ถ้ามองวงการดนตรีแร็ปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นลักษณะบางอย่างที่โผล่ออกมาอย่างสม่ำเสมอ
ตั้งแต่คำพูดของ DaBaby บนคอนเสิร์ต Rolling Loud Miami เมื่อปี ค.ศ.2021 ที่กล่าวโทษการแพร่เชื้อ HIV ให้กับชาว LGBTQ+ หรือเมื่อ ทราวิส สก็อตต์ (Travis Scott) เรียกคนดูที่ไม่แอ็กทีฟในคอนเสิร์ตว่า ‘เควียร์’ เนื้อเพลงนับไม่ถ้วนของแรปเปอร์ เช่น Eminem, Ice Cube หรือ Tyler, The Creator ในอดีตที่แสดงออกโดยโจ่งแจ้งถึงความเกลียดกลัวในคนชุมชน LGBTQ+
แน่นอนว่าการเหยียดเพศและ homophobia นั้นสามารถเกิดได้ในคนทุกกลุ่ม หรือแม้แต่อยู่ในทุกประเภทดนตรี ทว่าไม่ควรจะเป็นเรื่องปกติแล้วในยุคนี้ แต่เมื่อมองไปยังดนตรีแร็ปและฮิปฮอป เรื่องแบบนี้ผุดออกมาอาจจะในเนื้อเพลงหรือในบทสัมภาษณ์ ไม่จำกัดชาติ ไม่จำกัดห้วงเวลา อย่างมีนัยยะสำคัญ เช่นนั้นแล้วมันมีคำอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้บ้างหรือเปล่า?
ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราจะบอกว่าวัฒนธรรมฮิปฮอปนั้นถือกำเนิดมาจากคนแอฟริกันและธรรมเนียงการห้ำหั่นกันด้วยคำพูดที่เรียกว่า signifyin’ และแม้ว่าในจุดเริ่มต้นที่สุด ดนตรีประเภทนี้กำเนิดขึ้นจากดนตรีดิสโก้ ดนตรีที่เป็นที่รู้จักกันดีในห้วงเวลานั้นๆ ว่าเป็นพื้นที่ที่หลากหลายเพศสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม โดยเฉพาะชาว LGBTQ+ ดนตรีฮิปฮอปในยุคทองของมันราวๆ ช่วงปี ค.ศ.1980-1995 เป็นที่รู้จักกันว่ามันคือประเภทของดนตรีที่ผู้ชายถือครอง ทั้งในมุมศิลปินและผู้ฟัง
ถ้าจะให้ลองทำการทดลองสำหรับคนที่คุ้นเคยและไม่คุ้นเคยกับดนตรีฮิปฮอป หากมีคนให้เราหลับตาแล้วอธิบายสิ่งแรกที่นึกถึงเมื่อพูดถึงวัฒนธรรมฮิปฮอปจะนึกถึงอะไร คำตอบอาจต่างออกไป แต่คนไม่น้อยจะนึกถึงกลุ่มชายผิวดำ สวมหมวกแก๊ป เสื้อผ้าตัวโคร่ง กางเกงเอวต่ำ ผ้าเช็ดหน้าผูกคอ สร้อยทอง ปืน ยา รถ ฯลฯ และเมื่อเผลอนึกอย่างนั้นหลายๆ คนอาจรู้สึกผิดในการวางภาพที่เหมารวมแบบนั้นก็ได้ แต่ภาพที่เราวาดมาเมื่อสักครู่คือภาพที่นายทุนจากยุคทองของฮิปฮอปตั้งใจให้เกิด
“ฮิปฮอปเคยเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวใต้ดินที่กำเนิดมาจากประสบการณ์คนผิวดำในอเมริกาโดยธรรมชาติ แต่เมื่อตอนที่ดนตรี Gangster Rap ได้รับความนิยมสูงตอนปลายทศวรรษที่ 80s อุตสาหกรรมดนตรีและนายทุนเริ่มรู้ตัวว่าฮิปฮอปมีความสามารถในการทำเงินได้สูงมากๆ ว่าทั้งวัยรุ่นผิวขาวหรือเด็กในพื้นที่เสื่อมโทรมล้วนต้องการจะเป็นหรือบริโภคความเป็นชายผิวดำนอกคอกผู้ใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยง” F.D Signifier นักวิชาการ วิดีโอครีเอเตอร์ และอดีตครูในโรงเรียนในพื้นที่ความเสี่ยงสูงพูดในวิดีโอของเขา เขาเทียบความหลงใหลนี้เข้ากับความชอบในตัวละครคาวบอยนอกกฎหมายในยุคก่อนหน้า
ดูเหมือนว่านอกเสียจากดนตรีแล้ว อาจพูดได้ว่าอีกสิ่งที่เป็นสินค้าของวัฒนธรรมฮิปฮอปคือ Black Masculinity นั่นเอง แต่นั่นก็นำไปสู่อีกคำถามว่า แล้วความเป็นชายผิวดำนั้นหน้าตาเป็นยังไง? โดยแก่นของมันนั้นความเป็นชายจากวัฒนธรรมหนึ่งสู่อีกวัฒนธรรมไม่ต่างกันมากนัก อดทนอดกลั้นต่อทุกสถานการณ์ เป็นผู้จัดสรรให้ครอบครัว แข็งแกร่ง ไม่อ่อนไหว แต่แก่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะบริบทของสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างคือสิ่งที่สร้างจุดเด่นให้วัฒนธรรมนั่นเอง
ฉะนั้นบริบทนั้นคืออะไร คำตอบที่จะครอบคลุมได้มากที่สุดอาจมาในรูปของโควตโดย ดับเบิลยูอีบี ดูบอยส์ (W.E.B Dubois) นักสังคมวิทยาแอฟริกันอเมริกัน ในหนังสือของเขา Souls of the black folks ที่เทียบคนผิวดำเป็น ‘ลูกคนที่เจ็ด (Seventh Son)’ ตามความเชื่อโบราณในอเมริกาและยุโรปว่าลูกคนที่เจ็ดในครอบครัวนั้นจะมีพลังเหนือธรรมชาติในการมีเนตรวิเศษ
“นิโกรนั้นคล้ายกับ ‘ลูกคนที่เจ็ด’ เกิดมาพร้อมเนตรวิเศษในอเมริกา-โลกที่ไม่ให้เขามีตัวตนของตัวเอง แต่ให้เขาทำได้เพียงเห็นตัวตนตัวเองผ่านภาพที่ผู้อื่นมองตน สองตัวตนนี้เป็นความรู้สึกน่าประหลาด การมองตัวเองจากนัยตาผู้อื่น การวัดตัวเองด้วยไม้บรรทัดของโลก โลกซึ่งหัวร่อ เกลียดชัง และสมเพช ผู้นั้นรู้สึกถึงตัวตนทั้งสองทุกย่างก้าวชีวิต เป็นอเมริกันและเป็นนิโกร สองดวงวิญญาณ สองความคิด สองความกระเสือกระสน สองแนวคิดในหนึ่งร่างสีดำ ร่างที่ใช้กำลังของหมาจนตรอกเป็นสิ่งเดียวไม่ให้ทั้งสองแยกแตกออกจากกัน” ดูบอยส์กล่าว
ในมุมมองของความเป็นคนผิวดำในอเมริกา ไม่ว่าจะในเพศใดๆ ขึ้นอยู่ครึ่งหนึ่งกับสภาพแวดล้อมของพวกเขาเสมอ
และในมุมมนี้นี่คือสิ่งที่ความเป็นชายผิวดำแตกต่างออกไปจากความเป็นชายอื่นๆ นั่นคือครึ่งหนึ่งของมันเป็นการแสดงที่พวกเขาไม่อาจออกจากบทได้ ด้วยความหวังจากครอบครัว จากสังคม จากคู่รัก และในกรณีนี้ จากนายทุน แฟนเพลง และเพื่อนร่วมงาน ทางเดียวที่จะไปต่อได้ไม่ใช่เบาลง แต่จึงเป็นการไปให้สุด การ ‘แสดง (Perform)’ บทบาทนี้ F.D Signifier เปรียบเทียบมันเข้ากับสิ่งที่เรียกว่า ‘Kayfabe’ ศัพท์เฉพาะจากวงการมวยปล้ำ นั่นคือการอยู่ในคาร์แรคเตอร์ตลอดเวลาด้วยข้อตกลงกลายๆ ระหว่างผู้มองและผู้แสดงว่าทุกอย่างที่เขาแสดงอยู่นั้นเป็นเรื่องจริง
การแสดงนั้นๆ อาจมีตั้งแต่การอวดเงินตราและเพชรพลอยถึงแม้แรปเปอร์น้อยคนนักที่จะร่ำรวยอย่างที่ตัวละครที่เขาเล่นเป็น หรือการแต่งเพลงเกี่ยวกับการฆ่าฟันและยาเสพติดทั้งๆ ที่ไม่เคยทำอะไรแบบนั้นเลย และอีกสิ่งที่โผล่มาจากการเล่นบทแมนๆ นี้คือสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นชายที่สุดในทั้งหมด นั่นคือการแสดงออกถึงความไม่เป็นเพศอื่นนอกจากผู้ชายนั่นเอง
ในหนังสือ Total chaos: The art and aesthetics of hip-hop โดยเจฟ ชาง (Jeff Chang) แรปเปอร์เกย์ Tim’m West ให้สัมภาษณ์ประเด็นความเป็นชายและความเกลียดกลัว LGBTQ+ ในอุตสาหกรรมฮิปฮอปว่าแรปเปอร์ชายจำนวนมากใช้การเหยียดเพศอื่นๆ นอกจากตัวเองผ่านการใช้คำพูดให้แปดเปื้อน (slur) ในการเสริมความเป็นชายของตัวเองผ่านการสร้างระยะห่างจากคนเควียร์ให้ได้มากที่สุด ‘การเป็นชายแท้แทบจะแปลได้เสมอว่าคุณเกลียดตุ๊ด’ เขาพูด (โดยคำว่า ‘ตุ๊ด’ นี้เราแปลมาจาก F****t)
ตั้งแต่การใช้เซ็กซ์ของคนเพศเดียวกันเป็นตัวแทนของการเอารัดเอาเปรียบ โดย Ice Cube หรือการบอกอย่างโจ่งแจ้งโดยหนึ่งใน ‘ตัวละคร’ ของ Eminem ว่าเขาเกลียดทุกตัวอักษรในตัวย่อ LGBTQ+ แม้แต่คนที่เคยพูดออกโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่าง คานเย่ เวสต์ (Kanye West) ในยุคที่วงการไม่เปิดรับเรื่องนี้ยังรู้สึกถูกกดดันให้ใส่คำว่า F****t ลงในเพลงของตัวเองจากคนรอบข้างด้วย นี่คือไม่กี่ตัวอย่างของ homophobia ในอุตสาหกรรมนี้ที่เกิดขึ้นมาจากความรู้สึกต้องคงภาพ ‘แมนๆ’ ของมันเอาไว้
เคยดูหนังแอ็กชั่นหรือรอมคอมฯ แล้วเราเดาทั้งเรื่องได้มั้ย? แม้ว่าจะต่างผู้สร้าง ต่างนักแสดง เราในฐานะคนดูสามารถจับจุดได้ว่าหนังประเภทนี้จะไปตรงไหนต่อผ่านวิธีการที่ผู้กำกับที่รู้แน่ๆ ว่าการกำกับนี้ บทนี้ จังหวะนี้ จะสามารถสร้างความรู้สึกบางอย่างให้แก่ผู้ชมได้ เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ความซ้ำซาก
ถ้าเราลองเปลี่ยนการสร้างหนังเรื่องต่อเรื่อง มาสู่การถ่ายทอดวัฒนธรรมจากสังคมสู่สังคม เราเองก็จะสามารถเห็นคลิเช่ที่ติดบ่วงมากับการนำดนตรีฮิปฮอปเข้ามาสู่ประเทศไทย ความซ้ำซากเหล่านั้นอาจจะเป็นรูปลักษณ์การแต่งกาย บีทเพลง เรื่องที่พูดถึง วิธีที่พูดถึงมัน และแนวคิดของศิลปิน โดยหากสังเกตยุคบุกเบิกของฮิปฮอปไทยนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Gangster Rap อย่างมาก
ปัญหาอาจอยู่ที่ว่าบางครั้งการหยิบวัฒนธรรมบางอย่างมาใช้มันก็พ่วงมาพร้อมกับความซ้ำซากที่ไม่น่าพึงประสงค์เท่าไรนัก และหลายๆ ครั้งมันมาโดยไร้บริบท ในกรณีของวัฒนธรรมฮิปฮอปอย่างที่เราเห็นก็อาจเป็นเรื่องความเป็นชายที่เราเรียกได้ว่าผ่านขั้นตอนการบ่มเพาะจนเหนือกว่า masculine แต่อยู่ในขั้น hyper-masculinity ไปแล้ว และบ่อยครั้งกับการสร้างศิลปะใดๆ ตัวศิลปะเองก็ก่อสร้างตัวตนของเราไปพร้อมๆ กัน และมันซึมซับเข้าไปตัวศิลปินโดยไม่รู้ตัว
ทั้งนี้ทั้งนั้นวงการฮิปฮอปเองก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการพัฒนาในประเด็นสังคมและเพศเลยเสียทีเดียว จริงอยู่ว่าความนิยมอาจไม่แปรผันตรงกับความยอมรับของสังคมเสมอไป แต่การนำเสนอสามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ เช่น Lil Nas X นั้นเล่นกับความเป็นชายและความคาดหวังของการเป็นชายคนผิวดำเสมอผ่านการตัดสลับตัวเองด้วยเป็นนักโทษผิวดำ กับการเต้นรวมกับแดนเซอร์ สิ่งที่โดยมากจะเป็นภาพจำในศิลปินอาร์แอนด์บีชายผิวผสมหรือผู้หญิง สองอย่างที่วงการแรปมักมองว่า ‘ไม่แมนพอ’ หรือจะเป็น Megan Thee Stallion แรปเปอร์ที่เฉลิมฉลองความเป็นหญิงผ่านเนื้อเพลงเกี่ยวกับเซ็กซ์ที่ไม่ทำให้เพศหญิงเป็นฝั่งโดนทำให้กลายเป็นวัตถุ (objectification)
นอกจากนั้นแรปเปอร์ชายจำนวนหนึ่งก็เริ่มแสดงออกความเป็นชายผ่านการมองไปยังคุณค่าภายในตัวเองมากกว่าความเป็นชายที่ถูกคาดหวังจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็น Denzel Curry, Danny Brown หรือแม้แต่ศิลปินไทย Tangbadvoice ที่โฟกัสเนื้อหาของเพลงตัวเองไปยังเรื่องราวส่วนตัวและสังคมมากกว่าอย่างอื่น ตัวอย่างเช่นเนื้อเพลงเพลงบ่นที่ร้องว่า ‘ชอบคลิปหมา คลิปแมว คาปิบาร่าที่สุดเลย ไม่ค่อยจะชอบเรื่องชายเป็นใหญ่ ใครแมนกว่ากันนี่หยุดเลย’
ฉะนั้นแล้วความเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้ และในมุมหนึ่งมันก็เกิดขึ้นแล้ว และในโลกปัจจุบันอาจดีกว่าถ้าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกแบบ
อ้างอิงข้อมูลจาก