ในช่วงนี้เห็นใครต่อใครพูดกันเรื่อง ‘ประตูกับลูกบิด’ ในโลกออนไลน์กันให้ขรม เลยขอเกาะกระแสด้วยการหยิบเอาเรื่องของประตูกับลูกบิดในฐานะผลงานศิลปะมาเล่าให้ฟังกันบ้างอะไรบ้างดีกว่า
ประตูกับลูกบิดศิลปะที่ว่านี้เป็นผลงานของ มิเกลันเจโล พิสโตเล็ตโต (Michelangelo Pistoletto) ศิลปินชาวอิตาเลียนผู้เป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินคนสำคัญของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ อาร์เต้ โพเวร่า ผลงานของเขาส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับการหลอมรวมศิลปะเข้ากับวิถีชีวิตประจำวัน
ผลงานชิ้้นนี้เป็นการหยิบเอาข้าวของธรรมดาทั่วไปในชีวิตประจำวันอย่าง ‘ประตู’ มาแปรสภาพให้กลายเป็นงานประติมากรรม และตั้งชื่ออย่างเรียบง่ายว่า
Door (1976)
นอกจากชื่ออันสุดแสนจะเรียบง่ายสามัญแล้ว ประติมากรรมรูปประตู(ลูกบิด) พร้อมกรอบประตู ถูกทำออกมาในรูปทรงที่ค่อนข้างจะแปลกกว่าประตูปกติ โดยเป็นลักษณะคล้ายรูปทรงสามเหลี่ยมสองอันชนกัน โดยกึ่งกลางของประตูหักเป็นมุมสอบแคบทั้งสองข้าง ด้านบนและล่างของประตูแผ่กว้าง ดูๆ ไปก็คล้ายกับโบว์ขนาดยักษ์วางตะแคงไม่หยอก บานประตูและกรอบประตูทำจากไม้อัดเคลือบลามิเนตสีเหลืองสดใส ลูกบิดประตูกลมเกลี้ยงทำจากทองเหลือง ตัวประตูมีความสูง 2 เมตร บานประตูเปิดทิ้งไว้ขนาดพอให้คนเดินผ่านเข้าไปได้
อาร์เต้ โพเวร่า (Arte Povera) หรือ poor art (ซึ่งผมขออนุญาตแปลว่า ‘ศิลปะอนาถา’ ก็แล้วกัน) เป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบหัวก้าวหน้า (avant-garde) ที่โดดเด่นและทรงอิทธิพลที่สุดในยุโรป ถือกำเนิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1960s ถึงกลางทศวรรษ 1970s ในอิตาลี ในช่วงที่เกิดความไม่สงบทางการเมือง เมื่อศิลปินรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าของอิตาลีที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบสุดขั้วรวมตัวกันทำงานศิลปะจากวัสดุไร้คุณค่า ไร้ราคา ที่มีอยู่เกลื่อนกลาดดาษดื่นทุกหนทุกแห่ง รวมถึงหยิบเอาเก็บตกของเก่า ของเหลือใช้ และชำรุดทรุดโทรมมาทำงานศิลปะ
ที่ทำเช่นนี้ไม่ใช่เพราะตระหนี่ถี่เหนียวหรือยากจน ไม่มีสตางค์ซื้อของดีๆ มาทำงาน หากแต่เพราะต้องการแสดงนัยต่อต้านคุณค่าความงามตามขนบ ไปจนถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สถาปนาโดยสถาบันของรัฐและความก้าวหน้าของระบบอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่นั่นเอง นอกจากต่อต้านคุณค่าของสถาบันรัฐแล้ว ศิลปิน อาร์เต้ โพเวร่า ยังต่อต้านศิลปะสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะนามธรรมที่ครอบงำวงการศิลปะของยุโรปในช่วงทศวรรษ 1950s
ศิลปิน อาร์เต้ โพเวร่า เลือกใช้วัสดุที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการอุตสาหกรรมอันเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมบริโภคนิยมและความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะลบเลือนสำนึกแห่งความทรงจำและการหวนรำลึกถึงอดีตของพวกเขาไปจนหมด ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังปฏิเสธสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ในทางตรงกันข้าม พวกเขาโอบรับโลกแห่งตำนานอันลึกลับซึ่งไม่สามารถหาคำอธิบายได้โดยง่าย และนำเสนอความเหลวไหลไร้สาระ ความขบขัน ไปจนถึงขัดเขิน หรือการสร้างคู่เปรียบของสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกันอย่างสุดชั้ว อย่างเช่น สิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ ความประณีตสมบูรณ์กับความชำรุดทรุดโทรม วัตถุสำเร็จรูปที่ผ่านกระบวนการมาอย่างดีกับวัตถุดิบตามธรรมชาติที่ไม่ผ่านกระบวนการอะไรเลย
ด้วยการทำเช่นนี้ ศิลปิน อาร์เต้ โพเวร่า ตั้งคำถามถึงผลกระทบของการเปลี่ยนไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ว่าเป็นสิ่งที่ผลักดันสังคมให้ก้าวหน้าไปสู่ความเป็นอนาคต ในขณะเดียวกันก็กำลังทำลายประสบการณ์แห่งความเป็นท้องถิ่นและความทรงจำแห่งอดีตไปพร้อมๆ กัน
อาร์เต้ โพเวร่า เริ่มต้นขึ้นในช่วงเสื่อมถอยของศิลปะนามธรรมในอิตาลี และช่วงเวลาที่ศิลปินรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าของอิตาลีเริ่มเสาะหาหนทางใหม่ๆ ในการทำงานศิลปะ โดยมีหัวหอกคนสำคัญอย่าง อัลแบร์โต บูรี (Alberto Burri) ที่ทำงานจิตรกรรมด้วยกระสอบผ้าเนื้อหยาบกระด้าง หรือดินแตกระแหง ซึ่งเป็นตัวอย่างอันชัดเจนของการใช้วัสดุไร้ค่าทำงานศิลปะ หรือ ปิแอโร แมนโซนี (Piero Manzoni) ที่หยิบเอาสิ่งที่หยาบช้าสามานย์สุดๆ อย่าง ‘อุจจาระ’ มาทำงานศิลปะ หรือ พิสโตเล็ตโต ที่หยิบเอาของเหลือใช้ไร้ราคาอย่าง ‘ผ้าขี้ริ้ว’ มาทำให้กลายเป็นศิลปะนั่นเอง
นอกจากประตูแล้ว พิสโตเล็ตโตยังหยิบเอาข้าวของธรรมดาทั่วไปในชีวิตประจำวันอย่าง เตียง, ชั้นหนังสือ ฯลฯ มาแปรสภาพให้กลายเป็นงานประติมากรรม และตั้งชื่ออย่างเรียบง่ายว่า Bed, Bookcase เป็นต้น
ผลงานเหล่านี้ของพิสโตเล็ตโตเป็นตัวอย่างอันชัดเจนของความพยายามในการลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างศิลปะกับชีวิต เขาปฏิเสธวิธีการทำงานศิลปะตามขนบเดิมๆ ด้วยการสร้างผลงานศิลปะรูปแบบแปลกใหม่หลากหลาย และหลีกเลี่ยงการสร้างงานศิลปะจากวัตถุที่ตอบสนองความงามทางสายตาแต่เพียงอย่างเดียว การนำเสนอวัสดุธรรมดาสามัญในงานศิลปะของพิสโตเล็ตโตนั้นมีจุดมุ่งหมายที่ไม่เพียงเป็นการกระตุ้นให้ผู้ชมของเขาเข้าถึงและมีส่วนร่วมกับงานศิลปะได้อย่างง่ายดายเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการกระตุ้นให้ศิลปะกับผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบตัว ด้วยการนำพาศิลปะเข้าไปหาชีวิต และนำพาชีวิตเข้าไปหาศิลปะ
อ้อ แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าเวลาจับลูกบิดประตูแล้วจะติดมือนะ เพราะเขาทำเป็นงานศิลปะให้ดูแต่ตาเท่านั้นน่ะครับ ท่านผู้อ่าน
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.tate.org.uk/art/artworks/pistoletto-door-t12187
https://www.theartstory.org/artist/pistoletto-michelangelo/
- หนังสือ ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ, INSIDE ART, OUTSIDE ART ข้างนอก ข้างใน อะไร (แม่ง) ก็ศิลปะ, ผู้เขียน: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์, สำนักพิมพ์: Salmon Books
ภาพประกอบ
- Door (1976), ภาพจาก https://www.tate.org.uk/art/artworks/pistoletto-door-t12187
- Bed 1976), ประติมากรรมรูปเตียงนอน, ภาพจาก https://www.wikiart.org/en/michelangelo-pistoletto/bed-1976
- Venus of the Rags (1967, 1974), ประติมากรรมหินอ่อน กับ ผ้าขี้ริ้ว และเสื้อผ้าเหลือใช้, ภาพจาก https://www.tate.org.uk/art/artworks/pistoletto-venus-of-the-rags-t12200