หมายเหตุ : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของ Neon Genesis Evangelion
ปี 1995 เด็กนักเรียนมัธยมคนหนึ่ง หยิบนิตยสาร a-club มาจากแผงหนังสือตามที่เคยทำมา แต่รอบนี้ สิ่งที่สะดุดตาเขาก็คือ ภาพปกอนิเมะที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งที่โดดเด่นสุดก็คือ เจ้าหุ่นยนต์ที่อยู่บนปกที่แทนที่จะเป็นหุ่นยนต์ที่ตัวใหญ่ ดูแข็งแกร่งแบบที่เคยเห็นมา มันกลับเป็นหุ่นยนต์ที่ผอมสูงแปลกตา ราวกับเป็นกิ้งก่าขนาดยักษ์ แถมโทนสีหลักของมันคือสีม่วง แทนที่จะเป็นสีเท่ๆ แมนๆ พระเอกๆ อย่างสีแดงหรือสีดำ (ขาวด้วยก็ได้) แบบที่เคยเห็นมาตลอด และพอได้อ่านรายละเอียด เขาก็สนใจมากยิ่งขึ้นเพราะดูมันแปลกแหวกแนว แถมยังมาจากสตูดิโอที่ทำเรื่อง The Secret of Blue Water ที่เขาชื่นชอบ พอเจอวิดีโอให้เช่า เขาก็รีบเช่ามาดู และมันก็ได้เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
ขึ้นย่อหน้าแรกดูเวอร์ๆ แต่นั่นก็คือชีวิตของผมในช่วงมัธยม ที่พอได้เจอกับอนิเมะเรื่อง Neon Genesis Evangelion ก็ตามที่บอกไปว่า โลกของผมได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และวัยรุ่นหลายๆ คนก็คงประสบชะตากรรมเดียวกัน รวมถึงรุ่นที่ตามมาทีหลังที่ไม่ว่าใครได้ชมอนิเมะเรื่องนี้เข้าไป ต่างก็ได้รับผลกระทบจากมันไม่มากก็น้อย และในที่สุด Netflix ก็ได้นำอนิเมะเรื่องนี้มาลงในบริการของตัวเอง จนกลายเป็นข่าวลือลั่นไปทั่ว ชนิดที่อาจจะพูดได้ว่า มันคือหนึ่งในอนิเมะที่มีอิทธิพลทั้งต่อวงการอนิเมะและวัฒนธรรมอย่างสูงสุดเลยก็ว่าได้
สำหรับผมแล้ว ผมมองว่าวงการอนิเมะแบ่งออกเป็นสองยุคหลักได้คือ ก่อน Evangelion และ หลัง Evangelion และมันน่าสนใจมากว่า งานอนิเมะที่แมสมากระดับที่เราสามารถพบมันได้ทุกหนทุกแห่ง (และถ้าเอาจริง เราสามารถใช้ชีวิตโดยอาศัยสินค้าที่ร่วมงานกับ Evangelion ล้วนๆ เลยยังได้) แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ยังเป็นอนิเมะที่เป็นที่ถกเถียง หาบทสรุป รวมไปถึงสร้างความโกรธแค้นให้กับแฟนๆ ขนาดขู่ฆ่าผู้กำกับมาแล้ว จนอยากจะบอกว่า ถ้าใครยังไม่เคยชมอนิเมะเรื่องนี้ นี่คือโอกาสของคุณแล้ว แต่ก็ควรอ่านบทความนี้แบบระวังสปอยล์ด้วย (Disclaimer : บทความนี้ไม่ได้สปอนเซอร์จาก Netflix แต่เขียนด้วยใจรักล้วนๆ)
ก่อนจะอธิบายว่าทำไมมันสำคัญขนาดนั้น คงต้องขอเล่าย่อๆ ก่อนว่า Neon Genesis Evangelion นั้นเล่าเรื่องราวของโลกหลังจากเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่ชื่อ Second Impact ทำให้สภาพภูมิศาสตร์ของโลกเปลี่ยนไป และตัวเอกของเรื่อง Ikari Shinji เด็กชายวัย 14 ปี ที่ถูกพ่อเรียกตัวมาที่กรุงโตเกียวใหม่ที่ 3 หลังจากทอดทิ้งเขาไปเมื่ออายุ 3 ขวบ และแทนที่จะเป็นการกลับมาพบกันที่ชวนซึ้ง พ่อของเขา Ikari Gendou ที่เป็นผู้อำนวยการของ NERV ก็ได้สั่งให้ลูกชายของตัวเองขึ้นไปขับหุ่นยนต์สุดเท่ เพื่อออกไปสู่กับ เทวทูต สิ่งมีชีวิตลึกลับ ตามขนบของอนิเมะหุ่นยนต์ แต่ขนบก็ถูกฉีก เมื่อเขาปฏิเสธเพราะไม่กล้า จนได้เห็นเด็กสาวรุ่นเดียวกันพยายามกลับขึ้นไปขับหุ่นทั้งที่สภาพร่างกายย่ำแย่ สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจฮึดสู้ และนั่นก็คือบทแรกของการต่อสู้ของเขากับเทวทูต เพื่อปกป้องโลกใบนี้
นั่นคือเหยื่อล่อที่ทีมงานเอามาล่อเราให้เข้าไปติดกับของพวกเขา Evangelion ซึ่งมีทุกอย่างที่อนิเมะแนวนี้พึงมี ตัวเอกเด็กหนุ่มน้อย เพื่อนสาวหน้าตาน่ารัก ตัวละครที่มีเสน่ห์ หุ่นยนต์เท่ๆ สัตว์ประหลาดที่แปลกแหวกแนว สัตว์เลี้ยงน่ารักพร้อมทำเป็นสินค้า มุกตลกเป็นจังหวะ ฉากเซ็กซี่เซอร์วิสแฟนๆ การตัดต่อฉับไวและเฉียบคม มุมกล้องที่โดดเด่น ดีไซน์ที่แปลกแหวกแนว การเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยปริศนา และยังอิงศาสนาคริสต์และยูดาย แต่ถ้ามีเพียงแค่นั้น มันก็คงเป็นแค่อนิเมะที่ ‘ดี’ อีกเรื่องหนึ่ง
แต่สิ่งที่ทำให้มันกลายเป็นอนิเมะ ‘ชั้นเลิศ’
ก็คือการเล่าเรื่องและจุดจบของมันนั่นล่ะครับ
(จากตรงนี้จะเริ่มสปอยล์แล้ว ใครทนไม่ไหวก็อ่านต่อ ใครทนได้ก็แนะนำให้อ่านสองย่อหน้าสุดท้าย แล้วไปดูก่อนค่อยกลับมาอ่านอีกที) ในอนิเมะสายหุ่นยนต์ Mobile Suit Gundam เคยปฏิวัติวงการด้วยการเปลี่ยนการต่อสู้ระหว่างหุ่นยนตร์กับสัตว์ประหลาดหรือมนุษย์ต่างดาว กลายมาเป็นการต่อสู้ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เพียงแค่ต่างอุดมการณ์ จนได้อนิเมะที่สมจริงแม้จะเล่าเรื่องราวในจินตนาการ แต่ Evangelion กลับย้อนกลับไปสู้กับสิ่งมีชีวิตลึกลับอีกครั้ง แต่กลับกลายเป็นว่ามันไม่ได้ลดความสมจริงเลย เพราะ Evangelion ไปเน้นส่วนที่เป็นผลกระทบของการต่อสู้เหล่านั้นที่มีต่อตัวละครทั้งหลาย และสภาพจิตใจของตัวละคร
ใน Evangelion หลายสิ่งที่มักจะเคยถูกมองข้ามไปกลับถูกขับเน้นให้เด่นขึ้นมา แม้ตัวเอกจะเป็นผู้ขับหุ่นยนต์สุดเท่ ซึ่งถ้าเป็นอนิเมะเรื่องอื่นเขาคงจะยืดและกลายเป็นฮีโร่ของเพื่อนๆ แต่ Shinji กลับกลายเป็นนักเรียนใหม่จืดๆ คนหนึ่ง และพอเพื่อนรู้ว่าเขาคือคนขับเจ้าหุ่นยนตร์ยักษ์นั่น เขากลับถูกเพื่อนร่วมชั้นต่อยเอาเพราะว่าการสู้รบนั้นทำให้น้องสาวของเพื่อนคนนั้นได้รับบาดเจ็บ สำหรับตัว Shinji แล้ว การได้ขับหุ่นยนต์ ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่เป็นภาระที่หนักอึ้ง และตัวเขาเองก็ตั้งคำถามต่อตัวเองเสมอว่าเขาขึ้นไปขับมันเพื่ออะไร จนเราต้องกลับมามองอีกครั้งว่า ถ้าเราเป็นเด็กชายอายุ 14 แล้ว เราจะดีใจที่ได้โอกาสขับหุ่นยนตร์สุดเท่ หรือกลัวตายจนวิ่งหนีจากตรงนั้นกันแน่
ซึ่งคำถามนั้นก็ค่อยๆ ถูกตอบในเรื่อง ตัว Shinji เอง คือเด็กหนุ่มวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ไม่เคยได้รับความรักจากพ่อแม่อย่างที่ควร เขาจึงแอบดีใจเมื่อพ่อเรียกตัวมา แต่พอพ่อเขาผลักไสเขาออกไปสู้กับสัตว์ประหลาด และไม่ได้สนใจตัว Shinji นอกจากคิดแค่ว่าเขาสามารถขับหุ่นยนต์ได้ (เพราะหุ่นยนต์มีความพิเศษว่านักบินต้องสามารถซิงโครไนซ์กับหุ่นได้ จำเป็นต้องเป็นเด็กวัยรุ่นที่ยังไม่พัฒนาอีโก้ได้สมบูรณ์นัก) ทำให้เขายิ่งซึมเศร้าหนักไปอีก และพยายามถามหาการยอมรับจากคนรอบข้าง
แม้เขาจะไม่ได้ชอบการขับหุ่นยนต์ หรือออกไปสู้ แต่นั่นคือสิ่งเดียวที่ยืนยันการมีตัวตนของเขา และทำให้เขารู้สึกตัวว่า เขามีค่าต่อคนรอบข้างได้บ้าง และเพราะเขาไม่เคยได้รับความรักอย่างที่ควร ทำให้เขาเองก็ไม่รู้ว่าจะสานสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้อย่างไร ซึ่งในเรื่องก็ได้อ้างอิงถึง Hedgehog’s Dilemma ที่หมายถึงเม่นที่แม้จะรักเม่นตัวอื่นแต่ก็ไม่สามารถเข้าใกล้ได้เกินไป เพราะจะทำให้เม่นตัวอื่นบาดเจ็บด้วยหนามแหลม เหมือน Shinji ที่เขารู้สึกว่าพอจะสนิทกับใครก็จะทำให้คนนั้นต้องเจ็บปวด (และรวมถึงตัวเขาเองที่กลัวความเจ็บปวดจากคนอื่นด้วย)
และหากเราไปดูประวัติของ Anno Hideaki ผู้กำกับอนิเมะเรื่องนี้ ก็อาจจะไม่แปลกใจก็ได้ เพราะก่อนที่จะมาสร้างอนิเมะเรื่องนี้ แม้เขาจะเป็นนักสร้างอนิเมะรุ่นใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในวงการ แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็คือชาวโอตาคุรุ่นแรกๆ ผลผลิตจากสังคมญี่ปุ่นที่รุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจหลังสงคราม และเขาก็เป็นโรคซึมเศร้า ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากในตอนนั้น และยังเป็นเหมือนตราบาปที่ประทับลงบนตัวคนๆ นั้นว่าเป็นคนที่บกพร่องในสังคมที่ต้องการให้คนสร้างผลงาน
เขาเก็บตัวอยู่หลายปี เมื่อได้มากำกับ Evangelion แม้เบื้องหน้าจะดูเป็นอนิเมะหุ่นยนต์แสนเท่ แต่ความจริงแล้วมันคือการต่อสู้ของ Shinji กับสภาวะทางจิตใจในหลายๆ แง่ ทั้งเรื่องของพัฒนาการการเติบโตของเด็ก รวมถึงโรคซึมเศร้า และตัวละครอื่นๆ ในเรื่องก็มีปมทางจิตวิทยาอยู่ในตัว ไม่ว่าจะเป็นไม่มีความสนใจต่อมนุษย์คนอื่น หรือการโหยหาความรักที่แสดงออกในแง่ต่างๆ เช่น ข่มเพื่อนต่างเพศในรุ่นเดียวกันแต่กลับรักชายอายุมากกว่า หรือพร้อมที่จะมีความสัมพันธ์ทางกายแม้ในใจจะรู้สึกขัดแย้งอยู่
สิ่งที่กลายเป็นจุดสุดยอดของอนิเมะเรื่องนี้คือ สองตอนสุดท้าย ตอนที่ 25 และ 26 หลังจากเรื่องราวได้ขยายขอบเขต ทำให้เราตื่นเต้นและไฮป์เต็มที่ ว่าเรื่องราวจะคลี่คลายอย่างไร เพราะตลอด 24 ตอน เรื่องมันพลิกไปมา และเต็มไปด้วยปริศนาต่างๆ มากมาย แต่กลายเป็นว่าสองตอนสุดท้าย กลับกลายเป็นงานนามธรรม ที่เหมือนกับตัว Shinji คุยกับสภาพจิตใจของตัวเอง พร้อมภาพตัดไปมา งานศิลป์ของสองตอนนี้ต่างไปจากที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด ก่อนจะปิดท้ายด้วยรอยยิ้มของ Shinji ที่หันมายิ้มให้กับคนดูอย่างสดใส เล่นเอาคนดูในตอนนั้นงงกันหมด
ในยุคที่ชาวญี่ปุ่นดูทางโทรทัศน์ ชาวไทยแบบผมก็ต้องค่อยๆ รอวิดีโอมาที่ร้านเช่าที่ละตลับ พอเจอแบบนี้ ก็งงกันหมด และยุคนั้นอินเตอร์เน็ตก็ยังไม่ได้แพร่หลายมาก ไม่รู้จะไปแลกเปลี่ยนกับใคร ได้แต่เก็บความงงไว้ในใจ ไม่แปลกที่จะมีแฟนที่รู้สึกเหมือนถูกหักหลังจนไปขู่ฆ่าผู้กำกับ เล่นเอาอาการซึมเศร้าผู้กำกับหนักกว่าเดิม แม้ในภายหลังจะมีฉบับภาพยนตร์ออกมาอีกสองเรื่อง เพื่ออธิบายให้เข้าใจมากขึ้น แต่ก็ยังชวนงงอยู่ดี จนทุกวันนี้ เวลาอ่านกระทู้เรื่อง Evangelion หลายคนก็มักจะบอกว่า ให้ข้ามสองตอนสุดท้ายแล้วไปดูฉบับภาพยนต์ แต่จริงๆ แล้ว สองตอนสุดท้ายนั่นล่ะครับที่ผมว่ามันคือตอนที่สำคัญที่สุด
พอโตขึ้นมาแล้วกลับมาดูเรื่องนี้อีกครั้งในมุมมองใหม่ๆ และประสบการณ์ชีวิตที่มากขึ้น หากตัดเรื่องหุ่นยนต์สุดเท่ออกไปแล้ว มันก็เป็นเพียงน้ำตาลที่เคลือบผิวด้านนอก แต่แก่นของเรื่องคือพัฒนาการทางสภาพจิตใจของตัวละครเอกของเรื่อง สองตอนสุดท้ายนั้นคือการไปสำรวจสภาพจิตใจของตัวเอกที่แทบจะแหลกสลายด้วยสิ่งต่างๆ ที่รุมเร้าเขา ก่อนที่จะค่อยๆ พบว่า การมีชีวิตอยู่ ก็คือการสานสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ที่หนีการทำร้ายจิตใจกันไม่พ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีการแลกเปลี่ยนความรักให้กันได้
นั่นก็ทำให้เขาสามารถพ้นสภาวะจิตใจที่ว้าวุ่น
และเติบโตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
เป็นที่มาของรอยยิ้มอันสดชื่นของเขา
พร้อมทั้งเสียงปรบมือแสดงความยินดีจากตัวละครอื่น
นอกจากเนื้อเรื่องที่แหวกแนวแต่สมจริงในแง่ของการพัฒนาตัวละครแล้ว งานดีไซน์ต่างๆ ของเรื่องยังทำออกมาได้อย่างน่าสนใจเป็นอย่างมาก เทวทูต ที่ในตอนแรกก็ดูเหมือนสัตว์ประหลาดตามครรลองของอนิเมะแนวนี้ แต่ไปๆ มาๆ เทวทูตเองก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เริ่มเป็นนามธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ บางตัวก็เป็นแค่ลูกบาศก์สี่เหลี่ยมเท่านั้น เล่นเอาคนดูเหวอได้ และความสมจริงของการดีไซน์ยังรวมไปถึงกรุงโตเกียวใหม่ที่สาม ที่เป็นเมืองที่ถูกสร้างมาเพื่อเอาไว้เป็นฐานต่อสู้กับเทวทูตเท่านั้น อาคารต่างๆ ในเมืองจึงพร้อมที่จะเป็นฐานสนับสนุนการต่อสู้ของหุ่น Eva ทั้งเป็นจุดส่งอาวุธและต่อสายไฟเลี้ยงพลังงาน ตัวอาวุธเองแทนที่จะเป็นดาบเท่ๆ กลับกลายเป็นคัตเตอร์ขนาดยักษ์ที่หักใบมีดออกได้เมื่อทื่อลง ยังไม่นับยุทธการยาชิม่าที่ต้องดึงพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในการยิงใส่เทวทูตจนต้องทำการดับไฟพร้อมกันทั้งประเทศ ถือเป็นไอเดียที่แปลกใหม่และสมจริงและสะท้อนภาพของผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากสงครามเป็นอย่างดีอีกด้วย
ความแปลกใหม่ สมจริง แหวกแนว และเสน่ห์ของ Evangelion กลายเป็นความสำเร็จอย่างล้นหลาม และได้เปลี่ยนโฉมหน้าของวงการอนิเมะไปอย่างสิ้นเชิง ก่อนมันออกฉาย อนิเมะทางทีวีมักจะเป็นอนิเมะสำหรับเด็ก ฉายรายสัปดาห์แบบยาวๆ หรือเป็นอนิเมะที่ดัดแปลงมาจากมังงะเรื่องดัง มีความยาวต่อเนื่องกันเป็นปี ถ้าต้องการชมอนิเมะที่มีเนื้อเรื่องแหวกแนว จริงจัง หรือสมจริง ก็ต้องหาดูจาก OAV (Original Animated Video) เสียมากกว่า แต่ความสำเร็จของ Evangelion ที่ฉายทางทีวี กลายเป็นการผลักดันวงการว่า อนิเมะแบบนี้ก็ฉายทางทีวีและประสบความสำเร็จได้ ซึ่งหลังจากนั้นเราก็จะได้เห็นอนิเมะที่เป็นเรื่องออริจินัลทางทีวีเพิ่มมากขึ้น โดยทำเป็นเรื่องที่จบภายในจำนวนตอนจำกัด และมีเนื้อเรื่องเข้มข้น จริงจัง
หลายครั้งก็เป็นงานทดลองที่หลุดโลกไปเลยด้วยซ้ำ ซึ่งก็พิสูจน์ได้จากฐานข้อมูลอนิเมะในเว็บไซต์อนิเมะต่างๆ ว่าเรื่องที่ได้รับความนิยมก่อนและหลังปีค.ศ. 1995 มีแนวทางแตกต่างกันอย่างชัดเจนมาก และยังส่งผลมาถึงปัจจุบันที่ในแต่ละฤดูกาล การมีอนิเมะออริจินัลฉายแบบจำกัดตอนในช่วงเวลากลางคืนหลายต่อหลายเรื่อง กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว และแน่นอนว่า หากไม่มีความสำเร็จของ Evangelion งานต่างๆ เหล่านี้ก็อาจจะไม่ได้ออกมาให้ชาวโลกชม เพราะคงไม่มีใครกล้าเสี่ยงลงทุน หรืออาจจะมีโอกาส แต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกมาก เพราะไม่มีผลงานที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดินขนาดนี้
แม้ Evangelion จะเป็นงานที่ถูกถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน และเวลาก็ผ่านมาเกือบ 25 ปีแล้ว แต่ความยอดเยี่ยมของมันยังคงผลิดอกออกผลอยู่จนถึงทุกวันนี้ รวมไปถึงอิทธิพลของมันที่เราสามารถสัมผัสได้เรื่อยๆ จะเรียกว่ามันคืองาน Cult Classic ก็คงเรียกได้ไม่เต็มปาก เพราะถึงแม้มันจะมีสาวกที่ติดตามอย่างจริงจัง แต่ในขณะเดียวกันมันก็ประสบความสำเร็จในวงกว้างเป็นอย่างมาก แต่พอถามว่ามันเกี่ยวกับอะไร ก็คงจะได้คำตอบที่หลากหลายอีก กลายเป็นงานอนิเมะที่ทั้งย้อนแย้งและยอดเยี่ยมในเวลาเดียวกัน ชนิดที่ต้องบอกว่า ก็คงต้องดูและหาคำตอบเอง และไหนๆ ก็ไหนๆ ที่เขาอุตส่าห์เอามาให้ดูแบบไม่ต้องหาของเถื่อนหรือไล่หาแผ่นดีวีดีมือสองราคาแพงแล้ว ก็ไม่ควรพลาดเถอะครับ ว่าแล้ว ผมก็คงต้องขอตัวไปดูอีกเป็นรอบที่เท่าไหร่ก็ไม่ทราบ