หลังจากคดีที่คาวาซากิเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สายตาของชาวญี่ปุ่นก็จับจ้องไปที่คนกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ นั่นคือชาว ‘ฮิคิโคโมริ’ หรือกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเก็บตัว ไม่เข้าสังคมกับคนอื่น และไม่ออกจากบ้านไปไหน โดยมากแล้วมักจะพ่วงกับตำแหน่ง NEET หรือคนที่ไม่ได้กำลังศึกษา มีงานทำ หรือรับการอบรมทักษะอยู่ (NEET) การที่คนกลุ่มนี้ถูกจับตามองก็เพราะตัวคนร้ายของคดีก็คือฮิคิโคโมริที่เก็บตัวจากสังคม และไม่มีปฎิสัมพันธ์กระทั่งกับคนร่วมเรือนของตนเอง และสุดท้ายก็ออกมาก่อคดีดังกล่าวจนกลายเป็นเรื่องสะเทือนสังคมนั่นเอง
ที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือ หลังจากเกิดคดีดังกล่าวขึ้นได้ไม่กี่วัน ก็เกิดคดีอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงเกษตรวัย 76 ก่อคดีฆ่าลูกชายวัย 44 ปีของตัวเองตายคาบ้าน เพราะลูกชายตัวเองเป็นฮิคิโคโมริที่เก็บตัวอยู่บ้าน ชอบใช้ความรุนแรงกับพ่อแม่ มีปัญหาทะเลาะกับคนละแวกบ้าน และในวันที่เกิดคดี สองพ่อลูกถกเถียงกันเป็นเวลานาน เพราะตัวลูกชายหงุดหงิดเสียงจากกิจกรรมพละศึกษาของเด็กประถมแถวบ้าน หลังจากเกิดเหตุ พ่อก็อ้างว่า นอกจากกลัวจะโดนทำร้ายอีก ก็ยังกลัวว่าลูกชายจะออกไปก่อคดีทำร้ายเด็กแบบคดีที่คาวาซากิ เป็นคดีสะเทือนขวัญไปอีกคดี
กลายเป็นว่า ภาพลักษณ์ของคนกลุ่มฮิคิโคโมริ กลายเป็นกลุ่มคนที่พร้อมจะก่อคดีสะเทือนขวัญในสายตาของคนในสังคมไปโดยปริยาย แต่จริงๆ แล้ว คดีที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สะท้อนปัญหาอีกเรื่องหนึ่งของสังคมญี่ปุ่นได้ชัดเจน และเป็นปัญหาที่สังคมญี่ปุ่นจะหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้าไม่ได้เลย นั่นคือปัญหา ‘8050’
ปัญหา 8050 หมายถึงปัญหาของครอบครัวที่มีพ่อแม่สูงอายุประมาณ 80 ปี และลูกเป็นฮิคิโคโมริอายุประมาณ 50 ปี บางครั้งก็เรียกว่าปัญหา 7040 แต่แก่นสำคัญของปัญหานี้คือการอยู่ร่วมกันของ ฮิคิโคโมริสูงอายุ และพ่อแม่ที่อายุมากจนเริ่มที่จะดูแลตัวเองไม่ไหว ในบางกรณีก็คือกำลังจะเสียชีวิตแล้ว ตัวอย่างของคดีที่คาวาซากิก็จัดอยู่ในช่วงอายุนี้ (แม้ผู้ปกครองจะไม่ใช่พ่อแม่ที่แท้จริง) เช่นเดียวกับกรณีของอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตร
แต่เดิม คำว่า ‘ฮิคิโคโมริ’ มักจะมีภาพลักษณ์ที่สื่อถึง
เด็กวัยรุ่นที่ไม่ยอมออกจากห้องตนเอง
สาเหตุอาจเกิดจากมีปัญหาที่โรงเรียนหรือโดนกลั่นแกล้ง แล้วหมกตัวอยู่กับสิ่งที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นอนิเมะ มังงะ หรือเกมต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาสังคมญี่ปุ่น เวลาสำรวจเรื่องจำนวนของฮิคิโคโมริ ก็มักจะกำหนดอายุสูงสุดไว้ที่ 39 ปี แต่เมื่อต้นปี รัฐบาลได้ทำการสำรวจใหม่ พบว่า กลุ่มอายุ 40 ถึง 64 ปี มีชาวฮิคิโคโมริจำนวน 613,000 คน แซงหน้ากลุ่มอายุ 15 ถึง 39 ปี ที่มีจำนวน 541,000 คน จัดว่าเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของรัฐรวมไปถึงคนทั่วไปไม่น้อย และทำให้ปัญหา 8050 กลายเป็นปัญหาที่ดูหนักมากยิ่งขึ้น
ลองคิดตามดูง่ายๆ ว่า ถ้ามีฮิคิโคโมริสูงวัยจำนวนเท่าที่สำรวจมา แล้วในนั้นก็อยู่กับครอบครัวที่มีพ่อแม่สูงวัยจนเริ่มช่วยตัวเองไม่ได้ แล้วขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร? ที่ผ่านมาก็มีกรณีที่พบว่า ทั้งแม่วัย 82 และลูกสาววัย 52 กลายเป็นศพแห้งอยู่ในอพาร์ตเมนต์ โดยดูจากสภาพศพแล้ว คาดว่าผู้เป็นแม่น่าจะเสียชีวิตก่อน แล้วลูกค่อยเสียชีวิตตามหลังจากสภาพร่างกายที่ทรุดโทรม ในทางกลับกัน ก็มีกรณีที่ชายฮิคิโคโมริอยู่กับศพแม่ตัวเองในบ้าน เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับศพแม่ เนื่องจากไม่มีทักษะในการสื่อสารกับโลกภายนอก
ถ้าเกิดปัญหานี้ยังเรื้อรังอยู่ ก็จะเกิดกรณีแบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อมองจากมุมมองของคนเป็นฮิคิโคโมริแล้ว อนาคตก็น่ากลัวไม่น้อยเช่นกัน เพราะจู่ๆ สิ่งที่เคยมีมาตลอด เป็นของตาย นั่นคือการช่วยเหลือจากพ่อแม่ก็กำลังจะหายไป แล้วต่อจากนี้ชีวิตจะต้องทำอย่างไร จากที่ไม่เคยเข้าสังคมมาก่อน ไม่ได้ทำงาน จะมาเริ่มชีวิตใหม่ตอนนี้ก็ยาก จากมุมมองของสังคมก็ลำบากพอกัน เพราะต่อจากนี้ก็จะมีประชากรที่เป็นฮิคิโคโมริที่ต้องออกมาพึ่งพาตนเองในสังคมมากยิ่งขึ้น
คดีที่คาวาซากิที่เกิดขึ้น อาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของฮิคิโคโมริ โดยเฉพาะฮิคิโคโมริที่มีอายุ เป็นกลุ่มคนที่น่ากลัวตามที่ได้กล่าวไว้ แต่ในความเป็นจริง คดีที่เกิดขึ้นโดยฮิคิโคโมริ เมื่อดูจากจำนวนคดี ก็เป็นเพียงส่วนน้อยนิดของชาวฮิคิโคโมริทั้งหมด แต่แน่นอนว่าความน่ากลัวของคดีทำให้ดูน่ากลัวไปหมด แต่ในความเป็นจริงคือ ชาวฮิคิโคโมริส่วนใหญ่นั้นแทบจะไม่อยากออกจากบ้านของตนเองเสียมากกว่า และแทนที่จะรีบไปเหมารวมว่าฮิคิโคโมริคือคนที่พร้อมก่อคดี ทางการควรจะเริ่มหันมามองปัญหา 8050 อย่างจริงจัง และช่วยหาทางให้ชาวฮิคิโคโมริเหล่านี้ได้กลับเข้าสังคม
สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมมีชาวฮิคิโคโมริในช่วงอายุเกิน 40 สูงขนาดนี้
ส่วนหนึ่งคือ สิ่งที่ชาวฮิคิโคโมริต้องการไม่ใช่พื้นที่ทางกายภาพ แต่เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยทางจิตใจ เท่าที่ไล่อ่านประสบการณ์ของชาวฮิคิโคโมริหลายต่อหลายคน การเป็นฮิคิโคโมริของพวกเขาเริ่มต้นขึ้นในวัยทำงาน บางคนก็อาจจะเริ่มในช่วงหลังจากจบการศึกษาระดับมัธยม แต่ส่วนใหญ่ก็มีจุดคล้ายกันก็คือ เริ่มจากมีปัญหาในสังคมการทำงาน หรือบางคนก็เข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการไม่ได้ แล้วก็กลายเป็นตกขบวนของเส้นทางชีวิต ‘ที่ควรจะเป็น’ ตามขนบธรรมเนียมของชาวญี่ปุ่น นั่นคือ เรียน ทำงาน หาเงิน มีครอบครัว
หลายต่อหลายคน เมื่อเกิดความผิดพลาดหรือหลุดจากขบวนเส้นทางชีวิตตามมาตรฐานของสังคม ไม่ว่าจะเพราะปัญหาส่วนตัว บางคนอาจจะเป็นเพราะมีโรคประจำตัวบางอย่าง บางคนก็โดนกลั่นแกล้งในที่ทำงานจนเลือกลาออก บางคนก็โดนเลย์ออฟให้ออกจากงาน กลายเป็นว่า พอจะกลับเข้าระบบเดิม ก็กลับไม่ได้แล้ว เพราะในสังคมที่ประวัติการทำงานคือสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการสมัครเข้าทำงาน พอมีช่วงว่าง หรือเว้นหายไปจากการทำงาน ก็จะทำให้สมัครงานได้ยากขึ้นมาก ทำให้หลายต่อหลายคนว่างงาน พอว่างงานแล้วก็จะเริ่มถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ จากคนรอบข้าง เพราะเขาไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำในฐานะ ‘ชะไคจิน’ (社会人) หรือ ‘คนในสังคม’ นั่นเอง ยิ่งพอมีสายตากดดัน แล้วหางานได้ช้าเท่าไหร่ ก็ทำให้อยากออกไปเจอโลกภายนอกน้อยลงเรื่อยๆ ยิ่งคนที่โดนกลั่นแกล้งจากที่ทำงาน ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาตรงนี้เข้าไปอีก
สำหรับชาวฮิคิโคโมริแล้ว สายตาคนรอบข้างที่คอยตัดสินคุณค่าของพวกเขาคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ไม่แปลกที่ฮิคิโคโมริหลายต่อหลายคน ยอมออกจากบ้านตัวเองแค่ในเวลากลางคืนที่ไม่ต้องพบใคร กระทั่งบางคนเลือกไปร้านสะดวกซื้อที่ไกลบ้านตัวเองเท่าที่จะทำได้ เพราะไม่ต้องการเจอคนรู้จัก บางคนดีใจที่พนักงานของร้านเป็นชาวต่างชาติเสียด้วยซ้ำ
และพอใช้ชีวิตแบบฮิคิโคโมรินานแค่ไหน
ก็ยิ่งกลับสู่สังคมได้ยากยิ่งขึ้น รู้สึกตัวอีกที
เวลาก็ผ่านไปนานเกินกว่าจะกลับตัวได้แล้ว
และที่มีชาวฮิคิโคโมริสูงวัยมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะรุ่นอายุ 40-50 ปี ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะว่า คนรุ่นนี้ เริ่มทำงานในสมัยที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟองสบู่แตกพร้อมๆ กับการเริ่มต้นยุคเฮย์เซย์เมื่อ 30 ปีก่อน สภาพสังคมและการหางานเลวร้ายมาก จากที่เคยมีค่านิยมที่คล้ายกับว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข คนรุ่นนี้เรียนจบออกมาพบกับสภาพสังคมที่ได้แค่ทำงานไปวันๆ หวังอะไรกับอนาคตไม่ได้ นั่นก็ถือว่าโชคดีแล้ว เพราะหลายคนแค่จะหางานยังไม่ได้ สุดท้ายก็กลายเป็นผู้แพ้ของสังคม กลับมาอยู่บ้านกับพ่อแม่รุ่นเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งพอจะมีทรัพย์สินสั่งสมไว้ระดับหนึ่ง และยังมีเงินบำนาญทำให้พออยู่อาศัยต่อกันไปได้ และมันก็กลายมาเป็นปัญหาเรื้อรังต่อมาเรื่อยๆ (ยังไม่นับว่ามีการเลย์ออฟช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 และวิกฤติซับไพรม์ในปี 2008 อีก)
แต่ไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง พ่อแม่ของฮิคิโคโมริเหล่านี้ก็กลายเป็นคนสูงวัยจนต้องการความช่วยเหลือแทน ถ้าโชคดี ก็อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนให้คนที่เป็นฮิคิโคโมริพยายามกลับมาใช้ชีวิตใหม่ ถ้าไม่ ก็อาจจะลงเอยด้วยเรื่องเศร้าแทน (กรณีคาวาซากิ ก็มีการพูดคุยเรื่องหาคนมาดูแลลุงและป้าของคนร้ายก่อนที่จะเกิดเรื่องได้ไม่นาน) และนี่ก็เป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว แต่รัฐก็เพิ่งตระหนักว่ามันคือปัญหาที่ต้องการการแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมา การแก้ปัญหาฮิคิโคโมริ ก็มักจะปล่อยให้เอกชนที่ทำมาหากินกับเรื่องนี้ บังคับขู่เข็ญ พาตัวคนที่เป็นฮิคิโคโมริออกจากบ้าน แล้วก็พาไปเข้าคอร์สนั่นนี่ ฝึกอาชีพ ฝึกทักษะ ก็ว่าไป แต่มันไม่ได้ช่วยอะไรจริงจัง (นอกจากช่วยเพิ่มรายได้ให้บริษัท) เพราะมันก็การแก้ปัญหาแบบลวกๆ เพราะสุดท้ายแล้ว พวกเขาไม่มีที่ทางในสังคมให้กลับไป และไม่ได้มีใครที่ฟังพวกเขาอย่างจริงจัง
ถึงเวลาที่รัฐจะหันมามองปัญหานี้อย่างจริงจัง และพยายามทำความเข้าใจกับฮิคิโคโมริอย่างตรงไปตรงมา มากกว่าการที่จะมองง่ายๆ ว่า พวกเขาคือผู้แพ้ของสังคม แค่บังคับให้กลับเข้าสังคมก็จบแล้ว เพราะนั่นคือวิธีที่ล้มเหลวและเสียเวลาไปเปล่าๆ ไม่ใช่ทำไปเพียงแค่ได้ชื่อว่า ‘ได้ทำอะไรบางอย่างแล้ว’ แต่สิ่งที่ควรทำคือ เปิดใจรับพวกเขา และรับฟังพวกเขาบ้าง หาที่หาทาง หาสังคมที่พวกเขาจะค่อยๆ สามารถรู้สึกสบายใจได้ ซึ่งตอนนี้ก็มี NPO หลายกลุ่มที่พยายามตรงจุดนี้อยู่เช่นกัน แต่ก็ไม่ใช่แค่รัฐเท่านั้นที่ควรต้องแบกรับภาระตรงนี้ แต่สังคมญี่ปุ่นเองก็ควรเริ่มตระหนักถึงปัญหาตรงส่วนนี้ และหันกลับมามองอีกครั้งว่า ตกลง คุณค่าของคนคนหนึ่งคืออะไร คือการได้ทำวิ่งตามรางที่วางไว้โดยไม่หลุดจากรางเท่านั้นเลยหรือ
อ้างอิงข้อมูลจาก