เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวเด่นประเด็นร้อนในวงการศิลปะลุกลามไปถึงหูตาคนนอกวงการและชาวบ้านร้านตลาด เกิดเป็นเรื่องโจษขานฮือฮาจนร้อนถึงพิธีกรชื่อดังของบ้านเราต้องตามมาออกรายการกันจ้าละหวั่น ข่าวที่ว่านั้นเป็นเรื่องของศิลปินผู้หนึ่งที่เอากระดูกศิลปินระดับตำนานผู้ล่วงลับไปแขวนคอบูชาจนทำให้มีพลังวาดรูปขายได้ในราคาแพงหูฉี่
ข่าวนี้ทำให้เรานึกไปถึงเหตุการณ์เมื่อสองสามปีที่แล้ว ที่อดีตศิลปินนักร้องชื่อดังผู้หนึ่งออกมากล่าวว่า วิญญาณของศิลปินผู้ยิงใหญ่ในอดีตผู้ล่วงลับไปแล้วร้อยกว่าปี มาบอกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาพวาดที่เธอเป็นเจ้าของอยู่ เรื่องราวเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องงมงาย เหลวไหล ไร้สาระ ไม่อาจพิสูจน์หรือจับต้องได้ แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของผู้คนในสังคมไทย (หรือแม้แต่ในภูมิภาคอุษาคเนย์) ที่ไม่อาจตัดขาดเรื่องราวลี้ลับและไสยศาสตร์ออกจากวิถีชีวิตไปได้ แม้แต่ในแวดวงของคนทำงานในเชิงสร้างสรรค์อย่างวงการศิลปะก็ตาม
อันที่จริงเรื่องราวลี้ลับเหนือธรรมชาติ ผีสาง และวิญญาณในแวดวงศิลปะนั้นก็ไม่ได้มีเฉพาะแต่ในประเทศไทยหรือในภูมิภาคแถบนี้เท่านั้น เพราะในประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของโลกตะวันตกเองก็มีเรื่องราวทำนองนี้อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงศตวรรษที่ 19 มีศิลปินหลายคนทำงานโดยได้แรงบันดาลใจและอิทธิพลจากภูติผี ปิศาจ วิญญาณ และสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ หนึ่งในจำนวนนั้นคือศิลปินผู้มีชื่อว่า ฮิลม่า อัฟ คลินต์ (Hilma af Klint)
ผลงานศิลปะของฮิลม่า อัฟ คลินต์ นั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของจิตวิญญาณโดยตรง และคำว่า ‘จิตวิญญาณ’ ที่ว่านี้ก็ไม่ได้หมายถึงจิตวิญญาณในการทำงานศิลปะแบบที่ศิลปินรุ่นใหญ่บ้านเราบางคนชอบเอ่ยถึงบ่อยๆ หากแต่เป็นจิตวิญญาณลี้ลับเหนือธรรมชาติ หรือที่เราเรียกกันบ้านๆ ว่า ‘ผี’ นั่นแหละ
และที่สำคัญ ศิลปินหญิงชาวสวีเดนผู้นี้ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินผู้บุกเบิกงานศิลปะนามธรรม (Abstract Art) เป็นคนแรกๆ ของโลก ด้วยความที่ภาพวาดแบบนามธรรมที่เธอทำขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้นได้รับการยืนยันในภายหลังว่าถูกทำขึ้นก่อนที่ผลงานของศิลปินคนแรกๆ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกงานศิลปะแนวนามธรรมอย่าง วาสซิลี คานดินสดี้ (Wassily Kandinsky) หรือ คาซิมีร์ มาเลวิช (Kazimir Malevich) จะทำขึ้นมาเสียอีก
ในยุคสมัยปัจจุบัน เราอาจทำความเข้าใจกับผลงานศิลปะนามธรรมในรูปของงานศิลปะสมัยใหม่ (Modern art) ที่เสาะหารูปทรงและการแสดงออกใหม่ๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเกี่ยวกับจิตวิญญาณ, อารมณ์, ความรู้สึก แนวคิดด้านปรัชญา, เทววิทยา ไปจนถึงประเด็นทางสังคมการเมือง และแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ที่มีพัฒนาการอย่างมากในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอย่าง วาสซิลี คานดินสดี้, คาซิมีร์ มาเลวิช, พีท มองเดรียน (Piet Mondrian) ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปทำงานศิลปะนามธรรมหรือศิลปะไร้รูปลักษณ์ (Non-figurative art) ของ ฮิลม่า อัฟ คลินต์ นั้นเกิดขึ้นโดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะสมัยใหม่ในยุคนั้นเลยแม้แต่น้อย
ฮิลม่า อัฟ คลินต์ เกิดในวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1862 ในเมืองโซลนา ประเทศสวีเดน, ช่วงวัยเด็ก เธอใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันงดงามของชนบทและสัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับงานศิลปะของเธอในเวลาต่อมา ช่วงวัยรุ่นเธอเข้าศึกษาศิลปะในสาขาภาพเหมือนบุคคลและภาพทิวทัศน์ ในสถาบัน Konstfack หรือ University of Arts, Crafts and Design ในสต็อกโฮล์ม ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกแหวกขนบในยุคนั้น เพราะในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้น แทบไม่มีผู้หญิงได้รับการศึกษาขั้นสูงเลย
ต่อมาเธอได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนในสถาบัน Royal Academy of Fine Arts และจบการศึกษาในระดับเกียรตินิยม หลังจากนั้นเธอเริ่มต้นอาชีพศิลปินด้วยการเปิดสตูดิโอวาดภาพในเมือง และเริ่มเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาดทิวทัศน์ ภาพเหมือนบุคคล และภาพลายเส้นของต้นไม้พืชพันธุ์ ถึงแม้ภาพวาดแบบประเพณีนิยมเหล่านี้จะเป็นที่นิยมและกลายเป็นรายได้หลักเลี้ยงชีพของเธอ แต่สิ่งที่เธอหลงใหลอย่างลึกซึ้งกลับเป็นอะไรที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง นั่นก็คือสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างเรื่องของปรัชญาและจิตวิญญาณ
ว่ากันว่ามีเหตุการณ์หนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและการทำงานศิลปะของเธอ คือเหตุการณ์ที่น้องสาวของเธอเสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1880 นั่นเป็นครั้งแรกที่มิติทางจิตวิญญาณในชีวิตของเธอเริ่มต้นพัฒนาขึ้นมา จนกระทั่งในปี ค.ศ.1886 เธอก็ละทิ้งการวาดภาพแบบประเพณีนิยมที่เธอร่ำเรียนมา และหันเหมาสู่สิ่งที่เธอสนใจหลงใหล
นั่นก็คือเรื่องราวของโลกที่มองไม่เห็นที่ซ่อนอยู่เหนือธรรมชาติ
หรือโลกวิญญาณ อันนำพาเธอไปสู่การทำงานศิลปะแบบนามธรรม
เธอรวมตัวกับศิลปินหญิงอีกสี่คนก่อตั้งกลุ่มศิลปินในชื่อ ‘De Fem’ (The Five) อย่างเงียบๆ พวกเธอดำเนินพิธีกรรมติดต่อกับโลกวิญญาณและสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ อย่าง การเล่นกระดานผีถ้วยแก้วฝรั่ง (OUIJA อ่านว่า “วีจี”) และการเข้าทรง ซึ่งพวกเธอเชื่อว่าวิญญาณเหล่านั้นต้องการที่จะสื่อสารผ่านการวาดภาพ พวกเธอทำการบันทึกเอาไว้ในหนังสือเกี่ยวกับระบบการทำงานศิลปะรูปแบบใหม่ที่ได้รับการถ่ายทอดความคิดอันลี้ลับที่อยู่ในรูปแบบของสารหรือถ้อยคำจากจิตวิญญาณอันสูงส่งที่เธอเรียกว่า ‘Höga Mästare’ (The High Masters) หรือ ‘เหล่าปรมาจารย์ผู้สูงส่ง’
ในการทำงานศิลปะร่วมกับกลุ่ม The Five ฮิลม่า อัฟ คลินต์ ได้คิดค้นการทดลองวาดภาพแบบอัตโนมัติในช่วงปี 1896 ซึ่งเธอทำขึ้นมาก่อนที่ศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์จะคิดค้นเทคนิค ‘การวาดเส้นอัตโนมัติ’¹ อันลือลั่น เป็นเวลาหลายสิบปีเลยด้วยซ้ำ ที่น่าทึ่งยิ่งไปกว่านั้นคือเธอใช้เทคนิคนี้สร้างสรรค์ภาพนามธรรมในรูปทรงเรขาคณิตอันเป็นระเบียบอย่างสามเหลี่ยม วงกลม เส้นตรงอันสมบูรณ์ออกมา (ซึ่งปกติตั้งใจวาดยังไม่ค่อยจะตรงเท่าไหร่เลย) เธอกล่าวว่าเธอได้ความสามารถในการสร้างงานเหล่านี้จากพลังที่มองไม่เห็นทั้งจากโลกภายในและโลกภายนอก
เมื่อเธอคุ้นเคยกับการแสดงออกทางศิลปะเช่นนี้แล้ว ในปี ค.ศ.1905 เธอก็ได้รับการว่าจ้างโดยบุคคลกลุ่มหนึ่งให้สร้างสรรค์ผลงานที่สำคัญที่สุดของเธอ ซึ่งเป็นภาพวาดสำหรับ ‘วิหาร’ (Temple) ที่ประกอบด้วยภาพวาดแบบนามธรรมที่มาก่อนกาล อย่างไรก็ตาม เธอเองก็ไม่เคยเข้าใจว่า ‘วิหาร’ หมายถึงอะไร และเธอรู้สึกว่าเธอถูกกำกับโดยพลังอำนาจลึกลับบางอย่างที่ชี้นำมือของเธอให้วาดภาพ เธอเขียนบันทึกเอาไว้ว่า
“ภาพเหล่านี้ถูกวาดผ่านตัวฉันด้วยพลังอันยิ่งใหญ่ ตอนที่วาดฉันไม่ได้ร่างภาพเลยแม้แต่น้อย ฉันไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าภาพวาดเหล่านี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร อย่างไรก็ตาม ฉันทำงานด้วยความรวดเร็วและแน่นอน โดยไม่มีการเปลี่ยนฝีแปรงเลยแม้แต่ครั้งเดียว”
ฮิลม่า อัฟ คลินต์ วาดภาพชุดนี้ออกมาจำนวน 193 ภาพ ที่ถูกจำแนกหมวดหมู่ออกเป็นกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม ในบรรดานั้นมีภาพวาดจำนวนสิบชิ้นที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 เมตร ซึ่งถูกเรียกว่า The Ten Largest ภาพวาดเหล่านี้มีความสดใหม่และสุนทรียะอันแปลกตา ด้วยเส้นสายที่แสดงออกถึงความรวดเร็วฉับไว ไม่ว่าจะเป็นภาพวงกลมที่ถูกแบ่งซอยเป็นส่วนๆ รูปเกลียวที่ถูกแบ่งเป็นแถบสีสเปกตรัม สัญลักษณ์ ตัวอักษร และถ้อยคำ ภาพวาดในชุดนี้ของเธอมักแสดงให้เห็นถึงความเป็นแผนภาพ ความสมมาตร ภาวะของความเป็นคู่ การพึ่งพาอาศัยกันและกัน การขึ้นและลง ข้างนอกและข้างใน เรื่องทางโลกและเรื่องของความลี้ลับ
เมื่อเธอทำผลงานชุดนี้เสร็จสิ้น การชี้นำจากพลังอำนาจลึกลับก็สิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม เธอก็ยังคงวาดภาพแบบนามธรรมต่อไป เธอค้นพบหนทางใหม่ในการแสดงออกทางการวาดภาพและพัฒนาภาษาศิลปะขึ้นใหม่ ภาพวาดของเธอมีความเป็นอิสระจากอิทธิพลภายนอกมากขึ้น (ดูรู้เรื่องขึ้น) แต่โลกของจิตวิญญาณก็ยังเป็นแรงบันดาลใจหลักในการสร้างสรรค์ของเธอไปจนตลอดชีวิต
หลังจากจบจากงานชุดวิหาร เธอเปลี่ยนจากการวาดภาพสีน้ำมันมาเป็นสีน้ำที่มีขนาดเล็กลง และแสดงออกถึงการสอดประสานระหว่างโลกของวัตถุและจิตวิญญาณ รวมถึงได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์และศาสนา ตั้งแต่การค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ไปจนถึงคำสอนทางจิตวิญญาณของนักมนุษยปรัชญา รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) ผู้เป็นเสมือนหนึ่งที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณของเธอ การพบกับเขาทำให้รูปแบบการทำงานศิลปะของเธอพัฒนามากขึ้น ด้วยการสอดแทรกสัญลักษณ์และลวดลายต่างๆ อย่าง เปลือกหอย, งู, ดอกลิลลี่, ไม้กางเขน หรือแม้แต่ปรัชญาศาสนาพุทธ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดของกระแสเคลื่อนไหวทางจิตวิญญาณของสไตเนอร์
ตลอดชีวิตที่เหลือ ฮิลม่า อัฟ คลินต์เฝ้าค้นหาทางที่จะทำความเข้าใจกับความลี้ลับที่เธอเคยได้สัมผัสผ่านการทำงานศิลปะของเธอ เธอเขียนบันทึกเกี่ยวกับความคิดและการศึกษาเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้กว่า 150 เล่ม แต่เธอก็ไม่เคยกล้าแสดงหรือเปิดเผยภาพวาดนามธรรมของเธอสู่สาธารณชนเลยแม้แต่ครั้งเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพวาดแบบนามธรรมที่ได้แรงบันดาลใจ (หรือแรงควบคุม) จากภูติผีและวิญญาณ ว่ากันว่าเป็นเพราะสไตเนอร์ผู้เป็นเสมือนหนึ่งที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณของเธอไม่ให้การยอมรับผลงานเหล่านี้ เธอจึงสรุปว่าคนในยุคสมัยนั้นน่าจะยังไม่พร้อมที่จะเข้าใจผลงานของเธอ โดยเธอระบุเงื่อนไขในพินัยกรรมของเธอว่าผลงานศิลปะนามธรรมของเธอจะต้องไม่ถูกแสดงสู่สาธารณะเป็นเวลาอย่างน้อย 20 ปี หลังจากการเสียชีวิตของเธอ
หลังจากที่เธอเสียชีวิตในปี ค.ศ.1944 จากอุบัติเหตุบนท้องถนน ในวัย 82 ปี ผลงานศิลปะนามธรรมของเธอที่ประกอบด้วยภาพวาด 1,200 ภาพ บทความกว่า 100 ชิ้น และบันทึกจำนวน 26,000 หน้า จึงถูกเก็บซ่อนเอาไว้อย่างมิดชิด, จนกระทั่งในปี ค.ศ.1986 หรือสี่สิบกว่าปีให้หลัง ผลงานของเธอจึงถูกจัดแสดงเป็นครั้งแรกนิทรรศการ The Spiritual in Art, Abstract Painting 1890-1985 ในลอสแองเจลิส หรือนิทรรศการ Hilma af Klint: Paintings for the Future ในพิพิธภัณฑ์โซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์ นิวยอร์ก ในปี ค.ศ.2018 และอีกหลายนิทรรศการผลงานศิลปะนามธรรมอันน่าตื่นตะลึงของเธอจึงได้ปรากฏสู่สายตาของสาธารณชน นำไปสู่การเปิดเผยข้อเท็จจริงว่าภาพวาดแบบนามธรรมที่เธอทำขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้นถูกทำขึ้นก่อนศิลปินเพศชายที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกงานศิลปะนามธรรมคนแรกๆ อย่างคานดินสกี้หรือมาเลวิชจะทำผลงานขึ้นมาด้วยซ้ำ
หลังจากถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ ผลงานของเธอกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานสร้างสรรค์มากมาย ไม่เพียงแค่ในวงการศิลปะเท่านั้น หากยังรวมถึงวงการสร้างสรรค์อื่นๆ อย่างวงการแฟชั่น โดยเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบคอลเล็คชั่นฤดูร้อนในปี ค.ศ.2014 ของห้องเสื้อ ‘Acne Studios’ ในสต็อกโฮล์ม หรือในวงการภาพยนตร์ ที่ผู้กำกับภาพยนตร์อาร์ตเฮาส์ชาวฝรั่งเศสอย่าง โอลิเวียร์ อัสซายาส (Olivier Assayas) เองก็ยอมรับว่าผลงานของฮิลม่า อัฟ คลินต์เป็นแรงบันดาลใจอันสำคัญให้กับผลงานภาพยนตร์รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ของเขาอย่าง Personal Shopper (2016) โดยเขากล่าวว่า
“สิ่งที่น่าหลงใหลเกี่ยวกับตัว ฮิลม่า อัฟ คลินต์ คือเธอเชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจว่ามีพลังวิญญาณบางอย่างชี้นำมือของเธอให้วาดภาพ และเธอคิดว่าผลงานศิลปะของเธอเป็นอะไรที่อยู่เหนือโลกที่เธออาศัยอยู่ จนเธอไม่เคยแสดงงานของเธอเลยในช่วงที่เธอมีชีวิต ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังตั้งเงื่อนไขว่า ผลงานศิลปะของเธอจะต้องไม่ถูกแสดงสู่สาธารณะเป็นเวลาอย่างน้อย 20 ปี หลังจากที่เธอเสียชีวิต ผมคิดว่าเธอเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับโลกวิญญาณโดยตรง เมื่อผมมองไปยังเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องจิตและวิญญาณในโลกสมัยใหม่ บางทีศิลปะอาจจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด”
ปัจจุบัน ผลงานศิลปะนามธรรมของ ฮิลม่า อัฟ คลินต์ ถูกครอบครองและบริหารดูแลโดยมูลนิธิ Hilma af Klint ในกรุงสต็อกโฮล์ม สวีเดน ผลงานเหล่านี้ของเธอเป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เราเห็นว่า แม้แต่เรื่องที่อาจจะดูงมงาย เหลวไหล และไม่อาจพิสูจน์หรือจับต้องได้อย่างเรื่องภูติผี วิญญาณ และสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ก็สามารถกลายเป็นสิ่งที่สวยงาม ยิ่งใหญ่ และก้าวหน้าล้ำยุคสมัยได้ ถ้าทำอย่างถูกที่ถูกทาง ถูกกาละเทศะ และทำด้วยความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง.
¹การวาดเส้นอัตโนมัติ (Automatic drawing) หรือ Surrealist automatism เป็นวิธีการทำงานของศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ ที่หยุดการควบคุมของสติสัมปชัญญะ เปิดโอกาสให้จิตไร้สำนึกได้เป็นอิสระในการทำงานศิลปะ พูดง่ายๆ ก็คือการวาดรูปแบบปล่อยให้มือวาดอะไรก็ได้ออกมาแบบไม่ตั้งใจโดยไม่ต้องคิดก่อนล่วงหน้านั่นแหละ)
ข้อมูล
หนังสือ INSIDE ART, OUTSIDE ART ข้างนอก ข้างใน อะไร (แม่ง) ก็ศิลปะ โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์, สำนักพิมพ์ SALMON
บทสัมภาษณ์ โอลิเวียร์ อัสซายาส โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์