉล้มดุจพระจันทร์วันเพ็ญ ขณะเดียวกันสมัยนั้น ชาวสยามนิยมฟังเพลงไทยเดิมชื่อ ‘บุหลันลอยเลื่อน’ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 จนบุรุษชอบหยิบยกมาเปรียบเปรยความงามของสตรีที่ตนพึงใจหมายปอง
แม่เลื่อนใช่จะเพียงสวยหยาดฟ้ามาดิน หากยังเปี่ยมล้นน้ำใจไมตรี แย้มยิ้มพูดจาต่อลูกค้าเช่าหนังสือไพเราะอ่อนหวาน แม้หนุ่มๆ หลายคนจะเจ้าชู้ยักษ์ เกี้ยวพาราสีหนักหน่วง ถ้อยคำวาจาทะลึ่งทะเล้นเกินเลย เธอก็ไม่ถือสาหาความ ไม่ด่าทอตอบโต้ ยิ่งทวีความต้องมนตราตกหลุมรักให้กับหนุ่มๆ เข้าไปใหญ่ หนังสือที่แม่เลื่อนได้รับคืนมาหลายต่อหลายเล่มมีกระดาษชิ้นน้อยๆ สอดแนบมาด้วย ในนั้นเป็นเพลงยาวพรรณนาความรู้สึกของหัวใจ ความรักความใคร่ นางฟ้าแห่งประตูผีมิได้พะวงอะไรต่อเพลงยาวนัก เธออ่านเล่นเสียเพลินๆ แต่ที่ชวนให้กังวลกลับเป็นหนังสือบางเล่มอบอวลกลิ่นหอมประหลาดๆ หวั่นเกรงจะเป็นน้ำมันพรายทำเสน่ห์
จะถูกใครต่อใครเกี้ยวพาราสีมาบ้างก็ช่างเถอะ แต่ในจำนวนคนที่พิสมัยแม่เลื่อนลอยฟ้ามียอดชายผู้พิชิตหัวใจเธอสำเร็จคนเดียวคือหนุ่มเพื่อนบ้านใกล้เคียงนามว่านายหมัย จุลสมัย ซึ่งตอนนั้นเป็นรองเวรกองตรวจกรมศึกษาธิการ เขาเคยแวะมาเลือกดูหนังสือ มาเกี้ยวพาราสี หรือแอบสอดเพลงยาวมาให้ในนิทานจักรๆ วงค์ๆ บ้างรึเปล่า เพียงแม่เลื่อนเท่านั้นรู้ดีอยู่เต็มอก ที่แน่ๆ เจ้าของร้านเช่าหนังสือคนสวยเลือกจะร่วมชีวิตคู่กับเขา ทั้งสองเข้าพิธีสมรสเมื่อปีพุทธศักราช 2453 เชื่อเลยว่าลูกค้าหนุ่มๆ หลายคนตกอยู่ในสภาพคนอกหัก
สาวสมัยใหม่พอแต่งงานออกเรือนย่อมกลายเป็นแม่บ้านสมัยใหม่ แม่เลื่อนปฏิบัติหน้าที่การเรือนไม่ขาดตกบกพร่อง พร้อมกับให้คำปรึกษาเคียงข้างสามีในด้านต่างๆ รสมือทำอาหารของเธอยังเลอเลิศมิใช่เบา โดยเฉพาะแกงเผ็ดปลาไหล, มัสมั่น และยำผิวส้มซ่า ยามว่างก็พักผ่อนหย่อนใจด้วยการครวญเพลงประกอบละครปราโมทัยและเพลงในบทละครวิวาห์พระสมุทร แม่เลื่อนให้กำเนิดบุตรสาวแก่นายหมุยรวมกัน 2 คน แต่บุตรสาวคนแรกสุดคือ ‘ละเมียด’ สิ้นบุญตั้งแต่อายุเพียง 3 ขวบ จึงเหลือเพียง ‘เรณู’ เป็นบุตรสาวคนเดียวตลอดมา
นายหมัยรับราชการก้าวหน้าจนได้รับบรรดาศักดิ์คุณพระประสารอักษรพรรณ เท่าที่ผมค้นพบหลักฐาน สามีของแม่เลื่อนลอยฟ้ามีบทบาทในแวดวงหนังสือเช่นกัน ดังเคยร่วมกับพระยาพณิชยศาสตรวิธานเรียบเรียง หนังสืออ่านเรื่องธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามในปีพุทธศักราช 2475 ร่วมกับพระยาพณิชยศาสตรวิธานและหลวงแจ่มวิชาสอน จัดทำหนังสือ รื่นระลึก ภาค 1 และภาค 2 อุทิศแด่พระยาราชนกูล (รื่น ศยามานนท์) ส่วนทางด้านการละคร คุณพระประสารฯ ได้เคยร่วมกับคณะหนังสือพิมพ์ไทยเขษมฝึกซ้อมและแสดงละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 เรื่อง ‘จัดการรับเสด็จ’ และ ‘ชิงนาง’ เมื่อเดือนมกราคม พุทธศักราช 2469 (นับศักราชแบบปัจจุบันคือ มกราคม พุทธศักราช 2470) เป็นต้น
ช่วงวัยกลางคนจวบจนบั้นปลาย แม่เลื่อนลอยฟ้าและคุณพระประสารอักษรพรรณนิยมไปพำนักบ้านพักตากอากาศริมชายหาดชะอำ โดยได้ซื้อบ้านปลุกปรีดีต่อมาจากราชสกุลวรวรรณ จะเห็นว่าการครองชีวิตรักของอดีตหนุ่มสาวย่านประตูผีช่วงทศวรรษ 2450 หวานชื่นเรื่อยมา
ผมได้เผยไปแล้วถึงกรณีที่สาวสวยเจ้าของร้านเช่าหนังสือริมคลองโอ่งอ่างถือกำเนิดในวันที่ 1 เมษายน นางฟ้าย่านประตูผีผู้เคยถูกหนุ่มๆ ชาวพระนครที่แวะเวียนมาเช่าหนังสือเกี้ยวพาราสีมานักต่อนัก หากท้ายสุดผู้ที่โผล่เข้ามาเกี้ยวพาราสีเธอไปได้สำเร็จในวัยชราอายุขัย 72 ปีนั่นคือพญามัจจุราช มรณกรรมของแม่เลื่อนลอยฟ้านั้นเกิดขึ้นเมื่อ 1 มิถุนายน พุทธศักราช 2505
เรื่องราวของแม่เลื่อนลอยฟ้าอาจดูเหมือนเพียงเกร็ดกระจ้อยร่อยในหน้าประวัติศาสตร์ คนสวยเปิดร้านเช่าหนังสือคนหนึ่งจะสลักสำคัญอะไรนักหนากันเล่าต่อภาพรวมทางสังคม แต่ต้องไม่ลืมเชียวนะครับว่าคนเล็กๆ แบบนี้แหละที่ได้สร้างปรากฏการณ์หลายอย่างที่จำเป็นมิใช่น้อย เพื่ื่อโยงใยไปยังงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่กำลังจะมาถึง แม้ผมเองจะพูดทีเล่นทีจริงว่าไปงานเพื่อชื่นชมสาวๆ สวยๆ แต่โดยเจตนาลึกๆ จงใจจะพิจารณาความโลดแล่นของผู้คนกับหนังสือเสียมากกว่า อาจเป็นข้อสังเกตสังกาที่มิได้ยิ่งใหญ่นักในบรรณพิภพ แต่อย่างน้อยเราคงสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายลมหายใจแห่งสื่อสิ่งพิมพ์ อ้าวเฮ้ย นั่งเคี้ยวผัดไทยประตูผีอยู่ดีๆ ทำไม ‘วาร์ปย้อนยุค’ มายืนพลิกดูหนังสือวัดเกาะริมคลองโอ่งอ่างได้เนี่ย
อ้างอิงข้อมูลจาก
- โกวิท ตั้งตรงจิตร. จารึกเรื่องดีมีในสยาม. นนทบุรี : ดอกหญ้า 2000, 2556
- เทพชู ทับทอง. “คนสวยในอดีต” ใน สยามในอดีต. กรุงเทพฯ : อักษรบัณฑิต, 2521. หน้า 19-24
- ไทยเขษม มกร 2469. ปี3 เล่ม 9 (15 มกราคม 2469).พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2469
- นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยา.ประชุมบทละครดึกดำบรรพ์. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางเลื่อน ประสารอักษรพรรณ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 21 พฤษภาคม 2509. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสาสน์, 2509
- พณิชยศาสตรวิธาน,พระยา แจ่มวิชาสอน,หลวง และประสารอักษรพรรณ, พระ. รื่นระลึก ภาค 1.พิมพ์อุทิศแด่พระยาราชนกูล (รื่น ศยามานนท์) แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2481. พระนคร: โรงพิมพ์ศรีหงส์, 2481
- พณิชยศาสตรวิธาน,พระยา และประสารอักษรพรรณ, พระ. หนังสืออ่านเรื่องธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม. พระนคร: โรงพิมพ์ศรีหงส์, 2475
- ลาวัณย์ โชตามระ. ได้รู้ได้หัวเราะ. พระนคร: แพร่พิทยา, 2512
- ส.บุญเสนอ. ตามรอยลายสือไทย เรื่องราวในชีวิตนักประพันธ์กลุ่มยุคเริ่มประชาธิปไตย.กรุงเทพฯ : พี.วาทิน พับลิเคชั่น, 2531
- ส.พลายน้อย. สำนักพิมพ์สมัยแรก. กรุงเทพฯ : คอหนังสือ, 2548