tw: depression, โรคซึมเศร้า
หลังจากผ่านการรอคอยมาเป็นเวลาเนิ่นนาน เมื่อผมดูภาพยนตร์อนิเมะเรื่อง Evangelion: 3.0+1.0 Thrice Upon a Time จบลง น้ำตาของผมก็ยังเอ่ออยู่ในตาไม่หายไปไหน นอกจากความรู้สึกอิ่มเอิบกับบทสรุปของเรื่องอนิเมะที่ส่งอิทธิพลต่อชีวิตของผมอย่างสูงสุด และใช้เวลานานเหลือเกินกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมต้องเสียน้ำตาก็คือ ความยินดีที่มีต่อผู้กำกับอนิเมะ ที่ในที่สุดก็สามารถก้าวผ่านความยากลำบากทั้งหลาย จนสามารถพาอนิเมะเรื่องนี้มาถึงบทสรุปได้
สำหรับคนที่ไม่ใช่แฟนอนิเมะแล้ว อาจจะเห็น Evangelion เป็นอนิเมะชื่อดังระดับปรากฎการณ์อีกเรื่อง และอาจจะงงว่าทำไมมันถึงได้ดังขนาดนั้น และยังมีการทำใหม่อีกครั้ง แถมใช้เวลานานมากกว่าจะจบ บางคนก็รู้จักแค่ตัวละคร เพราะโผล่ในสินค้าและโฆษณาต่างๆ มากมาย ในญี่ปุ่น มีกระทั่งคนที่ไม่เคยดูอนิเมะเรื่องนี้ แต่เป็นแฟนคลับไปเพราะว่าเป็นตู้ปาจิงโกะที่ชอบเล่น
แต่สำหรับสาวก หรือแฟนของแฟรนไชส์นี้ ทุกคนต่างรู้กันดีว่า สิ่งที่สำคัญจนเป็นเนื้อเดียวกับอนิเมะเรื่องนี้ก็คือ ตัวผู้กำกับ ฮิเดอากิ อันโน (Hideaki Anno) ที่เป็นแทบจะทุกสิ่งทุกอย่างของอนิเมะเรื่องนี้ เพราะตัวเขาเองก็เหมือนทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับอนิเมะเรื่องนี้ และมันก็เป็นการสะท้อนสภาพจิตใจของเขา ผ่านผลงานของเขา และที่อนิเมะเรื่องนี้กลายเป็นตำนานไปได้ ก็เพราะตัวเขานี่ล่ะครับ ดังนั้น แทนที่จะพูดถึงอนิเมะเรื่องนี้อีกครั้ง (และเพื่อลดความเสี่ยงโดนปาหินถ้าผมดันสปอยล์เนื้อเรื่องของเมะตอนจบ) ผมก็ขอพูดถึงบุคคลคนนี้ ที่เป็นคนที่ผมทั้งยกย่อง และหมั่นไส้ในเวลาเดียวกัน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เคารพและเป็นห่วง จนถึงกับเสียน้ำตาด้วยความยินดีให้กับความสำเร็จของเขาในครั้งนี้ครับ
Hideaki Anno เกิดและโตที่จังหวัดยามากุจิ เขาเป็นเด็กที่เกิดมาในยุคที่ญี่ปุ่นเริ่มรุ่งเรืองหลังสงคราม และมีความสุขกับการวาดภาพ แม้เขาจะสอบเข้าโรงเรียนมัธยมชื่อดังประจำจังหวัด ที่เป็นเหมือนการการันตีเส้นทางต่อมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่ก็กลายเป็นว่า เขาไม่ได้สนใจเรื่องการเรียนเท่างานศิลปะ ทำให้คะแนนสอบของเขาแตกต่างกันอย่างสุดขั้วในแต่ละวิชา เขามีความสุขกับอนิเมะ มังงะ และโทคุซัตสึ หรืองานสเปเชียลเอฟเฟคต์สไตล์ญี่ปุ่น (คิดถึง Godzilla หรือสัตว์ประหลาดต่างๆ) และเมื่อเขามีกล้อง 8 มิลลิเมตรตัวแรก เขาก็มีความสุขกับการทดลองถ่ายสิ่งต่างๆ มากกว่าการเรียน ถ้าเป็นระบบเก่า เขาก็คงจะถูๆ ไถๆ เข้ามหาวิทยาลัยได้
แต่กลายเป็นว่ารุ่นเขาเป็นรุ่นแรกๆ ที่หันมาใช้ระบบสอบกลาง ทำให้จำเป็นต้องสอบวิชาภาษาอังกฤษที่เขาเกลียดเข้าไส้ ส่งผลให้เขาสอบไม่ติดและกลายเป็นโรนินไร้สังกัด และแทนที่จะตั้งใจอ่านหนังสือเพื่อแก้มือในปีถัดไป เขากลับหันมาทำงานพิเศษและสนุกกับการอัดวิดีโอเรื่อง Gundam ที่ออกฉายในช่วงนั้น จนพ่อแม่และโรงเรียนเก่าต้องมาวิงวอนขอให้เขาสอบเข้ามหาวิทยาลัย (ที่โรงเรียนมาขอเพราะไม่ต้องการให้อัตราการสอบติดลดลงเป็นที่เสียชื่อ) โชคดีที่เขาเห็นประกาศของมหาวิทยาลัยศิลปะโอซาก้า ที่พิจารณารับนักศึกษาเข้าเรียนโดยพิจารณาผลงาน ทำให้ในที่สุดเขาก็ได้กลายเป็นนักศึกษาเสียที
ที่มหาวิทยาลัยนี่เองที่เขาได้พบกับ ฮิโรยูกิ ยามากะ (Hiroyuki Yamaga) และ ทาคามิ อากาอิ (Takami Akai) เพื่อนที่จะกลายมาเป็นเพื่อนร่วมงานก่อตั้งบริษัทอนิเมะในอนาคต และพวกเขาก็ได้สร้างผลงาน DAICON III เป็นอนิเมะสั้นเปิดเทศกาลอนิเมะ ซึ่งได้รับคำชมเป็นอย่างมากแม้จะยังมีความดิบและหยาบแบบมือสมัครเล่น แต่คนในวงการก็เห็นว่าพวกเขามีของ จนทำให้เขาถูกดึงไปร่วมทำเมะเรื่อง Macross และอาศัยกินนอนอยู่ในสตูดิโอ และเป็นสถานที่ที่ทำให้เขาได้รู้จักกับ โยชิยูกิ ซาดาโมโตะ (Yoshiyuki Sadamoto) ที่จะมามีส่วนสำคัญกับผลงานต่างๆ ของเขา และต่อมาเขาก็ได้สร้าง DAICON IV เพื่อเปิดงานเทศกาลไซไฟญี่ปุ่น ที่เป็นการเฉลิมฉลองวัฒนธรรมเนิร์ดของตะวันตกด้วยการยัดเอาสิ่งต่างๆ ที่เนิร์ดสนใจก็กลายมาเป็นผลงานเด่นในยุคมือสมัครเล่นของเขา แต่การต้องร่วมงานกับคนจำนวนมาก
แม้จะเป็นโปรเจ็คต์อินดี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่
ชวนลำบากใจสำหรับคนที่สื่อสารกับคนอื่นไม่เก่งแบบเขา
ดูเหมือนเขาจะสนุกกับการทำอนิเมะมากไปหน่อย จนกลายเป็นว่าเขาไม่ได้จ่ายค่าเทอมและโดนไล่ออกจากมหาวิทยาลัย กลายเป็นว่าเขาไม่มีทางถอยแล้ว พอเห็นประกาศของทาง Studio Ghibli ที่กำลังรับสมัครอนิเมเตอร์มาช่วยงานอนิเมะเรื่อง ‘Nausicaä of the Valley of the Wind’ เขาก็เก็บกระเป๋าเข้าโตเกียว และดูเหมือน ฮาโยโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) เจ้าของสตูดิโอจะชอบใจเขามาก จนให้เขาได้รับผิดชอบฉากสำคัญของเรื่องซึ่งเขาก็ทำออกมาได้อย่างโดดเด่นด้วยสไตล์การวาดภาพการเผาไหม้และหลอมเหลวอย่างสมจริงจนคนในวงการได้แต่ทึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน ฮาโยโอะ มิยาซากิ ก็แอบแซวลูกศิษย์คนนี้เรื่องการไม่รักษาความสะอาดและนอนกินในสตูดิโอเป็นประจำ
ปี ค.ศ.1984 เขาก็ได้ร่วมตั้ง Studio Gainax กับเพื่อนจากโอซาก้านั่นเอง ซึ่งก็เรียกได้ว่าเป็นสตูดิโอที่เต็มไปด้วยเด็กใหม่ไฟแรง เป็นคนรุ่นที่โตมากับญี่ปุ่นยุคหลังสงครามที่พัฒนาก้าวทันประเทศแถวหน้าอื่นๆ แม้จะไม่มีสงคราม แต่พวกเขาก็อยู่ภายใต้สงครามเย็นที่คอยทำให้พวกเขาต้องแอบกลัวอยู่เสมอ แต่พวกเขาก็โตมากับวัฒนธรรมป็อปต่างๆ อย่างเต็มเอี่ยม และจะเรียกว่าพวกเขาคือโอตาคุยุคบุกเบิกก็ว่าได้
Studio Gainax คือตัวอย่างที่ดีของการรวมตัวของอัจฉริยะ
แต่ขาดทักษะในการจัดการเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
พวกเขาทำอนิเมะด้วยความรู้สึกอยากจะเอาชนะกันเองมากกว่าที่จะอยากได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ทำให้ผลงานเรื่องแรก The Royal Space Force เป็นงานที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จเรื่องรายได้ ยังดีที่สตูดิโอมีรายได้จากกิจการผลิตสินค้า แต่ถึงอย่างนั้นสตูดิโอก็ต้องหารายได้เสริมด้วยการทำเกมโป๊ขาย
ต่อมา อันโน ได้กำกับ Gun Buster ผลงาน OAV ก่อนที่จะได้มาทำงานกำกับระดับวงกว้าง นั่นคือ ‘The Secret of Blue Water’ หรือชื่อไทยคือ สาวน้อยนาเดีย ในปี ค.ศ.1990 กับทาง NHK ซึ่งเป็นผลงานเด่นดังอย่างมากในยุคนั้น เนื้อเรื่องที่ได้อิทธิพลจากงานวรรณกรรมของ Jules Verne ตัวละครหญิงที่โดดเด่น เนื้อเรื่องสุดสนุก กลายเป็นส่วนผสมที่ทำให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
แต่จริงๆ แล้ว งานชิ้นนี้ก็มีปัญหาไม่น้อยเลยครับ ถ้าใครได้ดูก็จะพบว่า ช่วงกลางเรื่อง มีตอนช่วง “ติดเกาะ” ที่ดูหลุดโทนจากเนื้อเรื่องหลัก และเป็นเหมือนงานทำส่งๆ มาเพื่อเติมให้จำนวนตอนมากขึ้นเท่านั้น รวมถึงช่วง แอฟริกา ที่ชวนงงเช่นกัน กลายเป็นว่า เพราะ NHK ต้องการให้ยืดเรื่องเพราะได้รับความนิยม ทำให้ต้องเพิ่มตอนเข้ามา และจากที่ปกติสมาชิกในทีม ต่างทำงานแข่งกันด้วยการแอบเอางานตามแผนเดิมไปซ่อนแล้วเสนองานของตัวเองออกมาแทน เป็นการสู้กันเองในทีมเพื่องานที่ดีกว่า การเพิ่มตอนทำให้ต้องส่งงานให้สตูดิโอในเกาหลีทำแทน กลายเป็นว่าทางสตูดิโอก็ควบคุมอะไรได้ยาก บวกกับการทำงานเหมือนกับละครกันตนา คือทำแบบตอนต่อตอน ทำให้ได้อะไรออกมาก็ต้องฉายไปก่อน รวมไปถึงเรื่องการใช้งบประมาณหมดไปตั้งแต่ช่วงแรกๆ ทำให้คุณภาพงานตกเพราะสตูดิโอต้องควักเนื้อเอง แถมลิขสิทธ์ยังตกไปเป็นของ NHK เสียอีก
แม้ The Secret of Blue Water จะเป็นอนิเมะสร้างชื่อให้กับเขาแค่ไหน การที่ต้องเผชิญความจริงว่า การได้ทำสิ่งที่รัก ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอ แต่กลับมีปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทะเลาะวิวาท คุณภาพงานตก การหักหลังกันทางธุรกิจ จนทำให้หลังจากงานชิ้นนี้ Anno กลายเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ 4 ปี โดยที่ตัวเขาเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรค เพราะในยุคนั้น โรคซึมเศร้ายังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก และการไปพบจิตแพทย์ก็ยังคงเป็นเหมือนตราบาปอยู่ ตลอดช่วงเวลานั้น เขาไม่ได้ใช้ชีวิต แต่เพียงแค่ อยู่ไม่ให้ตายไปวันๆ เท่านั้น
แต่ในช่วงเวลานั้นเองทำให้เขาเริ่มคิดถึงโครงการเกี่ยวกับอนิเมะที่มีธีมว่า “จะหันหลังหนีไม่ได้” ซึ่งก็กลายมาเป็น ‘Neon Genesis Evangelion’ นั่นเอง และด้วยชื่อเสียงที่สั่งสมมา ทำให้มีคนพร้อมจะช่วยให้งานชิ้นนี้กลายเป็นจริง และเขาได้อิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ และก็กลายยออกมาเป็นงานแบบที่เรารู้กันว่า กลายเป็นตำนานไปแล้ว
NGE เหมือนกับเป็นการเอาตัวตนของ อันโน เข้าไปใส่ในงานอย่างเต็มที่ ตัวละครในเรื่องแทบทุกตัวต่างมีปัญหาทางจิตวิทยา โดยเฉพาะตัวชินจิที่เต็มไปด้วยความสับสนกับตัวเอง แม้ฉากหน้ามันจะเป็นอนิเมะหุ่นยนตร์เท่ๆ ที่ไม่ว่าเอาไปขายงานที่ไหนก็คงมีคนพร้อมให้เงินทำ แต่กลายเป็นว่ามันกลายเป็นอนิเมะที่ดาร์กเอามากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดว่ามันฉายในช่วงเวลาของอนิเมะเด็กดู แต่กลับมีฉากที่โหดร้ายหลายฉาก ซึ่ง Anno ก็บอกว่า เด็กควรจะได้โอกาสสัมผัสกับความโหดร้ายให้เร็วที่สุด
ส่วนตัวเขาเอง ก็ได้รู้ว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า
จากการหาหนังสือจิตวิทยามาอ่านเพื่อศึกษาตัวละครในเรื่อง
และการทำงานแบบอัจฉริยะตอนต่อตอนของ อันโน ไม่เพียงแต่ทำให้ทีมงานต้องปวดหัว เพราะไม่รู้ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร แต่ตัวเขาเองก็ปวดหัวไม่เบาเหมือนกัน ว่าจะหาทางแลนดิ้งให้กับเรื่องราวอย่างไร เพราะแนวทางเรื่องที่ผ่านมามันชวนให้งงว่าจะไปต่อทางไหน เดาทางไม่ออก และพอเจอสองตอนสุดท้ายที่เรียกได้ว่า สติแตก ก็ว่าได้ เพราะมันไม่ได้เป็นแค่อนิเมะ แต่กลายเป็นงานนามธรรมอะไรซักอย่างที่ชวนงงมากๆ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากปัญหาเรื่องงบประมาณ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นตัวผู้กำกับเอง คนดูที่ไฮป์กันมายาวๆ พอเจอสองตอนสุดท้ายเข้าไป ก็ปากค้างไปไม่ถูกว่าจะเอาไงดี ยุคนั้นอินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย ไม่มีทวิตเตอร์ให้ชวนคุยกับคน ทุกคนได้แต่เก็บความงงไปคุยกับเพื่อนรอบตัว ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
ตัว อันโน เองก็ยืนยันว่าเขาพอใจที่จะจบแบบนั้น แต่เขาเองก็โกนหัว โดยไม่รู้ว่าเป็นการขอโทษหรือต้องการสื่ออะไร แต่ว่าหลายต่อหลายคนก็ไม่พอใจ มีการส่งจดหมายขู่ฆ่า ถ้าจำไม่ผิดก็มีคนเอาซากนกไปปาใส่บ้านเขาด้วย กลายเป็นว่าแทนที่จะทำอนิเมะเพื่อรักษาตัวอง ก็กลายเป็นว่าอาการดิ่งหนักกว่าเดิม
แม้จะกลับมาทำอนิเมะสองตอนสุดท้ายใหม่ เป็นฉบับภาพยนตร์ ที่แฟนๆ ก็ดีใจว่าจะได้เข้าใจอะไรซะที สุดท้ายก็เป็นการเพิ่มความงงให้เข้าไปอีก และต้องยอมรับว่า ความชวนงงนั้นเองที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของแฟรนไชส์นี้ การถกเถียงกันถึงความหมายต่างๆ ในเรื่องก็ดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันจบ และในตอนนั้น อันโน ก็ยังยืนยันอยู่ดีว่า ตอนจบแบบที่เขาทำนี่ดีแล้ว นี่คือลูกของเขา และถ้าคุณไม่เข้าใจก็ Too Bad
หลังจากนั้น อันโน ก็หันไปทำอนิเมะรอมคอม Kare Kano และทำงานภาพยนตร์คนแสดงอีก รวมไปถึงการเอา Cutie Honey มาทำฉบับคนแสดงแบบบูชาครู และก็เป็นช่วงเวลาที่เขาได้แต่งงานกับ อันโน โมโยโคะ (Anno Moyoco) นักเขียนมังงะหญิงชื่อดัง และถึงจุดหนึ่ง เขาก็ตัดสินใจครั้งใหญ่คือ
การก่อตั้ง Studio Khara
เพราะความเหนื่อยหน่ายจากการผลิต
อนิเมะแบบเดิม เขาจึงเลือกสร้างสตูดิโอของตัวเอง
เพื่อที่จะกลับมาสร้าง Evangelion ฉบับ Rebuild (แต่ยังปล่อยลิขสิทธิ์ของฉบับดั้งเดิมให้ Gainax รังเก่าได้ใช้หาเงิน ก่อนที่จะกลายมาเป็นเรื่องวุ่นวายในภายหลัง) ตามแบบที่เขาต้องการ โดยที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่อง ตารางการทำงาน งบ หรือเทคนิคพิเศษต่างๆ ที่ไม่มีในตอนที่เขาทำฉบับแรก
Khara ได้มือดีที่เคยร่วมงานกับเขากลับมาทำงานร่วมกัน และเปิดตัวอย่างสวยงามด้วย Rebuild of Evangelion ภาค 1.0 ที่เหมือนกับเป็นการสรุปย่อของเดิมในช่วงแรก ก่อนที่ 2.0 จะออกมาทำให้คนปากค้างถึงศักยภาพของเขา ว่าถ้ามีอะไรพร้อม จะทำได้สุดตีนแค่ไหน ผมเองดูภาคนี้ไปหลายรอบเพราะยอมรับว่ามันดูสนุกมาก ก่อนที่ภาค 3.0 จะออกมาในปี 2012 ซึ่งกลายเป็นงานที่ชวนงงชนิดที่ผมเองเดินออกจากโรงก็นึกว่าตัวเองโง่ไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นดีพอ ก่อนที่จะเห็นคนญี่ปุ่นเองก็ยืนงงเหมือนกันจนค่อยโล่งใจ
และดูเหมือนว่าจะไม่ใช่แค่พวกเราที่งง แต่ตัว อันโน เองก็ได้รับผลกระทบจากงานครั้งนี้ และอาการซึมเศร้าก็กลับมาอีกครั้ง และดูเหมือนอาการจะหนักเอาเรื่อง ตัวคนดูอย่างเราที่ไม่รู้อะไรมากอาจจะบอกว่าสำออย แต่ดูเหมือนเจ้าตัวจะแบกรับอะไรต่อมิอะไรมาเป็นเวลานาน พอหลุดทีก็หลุดยาวเลย แม้จะได้ลองไปทำอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง เช่นการพากย์เสียงตัวละครเอกของ The Wind Rises ให้กับอาจารย์ที่กลายมาเป็นเพื่อนอย่าง ฮาโยโอะ มิยาซากิ หรือการไปกำกับภาพยนตร์โทคุซัตซึที่เขาชื่นชอบอย่าง Shin Godzilla ที่ออกมาเป็นงานเสียดสีการทำงานของรัฐ แต่งานหลักอย่าง Evangelion ภาคจบก็ไม่ได้คืบหน้าเพราะอาการไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่นัก จนถึงจุดหนึ่ง เขาต้องการสร้างพื้นที่ให้กับอนิเมเตอร์หน้าใหม่ให้มีพื้นที่ทดลองงานโดยไม่ต้องติดกับการทำงานแบบสตูดิโอ ให้ปล่อยของได้เต็มที่ จึงเป็นที่มาของงาน Tokyo Animator ที่เป็นพื้นที่ปล่อยของ มีงานดังๆ เช่น Me Me Me, Gridman (ที่ต่อมาได้กลายเป็นซีรีส์ยาว) และที่ผมชอบส่วนตัวคือ Hill Climb Girl
ดูเหมือนว่าการได้รับความสดใหม่จากคนรุ่นใหม่ จะช่วยให้เขามีกำลังใจและอยากกลับมาทำงานต่อ จนกลายเป็นการกลับมาทำอนิเมะ Evangelion ตอนสุดท้าย ที่กว่าจะเข็นออกมาได้ก็ใช้เวลาจากของภาคก่อนถึง 9 ปี และใช้เวลารวมถึง 25 ปี ในการปิดฉากแฟรนไชส์นี้ลงอย่างงดงาม
ผมอาจจะพูดอะไรมากเกี่ยวกับตัวอนิเมะไม่ได้เพราะเดี๋ยวจะโดนปาหิน แต่สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ผมสัมผัสได้จากงานชิ้นนี้คือ ตัว อันโน พร้อมที่จะก้าวออกไปข้างนอก และเดินไปข้างหน้าได้แล้ว และส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเวลา 25 ปี ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ประสบการณ์ชีวิต และหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง ทำให้เขาได้รู้ว่า เขาเองไม่ได้อยู่คนเดียวอีกต่อไป งานชุดนี้จึงไม่ใช่งาน Remake แต่เป็นงาน Rebuild ที่ได้ย้อนกลับไปมองงานชิ้นเดิม ถอดรื้อ และสร้างใหม่ ด้วยประสบการณ์ชีวิตในปัจจุบันของเขา กลายเป็นเหมือนการปลดปล่อยปมในใจไปได้อย่างสมบูรณ์
เมื่อจบงานชิ้นนี้และได้สัมผัสถึงสภาพจิตใจของเขาในตอนนี้ ก็ได้แต่ตื่นเต้นกับงานอื่นๆ ที่เขาจะทำหลังจากนี้อีกต่อไป ว่าจะเป็นอย่างไร โดยงานชิ้นแรกที่เราจะได้ดูก็คือ Shin Ultraman การเอา อุลตร้าแมนมาเล่าแบบใหม่ในสไตล์ของเขา ซึ่งดูตัวอย่างแล้วก็ได้แต่ตื่นเต้นนั่นล่ะครับ
แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ผมดีใจที่สุดก็คือ การที่ Hideaki Anno มีความสุขในการใช้ชีวิตนั่นล่ะครับ ขอขอบคุณผลงานชั้นเลิศต่างๆ ผลิตออกมาให้พวกเราได้ดูกันครับ
อ้างอิงงข้อมูลจาก