วันที่ 28 มีนาคม 1941 เวอร์จิเนียร์ วูล์ฟ เอาก้อนหินใส่ลงไปในกระเป๋าเสื้อโค้ท และเดินลงแม่น้ำไป ไม่กลับมาอีกเลย สิ่งที่เธอทิ้งไว้คือจดหมายถึงสามีหนึ่งฉบับ ที่พูดถึงความเจ็บป่วยทางจิตใจอันเป็นเหตุของการตัดสินใจจากโลกใบนี้ไปในสมัยสงคราม ซึ่งความตายของวูล์ฟกลับถูกนำไปใช้โจมตีตัวเธอว่าอ่อนแอและไม่สามารถรับภาวะสงครามได้
เวอร์จิเนียร์ วูล์ฟเป็นนักเขียนหญิงคนสำคัญแห่งยุคสมัยใหม่ งานของวูล์ฟได้นำเราไปสู่กระแสธารแห่งห้วงความคิดอันซับซ้อนและยอกย้อนในจิตใจของเรา Mrs. Dalloway เป็นงานที่ชั้นเรียนวรรณกรรมร่วมสมัย ต้องพูดถึงในฐานะหนึ่งในต้นแบบของประเภทกระแสสำนึก (stream of consciousness)
ความตายของวูล์ฟเกิดระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าวูล์ฟจะไม่ได้พูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยตรง แต่อาจสันนิษฐานความเกี่ยวข้องระหว่างห้วงเวลาของการเข่นฆ่าทางวิทยาการของมนุษย์ด้วยกันเอง กับความเจ็บป่วยทางจิตใจของเธอที่มีอยู่แล้ว ในช่วงเวลานั้น แม้ว่าจะเสียชีวิตไปแล้ว สื่ออย่าง The Sunday Times มีการบิดเบือนเนื้อหาของจดหมาย เล่นข่าวและประนามการกระทำของวูล์ฟว่าเป็นความขี้ขลาด ไม่รักชาติ เป็นนัยของการยอมแพ้ต่อภาวะสงคราม
เนื้อความในจดหมายของวูล์ฟ แม้จะเป็นจดหมายเพื่อบอกลาแต่เราสัมผัสถึงความงดงามและความร้าวรานยอกย้อนของจิตใจของเธอได้ วูล์ฟทนทุกข์ทรมานจากอาการซึมเศร้า (depression) มาอย่างยาวนาน ในจดหมายวูล์ฟมีการอ้างถึงช่วงเวลาที่เธอมีอาการในสมัยก่อน (those terrible time) และแก้เป็นคำว่าช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ (these terrible time) และเล่นประเด็นว่าวูล์ฟรับกับสภาวะสงครามที่ประเทศชาติกำลังเผชิญไม่ไหว และประนามไปต่างๆ นาๆ
เนื้อความในจดหมายอำลาถึง Leonard Woolf สามีมีเนื้อความว่า
‘ที่รัก
ฉันรู้สึกว่าฉันกำลังเป็นบ้าอีกครั้ง ฉันคิดว่าเราไม่อาจจะผ่านพ้นห้วงเวลาอันเลวร้ายอย่างที่เราเคยผ่านมันมาได้อีกต่อไปแล้ว และฉันคงไม่อาจที่จะหายกลับขึ้นมาใหม่ได้ในคราวนี้ ฉันเริ่มที่จะได้ยินเสียงต่างๆ และฉันไม่สามารถตั้งสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ ได้ ดังนั้น ฉันจึงตัดสินใจทำสิ่งที่ดีที่สุด คุณเองได้มอบความสุขทั้งหมดเท่าที่ทุกอย่างจะเป็นไปได้ คุณอยู่ข้างฉันในทุกๆ ทาง และนั่นคือสิ่งที่คนรักทำให้กันได้ ฉันไม่คิดว่าคนสองคนจะมีความสุขได้มากไปกว่าที่เราเป็นจนกระทั่งโรคร้ายนี้เข้ามา ฉันสู้ต่อไปไม่ไหวแล้ว ฉันรู้ว่าฉันได้ทำลายชีวิตคุณ และเมื่อไม่มีฉัน คุณเองก็คงจะทำงานต่อไปได้ และคุณเองก็คงรับรู้ได้ ว่าแม้แต่การที่ฉันจะเขียนสิ่งนี้ให้ถูกต้อง ฉันยังทำไม่ได้ ฉันอ่านไม่ได้ สิ่งที่ฉันจะพูดคือฉันเป็นหนี้คุณ ความสุขทั้งปวงในชีวิตฉันมาจากคุณ คุณช่างอดทนกับฉันและดีแสนดีจริงๆ ฉันเพียงแค่อยากพูดว่า- และทุกคนต่างรู้มันดี ถ้าใครจะช่วยฉันได้ ก็มีแต่คุณเท่านั้น ไม่ว่าฉันเสียอะไรไปแต่ความดีของเธอนั้นคงอยู่กับฉัน ฉันไม่สามารถที่จะทำลายชีวิตคุณได้อีกต่อไป
ฉันไม่คิดว่าคนสองคนจะมีความสุขไปได้กว่าเรา’
แน่นอนว่าการตัดสินใจจากไปของวูล์ฟ ตามจดหมายแล้วไม่ได้อ้างอิงผลของภาวะสงครามโดยตรง แต่ภาวะและบาดแผลของสงครามที่มีต่อผู้คนนั้นเป็นสิ่งที่บาดลึก จริงอยู่ว่าวูล์ฟอาจไม่ได้ฆ่าตัวตายหนีสงคราม แต่ภาวะของจิตใจผู้คนย่อมย่ำแย่และได้รับผลกระทบจากสงคราม
ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มนุษย์จากที่เคยเชื่อว่าวิทยาการจะนำเราไปสู่สันติสุข แต่ยุทโธปกรณ์ของเรากลับนำไปสู่การสังหารหมู่ไม่ว่าจะด้วยระเบิด หรือจากการวางระบบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นักคิดทั้งหลายต่างดิ้นรนและตอบคำถามว่ามนุษย์เราคืออะไรกันแน่ เรามีชีวิตอยู่ไปทำไม สงครามและความตายในสมัยนั้นเป็นสิ่งใกล้ตัว ในมิสซิสดอลโลเวย์ของวูล์ฟเองก็มีการพูดถึงผู้คนที่กลับจากสงคราม ทหารผ่านศึก ไปจนถึงจิตใจของแม่บ้านที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจของสงครามโลกครั้งที่ 1
ไม่ว่าวูล์ฟจะตัดสินใจจากโลกนี้ไปเพราะอะไร สิ่งที่วูล์ฟทำให้เราเข้าใจได้คือ จิตใจของมนุษย์เต็มไปด้วยความบอบบางและวูบไหว
ในความระลึกถึง เวอร์จิเนีย วูล์ฟ นักเขียนที่ทำให้เราเข้าใจหัวใจที่แสนเข้าใจยากของเราจนวันสุดท้ายของชีวิต
อ้างอิงข้อมูลจาก