มันคงกลายเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายการอยู่เสมอซ้ำๆ วนๆ ไปมา จนเหมือนไม่เห็นพัฒนาการทางสังคม ที่วันดีคืนดีก็จะมีคนแซวคู่รักเกย์และความสัมพันธ์ระหว่างชายรักชายด้วยคำประเภท ระเบิดถังขี้ สายเหลือง ขุดทอง เพียงเพราะมองว่าเป็นกลุ่มเพศวิถีที่มักมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก แต่เอาเข้าจริงไม่ว่าเพศวิถีใด ทวารหนักก็เป็นเพียงช่องทางหนึ่งของการสอดใส่ เช่นเดียวกับ ปาก หว่างขา กำมือ หรือจิ๋ม ผู้ชายผู้หญิงรักต่างเพศเองก็สามารถร่วมเพศทางทวารหนักได้ เช่นเดียวกับที่กิจกรรมทางเพศของเกย์ก็ไม่ได้เอาตูดกันอย่างเดียว
เอาเป็นว่าทวารหนักไม่ได้มีฟังก์ชั่นขับถ่ายอุจาระของเสียเท่านั้น และโลกนี้ก็ไม่ได้มีเพียงชุดความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงเท่านั้นเช่นกัน การเรียกเพศสัมพันธ์ของชายรักชายให้สัมพันธ์กับปฏิกูลมูลขี้ แม้จะอ้างว่าคะนองปาก แต่จะคะนองถึงขั้นลืมสามัญสำนึกที่ว่าขี้เป็นสิ่งสกปรก ของเสีย ปฎิกูล ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ คำแซวล้อเลียนเช่นนี้จึงสะท้อนทัศนคติของผู้ใช้ที่เป็นส่วนหนึ่งของการรังเกียจขยะแขยงคนรักเพศเดียวกัน (homophobia) ไม่เพียงต้องการทอนลดคุณค่าความเป็นมนุษย์และเพศวิถีของเกย์ให้เท่ากับอุจจาระ แต่ยังมองคนรักเพศเดียวกันเป็นตัวประหลาด เรื่องตลกที่จะต้องเอามาล้อเลียน
เหมือนกับที่ล่าสุดที่ ดีเจเชาเชา และน็อต วรฤทธิ์ ล้อเลียนการแต่งงานของ เขื่อน K-OTIC กับ Damian ในรายการ “แฉ” ทางช่อง GMM25 เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ด้วยคำว่า “มนต์รักฟักทองบด” “ฟ้าเหลืองเมืองทอง” จนมีกระแสโต้กลับจากผู้ชมและรวมทั้งบุคคลในข่าวเอง ทำให้พิธีกรทั้ง 2 ออกมาขอโทษในอินสตาแกรมและในรายการให้หลัง ว่าไม่ได้ตั้งจะเหยียดเพศที่ 3
แน่นอนเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นกับการนำเสนอข่าวงานสมรสดาราชายหญิงว่าขุดถังเมนส์ ระเบิดท่อน้ำเชื้อ ระเบิดรูเยี่ยว ที่ฟังแล้วไม่ต้องบอกก็รู้ว่าคนพูดต้องรสนิยมประมาณไหน …คำว่า “มนต์รักฟักทองบด” “ฟ้าเหลืองเมืองทอง” ก็เช่นกัน
แม้ว่าพิธีกรจะออกมาแก้ตัวขอโทษ แต่ไม่ได้นำไปสู่การสร้างความเข้าใจหรือสะท้อนบทเรียนอะไรเลยเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เพราะหลายคนอาจจะคิดว่าขอโทษขอโพยกันแล้ว ดาราในข่าวก็ให้อภัยแล้วก็น่าจะจบแล้ว ยิ่งคำขอโทษของพิธีกรในอินสตาแกรมที่ติดแฮชแท็ก #สังคมจะดีได้ถ้ารู้จักให้อภัย ราวกับให้โอวาทสั่งสอนเชิงเอาสังคมเป็นตัวประกันให้รีบให้อภัยเรื่องจะได้จบๆ ทว่า homophobia ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล ล้อบุคคลเพียงบุคคลเดียวหรือคู่รักคู่เดียว หากแต่เป็นการแสดงออกถึงการเหยียดหยามเพศสภาพเพศวิถีของคนกลุ่มหนึ่ง เป็นอีกรูปแบบของความรุนแรงอย่างหนึ่ง
หากเราจะตระหนักได้ว่า racist และ sexist เป็นความรุนแรงเลวร้ายและน่ารังเกียจอย่างไร homophobic ก็ไม่ต่างกัน
ทว่าพฤติกรรมและเหตุการณ์เหล่านี้กลับถูกลดทอนความรุนแรงและพยายามทำให้เป็นเรื่องปกติคุ้นชินในสังคมผ่านการวางเหตุการณ์นี้ในฐานะ ‘ดราม่า’ ออกมาขอโทษแบบทีเล่นทีจริง ให้อภัยแล้วก็จบกัน ซึ่งนี่ไม่ใช่เหตุการณ์ล้อเลียนและเหยียดหยามเพศสภาพเพศวิถีครั้งแรก แต่ก็ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของวงการบันเทิงอย่างแน่นอน มันจึงเป็นวัฏจักรการเหยียดแล้วขอโทษวนซ้ำไปมา เหมือนฉายหนังซ้ำ แต่ไม่ถูกถอดบทเรียนหรือสร้างความเข้าใจใดๆ เกี่ยวกับ LGBTQ ได้แก่สังคม แล้วยิ่งเป็นกลุ่มคนในสาขาอาชีพหนึ่งที่อ้างว่าเต็มไปด้วย LGBTQ ทั่วทุกมุมของวงการ แต่ก็ยังคงผลิตซ้ำสำนึกรังเกียจคนรักเพศเดียวกันอยู่ดี
จากเหตุการณ์นี้เราเรียนรู้อะไรได้บ้าง?
เราจะยังคงเห็นการผลิตซ้ำคำว่า ‘เพศที่ 3’ เรื่อยมา ที่สะท้อนถึงความไม่ตระหนักและไม่รู้ตัวของความเหลื่อมล้ำทางเพศ ที่เท่ากับการจัดลำดับก่อนหลังว่าเพศใดต้องมาก่อนมาหลัง เพราะเมื่อมีคำว่าเพศที่ 3 ก็ย่อมมีการนิยามว่าเพศที่ 1 ที่ 2 คือเพศใด ซึ่งในสังคมปิตาธิปไตย เพศชายถูกจัดอันดับเป็นที่ 1 อย่างไม่ต้องสงสัย และเพศหญิงถูกจัดอันดับเป็นที่ 2 ส่วนที่เหลือจากนั้นก็อยู่ในกลุ่มเพศที่ 3 ไป มิพักต้องพูดถึงว่า ‘เพศ’ ในที่นี้หมายความว่าอะไร เพศสภาพ (gender) เพศวิถี (sexuality) หรือเพศสรีระ (sex)
เรายังคงพบว่า มีการใช้คำในความหมายเดียวกับขุดทอง สายเหลือง อย่างคำว่า “ฟ้าเหลืองที่เมืองทอง” “มนต์รักฟักทองบด” มันไม่ใช่ความพลาดพลั้งสนุกปาก เพราะเป็นการประดิษฐ์คำที่ผ่านการคิดค้นสรรหาคำมาแล้ว กลั่นกรองมาจากสำนึกและความสามารถทางภาษาส่วนบุคคล และแม้จะอ้างว่ารายการมี mood & tone บันเทิงสนุกสนาน จึงใช้มุกตลกเพื่อต้องการความสนุกไม่ได้เจตนาจะเหยียด แต่คำและความหมายก็เป็นการเหยียดในตัวของมันเองอยู่แล้ว เพียงแต่อ้างเอา ‘ความตลก’ มากลบเกลื่อน
แต่นั่นก็สะท้อนให้เห็นสามัญสำนึก เพดานความคิดและรสนิยมของผู้เล่นและผู้ขำว่า มี ‘ความตลก’ และอารมณ์ขันแบบใด
สิ่งเหล่านี้เป็น homophobic ที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เหยื่อในที่นี้จึงไม่ใช่แค่เขื่อน K-OTIC คนเดียว หากแต่เป็นบรรดาชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ดังนั้นการแก้ตัวว่ามุกอาจจะแรงไปจนทำให้เจ้าของข่าวรู้สึกไม่ดี หรือไม่ถูกใจผู้ที่ได้ยิน หรือเข้าใจผิด ก็เป็นการลดทอนความรุนแรงระดับโครงสร้าง ให้ดูเป็นเพียงปัญหาส่วนบุคคล ด้วยการผลักคำพูดเหยียดของตนเอง ให้เป็นปัญหาความรู้สึกจิตใจในระดับปัจเจกของผู้ที่ตกเป็นข่าวหรือบังเอิญไปได้ยินเข้าแล้วไม่พอใจไปเอง
อย่างไรก็ตาม อันตรายและความน่ากลัวไม่ได้อยู่ที่มุกตลกเหยียดคนเพื่อความฮา หากแต่ความน่ากลัวกว่าอยู่ที่ความไม่รู้ว่าอะไรคือเหยียด-ไม่เหยียด อะไรลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ หรือไร้ซึ่งความตระหนักรู้ความถูกต้องจนกลายเป็นการเหยียดแบบไม่รู้ตัว
ดังนั้นเมื่อพิธีกรกลุ่มนั้นอ้างว่าไม่มีเจตนาเหยียด จึงอาจไม่ใช่การอ้างว่าตนไร้สามัญสำนึกเพื่อผลักความรับผิดชอบคำพูดออกไป หากแต่สะท้อนถึงความไม่รู้เดียงสา ไม่สนสี่สนแปดจริงๆ ว่า ไม่ว่าจะมีเพศสภาพเพศวิถีใดความเป็นมนุษย์ของทุกคนย่อมเสมอกัน จะเห็นได้จากการแก้ตัวที่ยิ่งพูดยิ่งโคตรจะไม่รู้ประสาอะไรเลยกับการยอมรับว่าเพศไหนก็มีศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนเท่าๆ กัน
เหมือนกับที่ออกตัวว่าอยู่ในวงการบันเทิง มีคนเป็น LGBTQ มากมายเป็นเพื่อนร่วมงาน แต่นั่นก็ไม่ได้ประกันอะไรได้ว่าจะไม่เหยียด LGBTQ หรือยอมรับว่าพวกเขาและเธอมีศักดิ์ศรีคุณค่าเท่ากับชายหญิง เพราะถ้าหากสามารถตักตวงจากประสบการณ์ชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้ ที่อาจจะไม่ใช่แค่เพื่อนร่วมงานหรือเคยทำงานด้วยกัน หากแต่อาจหมายถึงเพื่อนพ้อง เครือญาติ คนในครอบครัวที่อาจจะเป็นพ่อแม่ที่มีประสบการณ์ในชุมชน LGBTQ ก็คงจะไม่พ่นคำว่า “มนต์รักฟักทองบด” “ฟ้าเหลืองเมืองทอง” ออกมา หรือหัวเราะร่วนไปกับคำพูดเช่นนี้
ครั้งหนึ่งชลิต เฟื่องอารมณ์ เคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสารเกย์ชื่อดังสมัยยุค 80s เกี่ยวกับการที่เขาแต่งงานมีภรรยาว่า ที่เขามีบุคลิกแบบนี้เพราะมีเพื่อนๆ เป็นเกย์มากมายจนติดนิสัย เริ่มชิน มือไม้ก็ไป ใช้ศัพท์แสงเดียวกัน เพื่อนชวนไปเที่ยวบาร์เกย์ก็ไปเพราะอยากรู้อยากเห็น ซ้ำยังเคยมีประสบการณ์ทางเพศเกี่ยวกับเกย์ เป็นการทดลองสนุกๆ กับเพื่อนสมัยเรียนมหา’ลัยด้วยความอยากรู้อยากลอง แต่ก็ไม่ได้จริงจังถึงขั้นเป็นคู่ผัวตัวเมีย ผู้ชายกับผู้ชายมีอะไรกันไม่ได้เสียหายอะไร ไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรม เขายอมรับว่าภาพลักษณ์และข่าวที่ออกมาว่าเขาเป็นเกย์กระทบต่อความสัมพันธ์กับภรรยาบ้างในช่วงแรกแต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดี แต่เพราะคบกันมานาน จึงเข้าใจกันประมาณ 7 ปีก่อนแต่งงาน ตั้งแต่เรียนที่มช. แล้วไปเรียนต่อต่างประเทศด้วยกัน[1]
ข้อคิดหนึ่งจากบทสัมภาษณ์นี้คือ “เราจะเป็นเราก็ไม่ไปหนักหัวคนอื่นเค้าใช่มั้ยฮะ เค้าไม่ได้มาให้เรากิน เพราะฉะนั้นชีวิตใคร ชีวิตมันอย่ายุ่งเกี่ยวกันอันนี้จะดีที่สุด นิสัยคนไทยเรานี่เสียอยู่อย่างหนึ่งประเภทชอบปากหมา ชอบซุบซิบนินทาคนอื่นเค้า” ชลิตกล่าว[2]
แต่ก็นั่นแหละ ต่อให้เป็น LGBTQ ก็ใช่ว่าจะเข้าใจคุณค่าความหมาย ‘ความเป็นคน’ ของตนเองว่าเท่าเทียมกับผู้ชายผู้หญิงรักต่างเพศ ด้วยเหตุนี้ขณะที่ ดีเจเชาเชา และน็อต วรฤทธิ์ สนุกสนานกับมุกเหยียด “มดดำ” ที่แสดงตัวชัดเจนว่ารักเพศเดียวกันก็เป็นพิธีกรยืนหัวโด่อยู่ตรงกลาง ไม่ได้ห้ามปรามอะไร ซ้ำยังประสมโรงไปกับการเหยียดหยามครั้งนี้ ร่วมกันถกว่าแต่งงานแล้วใครจะเป็นผัวเป็นเมีย เป็นพ่อเป็นแม่ หลังเกิดกระแสโต้กลับก็แอ่นอกแก้ตัวให้ด้วยว่า ตนเองก็เป็น ‘เพศที่ 3’ จะมานั่งด่าตัวเองทำไม? ก็ได้กลายเป็นอีกภาพสะท้อนความไม่เข้าใจคุณค่าศักดิ์ศรี ‘ความเป็นคน’ ของ LGBTQ ผ่านบุคคลที่อยู่ในชุมชน LGBTQ เอง
เช่นเดียวกับที่ LGBTQ บางคนมักกล่าวว่าตนเองเป็นแบบนี้เพราะเลือกเกิดไม่ได้ ทั้งๆ ที่เพศสภาพเพศวิถีเป็นอีกสิทธิเสรีภาพหนึ่งของเนื้อตัวร่างกายเราที่จะเลือกว่าจะรัก จะใคร่ จะร่วมเพศอย่างไร จะแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศแบบใด ไม่มีความจำเป็นต้องร้องขอความเห็นใจสงสาร ว่าฉันเลือกเกิดไม่ได้นะ จนราวกับเป็นกลุ่มบุคคลน่าสงสารเวทนาเอื้ออาทร ซึ่งก็เป็นการลดคุณค่า ‘ความเป็นคน’ ของตนเอง
ขณะเดียวกัน LGBTQ ก็ไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่ค่าย Marvel หรือมีคุณค่าเหนือกว่าเพศอื่นๆ จนต้องออกมาชื่นชมว่าเป็นเพศที่มีพรสวรรค์ ความสามารถ ฉลาด เก่ง ทั้งๆ ที่ความสามารถในการทำงานกับสิทธิเสรีภาพในการเลือกเพศสภาพเพศวิถีมันคนละเรื่องกัน แต่ก็นั่นแหละ กลายเป็นอีก cliché เวลาจะพูดถึง LGBTQ ในทีวี เพียงเพื่อจะบอกว่าฉันไม่ได้เหยียดนะแค่นั้น
หลายคนอาจจะบ่นว่าทำไมมันถึงเรื่องมากอย่างนี้วะ ไอ้นั่นก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็ไม่ได้ เดี๋ยวเหยียดนั่นเหยียดนี่ เรียกร้องเก่ง เปราะบางง่ายจัง แต่เชื่อเถอะ ไม่ยากหรอกแค่เข้าใจว่า ไม่ว่าอัตลักษณ์ทางเพศแบบใด มีรสนิยมทางเพศแบบใด ก็คนเหมือนกัน เพียงแต่ในโลกที่ให้คุณค่า โอกาส และสิทธิกับคนรักต่างเพศมากกว่ามาตลอด LGBTQ ต้องเจอประสบการณ์แรงกดดันกดทับอะไรมามากมาย เจ็บมาเยอะโดนมาเยอะ
ยิ่งอาชีพที่ต้องพูดอะไรทำอะไรบนพื้นที่สาธารณะ ยิ่งต้องคิดให้เยอะ เพราะขืนคิดน้อยแต่ต้องพูดมาก ไม่เพียงจะนำไปสู่การการดูถูกดูแคลนผู้อื่น แต่ยังกลายเป็นการดูถูกอาชีพของตนเอง ที่นึกอยากจะพ่นอะไรก็พ่นออกมา แสดงทัศนคติส่วนตัวทั้งๆ ที่เขาจ้างให้พูดเรื่องสาธารณะ เขาจ้างมาให้เสนอข่าวไม่ใช่ให้มาล้อเลียนเหยียดหยามใคร และยิ่งอ้างความคะนองปาก ไม่ตั้งใจ ยิ่งฟ้องความไม่เป็นมืออาชีพของตนเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ชเล ชลัมพุ. (2528). บทสัมภาษณ์ ชลิต เฟื่องอารมณ์. มิถุนา จูเนียร์. ปีที่ 2 ฉบับที่ 26, น. 101-107.
[2] เรื่องเดียวกัน, น. 107.