ใครต่อใครมักเข้าใจว่า การยืนตรงเคารพธงชาติเป็นคำสั่งของท่านผู้นำในอดีตอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เรื่องนี้เกือบจะถูกต้องทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะอันที่จริง จอมพลแปลกท่านก็มีส่วนเป็นอย่างยิ่งต่อการประดิษฐ์ธรรมเนียมนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นพุทธิไอเดียของอดีตท่านผู้นำชื่อ ‘แปลก’ คนนี้ (ก็ตัวย่อ ‘ป.’ ของท่านก็มาจากคำว่า แปลก ซึ่งเป็นชื่อทั้งในบัตรประชาชน และสูจิบัตรของท่านมาตั้งแต่เกิด) คนเดียวเสียเมื่อไหร่? เพราะธรรมเนียมการยืนเคารพธงชาตินั้น มีที่มาที่ไปซับซ้อนซ่อนเงื่อนเพื่อนทรยศ มากเกินกว่าที่จะกล่าวโทษไปที่ใครคนหนึ่งได้ต่างหาก
เรือน พ.ศ. 2478 ตรงกับรัฐบาลของ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้มีความคิดที่จะแห่ธงไตรรงค์ไปตามถนนเส้นต่างๆ ทั่วประเทศกันทุกวันขึ้นปีใหม่ (ซึ่งตอนนั้นคือวันที่ 1 เมษายน ไม่ใช่ 1 มกราคม อย่างทุกวันนี้หรอกนะ) แน่นอนว่าพอมีงานแห่ก็ต้องมีการออกห้างร้าน และโรงมหรสพ ซึ่งรัฐท่านก็อยากให้ทุกๆ โรงมหรสพทำเพลงชาติขึ้นก่อนจะมีการแสดง และก็ให้ผู้ชมทุกคนลุกขึ้นยืนแสดงความเคารพด้วย (ก็ทำนองเดียวกับเพลงสรรเสริญพระบารมีนั่นแหละ)
แต่สุดท้ายไอ้เมกะโปรเจคที่ว่านี่ก็ไม่ได้ทำนะครับ เพราะในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ปีนั้น เค้ากล้วว่าในบางจังหวัดจะไม่มีกองทหาร ไม่มีแตรวงประจำกองลูกเสือ หรือโรงเรียน บลาๆๆๆ พูดง่ายๆ ว่ากลัวจะไม่สมเกียรติ และมีเหตุผลประหลาดๆ ต่อว่า ถ้าไม่สมเกียรติแล้วจะทำให้ปลุกใจให้รักชาติไม่แน่นแฟ้น (เอิ่มม! มันเกี่ยวกันตรงไหนน่ะ?)
แต่ผลจากการประชุมครั้งนี้ก็ทำให้รัฐสยามในขณะนั้นเกิดความคิดที่ว่า ถ้าจะปลุกใจให้รักชาติอย่างได้ผลก็ต้องเริ่มจาก ‘ยุวชน’ ว่าแล้วก็สั่งให้กระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการในปัจจุบัน) ไปดำเนินการ
4 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน หลวงสินธุสงครามชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการในขณะนั้น ได้ส่งบันทึกโครงการที่จะทำเรื่องการปลุกใจให้ราษฎรรักชาติ มาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งในบันทึกของหลวงคนนี้บอกว่า ต้องอบรมทั้งเด็กและประชาชนทั่วไปไปพร้อมกันด้วย ในส่วนของการอบรมเด็ก ก็เป็นไอ้เจ้าบันทึกฉบับนี้แหละฮะ ที่ทำให้ผม และใครอีกหลายคนต้องยืนตากแดดร้องเพลงชาติตอนเช้าในทุกวันที่ไปโรงเรียนมาตั้งแต่เด็ก เพราะในบันทึกระบุว่า
“ทุกโรงเรียนทั้งโรงเรียนประชาบาลและรัฐบาลควรจะมีเสาธงชักธงชาติ ในเวลาเปิดทำการสอน”
ขอให้สังเกตนะครับว่า ในบันทึกเขาไม่ได้บอกให้ยืนตรงเคารพธงชาติซะหน่อย? แต่ที่ต้องยืนกันมาจนถึง ณ ขณะจิตปัจจุบันนี้เนี่ย มันเป็นเพราะว่าระหว่าง 5 มิ.ย. จนถึง 4 พ.ย. ปี 2478 ที่กระทรวงธรรมการยื่นบันทึกนี้นั่นน่ะ หน่วยงานอื่นก็พัฒนาการทำธงชาติให้ศักดิ์สิทธิ์ไปไกลโขแล้ว
พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น (และนายกรัฐมนตรีในภายหน้า) ได้ออกคำชี้แจงทหารเรื่อง ‘การเคารพธงชาติ’ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ปีเดียวกันว่า ให้ทหาร (ไม่ว่าจะอยู่ในเครื่องแบบหรือไม่ก็ตาม) หยุดเพื่อเคารพธงชาติเมื่อมีการชักธงขึ้นลง ไม่ว่าจะเป็นในสถานที่แห่งใดก็ตาม
คำชี้แจงนี้ยังระบุให้บุคคลที่อยู่ในค่ายทหารทั้งหลาย (ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ขาย ลูกเมียทหารทั้งปวง) ทำอย่างเดียวกันนี้ด้วย และแน่นอนว่าใครต่อใครก็ตามที่ถูกเชิญ (ไม่ได้หมายถึงเฉพาะไปปรับทัศนคตินะ!) ในค่ายทหารก็ต้องปฏิบัติแบบเดียวกันนี้แหละ
นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทย โดยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงในขณะนั้น ยังได้ออก ‘ระเบียบเรื่องการชักธงชาติ’ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทยว่าด้วยการชักธง ลงในราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่ 21 ตุลาคม ปีเดียวกัน และก็เป็นกฎหมายฉบับนี้แหละนะครับ ที่กำหนดเวลาชักธงขึ้นลง ตอน 8 โมงเช้า กับ 6 โมงเย็น อย่างที่เราคุ้นเคยกันดี
อ้อ! กฎหมายฉบับนี้ยังย้ำเราอยู่บ่อยๆ ว่าให้เคารพธงชาติด้วยนะครับ ถึงจะไม่บอกว่าให้หยุดยืนตรงๆ เหมือนคำชี้แจงของพันเอกหลวงพิบูลสงครามที่มีมาก่อนหน้านั้นก็เถอะ
ดังนั้นถึงในบันทึกของกระทรวงธรรมการจะไม่ได้บอกว่าเราจะต้องเคารพธงชาติยังไง แต่ไม่บอกก็เหมือนบอกไปแล้วอยู่ดี
ส่วนที่มักจะเข้าใจกันว่า ธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นในยุคที่จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งท่านผู้นำนั้นเป็นเพราะว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2482 อดีตท่านผู้นำแปลกได้ออกรัฐนิยมฉบับที่ 4 เรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งข้อแรกในประกาศฉบับนี้ ก็บอกเลยว่าให้เรา “แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบ เครื่องแบบ หรือตามประเพณีนิยม” (แต่ก็ไม่ได้บอกว่าต้องยืนตรงกันชัดๆ อยู่ดี) เวลาที่มีการชักธงขึ้นลง ซึ่งคนมักจะเข้าใจกันผิดว่าเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการเคารพธงชาติฉบับแรก
ดังนั้น การยืนตรงเคารพธงชาติในไทยนี่แต่แรกมันเกิดขึ้นในค่ายทหาร ก่อนจะส่งทอดออกมาให้ยืนกันข้างนอกทั้งในโรงเรียน และสถานที่สาธารณะโดยไม่ต้องถูกนำไปหัดทำความเคารพในค่ายทหารนะครับ อย่างไรก็แล้วแต่ สาเหตุที่ทำให้ต้องเกิดธรรมเนียมการเคารพธงชาติอย่างที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ เราจะเห็นได้ชัดๆ จากข้อความในบันทึกของกระทรวงธรรมการ อันเดียวกับที่ผมยกมาข้างต้น ที่มีข้อความแบบที่ไม่ต้องเม้มกันเลยว่า