เมื่อคืนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จู่ ๆ บุรุษนามว่า Tony Woodsome ก็ปรากฏตัวขึ้นบนแอพพลิเคชั่น Clubhouse แล้วสร้างเสียงฮือฮามากมายจนถึงขั้นที่ว่าผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า ณ เวลา 22.55 น. มีคนฟัง Tony Woodsome รวมกว่า 5 หมื่นคน และการสนทนาจบลงในเวลาประมาณ 23.30 น. ผู้จัดประกาศว่า มีจำนวนห้องสนทนาและที่เปิดเชื่อมต่อสัญญาณรวมทั้งหมด 9 ห้อง มีผู้ฟังเกือบแสนคนในช่วงเวลาแค่ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง
(สำหรับใครที่ไม่รู้จัก Clubhouse สรุปคร่าวๆคือโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปฟังการสนทนาในห้องต่างๆตามความสนใจของได้แบบสดๆ ลองอ่านสรุปคร่าวๆตรงนี้ได้นะครับ https://thematter.co/brief/clubhouse-explain/135507)
Tony Woodsome แม้ชื่ออาจจะฟังดูไม่คุ้นหู แต่เขาไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหน เรารู้จักเขาในนามว่าคุณ ทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละครับผม ส่วนชื่อ ‘โทนี’ มาจากการเรียนปริญญาโท-เอกในสหรัฐอเมริกา อาจารย์ที่สอนเขาไม่สามารถออกชื่อทักษิณได้ จึงเรียกเขาว่าโทนี่นั้นเอง
ซึ่งเนื้อหาที่คุยกันวันนั้นก็พูดคุยเรื่องแนวคิด นโยบายต่างๆอย่าง ’30 บาท รักษาทุกโรค’ ‘หวยบนดิน และ ‘OTOP’ หลังจากนั้นมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ให้คนที่เข้ามาฟังยกมือถามได้ มีประโยคหนึ่งกล่าวโดยคุณ รักชนก ศรีนอก ที่ทำเอาอึ้งกันไปเลย
“เราขออนุญาตเป็นตัวแทนของคนเจเนอเรชันนี้แล้วกัน เราเชื่อว่ามีหลายคนที่อยากบอกคุณทักษิณว่าแก้รัฐธรรมนูญตอนนี้ไม่พอสำหรับพวกเราแล้ว พวกเราต้องการที่จะปฏิรูปสถาบันฯ”
ไม่นานต่อจากนั้นห้องก็ปิดไป ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่า Tony Woodsome จะมาปรากฎตัวอีกครั้งไหมในอนาคต และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรต่อจากนี้ Clubhouse จะถูกแบนรึเปล่า หรือจะมีกฎหมายมาควบคุมเข้มข้นขึ้นไหม แต่อย่างน้อยๆ ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งไหนของเรื่องการเมือง แนวคิด หรือความเชื่อ ตอนนี้เราเห็นแล้วว่า Clubhouse ไม่ใช่เพียงแอพพลิเคชั่นที่เอาไว้เปิดห้องพูดคุยสนุกๆ กันอีกแล้ว มันเป็นเวทีใหม่ของการแสดงจุดยืนของตัวเองไม่ว่าจะเรื่องใดๆ ก็ตาม
Clubhouse เริ่มต้นด้วยการเป็นห้องสนทนาบันเทิงสนุกๆ จนตอนนี้พื้นที่มันเริ่มเปิดกว้างขึ้นและประเด็นที่ถูกนำมาเปิดห้องก็ขยายออกไปในหลายๆแง่มุม เราเห็นห้องที่สร้างขึ้นมาเพื่อพูดคุยกันเรื่องกีฬา บางห้องเป็นแฟนคลับของวงดนตรี บางห้องให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจ หลังๆ มาเริ่มมีประเด็นเรื่องการเมืองการปกครองของประเทศออกมาให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ยกตัวอย่าง ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักกิจกรรมที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับราชวงศ์ไทย และกำลังลี้ภัยอยู่ในญี่ปุ่นเปิดห้องหัวข้อ “กษัตริย์ภูมิพล สงครามเย็น กษัตริย์วชิราลงกรณ์” ที่มีคนเข้าฟังถึง 3 หมื่นคนเลยทีเดียว
Natan Sharansky อดีตนักโทษการเมืองชาวโซเวียต ผู้ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองสวนทางกับอดีตรัฐบาลสหภาพโซเวียต (Soviet Union) ภายใต้การบริหารของพรรคคอมมิวนิสต์ เคยถูกจำคุกอยู่ในโซเวียตนานกว่า 9 ปีเต็ม เจ้าของหนังผลงานหนังสือ The Case For Democracy : The Power of Freedom to Overcome Tyranny and Terror เคยออกแบบการทดสอบการทดสอบง่ายๆ เพื่อดูว่าเรากำลังอยู่ในสังคมแห่งเสรีภาพหรือสังคมแห่งความกลัว เขาเรียกมันว่า ‘Town Square Test’ โดยให้ลองจินตนาการว่าถ้าเราสามารถเดินไปใจกลางชุมชนแล้วพูดตำหนิการทำงานและต่อว่ารัฐบาลได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับหรือถูกทำร้ายร่างกาย นั่นแสดงว่าเราอยู่ในสังคมแห่งเสรีภาพ ถ้าไม่ใช่อย่างนั้นก็แสดงว่าเราอยู่ในสังคมแห่งความกลัวนั้นเอง
Clubhouse เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่แอพพลิเคชั่นตัวนี้จะมาโด่งดังในประเทศไทย มันเริ่มสร้างกระแสในประเทศอื่นมาแล้วในยุโรป รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน แอพพลิเคชั่นที่อายุยังไม่ถึงหนึ่งขวบดี เริ่มต้นมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เราเห็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่าง Elon Musk หรือ Mark Zuckerberg มาเป็น early adopter และตั้งห้องสนทนาจนมีคนเริ่มตามกันเข้ามามากมาย เพิ่มจาก 3.5 ล้านราย แตะ 8.1 ล้านราย ในช่วงเวลาเพียงสองสัปดาห์ (1-16 ก.พ.) ตามการประเมินของ App Annie บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลแอปพลิเคชัน
แต่ยิ่งเริ่มได้รับความนิยมมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เป็นที่เพ่งเล็งมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในประเทศการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแบบเปิดเผยนั้นถือว่าเป็นเรื่องต้องระมัดระวัง ยกตัวอย่างช่วงไม่กี่อาทิตย์ก่อนที่ผู้ใช้งานในประเทศจีนได้เริ่มใช้งาน Clubhouse กันอย่างกว้างขวาง มีห้องอย่าง ‘The Politically Incorrect Group’ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีคนเข้ามาจากทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน และฮ่องกง พูดคุยและถกประเด็นกันถึงเรื่องระบบการทำงานของรัฐบาลไปจนถึงสิทธิมนุษยชนเลยทีเดียว หนึ่งในนักเขียนของเว็บไซต์ข่าว Nikkei Asia ที่ใช้นามแฝงว่า Selena บอกว่า
“มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ได้ยินเสียงของแนวคิดเสรีนิยมที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ที่ประชาชนนั้นถูกปิดกันและไม่ได้รับโอกาสมากนักบนอินเตอร์เน็ตของประเทศจีน”
หัวข้อสนทนาเริ่มขยายออกไปในหลายๆ ประเด็น (ที่น่าสนใจทั้งนั้น) อย่าง ‘ค่ายปรับทัศนคติ’ ที่เขตซินเจียงของจีนมีจริงหรือไม่ การปราบปรามผู้ประท้วงฮ่องกง ไต้หวันควรได้รับเอกราชจากจีนหรือเปล่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนคืออะไร หรือปัญหาสิทธิมนุษยชนของมุสลิมอุยกูร์ ฯลฯ มันเป็นเหมือนช่องว่างของโอกาสที่ปกติคนจีนจะไม่สามารถพูดคุยถึง ‘เรื่องต้องห้าม’ เหล่านี้ได้
ประหนึ่งว่าประชาชนชาวจีนกำลังทำ ’Town Square Test’ กับรัฐบาลของตนเอง ซึ่งก็อาจจะไม่แปลกใจที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของจีนจะไม่ผ่านการทดสอบครั้งนี้ ยิ่งดังมาก ก็ยิ่งถูกเพ่งเล็งมากอย่างที่บอกไป และเมื่อประมาณวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีรายงานจากเว็บไซต์ Wired ว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลจีนก็ได้แบนแอพพลิเคชั่น Clubhouse เป็นที่เรียบร้อย พร้อมกับพยายามลบทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับแอพพลิเคชั่นนี้บนอินเตอร์เน็ตของประเทศตนเอง (ส่วนคนที่เคยใช้หรือกล้าที่พูดถึงประเด็นต้องห้ามก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาบ้าง)
ผู้ใช้งานหลายพันหลายหมื่นคนสุดท้ายก็ต้องหาช่องทางอื่นอย่างการใช้ vpn เพื่อเข้าถึงแอพพลิเคชั่นตัวนี้ แม้ว่าตอนนี้มีคำเตือนว่ารัฐบาลเองก็อาจจะแฝงตัวมาฟังอยู่ในห้องด้วย เพราะฉะนั้นบทสนทนาในหัวข้อต้องห้ามก็อาจจะดูเบาลงกว่าในช่วงแรกๆ
ในรายงานของ Josh Rogin จาก Washington Posts เล่าว่ามีเด็กมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง (ที่เขาไม่สามารถเอ่ยนามได้เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย) บอกเขาว่าแอพพลิเคชั่นนี้เหมือนได้เปิดโลกใบใหม่ให้กับเขาเพราะได้เข้ามาฟังเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ฮ่องกงหรือกับชาวอุยกูร์ที่ไม่เคยเห็นในข่าวมาก่อนเลย เสียงจากข้างนอก จากคนที่อยู่ในสถานการณ์จริงๆ มันทรงพลังและสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของเขาได้เลยว่ารัฐบาลของเรานั้นถืออำนาจไว้ในมือมากขนาดไหน เด็กมหาวิทยาลัยคนนั้นแชร์ว่า
“เราอาศัยอยู่ในโลกที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาให้เรา ฉันคงจะไม่บอกว่าเราถูกล้างสมอง แต่ฉันพูดได้เพียงว่าเราหลงเชื่อว่ารัฐบาลของเราไม่น่าทำเรื่องพรรค์นั้น”
ผู้ใช้งานชาวจีนหลายคนก็รู้สึกเป็นกังวลว่าต่อจากนี้จะเป็นยังไง พวกเขาจะถูกเรียกเข้าไป ‘ดื่มน้ำชา’ แล้วไม่มีใครหาตัวเจออีกเลยไหม ข้อมูลส่วนตัวจะเป็นยังไง บทสนทนาที่พูดๆไปก่อนหน้านี้จะถูกบันทึกไว้รึเปล่า (ถ้าตามระบบแล้วจะไม่มีปุ่มบันทึก แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้) แถมกลายเป็นว่าที่หลงเหลืออยู่หรือคนที่ยังสามารถใช้บริการของ Clubhouse ได้ก็เริ่มกลัวและกังวลไปด้วย บางทีตั้งกลุ่มขึ้นมา คนที่ดูแลห้องก็จะบอกเลยว่าห้ามคุยเรื่องการเมือง ห้ามพูดถึงเรื่องรัฐบาลจีน ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่รัฐบาลต้องการอยู่แล้ว
รายละเอียดเพิ่มเติมที่พบก็คือว่าบทสนทนาเหล่านี้ไม่ได้มีการเข้ารหัสและถูกส่งผ่านเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ที่เมือง Los Angeles ที่ดูแลโดยบริษัทชื่อ Zenlayer จากเมืองเซียงไฮ้ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูอีกก็จะพบว่ามันถูกสร้างขึ้นโดยเทคโนโลยีที่มาจากบริษัทสัญชาติจีนชื่อ Agora ซึ่งถ้าสุดท้ายแล้วรัฐบาลของจีนบอกว่า “เอาข้อมูลมาแชร์กันหน่อยสิ” พวกเขาจะปฏิเสธได้ไหม? ก็คงไม่ได้
ความกังวลต่อมาก็คือแม้ว่าอาจจะใช้ชื่อแฝงรูปปลอม สุดท้ายก็ยังสามารถติดตามได้โดยเบอร์โทรศัพท์ที่เอาไว้สำหรับการสมัครเข้าใช้งาน และถึงแม้ทุกอย่างจะตามไม่ได้ ก็ยังมีระบบ voice-recognition ที่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ที่พูดนั้นคือใครกันแน่ มีชาวจีนอีกคนหนึ่งคอมเมนต์ว่าเขาเข้ามา Clubhouse เพื่อแสดงความคิดเห็นที่อาจจะไม่ได้ตรงกับที่รัฐบาลอยากให้ประชาชนมองสักเท่าไหร่ แต่ว่าตอนนี้กลับทำได้อย่างไม่สะดวกใจซะแล้ว
เหรียญมีสองด้านเสมอไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม มีคนมาสร้างกลุ่มที่สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลจีนด้วยเช่นเดียวกัน อย่างเรื่องการแบนของแอพพลิเคชั่นสาเหตุก็เพื่อการรักษาความมั่นคงของประเทศและหยุดการแพร่กระจายของข่าวปลอมที่ทำให้รัฐบาลเสียหาย
กระแสของการใช้ Clubhouse เพื่อการแสดงจุดยืนหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการปกครองและรัฐบาลนั้นเริ่มมีให้เห็นกันมากขึ้นในที่อื่นๆ อย่างประเทศตุรกีก็มีนักเรียน นักข่าว และนักการเมืองมากมายเริ่มเข้ามาใช้งาน Clubhouse เพื่อหลีกหนีการปิดกั้นสื่อของรัฐบาล
ของไทยเองก็มีให้เห็นเยอะขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ร่วมวงเล่าเรื่องสถาบันกษัตริย์ ธนาธร-ปิยบุตร เปิดห้องพูดคุยเรื่องการเมือง สภาโจ๊กที่คนพร้อมใจเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นนักการเมืองแล้วต่อบทประชุมสภากัน จนมาถึงเรื่องของคุณ Tony Woodsome เมื่อไม่กี่วันก่อน คำถามแหลมคมที่ถูกถามอย่างตรงไปตรงมานั้นกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนมาติดตามฟังกันอย่างล้นหลาม คำถามต่อมาคือกลุ่มคนเหล่านี้กำลังเอาความปลอดภัยของตัวเองไปเสี่ยงรึเปล่า ในเมื่อประเทศไทยก็ดูเหมือนว่าจะไม่ผ่านการทดสอบ ’Town Square Test’ เช่นเดียวกัน
มันยากที่จะบอกในตอนนี้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ออกมาบอกว่าเริ่มมีการเข้าไปติดตามการใช้งานของแอพพลิเคชั่นนี้แล้วอย่างใกล้ชิด และ “เตือนไม่ให้ผู้ใช้แอปฯ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และสร้างความเสียหาย ซึ่งจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2563 และกฎหมายอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ที่เกี่ยวข้องพร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเดียวกับที่ได้ตรวจสอบการใช้งานโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มอื่นๆ มาแล้ว”
ซึ่งความรับผิดชอบของ Clubhouse ในฐานะพื้นที่ก็ต้องคอยดูแลและควบคุมเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งาน โดยเฉพาะในสังคมที่อยู่ด้วยความหวาดระแวงและมีหลายๆ เรื่องที่ไม่สามารถพูดแบบเปิดเผยได้
อิสรภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกนั้นเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญในสังคมประชาธิปไตยที่ควรมีไม่ว่าที่ใดก็ตามบนโลกใบนี้ ซึ่ง Clubhouse เป็นกระจกสะท้อนอย่างดีว่าสังคมหลายๆ แห่งยังเป็นสังคมแห่งความกลัว ประชากรไม่สามารถออกมาแสดงความเห็น ตำหนิติเตียนผู้นำหรือผู้มีอำนาจได้โดยไม่ต้องหวั่นเกรงถึงภัยที่จะมาถึงภายหลัง Clubhouse ไม่ใช่และไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้เป็นทางออกหรือเครื่องมือเพื่อสร้างประชาธิปไตยในสังคม แต่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าประเด็นเหล่านี้สำคัญและจำเป็นแค่ไหนต่อการเปิดโลกของความคิดและสร้างสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
อ้างอิงข้อมูลจาก