พ่อแม่มือใหม่ที่ได้รับรายได้สม่ำเสมอในระหว่างลางานไปเลี้ยงลูก ช่วยฟื้นฟูสุขภาวะเด็กเกิดใหม่และทำให้เศรษฐกิจไม่เงียบเหงา
ชีวิตใหม่น่าตื่นเต้นและงดงามเสมอ แต่หนุ่มสาวหลายคนที่กำลังรับบทบาท ‘พ่อแม่มือใหม่’ ก็ยังหวั่นใจไม่น้อยกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต เพื่อนๆ ของคุณเองที่ทำงานมาด้วยกันหลายๆ คน กำลังกลายเป็นพ่อคนแม่คนกันหมดในช่วงปลายปี
เมื่อชีวิตใหม่ที่กำลังจะเกิดมาดูโลกมาพร้อมกับภาระอันหนักอึ้ง ใครๆ ก็ยอมรับล่ะว่าการเลี้ยงเด็กไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งการเลี้ยงเด็กในระหว่างที่ต้องหลังขดหลังแข็งทำงานไปด้วย ยากยิ่งกว่า!
หนุ่มสาวจึงต้องเผชิญหน้ากับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก กับการตัดสินลางานยาวๆ เพื่อไปเลี้ยงลูกวัยแบเบาะ จะอธิบายอย่างไรให้หัวหน้าเข้าใจดีล่ะ ลา 10 วัน 15 วัน หรือ 30 วัน ถ้าลาไปนานๆ งานที่คั่งค้างอยู่ใครจะรับผิดชอบต่อ กลับมาแล้วยังจะมองหน้าบอสติดอยู่ไหม คนร่วมงานจะเคืองหรือเปล่าที่เราปล่อยภาระงานให้กลายเป็นของคนอื่น
และที่สำคัญองค์กรจะยอมจ่ายให้อยู่ไหมทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทำงาน หลายคนหวาดกลัวการปรับฐานเงินเดือนลง จ่ายไม่เต็มจำนวน ลดโบนัสจากข้ออ้าง และไม่สามารถขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงกว่าเดิม เพราะติดคำครหาว่า ‘เธอต้องไปเลี้ยงลูก’
ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายในการเป็นพ่อแม่มือใหม่นั้นมหาศาล แต่ใดๆ ก็ไม่เท่าชีวิตของเด็กคนหนึ่งจะสามารถแลกข้อจำกัดเหล่านี้ได้หรือไม่?
ไม่กล้าที่จะลา
ในสังคมอเมริกันที่ว่าสวัสดิการค่อนข้างดีแล้ว ก็ยังเป็นแค่เพียงเปลือกนอก แรงงานหลักๆ ที่ค้ำจุนสังคมกว่า 88 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถลางานไปเลี้ยงดูลูกโดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนอย่างที่หวังกันไว้ ทำให้หนุ่มสาวจำนวนมากหยุดลาเพียงสัปดาห์เดียวไม่เกินกว่านั้น แล้วต้องกลับมาโม่งานต่ออย่างเป็นบ้าเป็นหลัง ต้องตัดสินใจภายใต้ความบีบคั้น นำมาซึ่งสุขภาพของเด็กเกิดใหม่ที่ตกต่ำลงในทุกๆ ปี ทารกสุขภาพอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กอ่อนติดเชื้อโดยถึงมือแพทย์ไม่ทันเวลา เพราะไม่มีพ่อแม่คอยช่วยเหลือ
สหรัฐอเมริกาจึงได้รับเกียรติอย่างไม่เป็นทางการและโดนค่อนขอดว่า เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วโดยปราศจากนโยบายของภาครัฐที่การันตีว่าพ่อๆ แม่ๆ จะได้รับการจ่ายจำนวนจริงตามกฎหมาย เมื่อเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาและจนกว่าอย่างสาธารณรัฐคอสตาริกา ในอเมริกากลางซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ แล้ว คอสตาริกากลับมีนโยบายที่เข้มแข็งกว่าเยอะ แม่เด็กสามารถลาก่อนคลอดได้ 1 เดือน และสามารถหยุดต่อเพื่อเลี้ยงดูลูกอ่อนได้อีก 3 เดือน รวมเบ็ดเสร็จ 120 วัน! โดยได้รับเงินชดเชยครบถ้วน ซึ่งค่อนข้างก้าวหน้ากว่าชาวบ้านพอสมควร
แล้วประเทศไทยล่ะ? กฎหมายแรงงานไทยระบุว่า คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มีสิทธิลาคลอดบุตรครั้งหนึ่ง โดยได้รับเงินเดือน 90 วัน ซึ่งนับรวมวันหยุดราชการด้วย การลาคลอดบุตรสามารถลาในวันคลอด ลาก่อน หรือลาหลังวันคลอดก็ได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน 90 วัน ก็ถือว่าไม่เลวนัก
เมื่อแม่ได้หยุด ทำไมพ่อควรหยุดด้วย
พูดถึงการเลี้ยงดูลูก ผู้ชายกลับถูกมองข้ามไปเสียดื้อๆ ทั้งๆ ที่พฤติกรรมการเลี้ยงดูของพ่อมีอิทธิพลต่อการเติบโตของลูกๆ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจต่อการเข้าสู่ช่วงวัยหนุ่มสาวของเด็กๆ
ในระบบราชการไทยอนุญาตให้พ่อหยุดได้ 15 วัน มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง สั่งการให้ข้าราชการที่จะลาไปช่วยภรรยาคลอดบุตรต้องมีหนังสือรับรองจากภรรยาแนบมาด้วย และต้องจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาให้อนุญาตก่อน หรือภายใน 90 วัน นับตั้งแต่ภรรยาคลอดบุตร โดยถือให้เป็นสิทธิการลาประเภทหนึ่งที่ยังได้รับเงินเดือนในระหว่างที่ลาได้
โดยการใช้สิทธิลาหยุด 15 วัน ผู้เป็นพ่อควรใช้เวลานี้ให้เกิดประโยชน์ต่อครอบครัวอย่างแท้จริง และเป็นนิมิตรหมายที่ดีต่อสถาบันครอบครัว ที่จะทำให้ครอบครัวมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น ลดปัญหาครอบครัวและลดอัตราการหย่าร้างของคู่สมรสได้ด้วย ซึ่งผลักดันให้พ่อมีส่วนร่วมในความริบผิดชอบมากกว่าเดิม
แต่ในภาคเอกชนกลับไม่มีร่างกฎหมายและบังคับใช้อย่างชัดเจน แล้วแต่ระเบียบของแต่ละบริษัท บางที่ดีหน่อยให้ผู้ชายหยุดได้ 5 – 10 วัน แต่ส่วนใหญ่ให้อย่างมากไม่เกิน 1 ถึง 2 วันเท่านั้น
ก็คุณไม่ได้คลอดเอง จะหยุดทำไม?
เด็กที่เติบโตในการเลี้ยงดูของพ่อและแม่ในช่วงแรกเกิด มีรายงานว่าสุขภาพของเด็กเกิดใหม่และเศรษฐกิจประเทศมีแนวโน้มพัฒนาไปในเชิงบวก งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าประเทศที่มีนโยบายการลาคลอดและลาไปเลี้ยงลูก ช่วยลดอัตราเด็กเสียชีวิตลงได้ไม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ สุขภาพจิตของพ่อดีขึ้นจากการได้ผูกพันกับลูกๆ โดยไม่โดนงานกลืนกินไปเสียก่อน
การลาไปเลี้ยงลูก (Maternity Leave) เพิ่มระยะเวลาการให้นมลูกของเหล่าแม่ๆ เด็กแรกเกิดได้รับสารอาหารที่ดีจากนมแม่ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในช่วงเปราะบางที่สุดของชีวิต แม่เองก็ไม่ได้เปล่าเปลี่ยวใจ เนื่องจากมีพ่อดูแลอยู่ใกล้ๆ ทำให้คุณแม่มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่เครียด ส่งผลต่อการผลิตน้ำนมให้มีมากขึ้น อีกทั้งการได้ใกล้ชิดกันจะเป็นการส่งเสริมความรักความผูกพันกันระหว่างพ่อลูกเพิ่มมากขึ้น
การลาคลอดทำให้บริษัทขาดทุนหรือเปล่า
ความเชื่อนี้กัดกินความก้าวหน้าอยู่พอสมควร (โดนัลด์ ทรัมป์ นักธุรกิจและประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 ไม่โอเคกับการลาหยุด 6 สัปดาห์ ตามที่หลายๆ คนเรียกร้องสักเท่าไหร่) แต่หลักฐานที่มี ค่อนข้างชัดเจนว่า การลาหยุดในกรณีนี้ไม่ได้ทำร้ายบริษัทให้ขาดทุนตามที่ผู้ประกอบการหวาดกลัว บางรัฐในอเมริกาที่มีการแก้ไขกฎหมายแรงงานจ่ายให้กับพ่อแม่โดยไม่เม้ม พวกเขาสามารถกลับไปทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากกว่า บริษัทอย่าง Microsoft, Goldman Sachs, Nestle และ Facebook พิสูจน์แล้วว่า การลาหยุดไปเลี้ยงลูกไม่ได้ทำร้ายบริษัทซะหน่อย แต่มีส่วนช่วยให้พนักงานมีแรงฮึดในตลาดการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพเสียด้วยซ้ำ แถมเงินที่ได้รับการชดเชยมาจากรายได้ที่ถูกหักในแต่ละปีของพนักงานอยู่แล้ว
แม้บ้านเราพยายามผลักดันอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ ในระบบราชการมาอย่างยาวนาน แต่ในภาคเอกชนกลับถูกมองข้ามทุกครั้ง จริงๆ ภาคเอกชนควรกลับมาทำความเข้าใจถึงข้อดีที่พวกเขามองข้าม เรื่องนี้สามารถลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางเพศในสำนักงาน เมื่อคนทำงานได้ดีรัฐก็ลดภาระ
ผู้ชายก็มีสิทธิในการเลี้ยงดูลูกๆ ของพวกเขาไม่แพ้กัน และการลาเพื่อไปดูแลหัวใจก็ไม่ใช่เรื่องที่จะมากระมิดกระเมี้ยนต่อหัวหน้างาน การลาเพื่ออีกชีวิตเป็นเหตุผลที่ดี
บริษัทอาจต้องเปิดใจมากขึ้นหน่อย และมองภาพในระยะยาวแทนการห่วงผลประกอบการในระยะสั้น
เพราะคุณก็คงไม่อยากให้พนักงานหนุ่มสาวคนเก่งอุ้มลูกหายไปแล้วไม่กลับมาอีกเลย