เมื่อครั้งที่ประเทศฝรั่งเศสนึกครึ้มใจที่จะเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของการปฏิวัติฝรั่งเศส เขาก็ได้จัดให้มีงานมหกรรมนานาชาติ (งาน world’s fair ครั้งยิ่งใหญ่ของกรุงปารีส ที่มีชื่อเต็มว่า The Exposition of Universelle of 1889 หรือที่เรียกกันเก๋ๆ ว่า EXPO Paris 1889) และจัดให้มีการประกวดออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน
แน่นอนว่า สิ่งปลูกสร้างที่ชนะเลิศในคราวนั้นก็คืออะไรที่รู้จักกันในชื่อ ‘หอไอเฟล’ (ตั้งชื่อตาม กุสตาฟ ไอเฟล, Gustave Eiffel, สถาปนิกควบตำแหน่งวิศวกรผู้ออกแบบ) ซึ่งก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีส และประเทศฝรั่งเศส ในทุกวันนี้
แต่ก็ไม่ใช่ว่าเจ้าหอไอเฟลนี้จะถูกสร้างขึ้นมาเฉยๆ ให้ใหญ่โตระดับสิ่งปลูกสร้างที่สูงที่สุดในโลกยุคนั้น เพื่อใช้สำหรับชมเมืองมันให้เปลืองงบประมาณเล่นเท่านั้นนะครับ เพราะว่าเจ้าหอนี่ยังทำหน้าที่เป็นพระเอกในงาน EXPO Paris 1889 อีกด้วย
ที่ว่าเป็นพระเอกก็คือ หอไอเฟลนั้นถูกใช้สำหรับเป็นประตูทางเข้าไปสู่งาน EXPO Paris 1889 นั่นแหละ
ฟังแล้วก็ดูดีจะตายใช่ไหม? หอชมเมืองกรุงปารีส สิ่งปลูกสร้างที่สูงที่สุดในโลกเมื่อเรือน ค.ศ. 1889 (ตรงกับ พ.ศ. 2432 ในยุครัชกาลที่ 5 ของไทย) สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการปฏิวัติอันเรืองโรจน์ ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองของฝรั่งเศสให้หลุดพ้นจากการถูกกดขี่โดนชนชั้นสูง (ถึงแม้ว่าจะไม่หลุดพ้นแบบทันควันหลังหน้าฉากของการปฏิวัติครั้งที่ว่าก็เถอะ) ในงานมหกรรมสินค้าโลกที่ยิ่งใหญ่ระดับ EXPO Paris 1889
แต่เรื่องมันไม่ได้สวยหรูอย่างฉากที่เห็นแค่นี้หรอกนะครับ เพราะอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังของเจ้างาน EXPO ที่กำลังอีเวนต์สุดชิค จนชาติมหาอำนาจ เจ้าอาณานิคมเก๋ๆ ชาติไหนในยุคนั้นเขาก็ต้องจัดกันทั้งนั้นนี่เอง
งานมหกรรมนานาชาติเหล่านี้ก็คือ การจัดแสดงสิ่งของนานาชาติ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้านำสมัยในแต่ละด้าน หรือวัฒนธรรมอันวิจิตรพิสดารพันลึกของประเทศตนเองต่อสายตาของชาวโลก ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก และมีการจัดขึ้นหลายครั้งในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกา (ประเทศไทยเองก็เคยมีการจัดมหกรรมทำนองนี้ แต่เน้นจัดแสดงเรื่องราวในประเทศสยามเองเสียมากกว่า ครั้งที่สำคัญที่สุดจัดขึ้นในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2425 ภายใต้ชื่องานชิคๆ ว่า ‘นาเชอนนัล เอกซฮิบิเชน’ แบบไม่เห็นต้องแคร์ว่าจะต้องใช้ชื่องานเป็นภาษาไทย)
ดังนั้นจึงสามารถเห็นกันได้ชัดๆ แบบไม่มีเม้มกันเลยทีเดียวว่า มหกรรมพวกนี้ก็คืองาน ‘โชว์ของ’ ว่าประเทศตัวเองนั้น เจ๋ง ชิค คูล และชนะเลิศ อย่างไรบ้าง? ซึ่งก็แน่นอนด้วยว่า ในการแต่ละชาติที่จัดงานจำพวกนี้ต่างก็ต้องการประกาศศักดาว่า ชาติข้านี้เจ๋งกว่าชาติมหาอำนาจอื่นๆ อย่างไรบ้างกันทั้งนั้น
แต่ถ้าแค่จะอวดว่าตัวเองมีของอย่างไรเท่านั้นก็ยังไม่เท่าไหร่หรอกนะครับ แต่หลายครั้งงาน EXPO ที่จัดโดยชาติเจ้าอาณานิคมขาใหญ่ทั้งหลาย เขามักจะไม่แค่อวดของของตัวเองเท่านั้น เพราะยังได้ข่มเอาประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศโลกที่สามอย่างเราๆ ว่าไม่ศิวิไลซ์เอาเสียเล้ยยด้วยน่ะสิ
ที่สำคัญก็คือจุดเปลี่ยนผ่านของภาวะการ ‘ตบเด็ก’ ผ่านงาน EXPO อย่างนี้ก็คือ งาน EXPO Paris 1889 ที่มีหอไอเฟลเป็นพระเอกนี่แหละ
เพราะภายในงาน EXPO Paris 1889 ได้เกิดการแบ่งส่วนพื้นที่การจัดแสดงเป็นสองส่วน ซึ่งมักจะเรียกรวมๆ กันว่า โซน ‘White City’ กับ ‘Colonial section’ เป็นครั้งแรก
แน่นอนว่า ‘White’ ใน ‘White City’ นี่ก็หมายถึง ‘คนขาว’ หรือไอ้พวกฝรั่งนี่แหละนะครับ แค่ชื่อก็เห็นกันอยู่ชัดๆ ว่า เป็นการเหยียดชนชาติอื่นที่ไม่ขาวโอโม่ ไม่ว่าผิวคุณจะเหลือง หรือว่าจะดำ ก็ถูกเหยียดแบบเสมอภาคเหมือนกันทั้งหมด ส่วนอะไรที่ถูกจัดแสดงอยู่ในเซคชั่นนี้ก็คือ ความก้าวหน้าทางด้านต่างๆ ของพี่ๆ ประเทศที่ศิวิไลซ์เขา ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรม การขนส่ง เทคโนโลยีล้ำๆ ในยุคโน้น การเกษตรแบบทันสมัย และอีกสารพัดสิ่งอัน บลาๆๆๆ
ในขณะที่โซน ‘Colonial section’ หรือส่วนของพวกที่ตกอยู่ใต้อาณานิคมนั้น ก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะเป็นโซนที่มีแต่ชาติใต้อาณานิคมของฝรั่งในยุคนั้นเท่านั้น แต่หมายถึงโซนของพวกคนที่ไม่ขาวอย่างฝรั่ง (ซึ่งก็หมายถึงพวกที่ไม่ศิวิไลซ์เอาเสียเล้ยย ในสายตาของฝรั่งเจ้าอาณานิคมด้วย) ไม่ว่ายูว์จะเป็นอาณานิคมของใครหรือไม่ก็ช่าง เสียมากกว่า (ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเวลาพี่ไทยของเราไปเข้าร่วมงานมหกรรมพวกนี้แล้ว พี่ๆ ชาติมหาอำนาจเขาก็กันที่ไว้ให้เราไปโชว์ของในพื้นที่โซนไหน?)
ส่วนข้าวของที่ถูกจัดแสดงอยู่ในโซนของชนชาติที่ไม่ขาวอย่างเราๆ ก็ไม่ใช่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอะไรเหมือนทางฝั่งเมืองคนขาวเขาหรอกนะครับ แต่เป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ และข้าวของแปลกๆ ดูยังเป็นประเทศด้อยพัฒนาในสายตาฝรั่งจากประเทศเหล่านั้นต่างหาก
‘EXPO Paris 1889’ จึงเป็นเหมือนกับการจำลอง และย่อขนาดโลกของพวกฝรั่งเศส พร้อมๆ ไปกับมีการจัดระเบียบโลกสมมติดังกล่าวด้วยการลำดับชั้นวรรณะไปด้วยว่า กูขาวและอารยะ ส่วนพวกมึงที่ไม่เหลืองก็ดำน่ะ ไม่ได้ศิวิไลซ์เอาเสียเลย โดยศูนย์กลางของโลกสัปปะรังเคอย่างนี้ก็คือ สิ่งปลูกสร้างล้ำสมัย ที่สูงที่สุดในโลกเมื่อครั้งกระโน้นอย่าง ‘หอไอเฟล’ นี่เอง
เอาเข้าจริงแล้ว หน้าที่สำคัญแต่เริ่มแรกของหอไอเฟลจึงไม่ได้ใช้สำหรับชมเมือง หรือเป็นจุดหมายตา (landmark) อะไรเท่ากับการเป็นสัญลักษณ์ว่า ชาติฝรั่งเศสของกูนี่เจ๋งกว่าชาวบ้านหรอกนะครับ มันจึงเป็นเรื่องตลกร้ายดีเหมือนกันที่ พวกฝรั่งเศสฉลองครบรอบการปลดแอกของชนชั้น ด้วยการสร้างอะไรที่มาตอกย้ำเรื่องการจัดระเบียบชนชั้น เพื่อการกดขี่ และลัทธิล่าอาณานิคม
การสร้างหอชมเมืองสูงๆ อย่างนี้ในมุมโลกอื่นๆ ก็มีแนวคิดในทำนองเดียวกันนี่แหละ หอคอยอีกแห่งที่คนไทยน่าจะรู้จักกันก็คือ หอโตเกียว ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็สร้างโดยมีแรงบันดาลใจมาจากหอไอเฟลนี่เอง
แต่หอไอเฟลไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจแค่ในแง่ของรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมให้กับหอโตเกียวเท่านั้น อุดมการณ์บางอย่างในการสร้างหอโตเกียวก็ว่าด้วยความภาคภูมิใจในชาติของพวกพี่ยุ่นเขาด้วย
แน่นอนว่าจุดประสงค์สำคัญของการสร้างหอโตเกียวเมื่อ ค.ศ. 1953 (พ.ศ. 2496) ไม่ใช่การชมเมือง แต่เป็นการใช้ในการกระจายสัญญาณโทรทัศน์ของ องค์กรการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะอย่าง NHK แต่เหตุผลสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดหอคอย ที่เขาใช้ชมเมืองเป็นผลพลอยได้แห่งนี้ ขึ้นมาก็คือ การที่ญี่ปุ่นต้องการสร้างสัญลักษณ์ในการผลักดันชาติให้เป็นอีกหนึ่งของเจ้าเศรษฐกิจโลก หลังจากบอบช้ำมาจากระเบิดปรมาณูทั้งสองลูกในสงครามโลกครั้งที่ 2
ประเทศกรุงเทพฯ ก็กำลังจะมีหอคอยเป็นของตนเอง ซึ่งนอกจากจะสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใสๆ แบ๊วๆ อย่างการให้เป็นจุดชมเมืองแล้ว สิ่งปลูกสร้างราคามหาแพงอย่างนี้ก็ย่อมต้องมีวัตถุประสงค์อื่นๆ ในการสร้างขึ้นอีกด้วย และแน่นอนว่าวัตถุสำคัญอย่างหนึ่งก็คือใช้สำหรับการเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ซึ่งก็ดูจะเข้ากันดีกับคำให้สัมภาษณ์จากฝั่งรัฐบาลที่มีตอนหนึ่งระบุว่า ต้องการให้หอชมเมืองนั้นเป็น “…สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีความโดเด่นของเอกลักษณ์ไทย และเป็นสัญลักษณ์สำคัญของยุค…” (ที่มา : www.matichon.co.th)
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่หอไอเฟลเป็นสัญลักษณ์สำคัญของฝรั่งเศส ในฐานะศูนย์กลางในโลกจำลองขนาดย่อมของงาน EXPO Paris 1889 ส่วนหอโตเกียวก็คือสัญลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่น และก็เป็นศูนย์กลางในการแพร่กระจายสัญญาณโทรทัศน์ของ NHK ซึ่งก็เปรียบเสมือนสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของญี่ปุ่น จึงเป็นเหมือนศูนย์กลางในการกระจายอุดมการณ์ของชาติให้กับประชาชน หอชมเมืองกรุงเทพฯ จะมีบทบาทในการเป็นสัญลักษณ์ของชาติอย่างไร?
หรือบางทีอาจจะไม่ต้องมีบริบท โครงสร้าง หรือระบบการทำงานในฐานะสัญลักษณ์ของชาติอะไรเลยก็ได้ เพราะความเป็นไทยก็ดูเหมือนจะเป็นอะไรที่ลอยๆ ไม่ต้องการเหตุผล และความเข้าใจใดๆ อะไรอยู่แล้วมั้งครับ?