“ห่วงสัตว์โลกจริงเหรอ แล้วทำไมยังกินไข่?”
“ทำไมชาว vegan ถึงเกลียด vegetarian นักนะ?” มีคนกระทู้ไถ่ถามใน Quora (ชาว vegan คือผู้ทานมังสวิรัติแท้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์และผลิตผลจากสัตว์ แต่ vegetarian คือคนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์เฉยๆ อาจจะเลือกทานไข่และนม), “ฉันไม่ได้เกลียด ฉันแค่ผิดหวัง หากอุตส่าห์ได้เรียนรู้เข้าใจว่าอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มันแย่ ไม่มีมนุษยธรรม แต่ทำไมถึงยังกินผลิตภัณฑ์จากสัตว์อยู่อีกล่ะ” อีกความเห็นหนึ่งตัดพ้อใน Quora
นักจิตวิทยาได้ศึกษาทัศนคติที่มีต่อกันระหว่างคนไม่กินเนื้อสัตว์ ได้แก่ชาว vegan และ vegetarian พบว่า vegan มีแนวโน้มจะไม่พอใจ vegetarian มากกว่าคนกินเนื้อสัตว์ถึง 3 เท่า นักวิจัยได้สรุปว่า ความรู้สึกไม่ชอบใจนี้อาจเกิดจากความต้องการจะปกป้องอัตลักษณ์ของกลุ่มตัวเองไว้ไม่ให้แปดเปื้อน ชาว vegan รู้สึกว่า vegetarian ไม่ใช่ชาวมังฯ บริสุทธิ์ผุดผ่องสมบูรณ์เท่า แต่เพราะอคติ อาจทำให้ vegan ลืมไปว่าถึงชาวมังฯ ไม่แท้จะยังบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์อยู่บ้าง ก็อาจจะมีเป้าหมายร่วมใกล้เคียงกับชาวมังฯแท้มากกว่าคนอื่นๆ ที่กินเนื้อทั่วไป
“เธอยังหูหนวกไม่พอ”
ในปี 1995 เมื่อ Heather Whitestone ได้รับเลือกตำแหน่ง Miss America คนแรกที่บกพร่องทางการได้ยิน เธอหูหนวกตอนแรกเกิดจนถึงอายุ 18 เดือน แต่สามารถพูดออกเสียงได้และได้ยินด้วยเครื่องช่วยฟัง จึงไม่ได้ใช้ภาษามือ แต่แล้วนักเคลื่อนไหวเพื่อคนหูหนวกก็ออกมาต่อต้านว่าเธอหูหนวกไม่พอที่จะเป็นนางงามตัวแทนของคนหูหนวก
ประเด็นถกเถียงยังดำเนินต่อมาเรื่อยๆ ในชุมชนนักเคลื่อนไหวเพื่อคนหูหนวก ในปี 2002 เธอเลือกผ่าตัดให้หายจากการความพิการเพราะเธอไม่ได้ยินเสียงลูกร้อง ซึ่งก็มีการโต้เถียงกันว่าเธอควรเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวของคนหูหนวกไหม
“เธอยังดำไม่พอ”
ในปี 1991 อาจารย์กฎหมายเพศหญิงผิวคล้ำคนหนึ่งได้รับตำแหน่งสำคัญในมหาวิทยาลัยชื่อดัง กลายเป็นว่ากลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านกลับไม่ใช่คนขาว แต่คือ สมาพันธ์นักศึกษาคนผิวสี (Black Students Associations) ด้วยเหตุผลว่าเธอนั้นยังดำไม่พอที่จะเป็นตัวแทนความก้าวหน้าของคนผิวสี
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมแบบเคร่งครัดมีทัศนคติมองว่า Greenpeace คือปีศาจร้าย mindless monster ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเงินทุน
ในงานศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาเกย์และเลสเบี้ยนในปี 1996 พบว่าในการนำคำว่า bisexual ไปรวมกับกลุ่มคนหลากหลายเพศ ก็เคยเจอแรงต่อต้านจากสมาชิกในกลุ่มที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน แม้วิสัยทัศน์คือการรวมกันเพื่อความแข็งแรงเป็นหนึ่ง เพิ่มเสียงของชุมชนให้แข็งแรงขึ้นก็ตาม
คนดำที่ดำไม่พอ คนหูหนวกไม่พอ คนที่เป็นมังสวิรัติไม่สมบูรณ์ คนรักโลกไม่พอ ล้วนถูกมองว่าเป็น ‘วอนนาบี’ ทำไมต้องใจร้ายต่อคนที่เกือบจะเหมือนเราขนาดนี้ ปรากฏการณ์นี้มีชื่อเรียกว่า ‘Horizontal Hostility’ ความเหมือนแต่ต่างทำให้อัตลักษณ์ของบางกลุ่มสั่นคลอน
Horizontal Hostility คือการชิงชังเป็นศัตรูกับกลุ่มคนคล้ายเคียง
Horizontal Hostility คือการชิงชังเป็นศัตรูกันในแนวราบ เป็นอคติที่มีต่อกลุ่มคนใกล้เคียงที่ควรจะอยู่ข้างกัน มีจุดประสงค์เดียวกัน แต่กลับมีอคติต่อกันรุนแรงกว่ากลุ่มตรงข้ามเสียอีก คำเรียกนี้ถูกตั้งโดย Florynce Kennedy ในช่วงการเคลื่อนไหวสตรีนิยมยุค 70s โดย Kennedy พยายามอธิบายปรากฏการณ์ระหว่างผู้หญิงที่กดดันและกีดกันกันเองในความเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี
นักสังคมจิตวิทยา Leon Festinger ยังได้ทำนายว่ากลุ่มคนที่มีทัศนคติและความเชื่อตรงกันจะนำมาซึ่งการดึงดูดต่อกัน แม้ว่าในการวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ในระดับระหว่างคนกับคน ความคล้ายกันในทัศนคติมักจะดึงดูดเข้าหากันมากกว่า แต่ในระดับระหว่างกลุ่ม (minority group) กลับไม่เป็นเช่นนั้น
เพื่อศึกษาสมมติฐานแนวคิด Horizontal Hostility นี้ มีงานวิจัยจาก Harvard University เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนกลุ่มน้อยที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน โดยศึกษากลุ่มคนนับถือศาสนายิว 3 กลุ่ม ได้แก่ชาวยิวแบบ Orthodox, Conservative และ Reform พบว่าคนที่เคร่งครัดมีอคติไม่ดีต่อกลุ่มยิวที่เคร่งครัดน้อยกว่า ยิ่งกว่ากลุ่มคนยิวที่ไม่ปฏิบัติตามความเชื่อโดยสิ้นเชิงเสียอีก โดยให้เหตุผลว่า “ถ้าเชื่อจริงๆ ต้องทำตามความเชื่อทั้งหมด ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ” และได้ผลใกล้เคียงกันเมื่อศึกษากับกลุ่มนักกีฬาทีมมหาวิทยาลัยที่ให้คะแนนกลุ่มคนที่ใกล้เคียงตํ่ากว่า
แม้จะเห็นตรงกันแต่วิธีการต่าง เราอาจต้องแยกทาง
จุดเริ่มต้นการศึกษา Horizontal Hostility เริ่มจากความพยายามจะอธิบายเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ย้อนกลับไปปี 1855 Lucy Stone คือผู้หญิงคนแรกที่เลือกใช้ชื่อนามสกุลตัวเองหลังแต่งงาน เป็นผู้หญิงคนแรกจากรัฐ Massachusetts ที่ได้รับปริญญาตรี เป็นผู้บรรยาย full-time เรื่องสิทธิสตรีคนแรกของอเมริกา ก่อตั้งนิตยสาร Woman’s Journal เพื่อเผยแพร่แนวคิดให้เพศหญิงเท่าเทียมกับเพศชาย จุดมุ่งหมายของเธอคือ อยากให้ผู้หญิงเลือกตั้งและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ เพื่อเสียงที่ดังขึ้น เธอได้ร่วมกลุ่มกับผู้หญิงทรงอิทธิพลร่วมกันอีก 2 คนคือ Susan B. Anthony และ Elizabeth Cady Stanton ทั้งสามคนที่มีเป้าหมายอยากให้ผู้หญิงเลือกตั้งได้เช่นเดียวกับผู้ชาย แต่แล้วทั้งสามคนก็แตกกันในปี 1869 กลายเป็นศัตรูคู่แข่งกัน
สาเหตุที่แตกกันเริ่มมาจาก Anthony กับ Stanton เลือกร่วมมือกับนักเคลื่อนไหวเหยียดผิว George Francis Train เขาเชื่อว่าประเด็นสิทธิสตรีนี้จะมาช่วยกลบอิทธิพลทางการเมืองชาวผิวสีที่กำลังเรียกร้องสิทธิอยู่เช่นกัน กลุ่ม Anthony กับ Stanton ร่วมกันต่อต้านข้อเสนอเปลี่ยนกฎหมาย 15th Amendment ที่จะให้สิทธิผู้ชายผิวสีเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลที่ว่า หากผู้หญิงยังไม่มีสิทธิ์ได้เลือกตั้ง ผู้ชายผิวสีก็ไม่ควรได้รับสิทธิเลือกตั้งเช่นกัน…เป็นความคิดที่สุดโต่งมาก
Lucy Stone ไม่เห็นด้วย เธอสนับสนุน 15th Amendment หากชายผิวสีจะได้รับเลือกตั้งก่อนก็ไม่เป็นไร จึงถูก Anthony และ Stanton มองว่าหักหลังผู้หญิงด้วยกันเอง ทั้งสองจึงสร้างกลุ่มใหม่ชื่อ NWSA พร้อมตั้งหนังสือพิมพ์ของตัวเอง ทั้งสองกลุ่มโจมตีแข่งขันกันเองอย่างรุนแรง กลุ่มความเคลื่อนไหวที่เล็กอยู่แล้วก็ต้องแตกแยก ยิ่งสิ้นเปลืองเวลาและพลังงานต่อสู้ในประเด็นที่สำคัญ ทั้งๆ ที่มีเป้าหมายร่วมกันคือให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งแต่วิธีการต่างกัน
แต่ Lucy Stone ใช้วิธีการต่างไป เมื่ออุตสาหกรรมที่ต่อต้านสิทธิการเลือกตั้งของสตรีคืออุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ เธอไปหาผู้ร่วมขบวนเป็นสมาคม WCTU (Woman’s Christian Temperance Union) กลุ่มสตรีคริสเตียนเคร่งศาสนาต่อต้านการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่ผิด แม้จะดูหัวโบราณแต่การได้รวมกลุ่มกับ WCTU ทำให้สมาชิกผู้สนับสนุนได้ขยายปริมาณอย่างรวดเร็วจนมีจำนวนกว่าแสนคนในปี 1890 กลุ่มของเธอได้รับแรงสนับสนุนจากผู้ชาย และผู้หญิงที่เห็นด้วยแต่ยังไม่พร้อมจะต่อต้านค่านิยมครอบครัวแบบเก่าหรือออกเสียงสนับสนุนการหย่า ในขณะที่กลุ่มของ Anthony และ Stanton ถูกจำกัดการขยายตัวเพราะมีแนวคิดที่รุนแรงและสุดโต่ง (เช่น ไปหน้าคูหาเพื่อลงคะแนนเลือกตั้งทั้งที่ผิดกฎหมาย) Lucy Stone เลือกวิธีประนีประนอม และยอมให้ผู้ชายเข้าร่วมขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรี
ในช่วงปี 1880s ทั้งสองกลุ่มเรียนรู้ว่าไม่ได้มีผลดีที่จะมีสองกลุ่มผู้หญิงที่แข่งขันกันเพื่อรณรงค์ในประเด็นเดียวกัน หลังจากเจรจาอยู่หลายปี ก็ได้กลับมารวมกันใหม่ในชื่อ National American Woman Suffrage Association (NAWSA) การต่อสู้อันยาวนานหลายสิบปีสำเร็จ ผู้หญิงอเมริกันมีสิทธิ์เลือกตั้งได้ในที่สุด
คงอยู่ด้วยกันยากหากไม่ประนีประนอมกับวิถีสุดโต่ง
เหตุเกิดของ Horizontal Hostility คือคนที่มีอุดมคติและความเชื่อมั่นชัดเจนรู้สึกว่าความต่างเพียงเล็กน้อยของอีกกลุ่มที่ mainstream กว่าอาจคุกคามทำลายอัตลักษณ์ (identity) ของกลุ่มได้ กลุ่มคนที่เชื่อเหมือนกันแต่ไม่ชัดเท่า อาจเป็นลูกผสม ไม่สมบูรณ์ ไม่สุดโต่งนั้น ดูจะเป็นภัยยิ่งกว่าคนฝั่งตรงข้ามจนทำให้เกิดอคติรุนแรง
ซิกมุนด์ ฟรอยด์เรียกภาวะนี้ว่า ‘the narcissism of small differences.’ หรือ ‘ความหลงตัวเองของความแตกต่างอันเล็กน้อย’
ความหวาดระแวงคุกคามความรู้สึกของคนสายลึก สายสุดโต่ง สายตรง ว่าการปรับแนวคิดเพื่อพาไปสู่ mainstream จะมาทำลายอุดมคติและอัตลักษณ์แรกที่เขาถืออยู่ อคตินี้อาจส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยที่มีน้อยอยู่แล้ว ยิ่งแตกระแหงแยกออกไป ไม่สามารถรวมพลังและร่วมมือกันได้ นั่นหมายความว่าการไปสู่เป้าหมายของการเคลื่อนไหวและการรณรงค์ย่อมสำเร็จได้ยากขึ้น
คนที่มีชุดความคิดบริสุทธิ์อันสุดโต่ง (radical) อาจต้องหันมายอมรับว่า เมื่อแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งเริ่มแพร่หลายกระจายสู่คนปริมาณมากแล้ว แนวคิดนั้นอาจถูกปนเปื้อนไม่บริสุทธิ์สมบูรณ์เหมือนแม่พิมพ์เดิมที่มีแต่เริ่มแรก ต้องยอมประนีประนาม และยอมให้ปฏิบัติได้ (pragmatic) ง่ายขึ้น เพื่อให้บรรลุไปถึงเป้าหมายได้ บางครั้งแอลกอฮอล์แรงๆ ต้องยอมผสม mixer ราคาถูกกลบกลิ่นเหล้าราคาแพงเพื่อให้ดื่มง่าย
กลุ่มนักสังคมวิทยาจาก Northwestern University และ Stanford ศึกษาด้านการรวมกลุ่มความเคลื่อนไหวในประวัติศาสตร์ ความเชื่อที่ว่าการมีเป้าหมายร่วมกันจะทำให้คนกลายเป็นกลุ่มก้อนใหญ่อันทรงพลังนั้นอาจผิดได้ เพราะบางครั้ง ‘วิธีการ’ ไปสู่เป้าหมายที่ต่างกันอาจทำให้แตกแยก ไม่ว่าจะเชื่อแบบเดียวกันก็ตาม การรวมกลุ่มที่ประสบผลสำเร็จเกิดจากการรวมกลุ่มกับคนที่มีวิธีการเหมาะสมกันแต่เป้าหมายต่างกัน เช่นการร่วมมือกันระหว่างกลุ่ม Gay Rights กับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นการได้ประโยชน์ร่วมกันหากมีวิธีการที่ส่งเสริมกัน
คนที่มีความคิดสุดโต่งต้องยอมรับว่าแม้ ‘ความแตกต่าง’ จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นบนโลก แต่หากเรากำลังแนะนำในสิ่งที่ประชาชนไม่เข้าใจ ก็มีโอกาสสูงที่ไม่สำเร็จ สิ่งที่ต่างและประหลาดเกินกว่ามวลชนจะเข้าใจมักไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ 50% ของผู้ริเริ่ม (pioneer) มักจะล้มเหลวเพราะทำสิ่งใหม่เกินคนทั่วไปเข้าใจ
ก่อนที่คนทั้งโลกจะไม่ประหลาดใจกับการมีรถยนต์ใช้เป็นพาหนะ มนุษย์ชินชากับการใช้รถม้าเพื่อการเดินทาง การมียานพาหนะเครื่องยนต์ไร้ม้าในยุคแรกเป็นสิ่งที่ประหลาดมากจนเกินความเข้าใจของคนทั่วไป Uriah Smith จึงผลิตรถเครื่องจักรที่มีหัวม้ามาแปะหน้ารถยนต์เครื่องจักร เพื่อให้คนเข้าใจฟังก์ชั่นของรถยนต์ แม้ฟังดูพิลึกไม่เข้าท่า แต่ก็ทำเพื่อปรับพื้นฐานความเข้าใจของชาวบ้านคนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยเห็นรถมาก่อน
ผู้ประดิษฐ์นวัตกรรมต้องเรียนรู้ที่จะผสมสิ่งใหม่กับสิ่งที่คุ้นเคย ความคิดอุดมคติอันสุดโต่งหลายๆ อย่างก็เช่นกัน การผสมผสานสิ่งใหม่กับสิ่งที่คนคุ้นเคยให้ลงตัวคือศาสตร์สำคัญถ้าอยากทำสิ่งที่ประชาชนจะรับไปใช้ในชีวิตประจำ ทฤษฎีนี้มีชื่อเรียกว่า The Goldilocks Theory คือการแสวงหาความพอดีไม่ให้ extreme เกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจ เพื่อให้แพร่หลายและประสบความสำเร็จ
บางครั้งหลายสิ่งไม่สำเร็จไม่ใช่เพราะฟังก์ชั่นไม่ดีพอ แต่เป็นเหตุผลทางจิตวิทยาง่ายๆ คือ คนทั่วไปไม่เข้าใจ ดีแค่ไหนก็ไปต่อไม่ได้ในวงกว้าง
แยกอคติที่มุ่งร้ายกับคำวิจารณ์ให้ได้
Horizontal Hostility คือความมุ่งหวังจะทำให้เจ็บใจมากกว่าวิจารณ์ให้ปรับปรุง แก้ไข และพัฒนา การวิจารณ์นั้นอาจเจ็บแต่มันจริง ไม่ใช่การแข่งกันกันว่าใครถูกมากกว่ากัน และไม่ใช่การแข่งกันให้อีกฝั่งรู้สึกผิดมากกว่า การแปะป้ายให้อับอาย ว่าอีกฝั่งเป็น ‘นาซี’, ‘คนเหยียดเพศ’, ‘เฟมินิสต์’, ‘วอนนาบี’, ‘คนล้าหลัง’, ‘คนที่ไม่จริงใจ’ ฯลฯ หรือการสร้างความอับอายให้คู่แข่งตกเป็นเหยื่อแค่เพียงความสะใจ ใครรู้สึกอับอายมากกว่าก็เงียบไปห้ามพูดอะไรอีก
หากได้รับรู้ว่าเราทุกคนมีอคติข้อนี้ได้ เราอาจต้องลองกลับมาสำรวจตัวเองว่า เราใจร้ายเกินไปรึเปล่ากับกลุ่มคนที่คล้ายๆ กัน เขาอาจเลือกวิธีการที่ต่างไป หรือ mainstream กว่ารสนิยมของเราไป ไม่ว่าเราจะเลือกอยู่ชนกลุ่มไหนหรือกำลังรณรงค์เรื่องไหนอยู่ มันก็คงจะยากขึ้นหากเสียงเราได้ถูกซอยออกแตกไปเป็นหลายส่วน กระจัดกระจายจนหมดพลัง ทั้งที่เราอาจมีความต้องการร่วมกัน
ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะหยุดวิจารณ์และสำรวจสอดส่องคนที่มีความเชื่อและอุดมคติคล้ายเรา แต่เราควรมีสติ และสงวนการแปะป้ายอีกกลุ่มข้างๆ ให้เป็นคนร้ายอันน่าอับอายผิดหวัง จำไว้ว่า มีแนวโน้มที่เราจะมีอคติกับคนที่ใกล้กัน ตัดสินเขาแรงเกินไป ไม่ให้โอกาส ไม่ร่วมมือ เพียงเพราะความแตกต่างอันเล็กน้อย ทั้งที่เราอาจจะร่วมมือกัน เหนื่อยน้อยลง สร้างความเปลี่ยนแปลงกันได้
จริงๆ แล้ว กลุ่มเล็กกลุ่มน้อยจะแตกกระจายแยกสลายไปเกิดใหม่เป็นอีกกี่กลุ่มก้อนก็ทำได้ ถ้าไม่สนใจว่าจะสุดท้ายสิ่งที่รณรงค์จะสำเร็จไหม แต่ถ้าอยากรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อขยับไปข้างหน้า เพื่อแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง เราอาจต้องลองมองดูใหม่ อคติและความชังที่เรามีต่อกันมันอาจทำให้เราไม่ไปไหน
บางครั้งการเคลื่อนไหวที่ขยับก้าวไป อาจเกิดจากการร่วมมือกับคนที่เราไม่ชอบหน้าหรือสร้างผสมส่วนผสมที่เราไม่ชอบใจ
หยุดอคติและความใจร้ายไว้ก่อน
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Horizontal Hostility: Relations between similar minority groups: Judith B, White and Ellen J. Langer
mba.tuck.dartmouth.edu/pages/faculty/judith.white/docs/1999_white_jsi.pdf
- A Discussion of the Problem of Horizontal Hostility: Denise Thompson / Journal of Social Issues: Vol.55, 1999
users.spin.net.au/~deniset/alesfem/mhhostility.pdf
- Why do vegans hate vegetarians?
www.quora.com/Why-do-vegans-hate-vegetarians
- Can’t vegans and vegetarians just get along?
www.latimes.com/opinion/op-ed/la-oe-kateman-why-vegans-and-vegetarians-should-get-along-20170402-story.html
- Horizontal Hostility among Non-Meat Eaters
www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4014503/
- Originals: How Non-Conformists Move the World: Adam Grant
www.amazon.com/Originals-How-Non-Conformists-Move-World/dp/0525429565
- The Goldilock Theory of Product Success
hbr.org/2016/07/the-goldilocks-theory-of-product-success
- The long struggle for women’s suffrage By Deborah M.S. Brown.
www.learnnc.org/lp/editions/nchist-newcentury/5743
- Issue bricolage: Explaining the configuration of the social movement sector, 1960–1995
Wooseok Jung, Brayden G. King, Sarah A. Soule
citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/download?doi=10.1.1.639.5978&rep=rep1&type=pdf