ในบทกล่าวนำของหนังสือเล่มนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า
“อันที่จริงบ้าน อยู่กันอย่างเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือขยายก็ตาม เป็นความปกติสุขในตัวมันเอง หรือเพราะเราสถาปนาความปกติสุขขึ้นจากการจัดระเบียบสังคมให้ทุกมีบ้านกันแน่ เช่น รัฐควบคุมและให้บริการประชาชนได้โดยอาศัยบ้านเป็นฐานอย่างหนึ่ง ความสัมพันธ์ทางสังคมหรือวัฒนธรรมของเราก็ต้องอาศัยบ้านเป็นฐานอย่างหนึ่งเหมือนกัน และด้วยเหตุดังนั้น พอใครไม่มีบ้านขึ้นมา เราจึงหงุดหงิดเพราะไม่รู้จะเชื่อมโยงสัมพันธ์กับหมอนั่นอย่างไร
…คนไร้บ้านในสังคมปัจจุบันมีภาระต้องพิสูจน์ความเป็นคนของตัวเองอย่างมาก เพราะเรามักเผลอให้ค่าความเป็นคนแก่บ้านเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ ใครไม่มีบ้านจึงสิ้นความเป็นมนุษย์ไปด้วย”
‘โลกของคนไร้บ้าน’ คือวิทยานิพนธ์ของบุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พาเราไปสำรวจความซับซ้อนในชีวิตของเหล่าคนไร้บ้านซึ่งซอยย่อยออกเป็นหลายระดับครับ และถ้าหากว่าตามที่อาจารย์นิธิได้เขียนไว้ ภาระที่คนไร้บ้านต่างต้องแบกรับคือการต้องคอยพิสูจน์ตัวเองต่อสังคมที่ยังขาดความเข้าใจ
บุญเลิศชี้ให้เห็นว่า การเกิดขึ้นของคนไร้บ้านนั้นซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายแค่ว่า เป็นข้อผิดพลาดส่วนบุคคล หรือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เกิดจากซ้อนทับกันในหลายๆ มิติ กล่าวคือ คนไร้บ้านอาจเกิดจากผลพวงของวิกฤตชีวิต การตกงาน หรือร่างกายพิการ ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเงื่อนไขแค่นี้จะผลักให้เขากลายเป็นคนไร้บ้านในทันที แต่เมื่อพวกเขาไม่มีญาติพี่น้อง หรือเครือข่ายสังคมคอยช่วยเหลือ ไม่มีสวัสดิการจากภาครัฐมาดูแล และเมื่อการพยายามดิ้นรนของพวกเขาไม่ประสบผลสำเร็จ พวกเขาจึงกลายเป็นคนไร้บ้าน เพียงแต่อีกปัญหาหนึ่งที่ผู้เขียนชี้ให้เห็นจากการลงพื้นที่สำรวจคือ ความเปราะบางของสถาบันครอบครัว คนไร้บ้านหลายๆ คน ต้องออกมาเร่ร่อนเพราะครอบครัวของเขาล้มเหลวในการประคับประคองสมาชิกไว้ยามที่ใครสักคนประสบปัญหา
บุญเลิศจำแนกลักษณะร่วมของคนไร้บ้านออกเป็นสี่ข้อด้วยกัน นั่นคือ 1. ขาดเครือญาติคอยสนับสนุน เมื่อพวกเขาโดดเดี่ยว และไม่อาจจัดการวิกฤติในชีวิตได้ด้วยตัวคนเดียว ต่างกับคนในสลัมที่อย่างน้อยก็ยังมีสายใยครอบครัวไว้คอยช่วยเหลือระหว่างกัน 2. วุฒิการศึกษาต่ำ ตั้งแต่จบระดับประถม ไปจนถึงมัธยมปลาย แต่ผู้เขียนเองก็เคยเจอคนไร้บ้านที่เคยเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยเช่นกัน แต่ก็เรียนไม่จบ 3. การขาดทักษะฝีมือ อาจเห็นว่ามีคนไร้บ้านที่รับงานก่อสร้าง หรืองานช่าง แต่พวกเขาก็ไม่ใช่แรงงานที่มีความชำนาญ เป็นแรงงานไร้ทักษะ ที่ไม่ได้รับประกันว่าผู้จ้างจะจ่ายเงินจ้างต่อเมื่องานหนึ่งๆ สิ้นสุด 4. การไม่มีทุนทางเศรษฐกิจ เพราะแม้ว่าอาชีพหาบเร่จะเป็นงานที่ไม่ต้องมีวุฒิการศึกษาก็สามารถทำได้ เพียงแต่คนไร้บ้านไม่มีทุนพอที่จะทำการลงทุน เป็นเหตุให้ขาดโอกาสจะยกฐานะของตัวเอง
แต่พ้นไปจากปัจจัยเชิงบุคคล เมืองเองก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดคนไร้บ้าน ด้วยเพราะการแสวงหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนนั้นยากขึ้นมาก ซึ่งก็เป็นสาเหตุจากการไม่มีที่ดินว่างในเมืองสำหรับการบุกเบิก จากการที่ที่ดินเองมีราคาสูงขึ้น และเจ้าของที่ก็ไม่ยอมให้มีการบุกเบิกหรือเข้ามาใช้ประโยชน์ พื้นที่อย่างสนามหลวงจึงกลายเป็นพื้นที่ของคนไร้บ้าน เพียงแต่พวกเขาก็ไม่อาจลงหลักปักฐานได้อยู่ดี นอกจากการที่คนไร้บ้านเข้าไปอาศัยอยู่ในที่ดินรกร้าง หรือตามตึกเก่าๆ และปลูกบ้านอย่างง่ายซึ่งก็คือเพิงกระต๊อบมุงผ้าใบ อีกปัญหาหนึ่งคือ ตลาดที่อยู่อาศัยมีราคาแพงขึ้น ทำให้คนไร้บ้านไม่สามารถจะจ่ายค่าที่อยู่ได้ไหว
ทว่าเรื่องราวของคนไร้บ้านนั้นซับซ้อนเกินกว่าเหตุปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา ด้วยเพราะพวกเขาเองก็มีความพยายามที่จะนิยามคุณค่าของชีวิต ซึ่งในทางหนึ่งก็คือการหาคำตอบให้กับการถูกสังคมตั้งคำถาม ในการให้ความหมายกับตัวเองนั้นกล่าวได้ว่าผูกโยงอยู่กับวิธีการหาเลี้ยงชีพอย่างมีนัยยะสำคัญ ใช่ คนไร้บ้านไม่ได้หมายความว่าไม่มีรายได้เสมอไป แต่ก็เช่นกันที่ในคนไร้บ้านเองก็มีกลุ่มที่ไม่แสวงหารายได้ใดๆ เช่นกัน
กล่าวได้ว่าในโลกของคนไร้บ้านเองก็มีชนชั้น ซึ่งบุญเลิศได้แบ่งออกอย่างคร่าวๆ ดังนี้ครับ
- คนเดินชนตังค์ หรือพวกที่เดินไปขอเงินคนอื่นตรงๆ และคอยปั้นเรื่องหลอกหลวง เช่น ไม่มีเงินกลับต่างจังหวัด การหารายได้จากการโกหกของคนกลุ่มนี้ไม่เพียงแค่สร้างความรำคาญให้กับคนที่ถูกขอเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ภาพลักษณ์ของคนไร้บ้านถูกมองในแง่ลบอีกด้วย คนเดินชนตังค์จึงมักถูกกีดกันจากกลุ่มคนไร้บ้านอื่นๆ
- ผี หรือคนที่ไม่ทำงานประจำ ซึ่งก็แยกย่อยออกได้ตามลักษณะงานที่ทำ หรือวิธีการที่ได้เงินมา อย่างเช่น พวกที่รอจะได้เงินหรืออาหารจากการแจกทานเพียงอย่างเดียว และกลุ่มที่ทำงานไม่ประจำอย่าง คนแจกใบปลิว หรือคนขายของมือสอง
- ในส่วนระดับกลาง และระดับสูงจะถูกแบ่งจากการมีทุน โดยระดับกลางก็เช่น คนหาของเก่าที่ไม่มีรถเข็น หรือคนขายกระดาษพลาสติกรองนั่งทุนน้อย ซึ่งเพราะรายได้ที่ไม่มากนัก พวกเขาจึงมีระดับที่ไม่ต่างกับผีสักเท่าไหร่ ยังคงต้องอาศัยกินข้าวจากวัด ต่างกับคนไร้บ้านระดับสูงที่ก็คือกลุ่มที่มีรถเข็นเป็นของตัวเอง หรือกลุ่มคนขายกระดาษพลาสติกรองนั่งที่มีทุนมากหน่อย โดยคนกลุ่มนี้จะไม่ซื้อข้าวกินเอง และไม่ยอมไปรอข้าวแจกเพราะไม่อยากไปปะปนตัวเองกับชนชั้นอื่นๆ
ทว่าถึงที่สุดแล้ว แม้คนไร้บ้านจะดูใช้ชีวิตไปวันๆ อย่างไม่ลงหลักปักแหล่ง หากก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไร้สิ้นซึ่งความหวัง พวกเขาต่างต้องการมีที่อยู่แน่นอน มีครอบครัวที่ดี เพียงแต่ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมันเป็นวิธีที่เขาจะจัดกับสถานการณ์ที่ชีวิตไม่เหลือทางเลือกแล้วก็เท่านั้น คนไร้บ้านไม่ได้หมายถึงคนไร้หวัง และเพราะมนุษย์ต่างก็ต้องมีความหวังด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่มันน่าเศร้าที่ความหวังของมนุษย์กลุ่มหนึ่งกลับถูกลดขนาดให้เล็กลงจนเกือบเรียกได้ว่าแทบไม่มี