ดีเบตที่ร้อนแรงเอามากๆ ในช่วงที่ผ่านมา ก็คือเรื่องของการ ‘ลาคลอด’ ที่บางพรรคการเมืองเสนอขึ้นมาเป็นนโยบาย
เดิมที เราเรียกการลาคลอดว่า Maternity Leave หรือเป็นการลางานของ ‘แม่’ แต่ในปัจจุบันนี้ โลกก้าวไปไกลในเรื่องเพศจนหลายประเทศเลิกใช้คำว่า ‘ลาคลอด’ หรือการลาของแม่กันแล้ว และไม่ได้ใช้คำว่า Paternity Leave หรือลาไปเลี้ยงลูกสำหรับพ่อด้วย แต่เกิดศัพท์ที่เรียกรวมๆ คลุมๆ ว่า Parental Leave หรือ Family Leave ซึ่งก็มีความหมายถึง ‘สวัสดิการ’ สำหรับพนักงานอย่างหนึ่ง นั่นคืออนุมัติให้คนที่มีลูก (ไม่ว่าจะเพศไหน ชาย–หญิง, ชาย–ชาย, หญิง–หญิง หรือเพศอื่นๆ) สามารถหยุดงานได้
ที่จริงการลาคลอดเป็นเรื่องที่มีอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติในหลายประเทศ ในปี 2014 องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) เคยสำรวจนโยบายการลาคลอดใน 185 ประเทศ และพบว่า ทุกประเทศยกเว้นปาปัวนิวกินี มีกฎหมายให้ลาคลอดได้เป็นระยะเวลาต่างๆ กันไป
แต่ปัญหาของการลาคลอด ไม่ได้อยู่แค่ว่า ‘ลาได้’ หรือเปล่าเท่านั้น ทว่ายังอยู่ที่เมื่อลาแล้วได้ค่าตอบแทนเหมือนมาทำงานด้วยหรือเปล่าต่างหาก โดยในแต่ละประเทศจะมีหลักเกณฑ์ในการลาและการจ่ายเงินรายได้แตกต่างกันไป โดยการลาแบบที่ได้รายได้นั้น เรียกว่า Paid Parental Leave หรือ Paid Family Leave ซึ่งเรื่องนี้นี่แหละ ที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงหรือดีเบตมายาวนานหลายสิบปี
หลายคนอาจมองเรื่องของ Paid Parental Leave นี้ในแง่มุมเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่อยากบอกคุณว่า ประเด็นเรื่องการลาคลอด มีมิติที่ซับซ้อนซ่อนอยู่เป็นชั้นๆ และกินลึกลงไปถึงมิติทางวัฒนธรรม ค่านิยม และอาการ ‘ชาตินิยม’ ของสังคมที่มีต่อการ ‘ลาคลอด’ กันเลยทีเดียว
ย้อนกลับไปในสมัยโบราณ แทบจะกล่าวได้ว่า ‘งานหลัก’ ของผู้หญิงก็คือการตั้งครรภ์ ในคนธรรมดาทั่วไปที่ถือได้ว่าเป็น ‘แรงงาน’ ของเผ่าหรือของกลุ่ม การตั้งครรภ์คือการเพิ่มโอกาสให้มี ‘แรงงาน’ มากขึ้น และเพศที่ตั้งครรภ์ได้ก็มีแต่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ ‘ครรภ์’ ของผู้หญิง ถือเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด อย่างน้อยที่สุดก็ถูกจำกัดโดยระยะเวลาการตั้งครรภ์ที่ยาวนานถึงเก้าเดือน ในขณะที่เชื้ออสุจิของผู้ชายมีได้แทบจะเรียกได้ว่าไม่จำกัด
จึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตในหลายที่ว่า ลักษณะพื้นฐานทางธรรมชาติแบบนี้ จึงทำให้ผู้ชายสามารถมีคู่ได้หลายคนโดยไม่มีข้อห้ามทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากการมีคู่หลายคน จะช่วยเพิ่มแรงงานให้เผ่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า คือผู้ชายหนึ่งคนทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้หลายคน และนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง (ในแบบที่เราเรียกกันว่า Patriarchy) ในชนหลายเผ่าหลายชาติพันธุ์
ในคนชั้นสูง อย่างเช่นพวกกษัตริย์และราชินีในวัฒนธรรมต่างๆ เราจะเห็นได้เลยว่าหน้าที่หลักหรือ ‘งานหลัก’ ของราชินีในประวัติศาสตร์ ก็คือการผลิตลูก โดยเฉพาะลูกชายที่จะมาเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ ราชินีที่ไม่สามารถให้ลูกชายได้ มักต้องยอมให้กษัตริย์มีสนมนางในอื่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีผู้สืบทอด
เมื่อถูกมองว่างานหลักคือการตั้งครรภ์มาตลอดระยะเวลาหลายพันปีของมนุษยชาติ ผู้หญิงในหลายวัฒนธรรมจึงคุ้นชินกับการหล่อหลมอให้จำกัดพื้นที่อยู่เฉพาะพื้นที่ของบ้าน (Domestic Space หรือ Private Space) เท่าน้ัน ไม่ได้มีบทบาทนอกบ้านในพื้นที่สาธารณะ (Public Space) ผู้หญิงไม่มีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจนโยบายสาธารณะมากเท่าผู้ชาย
แม้บางคนอาจควบคุมหรือมีอำนาจในพื้นที่ส่วนตัวมากกว่าผู้ชาย แต่การก้าวออกไปแสดงออกนอกบ้านยังเป็นเรื่องแปลกประหลาดอยู่ จนกระทั่งเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ คือในราวทศวรรษ 1950s-1960s ของสหัสวรรษที่แล้ว เริ่มเกิดการเรียกร้องของผู้หญิง ผ่านขบวนการที่เรียกว่าเฟมินิสม์ (Feminism) โดยเฉพาะเฟมินิสม์คลื่นลูกที่สอง (Second Wave Feminism) ให้ผู้หญิงออกมามีสิทธิมีเสียงหรือมีที่ทางในที่สาธารณะมากขึ้น จึงเริ่มเกิดสภาวะ ‘งานงอก’ ของผู้หญิงขึ้นมา
เมื่อผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้าน งานที่ผู้หญิงต้องทำจึงไม่ใช่แค่การตั้งครรภ์อย่างเดียวอีกต่อไป แต่เกิดผู้หญิงสายพันธุ์ใหม่เป็นกลุ่มก้อน เรียกว่า ‘ผู้หญิงทำงาน’ (Working Women) ขึ้นมาด้วย ผู้หญิงอาจภาคภูมิใจว่าตัวเองทัดเทียมเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชาย ได้ทำงาน ได้ตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ หรือแม้กระทั่งก้าวไปสู่ตำแหน่งใหญ่ๆ ในระดับผู้นำประเทศ เช่น นายกรัฐมนตรีหรือตำแหน่งอื่นๆ แต่กระนั้น ผู้หญิงโดยทั่วไปก็ไม่อาจสลัด ‘งานหลัก’ ที่เป็นงานดั้งเดิมทิ้งได้ง่ายดายนัก
งานนั้นก็คืองานแห่ง ‘ความเป็นแม่’ นั่นเอง
เฟมินิสต์คลื่นลูกที่สองเรียกร้องให้ผู้หญิงออกมามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น และผู้หญิงก็ทำเช่นนั้นกันจริงๆ แต่แทนที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือเพิ่มอำนาจให้ผู้หญิง มันกลับก่อให้เกิดสภาวะที่เฟมินิสต์คลื่นลูกที่สามเรียกว่า Superwoman Syndrome ขึ้นมาแทน
อาการ Superwoman ก็คือผู้หญิงต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างทั้งในพื้นที่ส่วนตัว พื้นที่บ้าน และพื้นที่สาธารณะด้วย นั่นคือต้องหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว พร้อมกับยังรักษาสถานะการเป็น ‘แม่’ และ ‘เมีย’ เอาไว้ไม่รู้แล้ว เคยมีผู้วิเคราะห์เอาไว้ว่า สภาวะแบบนี้ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรู้สึกผิดของแม่’ หรือ Motherguilt ขึ้นมา
คำอธิบายจอง Motherguilt ก็คือ ถ้าผู้หญิงมาทำงานนอกบ้านเต็มเวลา คือกลายเป็นแรงงานเต็มตัว พวกเธอก็จะรู้สึกผิดว่า ตัวเองไม่ได้อยู่บ้าน ไม่ได้ดูแลบ้าน ไม่ได้ตั้งครรภ์ ไม่ได้เป็น ‘แม่’ ถึงกับเคยมีความคิดความเชื่อกันว่า ผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นแม่นั้นไม่ใช่ผู้หญิงเต็มผู้หญิงด้วยซ้ำไป
แต่ถ้าหากผู้หญิงคนนั้นเกิดอยู่บ้านเต็มเวลา คอยดูแลบ้าน และทำงานหลักของผู้หญิงแบบดั้งเดิมเหมือนที่เคยเป็นมา คือการตั้งครรภ์เพิ่มสมาชิกให้สังคม – เธอก็จะเกิดความรู้สึกผิดเมื่อเห็นว่าผู้หญิงร่วมสมัยกับตัวเองนั้นออกไปทำงานกันหมด ความรู้สึกผิดนี้เกิดขึ้นเพราะเธอรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีส่วนในการหาเงินเข้าครอบครัว ผู้หญิงที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกจึงมักรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า และมีโอกาสตกเป็นเบี้ยล่างของผู้ที่หาเงินมาเลี้ยงครอบครัวได้ง่ายๆ และสุดท้าย ถ้าผู้หญิงเลือกที่จะทำงานแบบพาร์ตไทม์และหันมาเลี้ยงลูกหรือดูแลบ้านแบบพาร์ตไทม์เหมือนกัน Motherguilt ก็สามารถเกิดขึ้นได้ด้วย เพราะเธอจะรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถ ‘เอาดี’ ได้อย่างเต็มที่สักข้าง
ภาพของ Superwoman หรือผู้หญิงที่ออกไปทำงานพร้อมกับเป็นแม่ด้วย และภาพของ Stay-at-home Mum นี้ ในช่วงสามสิบถึงห้าสิบปีที่ผ่านมา เกิดอาการทั้งขัดแย้งและสอดคล้องในตัวเองไปพร้อมกันอย่างน่าประหลาด เราอาจรู้สึกว่า ผู้หญิงสองแบบนี้เป็นขั้วตรงข้ามกัน เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิธีคิดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงเลือกที่จะมีวิถีชีวิตไม่เหมือนกัน
แต่สิ่งที่ผู้หญิงสองแบบนี้เหมือนกัน ก็คือพวกเธอส่วนใหญ่ ‘ยอมรับ’ ว่าการตั้งครรภ์ มีลูก และเลี้ยงดูลูก (โดยเฉพาะในช่วงที่ลูกยังเล็ก) ยังคงเป็น ‘หน้าที่’ หรือ ‘งานหลัก’ แต่ดั้งแต่เดิมของผู้หญิง หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง มันคือ ‘ภาระจำยอม’ ที่ผูกพันอยู่กับเพศสภาพและตัวตนของสิ่งมีชีวิตที่ถูกเรียกว่า ‘ผู้หญิง’ ไปโดยพื้นฐาน
นั่นทำให้ในสมัยก่อน การลาคลอดของผู้หญิงไม่ใช่ ‘สิทธิ’ ที่พึงมีพึงได้ (อย่าว่าแต่เป็น Paid Parental Leave หรือหยุดแล้วได้เงินเลย) แต่เป็นคล้ายๆ ‘หน้าที่’ หรือ ‘งาน’ ที่ผู้หญิงควรทำอยู่แล้ว และงานของการตั้งครรภ์คลอดลูกนี้ก็เหมือนงานบ้านอื่นๆ ทั่วไป นั่นคือแทบไม่มีการประเมินออกมาเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจใดๆ ทั้งที่มันคือกระดูกสันหลังที่ช่วยให้สังคมเบื้องหน้าขับเคลื่อนไปได้
ในทศวรรษ 1950s เป็นยุคที่สังคมตะวันตกยอมรับกันอย่างแพร่หลายในมายาคติที่ว่าผู้ชายคือผู้หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำงาน ในขณะที่ผู้หญิง ‘ที่แท้จริง’ (Real Woman) จะต้องคอยสนับสนุนผู้ชายอยู่กับบ้าน แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่บีบคั้น ประกอบกับการรณรงค์ของขบวนการเฟมินิสม์คลื่นลูกที่สอง ผู้หญิงจึงเริ่มออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น และเกิดการวางมาตรฐานการลาคลอดขึ้นในปี 1952 โดยให้ผู้หญิงลาคลอดได้นาน 12 สัปดาห์ หรือราว 3 เดือน ก่อนจะมีการทบทวนกันอีกครั้งในปี 2000 เพื่อขยายระยะเวลาออกมาเป็น 14 สัปดาห์ หรือ 98 วัน
ซึ่งหลายฝ่ายก็มองว่า ตัวเลขแค่นี้ถือว่ามากแล้ว คืออยู่ที่มากกว่า 3 เดือน แต่กระนั้น ผู้หญิงก็ยังเหมือนถูกดึงทึ้งระหว่างเขาควายอยู่ดี เพราะมีนักวิชาการเฟมินิสต์อีกคนหนึ่ง คือแคโรไลน์ พาสโค (Caroline Pascoe) ชี้ว่าสังคมยังมีสิ่งที่เธอเรียกว่า Mother Blaming Theory หรือ ‘ทฤษฎีตำหนิแม่’ เพราะสังคมเห็นว่า แม่คือตัวการสำคัญที่ช่วยให้ลูกมีทั้งร่างกาย สติปัญญา และสภาวะทางจิตที่ดี
โดยผ่านการดูแลลูกในช่วงสำคัญ
คือช่วงแรกของชีวิต
ทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีที่พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับทฤษฎีทางจิตวิทยาการเลี้ยงดูเด็กที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นทฤษฎีที่เกิดขึ้นคัดง้างกับทฤษฎียุคก่อนหน้า ที่เชื่อว่าเด็กกับแม่ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กันมากมายนัก สามารถแยกเด็กออกจากแม่ได้เลยตั้งแต่เกิด ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าทฤษฎีใหม่นี้เป็นทฤษฎีที่ถูกต้อง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าแม่่ไม่มีความสามารถหรือไม่มีโอกาสที่จะเลี้ยงดูลูกในช่วงเวลาสำคัญของชีวิต (คือช่วงแรกๆ) ผู้คนก็จะพากันตำหนิว่าเป็นความผิดของแม่
คำถามต่อมาก็คือ แล้วระยะเวลา 98 วัน หรือราวๆ สามเดือนแรกในชีวิตของลูกที่แม่ได้รับอนุญาตให้ ‘ลาคลอด’ นั้น มันเพียงพอต่อการเติบโตของลูกแล้วจริงหรือ
โดยแทบไม่ต้องคิดก็น่าจะรู้กันนะครับว่ามันไม่พอ เพราะเด็กอายุสามเดือนยังต้องการแม่มาคอยดูแลแน่ๆ!
แต่ที่อาจย่ำแย่ไปกว่านั้นอีกก็คือ 98 วันอันเป็นสิทธิในการลาคลอดนั้น ในไทยไม่ได้มีสภาพบังคับด้วยซ้ำ ว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้กับบรรดาแม่ๆ ด้วย ดังนั้นพวกเธอจึงมีสิทธิลา แต่อาจไม่มีรายได้ ซึ่งก็ส่งผลให้ตัวเลข 98 วัน เป็นตัวเลขที่ไม่อาจเป็นไปได้จริง เพราะหลายคนจำเป็นต้องรีบกลับไปทำงาน ทั้งเพื่อหาเงินมาเลี้ยงตัวเลี้ยงลูก และเพื่อรักษาตำแหน่งงานของตัวเองเอาไว้
เราอาจถกเถียงกันว่า ข้อเสนอของพรรคการเมืองหนึ่งที่บอกว่าผู้หญิงควรสามารถลาคลอดได้ 180 วันนั้นไม่สมเหตุสมผล เพราะจะทำให้นายจ้างต้องเสียโอกาสทางธุรกิจไป แต่หากเรามองกว้างขึ้นและมองย้อนลึกกลับไปในประวัติศาสตร์ จนเห็นให้ได้ว่าแท้จริงแล้วการตั้งครรภ์ก็คือ ‘งาน’ อย่างหนึ่งเหมือนกัน ทั้งยังเป็นงานที่อาจสลักสำคัญที่สุดในการเกิดมาเป็นมนุษย์เสียด้วยซ้ำ เราก็อาจพิจารณาตัวเลขเหล่านี้ได้ด้วยสายตาอีกแบบหนึ่งที่จะช่วยให้สังคมโดยรวมน่าอยู่ได้มากขึ้น
เพราะหากการตั้งครรภ์และคลอดคือ ‘งาน’ อีกอย่างหนึ่งของผู้หญิง – การลาคลอดและดูแลลูกในช่วงต้นของชีวิตอาจไม่ใช่การ ‘ลางาน’ ก็ได้ เพราะพวกเธอกำลังหันไป ‘ทำงาน’ อีกแบบหนึ่ง
และเป็น ‘งาน’ ที่ทำให้มนุษยชาติยังคงเป็นมนุษยชาติอยู่ด้วยซ้ำไป!
อ้างอิงข้อมูลจาก