ความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่หัวข้อใหม่ที่เพิ่งถูกพูดถึงในศตวรรษนี้ แต่การทำให้ผู้คนมีความเข้าใจในเรื่องนี้ก็ยังเผชิญอุปสรรคหลายอย่าง
หนึ่งในนั้นคือคติความเชื่อหลายๆ อย่างที่กดทับพวกเขามาอย่างช้านาน ทั้งเรื่องศาสนา เชื้อชาติ และช่วงวัย ส่งผลให้หลายคนต้องเผชิญความบอบช้ำจากการที่ครอบครัวขาดความเข้าใจในเรื่องเพศ และต่างพากันแชร์ประสบการณ์เลวร้ายที่เคยพบเจอ ซึ่งเป็นบาดแผลทั้งทางใจและร่างกาย หรือร้ายกว่านั้น อาจนำไปสู่การเสียชีวิตก็เป็นได้
ดังนั้นแล้ว การทำความเข้าใจเรื่องเพศหลากหลายสำหรับคนที่เป็นพ่อแม่จึงสำคัญอย่างยิ่ง เพราะความคาดหวังที่พ่อแม่มักสร้างขึ้นมานั้น หากกลายเป็นความผิดหวังไปแล้ว ก็จะส่งผลกลับมาทำร้ายทุกคนได้
ทำไมความเสียใจของพ่อแม่ ถึงทำร้ายลูก
“ผมยังชอบผู้หญิง แต่ผมชอบผู้ชายด้วย…ผมแค่อยากบอกแม่เอาไว้”
“ลูกรัก ขอบใจที่บอกแม่นะ แม่ขอโทษถ้าแม่เคยทำให้รู้สึกว่าลูกบอกแม่ไม่ได้”
ประโยคสุดกินใจในซีรีส์ชื่อดัง Heartstopper เมื่อตัวเอกของเรื่องตัดสินใจบอกแม่ว่าตัวเองเป็นไบเซ็กชวล ท่าทางกระอักกระอ่วนของลูกทำให้ผู้เป็นแม่รู้สึกเสียใจเมื่อตัวแม่เองอาจทำให้ลูกรู้สึกลำบากใจในการ come out ออกมา
ซีนนี้จากซีรีส์ ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา หลายคนอยากได้ยินประโยคเหล่านี้ตอบกลับจากพ่อแม่ของตัวเองบ้าง เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัวไทยจำนวนมากยังมีคติว่าการเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นเรื่องไม่ดี และ ‘ผิดหวัง’ เมื่อลูกหลานของตัวเองกลายเป็นคนเหล่านั้น
แน่นอนว่า การเป็น LGBTQ ไม่ใช่เรื่องผิด ซ้ำยังเป็นเรื่องปกติสามัญทั่วไป ไม่แตกต่างจากการเป็นคนที่ชื่นชอบเพศตรงข้ามหรือบุคคลต่างเพศ หรือที่เรียกว่า สเตรท (straight) เลยแม้แต่น้อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พ่อแม่หลายคนยังมีคงมีความผิดหวังเหล่านี้อยู่ ซึ่งผลของการผิดหวังของพ่อแม่ ก็สร้างบาดแผลมหาศาลให้กับลูก ทั้งทางด้านจิตใจ หรือบางคนถึงขั้นโดนคนครอบครัวทำร้ายร่างกายเมื่อรู้ว่าลูกเป็นเพศหลากหลาย
ประเด็นก็คือ พ่อแม่โดยมากมักมีความคาดหวังบางอย่างต่อลูกอยู่เสมอ บทความจาก The Asian parent เล่าถึงปัญหาของความคาดหวังของพ่อแม่ โดยยกข่าวของสาวเชื้อสายเวียดนามที่จ้างวานฆ่าพ่อแม่ของตัวเอง เนื่องจากถูกเลี้ยงดูมาอย่างเข้มงวดตลอด เพราะพ่อแม่มีความคาดหวังกับลูก แต่สิ่งที่พ่อแม่ต้องพึงระวังไว้เสมอคือ ลูกไม่ใช่ตัวแทนของพ่อแม่ ไม่ได้เป็นสิ่งชดเชยในสิ่งที่ตัวเองไม่มีในวัยเด็ก ลูกเป็นหน่วยย่อยที่เป็นอิสระ ความคาดหวังที่พ่อแม่มี เป็นเพราะความรักและความปรารถนาดี ไม่ใช่เพื่อตัวพ่อแม่เอง
ขณะที่ นิดนก หรือพนิตชนก ดำเนินธรรม นักเขียน นักจัดพ็อดแคสต์ มองว่า มันเป็นไปได้ที่พ่อแม่จะมีความคาดหวังกับลูก แต่การเป็นเพศหลากหลายเป็นเรื่องผิดหรือ? โดยนิดนกมองว่า มันมีบางสิ่งที่ไม่ดีด้วยตัวเองอย่างชัดเจน แต่เมื่อเป็นเรื่องเพศ หรือรสนิยม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่หรือใครจะไปตัดสินได้
“เราต้องกลับมาคิดว่า เราเลี้ยงลูก เราลงทุนในสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขา เพื่อจะหวังผลตอบแทนยังไงเหรอ ภาพที่เราอยากเห็นคืออะไร เราว่า พ่อแม่ก็อาจจะต้องตั้งคำถามเรื่องนี้ด้วย”
พนิตชนกเสริมอีกว่า เมื่อพ่อแม่มีความคาดหวังต่อลูก ผลที่ตามมาคือการที่พ่อแม่ผิดหวัง ซึ่งสิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวันของการเลี้ยงดูอีกชีวิตหนึ่งขึ้นมา แต่คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วพ่อแม่จะทำอย่างไรกับความผิดหวังที่ตัวเองตั้งขึ้นมา
“เราต้องย้อนกลับไปว่า เรามองเห็นลูกเป็นใครก่อน เรามองเห็นว่าเขาว่าเขาจะเป็นชีวิตอีกชีวิตนึงที่จะเติบโต แล้วก็ยืนต้นด้วยตัวเองได้ใช่ไหม ถ้าอันนั้นคือโจทย์ของเรา เราก็จะต้องพร้อมที่จะเจ็บช้ำ ผิดหวัง ทุกวันแบบนี้ ให้เคยชินไว้ว่า ใช่ เพราะเขาคืออีกชีวิตนึงไง”
“เขามีชีวิตเป็นของเขาเอง เขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเรา แล้วเราก็ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเขา เขาเป็นชีวิตที่แยกออกไป เป็นปัจเจกบุคคลคนหนึ่ง”
นอกจากนี้ นิดนกยังเสริมด้วยว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่กังวล อาจมาจากการที่สังคมยังไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและกฎหมาย เห็นได้จากการยังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งคนเป็นพ่อแม่อาจยิ่งกังวลว่า ท่ามกลางสังคมที่ยังไม่เข้าใจเรื่องเพศหลากหลายอย่างถ่องแท้นี้ ลูกจะได้รับการปฏิบัติจากคนรอบข้างอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับจริงๆ ใช่ไหม
อย่างไรก็ดี นิดนกมองว่า ไม่ว่าสังคมภายนอกจะเป็นอย่างไร คนเป็นพ่อแม่ต้องพร้อมซัพพอร์ทลูกให้เต็มที่ พร้อมกล่าวว่า “เราต้องพร้อมที่จะเป็นฟูกให้เขา ไม่ว่าเขาจะไปเผชิญอะไร ในร่างกายแบบไหน เขาจะเป็นตัวตนแบบไหน จะเป็นสเตรท เป็น LGBTQ เป็นคนที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบโน้นนี้ ไม่ว่ายังไง เราจะต้องเป็นคนที่เขาสามารถกลับมานอนพักที่ตัวเราได้”
เมื่อพ่อแม่ตกใจกับการที่ลูกเป็น LGBTQ ต้องทำยังไงต่อ?
คำถามที่ตามมาก็คือ การรู้สึกช็อก เสียใจ เมื่อลูกเป็น LGBTQ เป็นเรื่องผิดไหม? ซึ่งหมอโอ๋ จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น จากเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ให้สัมภาษณ์ว่า ความรู้สึกของคนเรา เป็นสิ่งที่บังคับกันไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดความรู้สึกนั้นคือ พ่อแม่จะจัดการอย่างไร
“ถ้าเขารู้สึกเสียใจ เขาบังคับให้ลูกไม่เป็น เพราะเขาจะได้ไม่ต้องผิดหวังเสียใจ อันนี้ก็ไม่โอเค แต่ถ้าเขาเสียใจแล้วกลับมาตั้งหลัก มาทำความเข้าใจว่า เพศหลากหลายไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ความเสียใจของเขามันเกิดจากความคาดหวังของเขาที่อาจจะไม่ได้เข้าใจความเป็นไปที่เป็นธรรมชาติว่า จู๋ จิ๋ม ไม่ได้เป็นเครื่องบอกความเป็นผู้ชายผู้หญิง ถ้าเขากลับมาตั้งหลักแบบนี้ มายอมรับลูกในแบบที่ลูกเป็น ก็โอเค”
ขอยกซีนหนึ่งจาก One Day at a Time ซิทคอมแนวครอบครัว ซึ่งตอนหนึ่งในซิทคอมเรื่องนี้ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ลูกสาวบอกกับแม่และยายว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยน
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แม่พยายามทำทุกอย่างให้ลูกเชื่อว่า แม่พร้อมซับพอร์ทลูกเสมอ เช่นเดียวกับยายซึ่งเป็นคนเคร่งศาสนา แต่เมื่อรับรู้ถึงเพศของหลานสาวตัวเอง ก็แสดงท่าทีโอบรับทันที แม้ลึกๆ ในใจของทั้งแม่และยายจะตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นก็ตาม
ความน่าสนใจของเรื่องนี้ก็คือบทสนทนาของแม่และยายที่พูดคุยกันอยู่สองคน แม่พยายามถามยายที่เป็นคนหัวโบราณว่าทำไมถึงแสดงท่าทีเต็มใจพร้อมรับกับการเปิดตัวของลูกสาวได้ในทันที ซึ่งยายก็ตอบกลับมาว่า ยายเองก็ไม่โอเคกับสิ่งที่ขัดความเชื่อของตัวเอง แต่ก็พยายามยอมรับเช่นกัน
“ลูกต้องเข้าใจนะ แม่เป็นคนเคร่งศาสนา และแม่เสียใจ แม่เสียใจที่มีปัญหากับการที่เอเลน่าเป็นเกย์ มันต่อต้านพระเจ้า ถึงแม้ว่าพระเจ้าได้สร้างเราให้เหมือนพระองค์ และพระเจ้าทรงไม่ทำผิด และเมื่อมาถึงพวกที่เป็นเกย์ โป๊ปพูดว่า ‘ข้าฯ เป็นใครถึงจะตัดสินพวกเขาได้’ และโป๊ปคือตัวแทนของพระเจ้า แล้วจะให้แม่ต่อต้านโป๊ปและพระเจ้างั้นหรือ แม่คิดว่าตัวเองเป็นใครกันล่ะ”
ตัวตนของยาย ซึ่งเป็นคนรุ่น baby boomer สะท้อนให้เห็นถึงการพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่ขัดกับความเชื่อของตัวเอง ผ่านวิธีการของตัวเอง นั่นคือ รับฟังคำสอนของผู้นำความคิดที่มีอิทธิพลต่อตัวยาย โดยทั้งหมดนี้ เป็นการทำไปบนพื้นฐานของความต้องการที่จะยอมรับสิ่งที่หลานสาวเป็น
ขณะที่ แม่ซึ่งเป็นคนที่ใครต่างก็มองว่าเปิดกว้างมากกว่ายาย กลับมีปมในใจที่ตัวเองไม่สามารถยอมรับกับการที่ลูกเป็นเกย์ได้อย่างเต็มที่ และเกลียดที่ตัวเองรู้สึกเช่นนั้น เธอจึงไปขอคำปรึกษาจากหลายๆ คน
“ฉันอยากให้ลูกเปิดตัวได้อย่างราบรื่น อย่างที่ฉันให้การยอมรับ สนับสนุน .. ฉันน่าจะมีความสุขที่เธอรู้สึกสบายใจพอที่จะเปิดเผยกับฉัน แต่ฉันกลับเอาแต่คิดไปว่า มันไม่ใช่อย่างที่ฉันวาดภาพเอาไว้”
“ลูกสาวคุณเปิดตัวมานานหรือยัง” ผู้ให้คำปรึกษาถาม
“36 ชั่วโมงที่แล้ว”
“คุณรักเธอน้อยลงไหม”
“ไม่ ไม่อย่างแน่นอน” แม่ตอบกลับไปทันที
“งั้นคุณก็แค่ยังไม่ถึงจุดนั้น นี่คือการเปลี่ยนแปลงวิธีที่คุณมองลูกสาวของคุณอย่างสิ้นเชิง เธอคิดเรื่องนี้มานานเป็นเดือนหรือเป็นปีแล้ว คุณแค่เพิ่งรู้ หัวใจคุณไม่เป็นไร คุณแค่ต้องการเวลาให้สมองตามทัน”
อย่ายอมรับในตัวลูกแบบมีเงื่อนไข
ประเด็นที่เล่าไปก่อนหน้านี้ เป็นการอธิบายว่า ทำไมพ่อแม่ถึงมีท่าทีตอบกลับเช่นนั้น แต่ย้ำกันอีกครั้งว่า การที่ใครสักคนเป็นเพศหลากหลายนั้น เป็นเรื่องปกติสามัญมากๆ และในโลกนี้ก็มีเพศหลากหลายเกินกว่าจะแยกให้เหลือแค่ชายหญิง และพ่อแม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้ผลของการขาดความเข้าใจเรื่องเพศหลากหลายของตัวเอง กลายเป็นปมกัดกินใจ หรือทำร้ายลูก
ขณะเดียวกัน หมอโอ๋ ยังอธิบายไว้ด้วยว่า ความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่อยู่กับมนุษย์มานานแล้ว ดังนั้น เรื่องเพศหลากหลายจึงเป็นเรื่องธรรมชาติอย่างมาก ซึ่งทางการแพทย์ได้ถอดเรื่องนี้ออกจากอาการผิดปกติ และปรับมุมมองใหม่ว่าเป็นเพียงเรื่องของรสนิยมที่แตกต่าง ไม่ได้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต แต่ที่มันส่งผลกระทบกับหลายๆ คน เพราะความไม่เข้าใจของครอบครัวและสังคมต่างหาก
นอกจากนี้ หากพ่อแม่จะทำความเข้าใจในสิ่งที่ลูกเป็น ก็ต้องไม่ใช่การทำความเข้าใจแบบ ‘มีเงื่อนไข’ ด้วย
อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เคยเขียนถึงประเด็นนี้ลงในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ว่า ในทางสังคมและวัฒนธรรมไทย แม้จะเริ่มมีการยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่การยอมรับนั้นกลับเป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไข ไม่ได้เป็นการยอมรับในแบบที่เขาเป็นหรือในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง โดยการสร้างเงื่อนไขขึ้นมานี้ ก็เพื่อกลบปมอคติบางอย่างที่มีต่อผู้หลากหลายทางเพศ
“เรามักได้ยินคำพูดบ่อยๆ ว่า ‘เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดีของสังคมก็พอ’ คำถามก็คือว่า ทำไมเราต้องยอมรับเขาเพียงเพราะเขาต้องเป็นคนดี เราสามารถยอมรับเขาแบบไม่มีเงื่อนไขได้ไหม ยอมรับเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งแบบที่เป็นปุถุชนคนทั่วไปที่มีได้ทั้งดี ไม่ดี เก่ง หรือ ไม่เก่งก็ได้ เหมือนที่สเตรทก็เป็นได้เหมือนกัน”
อรุณีระบุด้วยว่า การยอมรับแบบมีเงื่อนไขเกิดขึ้นได้เพราะพื้นฐานหรือความรู้สึกลึกๆ ของคนในสังคมไม่ได้ยอมรับเขาจริงๆ แต่สร้างเงื่อนไขหรือข้ออ้างต่างๆ ขึ้นมาเพื่อหลอกตัวเองหรือกลบกลืนอคติของตัวเองที่มีต่อผู้หลากหลายทางเพศ
สำหรับพ่อแม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะซัพพอร์ทลูกอย่างไร เว็บไซต์ Medical News Today อธิบายถึงวิธีการสนับสนุนกลุ่มคนเพศหลากหลายไว้ว่า
- ฟังและเชื่อในประสบการณ์ที่ผู้อื่นพบเจอมา
- ยอมรับฟีดแบกที่ได้รับกลับมา
- หลีกเลี่ยงอารมณ์ขันที่ไม่เหมาะสม เช่น มุกตลกต่อต้านเกย์
- ลุกขึ้นมาตอบโต้ หากได้ยินใครเอ่ยคำพูดที่ต่อต้านความหลากหลายทางเพศ
- ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย โดยตระหนักว่า มุมมองของทุกคนมีความสำคัญ รวมถึง มุมมองของกลุ่มคนชายขอบด้วย
- เรียนรู้เกี่ยวกับความท้าทายเฉพาะตัวที่สมาชิกของชุมชน LGBTQ+ ต้องเผชิญ
ดังนั้นแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเมื่อรู้ว่าลูกเป็นเพศหลากหลาย คือตระหนักไว้ว่า ลูกไม่ได้กำลังขออนุญาตกับสิ่งที่ตัวเขาเป็น แต่เขากำลังบอกเล่าให้ฟัง และพ่อแม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมระลึกไว้ว่า ความคาดหวังที่ตัวเองยึดถือไว้นั้น เป็นสิ่งที่พ่อแม่สร้างขึ้นมาเอง หากมีเหตุการณ์ใดไม่ตรงกับสิ่งที่คาดหวัง ก็ขอให้ยอมรับ และอย่านำความผิดหวังของตัวเอง ไปทำร้ายใครเลย