ก่อนหน้านี้มีการกล่าวถึงฮิตเลอร์และความใฝ่ฝันที่จะเป็นศิลปินของเขาว่า “เบาเฮาส์เป็นโรงเรียนดีไซน์ที่ฮิตเลอร์อยากเข้า แต่เข้าไม่ได้ ก็เลยไปเป็นฮิตเลอร์” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอยู่มาก แต่ในทางกลับกันก็มีประเด็นน่าสนใจที่อยากนำมาขยายความต่อ ผู้เขียนเลยขอหยิบเอาเรื่องนี้มากล่าวถึงในตอนนี้ก็แล้วกัน
ฮิตเลอร์ไม่ได้อยากเข้าเรียนที่เบาเฮาส์
ถ้าพูดถึง ฮิตเลอร์ หรือในชื่อเต็มว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) หลายคนน่าจะรู้จักดีในฐานะผู้นำสูงสุดของพรรคการเมืองที่สร้างระบอบการปกครองเผด็จการชาตินิยมอันเหี้ยมโหดที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง นาซีเยอรมนี ผู้จุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 2 และสังหารผู้คนไปกว่า 17 ล้านคน
บางคนอาจจะพอทราบกันมาบ้างแล้วว่า ก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางสายการเมืองนั้น ฮิตเลอร์มีความใฝ่ฝันจะเป็นศิลปินมาตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัย และมีความมุ่งมั่นที่จะร่ำเรียนในสถาบันศิลปะเพื่อก้าวเป็นศิลปินอาชีพอย่างแรงกล้า แต่น่าเสียดายที่เขาไม่อาจทำความฝันนั้นให้เป็นจริงได้ (หลายคนอาจนึกเล่นๆ ว่า ถ้าเขาสามารถเป็นศิลปินอย่างที่เคยใฝ่ฝันเอาไว้ได้ ประวัติศาสตร์ของโลกในศตวรรษที่ 20 จะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน โลกจะมีศิลปินชั้นดี แทนที่จะเป็นจอมเผด็จการผู้เหี้ยมโหดที่สุดในประวัติศาสตร์หรือเปล่าหนอ?)
ทีนี้ พอได้ยินว่าผู้นำพรรคนาซีอย่างฮิตเลอร์(ในวัยรุ่น) อยากเรียนศิลปะและอยากเป็นศิลปิน บางคนอาจนึกเชื่อมโยงว่าเขาน่าจะอยากเข้าเรียนในสถาบันศิลปะและการออกแบบที่โด่งดังและมีความสำคัญที่สุดของเยอรมนีในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองอย่าง ‘เบาเฮาส์’ แน่ๆ เลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะอันที่จริงแล้ว ฮิตเลอร์ไม่ได้อยู่ในเยอรมนีมาแต่อ้อนแต่ออก หากแต่เกิดในประเทศออสเตรีย (ในยุคที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี) พออายุได้ 18 ปี เขาก็ย้ายจากเมืองลินซ์ ภูมิลำเนาเดิมที่เขาเติบโตขึ้นมา ไปยังกรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรีย เพื่อร่ำเรียนศิลปะตามความมุ่งหวังที่จะเป็นศิลปิน
ในตอนนั้นเองที่ฮิตเลอร์สมัครเข้าเรียนในสถาบัน Akademie der bildenden Künste Wien หรือ (Academy of Fine Arts Vienna) แต่ถูกปฏิเสธถึงสองครั้งสองครา เขาจึงหันไปเอาดีในเส้นทางสายอาชีพทหารแทน โดยสมัครเข้ารับราชการในกองทัพเยอรมนี ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 และก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองในเวลาต่อมา โดยในปี ค.ศ.1919 เขาสมัครเข้าร่วมในพรรคการเมืองของเยอรมนีอย่าง พรรคกรรมกรเยอรมัน (DAP) ที่ต่อมาเมื่อฮิตเลอร์ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคก็เปลี่ยนชื่อเป็น ‘พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘พรรคนาซี’ นั่นเอง
ในปีเดียวกันนั้นเอง สถาบันการศึกษาด้านศิลปะและการออกแบบอย่าง เบาเฮาส์ (Bauhaus) ก็ถือกำเนิดขึ้นในสาธารณรัฐไวมาร์ เยอรมนี จากการหลอมรวมของสถาบันสองแห่งอย่าง Weimar Institute of Fine Arts และ Weimar School of Arts and Crafts โดยการก่อตั้งของสถาปนิกชาวเยอรมัน วอลเตอร์ โกรปิอุส (Walter Gropius) ผู้มีจุดมุ่งหมายที่จะหลอมรวมศิลปะทุกแขนงเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อลดช่องว่างระหว่างงานวิจิตรศิลป์และงานศิลปะประยุกต์ รวมถึงยกระดับงานฝีมือและงานออกแบบให้ทัดเทียมกับงานศิลปะประเภทอื่นๆ และผลิตบุคลากรที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและงานออกแบบที่ตอบสนองต่อสังคม ชุมชน ในขณะที่ยังคงไว้ซึ่งสุนทรียะอันดีอยู่
เอกลักษณ์อันโดดเด่นในแนวคิดของเบาเฮาส์คือความเรียบง่าย เน้นประโยชน์ใช้สอย และยังเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดในการหยิบเอาวัสดุสำเร็จรูปอย่าง ท่อเหล็ก คอนกรีต กระจก ที่เคยใช้ในงานอุตสาหกรรม มาใช้กับศิลปะและงานออกแบบ กับแนวคิดในการผสานความงามและประโยชน์ใช้สอยเข้าด้วยกัน บาวเฮาส์ยังได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากกระแสศิลปะ De Stijl และ ธีโอ ฟาน โดส์เบิร์ก (Theo van Doesburg) ผู้นำกลุ่ม De Stijl ที่เน้นการใช้รูปทรงเรขาคณิต สี่เหลี่ยม วงกลม และการใช้แม่สีพื้นฐานในการทำงานศิลปะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ใช้กันอย่างมากในงานศิลปะนามธรรม รวมถึงยังได้ศิลปินนามธรรมคนสำคัญของโลกอย่าง วาสซิลี คานดินสกี (Wassily Kandinsky) มาเป็นผู้สอนในสถาบันอีกด้วย (เก้าอี้ Wassily อันโด่งดังของเบาเฮาส์ก็ตั้งชื่อโดยได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปินผู้นี้นี่แหละ) สไตล์อันโดดเด่นเหล่านี้นี่เองที่ส่งอิทธิพลอย่างสูงและกลายเป็นต้นธารของงานศิลปะ ดีไซน์ และสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นนิสม์ในเวลาต่อมา
ฮิตเลอร์กับการออกแบบโลโก้ในฐานะเครื่องหมายอันทรงอานุภาพของนาซี
เมื่อฮิตเลอร์เถลิงอำนาจในฐานะฟือเรอร์ หรือผู้นำสูงสุดของพรรคนาซีและอาณาจักรไรช์ ความลุ่มหลงในศิลปะของเขายังคงไม่เสื่อมคลาย หากแต่กลายเป็นส่วนหนึ่งในอุดมการณ์ทางการเมืองของเขา เมื่อขึ้นสู่อำนาจฮิตเลอร์ต้องการกำหนดทิศทางของค่านิยมทางศิลปะงานสร้างสรรค์แขนงต่างๆ ในประเทศ ด้วยการตั้ง ‘กระทรวงประชาบาลและโฆษณาการไรช์’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘กระทรวงโฆษณาการ’ ที่ทำหน้าที่ควบคุมสื่อต่างๆ ทั้งข่าวสาร วรรณกรรม ศิลปะ ภาพยนตร์ ดนตรี สถานบันเทิง และการเผยแพร่สัญญาณต่างๆ โดยมีรัฐมนตรีว่าการอย่าง โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels) ผู้เป็นเสมือนมือซ้ายของฮิตเลอร์ คอยกำกับดูแลศิลปวัฒนธรรมและการสื่อสารมวลชนของเยอรมนีอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ฮิตเลอร์ยังชุบเลี้ยงคนทำงานสร้างสรรค์มากมายหลายคน ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกอย่าง อัลแบร์ต ชเปียร์ (Albert Speer) ที่ต่อมากลายเป็นสถาปนิกเอกของนาซี ผู้สร้างผลงานสถาปัตยกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมกรีกและโรมัน หรือสนับสนุนนักทำภาพยนตร์อย่าง เลนี รีห์เฟนส์ตาห์ล (Leni Riefenstahl) ผู้สร้างภาพยนตร์ชิ้นเอกของนาซีอย่าง Triumph of the Will (1935) ที่บันทึกเหตุการณ์การประชุมใหญ่ของพรรคนาซีในปี ค.ศ.1934 ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 700,000 คน จนกลายเป็นตัวอย่างสำคัญของการใช้ภาพยนตร์ในฐานะโฆษณาชวนเชื่อ เป็นเครื่องมือปลุกระดมมวลชน ด้วยการใช้เทคนิกอย่างการเคลื่อนกล้อง การถ่ายภาพทางอากาศ การใช้เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสสูง และการใช้ดนตรีประกอบและการถ่ายทำเพื่อสร้างมุมมองอันยิ่งใหญ่อลังการ จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
และจะว่าไป เมื่อพูดถึงการออกแบบโลโก้ ฮิตเลอร์และพรรคนาซีของเขานั้นถือได้ว่าเป็นผู้ที่ใช้ประโยชน์จากโลโก้และงานดีไซน์ได้อย่างทรงประสิทธิภาพที่สุดผู้หนึ่ง เพราะถ้าตัดประเด็นความเลวร้ายในประวัติศาสตร์ออกไป แม้แต่คนที่เกลียดนาซีก็ยังยอมรับว่านาซีเป็นหนึ่งในองค์กรที่มี corporate identity หรือการใช้กราฟิกดีไซน์ในการสร้างอัตลักษณ์องค์กรที่แข็งแรงและทรงพลังที่สุดในโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘สัญลักษณ์สวัสติกะ’ เครื่องหมายของพรรคนาซี สัญลักษณ์ต้องห้ามที่เป็นตัวแทนของความชั่วร้ายในปัจจุบันนั้น เดิมทีเป็นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมของอินเดียที่หมายถึงกงล้อแห่งสุริยะหรือดวงอาทิตย์
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สวัสติกะเป็นเครื่องหมายมงคลที่ใช้กันทั่วโลก ทั้งในศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธนิกายมหายาน ชาวอเมริกันพื้นเมือง ไปจนถึงในยุโรป และถูกใช้ในธงกองทัพอากาศของฟินแลนด์ (ซึ่งยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน) และใช้เป็นตราลูกเสือของอังกฤษ ว่ากันว่า รัดยาร์ด คิปลิง ซึ่งเป็นนักเขียนที่ชอบอินเดียเอามากๆ ก็เคยประทับตราสวัสติกะบนหนังสือเขาทุกปก สวัสติกะยังถูกใช้ในโฆษณา ใบปลิว หีบห่อบรรจุภัณฑ์ และร้านค้า จนเมื่อพรรคนาซีก้าวขึ้นสู่อำนาจในเยอรมนีและใช้สวัสติกะเป็นเครื่องหมายของพรรคในปี ค.ศ.1930
ด้วยความที่ฮิตเลอร์มีความใฝ่ฝันจะเป็นศิลปิน ถึงแม้จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศแล้ว เขาก็ยังคงแสดงบทบาทในฐานะอาร์ตไดเรกเตอร์ของพรรคนาซี ซึ่งก่อนที่จะขึ้นสู่อำนาจ ฮิตเลอร์ยังเคยแสดงความรู้เกี่ยวกับงานออกแบบและการโฆษณาชวนเชื่อในหนังสือชื่อดังของเขาอย่าง Mein Kampf (การต่อสู้ของข้าพเจ้า) ที่เขาเขียนขึ้นตอนถูกจำคุก ในบทหนึ่งของหนังสือกล่าวถึงความสำคัญของสัญลักษณ์ที่ทำให้คนรู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอุดมการณ์ทางการเมือง ด้วยความที่ฮิตเลอร์คิดเองเออเองว่าชาวอารยันในอินเดียเป็นรากเหง้าของชาวเยอรมันในอุดมคติของเขา เขาจึงฉกฉวยอาสัญลักษณ์สวัสติกะมาใช้ โดยเอามาดัดแปลงให้มีความเรียบง่าย ใช้สีดำ ขาว และแดง ในการออกแบบ ทำให้มีพลัง กลมกลืน โดดเด่น เตะตา จดจำง่าย (ฮิตเลอร์อ้างว่าเขาเป็นผู้ออกแบบโลโก้นี้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็มีการอ้างถึงในหนังสือเล่มดังกล่าวของเขาด้วย ก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือสมอ้าง เหมือนกับผู้นำบางประเทศที่ชอบบอกว่าตัวเองแต่งเพลงเองหรือเปล่า?) จนสัญลักษณ์นี้กลายเป็นเครื่องหมายของพรรคนาซีแต่เพียงผู้เดียวไปในที่สุด
หรือแม้แต่สัญลักษณ์ของกองกำลังของนาซีอย่าง SS (Schutzstaffel) ที่เป็นรูปสายฟ้าคู่ ซึ่งเป็นการออกแบบที่ได้แรงบันดาลใจจากอักษรรูนของเยอรมนี ที่มีความหมายถึงดวงอาทิตย์และชัยชนะ ก็เป็นงานดีไซน์ที่แสดงถึงความเก่งกาจในการออกแบบโลโก้ของนาซีได้เป็นอย่างดี
แต่ผลพวงจากพฤติการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการคร่าชีวิตผู้คนไปหลายล้านคนของนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สัญลักษณ์สวัสติกะที่เคยเป็นเครื่องสัญลักษณ์มงคลจนถูกนาซีหยิบฉวยมาใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำพรรค กลับกลายเป็นเครื่องหมายแห่งความอัปมงคลที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงอื้อฉาวในวงกว้างทุกครั้งที่มันถูกหยิบขึ้นมาใช้ในที่สุด เรียกได้ว่าเป็นการใช้เครื่องหมายได้อย่างทรงอานุภาพในขณะเดียวกันก็เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
จุดจบของเบาเฮาส์ด้วยข้อหา “สถาบันผลิตศิลปะเสื่อมทรามหัวเอียงซ้าย”
ในขณะที่ฮิตเลอร์โปรดปรานงานศิลปะแบบสัจนิยม หรือศิลปะเหมือนจริง ที่นำเสนอภาพร่างกายที่เน้นสัดส่วนอันสมบูรณ์แบบ เพื่อแสดงออกถึงร่างกายอันสมบูรณ์แบบของชาวอารยันตามอุดมคติของเขา ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะคลาสสิกของกรีกและโรมันโบราณ เพื่อแสดงออกถึงอำนาจ ความมั่งคั่งและความเรืองรองจากอดีตกาล (ด้วยความเชื่อว่าอาณาจักรไรช์คือผู้สืบทอดของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) กับผลงานศิลปะที่มีเนื้อหาเชิดชูอุดมการณ์พรรคและโน้มน้าวประชาชนให้เชื่อมั่นและศรัทธาในระบอบการปกครองของนาซี
ในทางกลับกัน ฮิตเลอร์เกลียดชังศิลปะสมัยใหม่ (modern art) เข้าไส้ เขามองว่าศิลปะสมัยใหม่ดูหมิ่นอุดมคติแบบคลาสสิกและความงามของมนุษย์ และกล่าวว่า “ศิลปะสมัยใหม่บิดเบือนความเป็นจริง ไม่เห็นสีสันและรูปทรงที่แท้จริงของธรรมชาติ ถ้าคนเยอรมันเสพศิลปะเหล่านั้น จะทำให้จิตใจบิดเบี้ยว แปดเปื้อน” (แต่บางคนก็ว่า จริงๆ แล้วฮิตเลอร์อิจฉาศิลปินเหล่านั้น เพราะตัวเองไม่อาจเป็นศิลปินได้มากกว่า) เขาบัญญัติชื่อให้งานศิลปะเหล่านั้นใหม่ว่า ‘Entartete Kunst’ (Degenerate art) หรือ ‘ศิลปะเสื่อมทราม’ และมุ่งมั่นในการกำจัดให้หมดสิ้นไป ดังเช่นในสุนทรพจน์ของเขาที่ว่า
“จากนี้ไป เราจะเริ่มต้นทำสงครามอย่างไม่หยุดหย่อน สงครามแห่งการชำระล้าง
สงครามที่จะไล่ล่าทำลายล้างอะไรก็ตามที่จะมาเป็นปฏิปักษ์ต่อศิลปะของเรา”
ซึ่งแน่นอนว่าสถาบันการศึกษาที่ส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อศิลปะและงานออกแบบสมัยใหม่อย่าง เบาเฮาส์ ย่อมตกเป็นเป้าหมายในการเพ่งเล็งของพรรคนาซีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการที่นักการเมืองและนักคิดนักเขียนของนาซีอย่าง วิลเฮ็ล์ม ฟริค (Wilhelm Frick) และ อัลเฟรด โรเซินแบร์ก (Alfred Rosenberg) วิพากษ์วิจารณ์สไตล์โมเดิร์นนิสต์ของเบาเฮาส์อย่างเผ็ดร้อน และโจมตีเบาเฮาส์ว่า “ไม่มีความเป็นเยอรมัน” พรรคนาซียังประณามว่าเบาเฮาส์เป็นแหล่งผลิตศิลปะเสื่อมทราม และสร้างแรงกดดันทางการเมืองในทุกวิถีทาง ทั้งการสร้างข่าวโจมตีให้เสียชื่อเสียง ตัดงบประมาณ จนสถาบันต้องปิดตัวลงในระยะหนึ่ง และย้ายไปเปิดตัวขึ้นใหม่ในเมืองเดสเซา
แต่จุดแตกหักที่สุดก็คือ การที่โกรปิอุสลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันและแต่งตั้งสถาปนิกชาวสวิส ฮานเนส เมเยอร์ (Hannes Meyer) ขึ้นรับตำแหน่งแทนในปี ค.ศ.1928 ถึงแม้เมเยอร์จะพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้ก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านสถาปัตยกรรม ยังผลให้นักออกแบบของสถาบันได้รับงานว่าจ้างในโครงการต่างๆ จนทำให้การเงินของสถาบันดีขึ้น แต่อีกแง่หนึ่ง เมเยอร์ก็มีอุดมการณ์ทางการเมืองเข้มข้นในฝ่ายคอมมิวนิสต์ และสอดแทรกแนวคิดแบบมาร์กซิสต์เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนในสถาบันส่วนใหญ่มีแนวคิดที่เอนเอียงไปทางปีกซ้ายทางการเมืองอย่างชัดเจน เรื่องนี้ก่อให้เกิดความขุ่นเคืองใจในหมู่นักการเมืองอนุรักษ์นิยมขวาจัดอย่างพรรคนาซีเป็นอย่างมาก
ถึงแม้โกรปิอุสพยายามคลี่คลายสถานการณ์ด้วยการปลดเมเยอร์ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งสถาปนิกชาวเยอรมันชื่อดังอย่าง ลุดวิก มีส ฟาน เดอร์ โรห์ (Ludwig Mies van der Rohe) ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน โดยละเลิกแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองในสถาบันอย่างสิ้นเชิง และถึงตัว ฟาน เดอร์ โรห์ จะพยายามกำจัดภาพลักษณ์และแนวคิดทางการเมืองที่ไมเยอร์ปลูกฝังเอาไว้อย่างสุดความสามารถ แต่สุดท้ายก็ไม่อาจทำให้สถาบันรอดพ้นจากกรงเล็บของพรรคนาซีที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจ และทำการกดดันให้ปิดสถาบันอีกครั้ง แม้จะย้ายไปเปิดตัวใหม่ในกรุงเบอร์ลิน แต่ก็ถูก เกสตาโป (Gestapo) หน่วยงานตำรวจลับของนาซีตามไปปิดอีก
ถึงแม้ ฟาน เดอร์ โรห์ จะพยายามเจรจาเพื่อเปิดสถาบันขึ้นอีกครั้งด้วยทุนรอนกับคณาจารย์ที่หลงเหลืออยู่ และดำเนินงานในรูปแบบสถาบันอิสระ แต่เพียงไม่กี่เดือนให้หลังก็ถูกนาซีกดดันจนทำให้เขาตัดสินใจปิดสถาบันลงด้วยน้ำมือตัวเองในปี ค.ศ.1933 ซ้ำร้ายตัว ฟาน เดอร์ โรห์ เองก็ต้องลี้ภัยจากเยอรมนีไปยังสหรัฐอเมริกา ผู้ก่อตั้งอย่างโกรปิอุสกับคณาจารย์และเหล่าบรรดานักศึกษาของสถาบัน ต่างก็แตกกระสานซ่านเซ็นลี้ภัยไปยังหลายประเทศทั่วโลก (ในขณะที่อดีตนักศึกษาจากเบาเฮาส์บางคนก็กลับได้รับตำแหน่งสถาปนิกระดับสูงในรัฐบาลนาซี ว่ากันว่าสถาปนิกที่ว่านี้เป็นคนออกแบบห้องรมแก๊สและเตาเผาศพในค่ายกักกันมรณะเอาช์วิตซ์ (Auschwitz) ที่พรากชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนมหาศาล) นับเป็นจุดจบของสถาบันที่วางรากฐานของศิลปะ งานออกแบบ และการเรียนการสอนทางศิลปะและการออกแบบที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20 ไปในที่สุด
ในทางกลับกัน บุคลากรผู้ลี้ภัยไปยังหลายประเทศเหล่านี้ที่เองที่ไม่เพียงพลิกฟื้นจิตวิญญาณและแนวคิดของเบาเฮาส์ให้กลับฟื้นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง หากแต่ยังพัฒนาแนวคิดให้แตกหน่อต่อยอดไปอีกมากมาย ส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อทิศทางของงานศิลปะและงานออกแบบสมัยใหม่ ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา อิสราเอล รวมถึงส่งแรงบันดาลใจแก่ศิลปินและนักออกแบบรุ่นหลังจำนวนนับไม่ถ้วน และยังคงเป็นตำนานของวงการศิลปะและการออกแบบจวบจนทุกวันนี้
ในปัจจุบัน อาคารสถาบันเบาเฮาส์ ในเมืองเดสเซา ได้รับการบูรณะซ่อมแซมจนเสร็จสมบูรณ์และเปิดตัวสู่สาธารณะในปี ค.ศ.2018 โดยถูกใช้เป็นที่จัดนิทรรศการ เทศกาล และโครงการศิลปินพำนัก และยังเปิดสอนหลักสูตรการศึกษาต่างๆ ภายใต้การดูแลของ พิพิธภัณฑ์เบาเฮาส์ ในเดสเซา โดยทำการเปิดการเรียนการสอนไปในปี ค.ศ.2019 ซึ่งเป็นปีที่เบาเฮาส์มีวาระครบรอบ 100 ปีนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Magdalena Droste, The Bauhaus, 1919-1933: Reform and Avant-Garde
ประชา สุวีรานนท์, ‘สวัสติกะ : มงคลและความชั่วร้าย หนังสือ ดีไซน์ + คัลเจอร์’ (บทความ)