วันที่ 17 พฤษภาเวียนมาบรรจบ แล้วก็ผ่านพ้นไปเหมือนกับวันทั่วๆ ไปในปฏิทิน แบบไม่มีใครรู้ว่ามันคือวันอะไร อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกได้พูดถึงวันนี้ใหญ่โตในฐานะวัน ‘ไอดาฮอท’ หรือ “วันสากลยุติความรังเกียจคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ” หรือ ‘The International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia’
The International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia เรียกแบบสายย่อว่า IDAHOT วันนี้เริ่มกำหนดขึ้นในปี ค.ศ.2004 และมีพัฒนาการเรื่อยมา แรกเริ่มเคยชื่อ IDAHO เนื่องจากเดิมทีเป็น “International Day against Homophobia” เน้นเฉพาะคนรักเพศเดียวกันเท่านั้น (ไม่ใช่เกี่ยวอะไรกับรัฐไอดาโฮ สหรัฐอเมริกานะ) เพิ่งจะเพิ่ม transgender เข้าไปก็เมื่อปี ค.ศ.2009 แล้วพอต่อมาในปี ค.ศ.2015 จึงเพิ่ม bisexual ไปด้วย
แต่ชื่อ IDAHOBiT ก็ไม่เป็นที่นิยมใช้ในหลายประเทศ ใช้แล้วเดี๋ยวจะงง วัน Hobbit อะไรวะ วันดูหนัง The Lord of the Rings หรอ?
และที่หมุดหมายกันวันที่ 17 พฤษภาก็เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าในวันนี้ เมื่อปี ค.ศ.1990 ทาง WHO ได้ถอดคนรักเพศเดียวกันออกจากกลุ่มผิดปรกติทางจิต ซึ่งก็ล่าช้าเนิ่นนานกว่ามากเมื่อเทียบกับ คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders-DSM) ถอดถอน homosexuality หรือ ‘รักเพศเดียวกัน’ ออกจากกลุ่ม ‘ความผิดปกติทางจิต’ ไปแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ.1974 ซึ่ง DSM เค้าก็เป็นหลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (the American Psychiatric Association) และถูกอ้างอิงอย่างกว้างขวางและเป็นมาตรฐาน โดยแพทย์ นักวิจัย ผู้ผลิตและผู้ตรวจสอบคุณภาพยาในทางจิตเวช บริษัทประกันภัย รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆ ทั่วโลก เช่นไทยก็ใช้คู้มือนี้เป็นมาตรฐานสำหรับนโยบายด้วย
ทุกปีจะมีการเฉลิมฉลองและจัดกิจกรรมรณรงค์เคลื่อนไหวในหลายประเทศทั่วโลก โดยกลุ่มต่างๆ มากมาย เช่น องค์กรอิสระ ผู้นำชุมชน หน่วยงานภาครัฐ บริษัท ร้านรวง แม้แต่ในประเทศที่การรักเพศเดียวกันยังถือว่าเป็นอาชญากรรม และไม่ว่าใครเพศสภาพเพศวิถีไหนก็เข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างเสรี เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐ สื่อมวลชน และองค์กรสถาบันต่างๆ ตระหนักถึงปัญหาอคติตีตรา การใช้ความรุนแรงกับเพศสภาพเพศวิถีต่างๆ
การมีอยู่ของวันนี้ มันจึงสะท้อนให้เห็นว่าโลกของเรา
ยังคงมีความเกลียดกลัวด้วยเหตุจูงใจจากเพศสภาพเพศวิถี
ขณะเดียวกันก็ย้ำเตือนว่า ในโลกใบนี้มันมีอัตลักษณ์ความหลากหลายมากมาย เกินกว่าจะจับใส่กล่องได้เพียง 2 ใบเท่านั้น ‘ผู้ชาย’ กับ ‘ผู้หญิง’ เหมือนเพศสรีระที่แค่คนมีจู๋ คนมีจิ๋ม และโลกนี้ก็ไม่ได้มีเพศวิถีเดียวคือรักต่างเพศ และแต่ละเพศสภาพเพศวิถีนี้ก็ไม่ได้เลวร้ายที่จะต้องเกลียดต้องกลัว ชังน้ำหน้าตั้งแต่ยังไม่รู้จักมักจี่ หรือมาตั้งป้อมรังเกียจกัน เพียงเพราะเค้ามีเพศอะไรที่ต่างจากเรา เพราะมันคืออคติตีตรา การตัดสินล่วงหน้า อันเป็นพื้นฐานของการด่าทอ ล้อเลียน ดูแคลน ทำร้ายไปจนถึงเลือกปฏิบัติ
และเพื่อไม่ละเลยมองข้าม ไม่เงียบงันปัญหาทุกเพศสภาพเพศวิถีต้องเผชิญ จึงได้นิยามให้เป็นการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศสากล ไม่เพียงรวมการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์สำนักต่างๆ แต่ยังจะไม่ละเลยเพศสภาพเพศวิถีอื่นๆ ที่ไม่ถูกเรียกว่า homo trans หรือ bi เช่น queer, pansexual, asexual ไปจนถึงอัตลักษณ์ทางเพศท้องถิ่นเช่น ฮิจรา ซึ่งนิยามว่าไม่ใช่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายในวัฒนธรรมเอเชียใต้
แต่ก็นั่นแหละ IDAHOT ก็ผ่านไปอย่างเงียบฉี่แทบไม่มีใครจดจำ เฉลิมฉลองกันเพียงกลุ่ม LGBTQ มากกว่าจะเป็นวันที่ประกาศให้ชายหญิงรักต่างเพศได้รับรู้ตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นและเห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันกับอัตลักษณ์ที่หลากหลาย การเคารพเพศวิถีเพศสภาพของแต่ปัจเจกบุคคล
งานฉลอง IDAHOT ถูกจัดกันเองเหมือนงานวันเกิดหรืองานครบรอบแต่งงาน มากกว่าจะถูกทำให้เป็นวันสำคัญของชาติ ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นเช่นนั้น มีเพียงเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์การนอกภาครัฐ ที่จัดกิจกรรม และบางพรรคการเมืองที่กล่าวถึงอย่างเงียบๆ ไม่ต้องพูดถึงระดับภาครัฐระดับราชการ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรเลย อันเป็นลักษณวิสัยของรัฐราชการที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชน
ในแต่ละวันหยุดสำคัญของชาติ วันหยุดราชการ ซึ่งจะกำหนดโดยคณะรัฐมนตรี มักไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการรำลึกถึงประชาชน ตระหนักถึงคุณค่าประชาชนอยู่แล้ว หากแต่ไปรำลึกถึงศาสนา (ซึ่งเฉพาะศาสนาพุทธ) เท่านั้น หรือชีวิตส่วนบุคคลของชนชั้นเจ้าเป็นหลัก เช่นวันมาฆบูชา วันจักรี วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันปิยมหาราช แม้แต่วันแรกนาขวัญวันพืชมงคลจะถูกอธิบายว่าเป็นวันชาวไร่ (Farmer’s Day) แต่ก็ดูจะให้ความสำคัญกับราชพิธี กิจกรรมของชนชั้นสูงมากกว่าเพื่อตระหนักถึงคุณภาพชีวิตชนชั้นชาวนาเกษตรกร และในแต่ละปีก็จะกำหนดวันที่และประกาศโดยสำนักพระราชวัง
วันพ่อ วันแม่ ที่ดูจะใกล้ชิดกับวิถีชีวิตประชาชนขึ้นมา และเป็นวันหยุดราชการ ก็เพราะถูกทำให้ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษามากกว่าจะเป็นวันของประชาชนจริง ๆ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นวันแรงงานก็ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ หากแต่เป็นวันหยุดสำหรับรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนกำหนดเอาเอง
วันที่พอจะสัมพันธ์กับประชาชนขึ้นมาบ้างอย่างวันเด็กแห่งชาติ ก็เป็นเพียงวันสังเกตการณ์เท่านั้น ไม่ใช่วันหยุด
ขณะที่หลายๆ ประเทศในโลกสากล กำหนดให้วันสตรีสากล 8 มีนาคมเป็นวันหยุดของรัฐ เพื่อสร้างการรับรู้ของพลเมืองในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติและเหยียดเพศ รำลึกถึงการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางเพศของผู้หญิง เช่น กัมพูชา จีน คิวบา ลาว เนปาล รัสเซีย เวียตนาม อุซเบกิสถาน แซมเบีย ทว่าประเทศไทยกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันนี้ แต่ไปกำหนดวันสตรีไทยขึ้นมาในวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งก็เพื่อยกย่องพระราชินีในรัชกาลที่ 9
เรื่องวันหยุด ฟังดูอาจจะเป็นปัญหาเฉพาะกลุ่ม เรื่องของคนงานคอปกขาว มนุษย์เงินเดือน มนุษย์ออฟฟิศ หรืออันที่จริงไม่จำเป็นหรอกที่จะต้องให้รัฐมาบอกว่าประชาชนต้องหยุดวันไหน ออกไปทำงานวันไหน เราควรจะมาสิทธิกำหนดได้เองว่าจะไปทำมาหากินหรือจะไปพักผ่อนวันไหน และสามารถตกลงล่วงหน้ากันได้เองระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง
หากแต่วันหยุดราชการยังคงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐ
กำลังชี้ว่า วันไหน วันของใคร วันของกลุ่มใดมันสำคัญกว่า พิเศษกว่า
รัฐอยากให้ระลึกถึงมากกว่า และเป็นวันที่สะท้อนถึงความต้องการของรัฐว่าให้ความสำคัญกับกลุ่มใดเป็นพิเศษมากกว่า แล้วผลักให้ประชาชนที่มีอัตลักษณ์ มีความเชื่อและวิถีชีวิตหลากหลายแตกต่างจากที่รัฐมองเห็น ไปมะงุมมะงาหราหาวันหยุดกันเอาเอง ไปลากิจลาป่วยกันเอาเอง คนคริสต์ไปลาหยุดกันเอาเองเพื่อจะได้พักผ่อนอยู่กับครอบครัวในวันคริสต์มาส คนจีนก็ไปลาหยุดกันเอาเองในช่วงตรุษจีน โดยที่รัฐไม่ได้แยแสว่านั่นคือการเลือกปฏิบัติอยู่ ในฐานะที่วันหยุดเท่ากับสิทธิหนึ่งของคนทำงาน
รัฐไม่เพียงไม่แยแสสนสี่สนแปดกับความหลากหลายของประชาชน แต่ที่เลวร้ายต่ำตมไปกว่านั้น รัฐเองยังทำตัวเป็นอุปสรรคในการจัดงาน เช่นงาน IDAHOT ปี ค.ศ.2021 ที่เพิ่งผ่านไป พระสงฆ์ที่ออกสนับสนุนกิจกรรมให้ยุติการตีตรา LGBTQ ที่หน้า BACC ก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไป สน. ปทุมวัน เฉยเลย
…อยากให้รัฐและเจ้าหน้าที่ได้ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ บ้างนะคะ