ผมชอบหอชมเมืองนะครับ
จำได้ว่า หอแรกที่ (กระแดะระเห็จ) ขึ้นไปนั่งกินสตรอว์เบอรี่ชอร์ตเค้กกับชาเอิร์ลเกรย์ คือ Sydney Tower ซึ่งบนนั้นจะมีทั้งร้านอาหารและคาเฟ่ แน่นอนว่าวิวสวย เพราะเห็นตัวเมืองซิดนีย์ อ่าวซิดนีย์ ซิดนีย์ฮาร์เบอร์บริดจ์ และสวนพฤกษศาสตร์ แถมนั่งๆ อยู่ เมฆก็เข้ามากลุ้มรุมหอบดบังวิวจนเหมือนลอยอยู่บนท้องฟ้าอีกต่างหาก
ผมคิดว่า ที่ตัวเองชอบขึ้นไปดูเมืองบนที่สูง เพราะชอบเล่นเกมอย่าง SimCity มาตั้งแต่ภาคแรก จึงชอบสังเกตดูการวางผังเมืองจากด้านบน ซึ่งเมื่อนำภาพมุมสูงมาประกอบเข้ากับรายละเอียดจากการ ‘เดินเมือง’ ด้วยเท้าแล้ว ก็จะทำให้เข้าใจได้ว่า ‘โครงสร้าง’ (ที่เป็นภาพใหญ่) กับวิถีชีวิตที่เป็นเนื้อเมือง (อันเป็นภาพเล็ก) มันโอบอุ้มสอดประสานกันอย่างไร ทำงานอย่างไร สร้างสรรค์และเหลาเกลาชีวิตของผู้คนในเมืองต่างๆ ออกมาอย่างไร
ด้วยเหตุนี้ หลังจากนั้นมา ไม่ว่าจะไปเมืองไหนๆ ถ้ามีโอกาสและเวลา ก็เป็นต้องขอขึ้นไปบนหอหรือตึกสูงต่างๆ เพื่อดูภาพมุมสูงของเมืองอยู่เสมอ เช่นหอไข่มุกและตึกจินเหมาทาวเวอร์ที่เซี่ยงไฮ้, ตึกเอ็มไพร์สเตทที่นิวยอร์ก, ตึกเบิร์จอัลอาหรับที่ดูไบ (ตอนนั้นยังไม่มีเบิร์จคาลิฟา) ฯลฯ หรือถึงจะเป็นเมืองเล็กๆ ไม่มีตึกระฟ้า ก็จะพยายามไต่ปีนหอคอยของโบสถ์หรือปราสาทโบราณขึ้นไปดู จะมีที่ไปแล้วไม่ได้ขึ้นไปชมวิวอยู่แค่สองที่ คือหอไอเฟลที่ปารีส (เพราะมีเวลาน้อย) กับไทเป 101 ที่ไต้หวัน (เพราะเป็นวันที่ทำกิจกรรมเหน็ดเหนื่อยเกินไป)
อย่างไรก็ตาม ตึกสูงที่ขึ้นไปแล้วตื่นเต้นที่สุด ก็คือตึกใบหยก 2 ซึ่งขึ้นไปตั้งแต่ตึกนี้เปิดใหม่ๆ ตอนนั้นไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก เพราะคิดว่ารู้จักกรุงเทพฯ ดีอยู่แล้ว แต่เมื่อขึ้นไปอยู่บนที่สูง 304 เมตร เหนือผืนดินกรุงเทพฯ ก็ค้นพบว่ากรุงเทพฯ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะเมื่อมองจากมุมสูง เราจะเห็นร่องรอยการวางผังเมืองแต่เดิมที่สวยทีเดียว พื้นที่สีเขียวก็มีไม่น้อย
ที่เกริ่นมาแบบนี้ คืออยากจะบอกว่าผมไม่ได้ต่อต้านหอชมเมืองใดๆ เลยนะครับ ชอบด้วยซ้ำที่จะมีหอชมเมืองใหม่ ซึ่งอยู่ใกล้กับฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อให้ไม่ได้อยู่บนฝั่งพระนครก็ไม่เห็นเป็นไร
แต่ปัญหาก็คือ มีคน ‘ตั้งคำถาม’ ถึงหอชมเมืองใหม่นี้กันอยู่หลายต่อหลายเรื่อง เริ่มต้นต้ังแต่การแถลงข่าวของรัฐบาล ซึ่งชวนให้คนเข้าใจว่ารัฐจะเป็นคนควักกระเป๋าออกเงินค่าสร้างหอนี้เอง จนกระทั่งต้องออกมาอธิบายขยายความเพิ่มเติม ซึ่งฟังแล้วแทบจะทึ้งผมตัวเอง เพราะไม่น่าเชื่อเลยว่าการแถลงข่าวของรัฐบาลจะ ‘ผิดพลาด’ ได้มหันต์ขนาดนั้น ทั้งตัวเลขที่ผิด การอธิบายที่คลุมเครือ จนแอบสงสัยไม่ได้ – ว่านี่เป็นการแถลงแบบ ‘เล่นหมากรุกสามชั้น’ เพื่อชี้นำให้เกิดการถกเถียงในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง หันเหไปจากเป้าหมายที่ควรจะเป็นหรือเปล่า เพราะเมื่อหลายคนออกตัวแรงมาคัดค้านว่ารัฐไม่ควรควักกระเป๋า แล้วพบว่าตัวเองต้อง ‘เงิบ’ เนื่องจากโครงการนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐ ก็ดูคล้ายหลายคนจะออมคำลงไปโดยพลัน ซึ่งแท้จริงไม่ควรเป็นแบบนั้นเลย
ถ้าเราดูหอชมเมืองจำนวนมากในโลก (ยกเว้นแต่ประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยนะครับ) เราจะพบว่า โดยทั่วไป หอชมเมือง (หรือตึกสูงระฟ้า) โดยเฉพาะที่เป็นสมาชิกของ The World Federation of Great Towers (WFGT) ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ใช้เงินของรัฐสร้างนะครับ งบประมาณที่สร้างคืองบของเอกชน คือสร้างขึ้นโดยเอกชน เพื่อเป้าหมายของเอกชน (คือการทำมาหากินในรูปแบบต่างๆ)
ตัวอย่างเช่น CN Tower ในโตรอนโต สร้างโดยบริษัท CN (หรือ Canadian National Railway Company) ที่เป็นบริษัทมหาชน มีเป้าหมายจะสร้างเป็นหอวิทยุและโทรทัศน์, Sydney Tower สร้างโดย AMP หรือ Australian Mutual Provident Society ที่เป็นบริษัทไม่แสวงหากำไร เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาจากการรวมกลุ่มของธุรกิจในย่านใจกลางเมืองซิดนีย์ ที่อยากสร้างหอนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว
แม้แต่ Space Needle Tower ในซีแอตเทิล ก็สร้างขึ้นจากไอเดียของประธานในการจัดงาน World Fair ที่อยากได้หอคอยสูงที่มีร้านอาหารอยู่ด้านบน เอาไว้ดึงดูดคนที่มางาน ซึ่งก็เป็นเรื่องของเอกชนล้วนๆ โดยมีเจ้าของคือ Space Needle Corporation หรืออีกตึกระฟ้าหนึ่งซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญของสหราชอาณาจักร ก็คือ The Shard ในกรุงลอนดอน ซึ่งต้องบอกว่า The Shard นั้นยิ่งแล้วใหญ่ เพราะทุนสร้างมาจากต่างประเทศ คือมาจากกาตาร์ถึง 95% โดยมี Sellar Property Group เป็นเจ้าของร่วมอีกแค่ 5% เท่านั้นเอง
ในบรรดาตึกที่เป็นสมาชิกของ WFGT น่าจะมีอยู่สองสามแห่งเท่านั้นที่เจ้าของคือรัฐ เช่น Beijing Central Radio and TV Tower หรือ Oriental Pearl Tower ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งก็ตั้งอยู่ในประเทศจีน (ที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย)
เพราะฉะนั้นจึงพูดได้ว่า โดยทั่วไปในสากลโลก การสร้างสิ่งที่เป็น Landmark ร่วม (ในกรณีของเราอาจเรียกได้ว่าเป็น National Landmark ด้วยซ้ำ) ล้วนใช้เงินเอกชนสร้างหรือเกิดจากความริเริ่มของเอกชนกันทั้งนั้น ดังนั้น ประเด็นที่มาถกเถียงกันเรื่องใช้เงินเอกชนสร้างอะไรนั่น จึงเป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดาสามัญ เพราะหอชมเมืองพวกนี้ ต้องถือว่าเป็น ‘ของฟุ่มเฟือย’ ของเมือง คือเป็นส่วนตกแต่ง เป็นการเขียนคิ้วทาปากเมือง แต่ไม่ใช่สาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของผู้คน ไม่เหมือนน้ำประปา ไฟฟ้า การขนส่งคมนาคม พื้นที่สีเขียว ฯลฯ ดังนั้นการที่รัฐไม่ควรจะต้องควักเงินมาสร้าง – ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องในระดับพื้นฐานอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไปดูการสร้างหอชมเมือง หรืออาคารใหญ่ๆ พวกนี้ เราจะเห็นได้เลยว่า ‘วิธีการ’ หรือ ‘ขั้นตอน’ ในการสร้าง ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ นะครับ โดยทั่วไป เมื่อจะเกิดหอชมเมืองขึ้นมา จะมี ‘ผู้เกี่ยวข้อง’ (Party) ที่เข้ามามีส่วนได้เสียอยู่สามส่วนด้วยกัน
ส่วนแรกก็คือเอกชนที่มีไอเดีย (และทุน – ไม่ว่าจะไปหาทุนมาจากไหนก็ตาม) อยากจะสร้าง โดยเอกชนก็ต้องเสนอแผนการสร้างการออกแบบทั้งหมดต่อรัฐ เพื่อให้รัฐตรวจสอบและอนุมัติ
ส่วนที่สองก็คือ ‘รัฐ’ ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผังเมือง รูปร่างหน้าตาของอาคาร ศิลปะสถาปัตย์ หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของผู้คนในละแวกที่จะเกิดสิ่งก่อสร้างนี้ขึ้น
ส่วนที่สามที่สำคัญมาก – ก็คือสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘ประชาชน’ ในเมือง ซึ่งแม้ดูเผินๆ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรด้วย เงินทองอะไรก็ไม่ได้ออก (เพราะไม่ได้เอาภาษีของประชาชนมาใช้) แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คนเหล่านี้นี่แหละที่ต้องทำหน้าที่ ‘บริโภค’ ตึกเหล่านี้ ไม่ว่าจะบริโภคในทางกายภาพ ในทางสัญญะ ในทางทัศนียภาพ หรือกระทั่งบริโภคในทางวัฒนธรรม ดังนั้นการจะให้ตึกเหล่านี้มี ‘ฟังก์ชั่น’ แบบไหนในเมือง ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการอนุมัติ (อย่างน้อยก็โดยทางอ้อม) ด้วย
ตัวอย่างที่ดีที่สุดของการวางแผนสร้างตึกระฟ้าในยุคใหม่ น่าจะเป็น The Shard ซึ่งแม้จะไม่ใช่ ‘หอ’ แบบ Tower แต่ก็เป็นตึกที่สูงที่สุดในสหราชอาณาจักร (สูงเป็นอันดับสี่ในยุโรป) ดังนั้น The Shard จึงเป็นสัญลักษณ์หรือ Landmark ใหม่แห่งกรุงลอนดอนไปด้วยโดยปริยาย
The Shard มีการวางแผนสร้างมาตั้งแต่ปี 1998 โดยไอร์วีน เซลลาร์ (Irvine Sellar) ที่อยากจะพัฒนากลุ่มอาคารทางด้านใต้ของแม่น้ำเธมส์ที่เรียกว่า Southwark Towers ต้องหมายเหตุไว้ตรงนี้ด้วยว่า แผนการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หรือจู่ๆ มีไอเดียปิ๊งแวบขึ้นมาแล้วก็จะสร้าง แต่เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลอังกฤษเองก็อยากให้เกิดการพัฒนาตึกสูงในแถบนี้ด้วย นั่นแปลว่าการสร้างตึกนี้มีโยงใยคอนเน็คชั่นและการล็อบบี้ระหว่างกลุ่มการเมืองกับกลุ่มนักธุรกิจซ่อนอยู่ด้วยเหมือนกัน ซึ่งหากไม่ไร้เดียงสาทางการเมืองมากเกินไป ก็คงเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการเมืองก็คือการต่อรองผลประโยชน์ เบื้องหลังโครงการใหญ่ๆ ล้วนเต็มไปด้วยการต่อรองและการล็อบบี้
แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ โครงการน้ีไม่ได้แค่ล็อบบี้กันงุบงิบอยู่ในหมู่นักการเมืองและนักธุรกิจเท่านั้น องค์กรภาคประชาชนอื่นๆ ‘ต้อง’ มีส่วนรับรู้ คัดค้าน ตรวจสอบ และร้องเรียน เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย (หรือเห็นด้วย) ได้
ดังนั้น ในปี 2002 จึงเกิดการร้องคัดค้านโครงการ The Shard (ที่ตอนนั้นยังไม่เป็นรูปเป็นร่างอะไรเลย แต่คนก็รู้กันไปทั่วแล้วว่าจะมีการสร้างตึกที่ว่านี้ขึ้นมา แม้กระทั่งผมที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งยังรู้เลยครับ) โดยหลายองค์กร ตั้งแต่ The Commission of Architecture and the Built Environment รวมไปถึง Royal Parkd Foundation หรือองค์กรอย่าง English Heritage (ซึ่งก็ต้องเน้นย้ำด้วยนะครับ ว่าตรงนั้นเป็น ‘ที่ดิน’ ของเอกชน ไม่ใช่ของรัฐ แต่ไม่ได้แปลว่าคนอื่นจะไม่มี ‘สิทธิร่วม’ ในการตัดสินใจ) ทำให้เกิดการไต่สวนกันในปี 2003 ซึ่งก็ปรากฏออกมาว่า แผนการก่อสร้างได้รับการอนุมัติในที่สุด
ถ้าเราดูการวางแผนสร้าง The Shard (หรือจริงๆ จะย้อนกลับไปดูการก่อสร้างหอชมเมืองอื่นๆ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยด้วยก็ได้) แล้วย้อนกลับมาดูการสร้าง ‘หอชมเมือง’ ที่ผ่านการอนุมัติให้ใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ (ที่เรียกกันว่า ‘ที่ราชพัสดุ’) ก็ชวนให้หลายคนเกิดคำถามขึ้นมาว่า – เอ๊ะ! แล้วทำไมตูไม่เห็นรู้เรื่อง!
บางคนอาจจะออกมาบอกว่า โอ๊ย! โครงการนี้เขาไม่ได้ปิดลับอะไรนะคุณ เปิดเผยโปร่งใสกันจะตายไป แถมตอนนี้ยังผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (หรือ EIA) มาแล้วด้วย ใครจะมาหาว่ารัฐบาลงุบงิบกับภาคเอกชนสร้างขึ้นมาน่ะ – ไม่ได้นะ
แต่นั่นแหละครับคือประเด็น – ประเด็นก็คือ, นี่ขนาดเปิดเผยโปร่งใส ไม่มีอะไรลี้ลับซับซ้อนในกอไผ่แล้วนะ ทำไมคนทั่วไปถึงไม่รู้ ทำไมถึงไม่มีใครหรือองค์กรไหนเลยในประเทศนี้สามารถยื่นเรื่องตรวจสอบคัดค้านโครงการนี้ได้ ทำไมอยู่ๆ ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะลงตัวไปเสียหมด และดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน – คือการเดินหน้าสร้างอย่างสะดวกโยธิน
เอาเข้าจริง ผมไม่สนใจเท่าไหร่หรอกนะครับว่าจะมีการเอื้อประโยชน์กับเอกชนหรือเปล่า หรือว่าต้องเปิดประมูลอะไรอย่างไรบ้างหรือเปล่า เพราะเข้าใจว่าคงมีคนตามเรื่องนี้กันไม่น้อยอยู่แล้ว แต่ที่ผมสนใจมากก็คือ โครงการสร้าง ‘หอชมเมือง’ แห่งกรุงเทพฯ นี้ มันทำให้เราเห็นถึง ‘โครงสร้างอำนาจ’ แบบไหนในบ้านเมืองนี้บ้าง
เราได้เปิดโอกาสให้คนตั้งคำถามบ้างหรือเปล่า ว่าทำไมสิ่งที่จะเป็น National Landmark ขนาดนี้ สลักสำคัญขนาดนี้ ถึงต้องมีที่ตั้งอยู่ตรงนี้ เป็นพื้นที่อื่นได้ไหม การออกแบบซึ่งแสดงถึงสุนทรียรสทางสายตา และอาจถึงขั้นกลายเป็น ‘รสนิยมแห่งชาติ’ นั้น เป็นที่รับรู้และยอมรับโดยผู้คนในวงกว้างแค่ไหนแล้วหรือยัง และกระบวนการสร้างสิ่งที่ใหญ่โตขนาดนี้ มันเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มีข้อมูลอะไรให้คนทั่วไปเข้าถึงเพื่อตรวจสอบได้มากน้อยแค่ไหน และถ้าอยากจะตรวจสอบ จะทำได้ไหม ทำได้อย่างไรบ้าง
National Landmark แบบนี้ ต่อให้เป็นโครงการของเอกชน รัฐก็ต้องเข้ามาเป็นตัวเชื่อมเพื่อโยงใยโครงการเหล่านี้เข้าหาประชาชนที่เป็น ‘เจ้าของประเทศ’ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้รับรู้ ประเมิน ยอมรับ ไม่ยอมรับ (หรือแม้กระทั่งถ้าไม่อยากอยู่ต่อไป ก็จะได้เตรียมตัวขายที่ดินแถวนั้นเพื่อย้ายออกไปอยู่ที่อื่น)
คำถามก็คือ – ทำไมรัฐถึงไม่ทำตัวเป็น ‘สะพาน’ เชื่อมโครงการนี้กับประชาชนทั่วไป
ที่จริง ต่อให้รัฐอยากผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นก็ไม่เป็นไรนะครับ แต่ปัญหาก็คือ เราไม่เห็นแม้กระทั่งความพยายามจะ ‘สร้างความเข้าใจ’ เลยแม้แต่น้อย ว่าเพราะอะไรถึงต้องใช้พื้นที่ตรงนี้ แต่ดูคล้ายกับว่า รัฐกำลังทำหน้าที่เป็น ‘ธุรกิจบริกร’ (กลับข้างกับที่คนสมัยก่อนทำหน้าที่เป็น ‘เนติบริกร’) คือไปทำหน้าที่ให้บริการภาคเอกชนภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นวิธีคิดวิธีทำที่กลับหัวกลับหางกับที่เกิดขึ้นในสากลโลก
วิธีการที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ประเทศนี้ไม่ต้องการ ‘การตัดสินใจร่วม’ จากประชาชนทั่วไปที่จะเลือกเฟ้น ‘สุนทรียะร่วม’ หรือ ‘รสนิยมร่วม’ ในการสร้างสิ่งที่จะกลายเป็น National Landmark (แม้ว่าจะเป็นการสร้างโดยทุนของเอกชนก็ตาม) ซึ่งจะอยู่ไปชั่วลูกชั่วหลานเลย ดังนั้น ถ้าผลลัพธ์ออกมาได้หอชมเมืองที่มีศิลปะสถาปัตย์แบบไหน มีรสนิยมแบบไหน อยู่ตรงไหน เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมหรือไม่ ก็ต้องรับกันไปโดยไม่อาจอ้าปากแสดงความเห็นใดๆ
จริงอยู่ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจจะดีงามก็ได้ (แบบเดียวกับที่ในที่สุด The Shard ก็ได้รับการอนุมัติให้สร้าง และมีคนชื่นชอบไม่น้อย) แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ผลลัพธ์มากเท่ากับ ‘วิธีการ’ ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์นั้น ประเด็นอยู่ตรงเรื่อง ‘อำนาจ’ ของคนในสังคมนี้ – ที่จะสามารถ ‘ตัดสินใจร่วมกัน’ ได้หรือไม่
เรา – ประชาชนคนไทย, ไม่มีความสามารถนั้น ไม่มีโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่จะเกื้อหนุนให้เกิดความสามารถนั้น ไม่มีกลไกหรือเครื่องมืออะไรเลยที่จะทำให้คนทั่วไปมีอำนาจในการตรวจสอบ และยิ่งไม่มีใครกล้าออกมาแสดงความคิดเห็น ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าทั้งภาครัฐและภาคประชาชนยอมรับเรื่องนี้โดยดุษฎี ยอมรับว่า รัฐไม่จำเป็นต้อง ‘เห็นหัว’ คนทั่วไป และคนทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องโงหัวขึ้นมาให้ใครเห็น ทำได้เพียงนั่งงอมืองอเท้ารอรับสิ่งที่จะเกิดข้ึนเท่านั้น
การที่หอชมเมืองจะเกิดขึ้นด้วยวิธีการแบบนี้ จึงน่าจะเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึง ‘ยุคสมัย’ แห่งความเป็นไทยในโครงสร้างอำนาจปัจจุบันได้ดีเหลือเกิน เพราะมันเกิดขึ้นบนฐานของ ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ ที่มีเอกลักษณ์มากๆ
ที่จริงแล้ว ก่อนหน้านี้ คุณประยุทธ์เคยตั้งคำถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งเอาไว้สี่ข้อ ข้อแรกก็คือ – การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะทำให้ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่
น่าตลกดี – ที่โครงการหอชมเมืองที่ว่า, ได้ช่วยตอบคำถามนี้ให้เราไปแล้วในระดับหนึ่ง