เมื่อหลายเดือนก่อน มีกระทู้ในเว็บสังคมออนไลน์แห่งหนึ่งที่อ่านแล้วสร้างความคันยุบยิบเป็นการส่วนตัวอยู่พอสมควร นั่นคือกระทู้ที่ว่าด้วยขนาดภาพของหนังสารคดีเรื่อง Girls Don’t Cry ของผู้กำกับ เต๋อ—นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ว่าการที่ผู้กำกับเลือกใช้ขนาดภาพ 16 : 9 ในการถ่ายทำ ได้ถูกประเมินค่าว่าเป็นการลงทุนต่ำไม่สมค่าความเป็นภาพยนตร์ฉายโรง
อันที่จริงเมื่อราว 10 ปีที่แล้วก็เคยมีกระทู้ในแนวทางเดียวกันออกมาแล้วครั้งหนึ่ง จำได้ว่าครั้งนั้นหนักหนาระดับที่กล่าวโทษโรงภาพยนตร์เลยด้วยว่าการฉายหนังไม่เต็มจอเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เราจึงคิดว่าประเด็นเกี่ยวกับขนาดภาพหรือ Aspect Ratio นี้ น่าจะได้รับตำแหน่งความเข้าใจผิดเรื้อรังข้ามทศวรรษที่ควรได้รับการพูดถึงอย่างจริงจังได้แล้ว
วันนี้จะลองอธิบายประเด็นนี้ในเวอร์ชั่นย่นย่อที่เข้าใจง่ายที่สุดให้ฟังกันครับ เพราะถ้าลงรายละเอียดแบบบรรลุโสดาบันจริงๆ น่าจะต้องมานั่งถกเถียงกันเป็นสัปดาห์ แถมอาจต้องบินไปทำการลงพื้นที่หารากเหง้าของข้อมูลเพิ่มเติมที่ต่างประเทศร่วมกันอีกด้วย
ขอเริ่มต้นความซับซ้อนนี้จากสิ่งที่เราคุ้นเคยกันทุกเมื่อเชื่อวัน คือสเกลภาพของจอทีวีทั่วไป หากเป็นทีวีสมัยก่อนที่เป็นจอตู้รูปทรงเกือบจะสี่เหลี่ยมจัตุรัส นั่นคือสเกลที่เรียกว่า 4 : 3 (อ่านตรงเครื่องหมาย : ว่า ‘ต่อ’ จะเป็นคำว่า ‘สี่ต่อสาม’) ส่วนทีวีจอแบนรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าในปัจจุบันจะคือสเกล 16 : 9 ซึ่งตัวเลขแรกจะหมายความถึงหน่วยแนวนอนของจอ และตัวเลขหลังคือหน่วยแนวตั้งของจอ
ในยุคแรกเริ่มของวิทยาการทางด้านภาพนั้น ก็มีนักวิชาการพยายามทำให้หน่วยตัวเลขไม่ดูยุ่งยากขนาดนี้ ด้วยการเอาหน่วยแนวนอนมาหารกับแนวตั้งกันดื้อๆ จนทำให้มีการเรียกอีกวิธีควบคู่ไปด้วย อย่างเช่นสเกล 4 : 3 พอเอา 4 มาหาร 3 ก็จะได้ 1.33 จนทำให้เกิดการเรียกอีกแบบว่าคือสเกล 1.33 : 1 นั่นเอง (มันซับซ้อนน้อยกว่าเดิมตรงไหน ใครช่วยบอกที) และหลายครั้งทั้งสองวิธีการก็ถูกเรียกสลับไปมาตามความนิยมจนชวนงงมาก ซึ่งบทความนี้ก็อาจทำให้ทุกคนงงได้เช่นกัน ค่อยๆ ทำความเข้าใจไปด้วยกันนะครับ
ทีนี้ ในส่วนของภาพยนตร์ฉายโรงในยุคแรกเริ่มโบร่ำโบราณ ก็ได้มีการใช้สเกล 4 : 3 หรือ 1.33 : 1 เหมือนกับทีวีเช่นกัน ก่อนที่จะมีการพัฒนามาเรื่อยๆ อีกหลายขนาดเพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษในโรงภาพยนตร์ จนหนึ่งในนั้นได้เกิดกลายเป็นสเกล 1.85 : 1 ขึ้น ซึ่งนั่นคือสเกลภาพแบบที่คนดูหนังโรงปัจจุบันส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ‘ฉายแบบไม่ขยายจอสุด’ หรือใกล้เคียงกับ 16 : 9 ในปัจจุบันนั่นเอง
และในขณะเดียวกัน ก็มีสเกลภาพที่มีขนาดกว้างออกทางซ้าย-ขวากว่านั้นเป็นอีกมาตรฐานหนึ่งสำหรับหนังโรง นั่นคือสเกล 2.35 : 1 หรือถ้านั่งอยู่ในโรงหนัง มันคือการ ‘ฉายแบบขยายจอสุด’ นั่นล่ะครับ
แม้ระหว่างทางจะมีการพัฒนาสเกลภาพออกมาอีกมากมาย แต่สุดท้ายแล้วสองสเกลนี้ก็อาจถือได้ว่าเป็นมาตรฐานของหนังโรงมายาวนาน ซึ่งสุดท้ายก็มีคนเรียกสรุปตัวเลขสองชุดนี้ออกมาเป็นคำง่ายๆ ว่า
หนังที่ถ่ายเป็น 1.85 : 1 คือหนังที่ถ่ายมาแบบ Flat ส่วน 2.35 : 1 จะเรียกว่า Scope (จากชื่อเต็มคือระบบ CinemaScope)
จนกระทั่งยุคที่ระบบดิจิทัลเริ่มรุกคืบเข้ามาแทนฟิล์ม ความซับซ้อนของสเกลภาพก็เริ่มชวนให้ปวดหัวมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ เมื่อมาตรฐานขนาดภาพของไฟล์ดิจิทัลแบบ HD ได้ถูกกำหนดไว้ด้วยค่า 16 : 9 ซึ่งพอหารออกมาแล้วกลายเป็น 1.77 : 1 ที่แม้จะใกล้เคียงกับ 1.85 : 1 มากจนแทบไม่รู้สึก แต่ก็ไม่เป๊ะอยู่ดี ในขณะที่ 2.35 : 1 ก็มีคนออกมาตีค่าในยุคใหม่ให้กลายเป็น 2.39 :1 หรือ 2.40 : 1 แถมสเกล ‘ประมาณนี้’ ก็ยังถูกตีออกมาเป็นค่า 21 : 9 หรือ 64 : 27 อีกด้วย
แต่ก่อนที่สิ่งที่ทุกคนกำลังอ่านอยู่จะกลายเป็นบทความวิชาการทางคณิตศาสตร์ไปมากกว่านี้ เอาเป็นว่าขอเรียกกันแบบง่ายๆ ไม่ให้งงภายใต้ขนาดประมาณการว่า ตอนนี้เรามีขนาดภาพในโรงภาพยนตร์ที่กำลังจะพูดถึงเป็นหลักคือแบบ flat และแบบ scope ก็แล้วกันนะครับ
อย่างที่เราสังเกตได้ในโรงภาพยนตร์ทั่วไป คือม่านกั้นจอภาพจะสามารถยืดหดได้ ซึ่งโรงในสมัยนี้ก็มีดีไซน์ที่แตกต่างกัน หากเป็นโรงทั่วไป ก็จะกางจอจนสุดซ้ายขวาได้ในขนาด scope คือกว้างมาก แล้วก็สามารถหดม่านด้านข้างมากั้นให้กลายเป็นขนาด flat ได้ ส่วนบางโรงที่ขนาดเล็กหน่อย จอกางสุดซ้ายขวากำแพงได้แค่ขนาด flat ก็จะใช้วิธีหดม่านจากด้านบนลงมาให้จอกลายเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่กว้างกว่าเดิมจนกลายเป็นขนาด scope แทน (ตอนเข้าโรงลองสังเกตกันดูนะครับ สนุกดี)
แต่จากที่เมื่อก่อน จอภาพในโรงภาพยนตร์จะเริ่มจากการฉายโฆษณาและหนังตัวอย่างในระบบ flat ก่อน และหากหนังเรื่องที่เราซื้อตั๋วเข้าไปชมนั้นถูกถ่ายทำมาในระบบ scope ม่านของโรงก็จะถูกขยายออกก่อนเริ่มฉาย ซึ่งให้ความรู้สึกที่อลังการมาก กลายเป็นว่าตอนนี้โรงหนังบางเครือเลือกที่จะเปิดจอค้างกางเป็น scope ไว้ก่อนเลยตั้งแต่ฉายหนังตัวอย่างและโฆษณา ก่อนที่ว่าหากเรื่องไหนถ่ายมาเป็น flat ก็จะหุบจอเข้ามาแทน
แม้จะดูเป็นเรื่องหยุมหยิมสุดๆ แต่กลายเป็นว่าประเด็นนี้ก็มีผลต่อความรู้สึกอยู่พอสมควรเหมือนกัน ในทางกลับกัน หากคุณได้เข้าไปดูโรงที่มีขนาด flat แบบหุบจอขึ้นลง การที่ฉายตัวอย่างแบบ scope แล้วพอถึงตอนเจอหนัง flat แล้วจอกางขึ้น จะรู้สึกยิ่งใหญ่มาก อันนี้เป็นความซับซ้อนที่น่าจะทำให้ทุกคนงงไปเรื่อยๆ
กลับมาที่กรณีของกระทู้เจ้าปัญหาที่เกริ่นไว้ข้างต้น กล่าวได้ง่ายๆ ว่าพอมีคนดูหนังหลายคนรู้สึกว่าการที่ทำหนังแบบ ‘จอไม่กว้าง’ อย่างที่ Girls Don’t Cry ถ่ายทำในระบบ flat นั้นคือการทำหนังราคาถูกที่ดูถูกคนดู มันคือความเชื่อที่ผิดครับ
เพราะการมีขนาดภาพในรูปแบบต่างๆ ในตอนนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างประสบการณ์พิเศษในการเข้าไปดูหนังในโรงเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่เกี่ยวกับศิลปะในการจัดวางองค์ประกอบภาพเพื่อเล่าเรื่องด้วย ซึ่งคนทำหนังแต่ละคนก็มีเหตุผลในการเลือกใช้ขนาดภาพที่แตกต่างกันไป
หนังบางเรื่องเลือกที่จะใช้ภาพ scope ในบริบทของการเสริมความอลังการ การโชว์ภาพมุมกว้างเพื่อให้รู้สึกถึงความกว้างใหญ่ของฉาก กระทั่งการเสริมความอ้างว้างของตัวละครที่ต้องอยู่ในพื้นที่กว้างเพียงลำพัง ก็สามารถใช้เรื่องของขนาดภาพมาช่วยเสริมได้ ในขณะที่ flat อาจเป็นสเกลมาตรฐานที่จัดวางองค์ประกอบต่างๆ ได้ง่ายกว่า รวมถึงหนังบางเรื่องยังใช้ความแคบของจอภาพในการเสริมอารมณ์ที่ต้องการให้คนดูอึดอัดตามอารมณ์ตัวละครได้อีกด้วย
เพราะฉะนั้น การถ่ายแบบ scope อาจไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง แม้กระทั่งหนังอย่าง The Avengers ภาคแรกที่ตามความคุ้นชินควรจะถ่ายในสเกลจอกว้างอลังการ ผู้กำกับภาพก็ยังเลือกถ่ายออกมาแบบ flat ด้วยเหตุผลว่าในช่วงไคลแม็กซ์ที่เป็นการต่อสู้กันกลางแมนฮัตตัน ต้องเล่าเรื่องไหลไปตามตึกรามบ้านช่อง ขึ้นบนลงล่างตึกอยู่ตลอดเวลา จึงต้องการการเล่าเรื่องในแนวสูงมากกว่าแนวกว้าง อีกเหตุผลที่ฟังแล้วตลกมากแต่ก็เข้าใจได้คือ หากเลือกถ่ายแบบ scope ก็จะยากในการกะขนาดภาพให้เหมาะสมเวลาที่ The Hulk ที่ตัวใหญ่สุดๆ ยืนรวมกับตัวละครที่เป็นมนุษย์ เพราะไม่เช่นนั้นคนอื่นๆ อาจดูตัวเล็กจิ๋วเกินไป สุดท้าย Flat คือคำตอบของหนังเรื่องนี้
หรือแม้กระทั่งผู้กำกับรางวัลออสการ์ กิเยร์โม เดล โทโร่ จาก The Shape of Water ก็เลือกที่จะถ่ายหนังทุกเรื่องของเขาเป็น flat ไม่ว่าจะเป็นหนังใหญ่หรือเล็กแค่ไหนก็ตาม ด้วยรสนิยมส่วนตัวทีเชื่อว่าขนาด flat คือสเกลภาพที่ใกล้เคียงกับ ‘สัดส่วนทองคำ’ (Golden Ratio) หรือสัดส่วนที่สมบูรณ์ที่สุดตามความเชื่อของชาวกรีกโบราณ ท่ามกลางขนาดภาพทั้งหมดที่นิยมใช้ในโลกภาพยนตร์ยุคนี้แล้ว
ซึ่งพอย้อนกลับมามองที่วงการหนังไทย ก็ยังรู้สึกงงๆ อยู่เหมือนกันที่ทุกวันนี้หนังไทยน้อยเรื่องในแต่ละปี (หากเทียบกับปริมาณหนังทั้งหมดที่ออกฉายต่อปี) จะให้ความสำคัญกับเรื่องของขนาดภาพจริงๆ เพราะหลายคนยังเข้าใจว่า ‘ใหญ่กว่าคือดีกว่า’ กันหมด แถมเทคโนโลยีดิจิทัลตอนนี้ยิ่งทำให้การทำให้หนังเป็น Scope ง่ายขึ้นมากๆ ด้วยการ crop ตัดขอบภาพบนล่างออกไปดื้อๆ เลย (เนื่องด้วยการบันทึกภาพมาตรฐานของกล้องดิจิทัลมักอยู่ที่ขนาด 16 : 9) แต่ก็ยังมีหนังไทยอีกหลายเรื่องที่ให้ความสำคัญกับจุดนี้
ขอยกตัวอย่างที่พอจะนึกขึ้นได้ไม่นานมานี้คือ ‘สยามสแควร์’ ของผู้กำกับไพรัช คุ้มวัน ที่เลือกจะถ่ายแบบ scope ด้วยเลนส์พิเศษที่ทำให้ภาพเป็นจอกว้างโดยไม่ต้อง crop ตัดขอบ เพื่อที่จะทำให้ซีนในห้องเรียนอันเป็นพื้นที่หลักของหนังซึ่งค่อนข้างแคบ ดูมีมิติความกว้างมากขึ้น และยังมีการจัดการองค์ประกอบภาพในส่วนอื่นๆ เพื่อรองรับสเกลภาพนี้ได้อย่างน่าสนใจ
อย่างที่ว่าไว้ แม้เรื่องขนาดภาพจะมีจุดเริ่มต้นจากการสร้างประสบการณ์พิเศษระหว่างการดูหนังในทีวีกับโรงภาพยนตร์ (แม้กระทั่งวงการหนังสั้นหรือมิวสิกวิดีโอก็ยังอยากทำเก๋กันมาแต่ไหนแต่ไร เพราะสมัยที่ทีวียังนิยมเป็น 4 : 3 หลายคนก็ยังอยากจอกว้างกันด้วยการคาดแถบดำบน-ล่างให้ภาพกลายเป็น 16 : 9 แต่พอยุคนี้ที่ทีวีเป็น 16 : 9 แล้ว ก็ยังจะคาดแถบดำให้กลายเป็น 21 : 9 กันเลย) แต่เหตุผลที่แท้จริงก็มีมิติซับซ้อนกว่านั้นมาก ยิ่งโดยเฉพาะการที่ยุคนี้เต็มไปด้วยจอภาพมากมายหลายขนาด ทั้งยังมีขนาดใหม่ๆ ออกมาไม่เว้นแต่ละวัน – ตั้งแต่จอมือถือยันโรงหนังหลากรูปแบบ – ก็ต้องเป็นหน้าที่ของคนทำงานแล้วล่ะครับว่าสเกลภาพแบบไหนที่เหมาะสมกับช่องทางการฉาย และสอดคล้องกับการเล่าเรื่องของงานตัวเองมากที่สุด
แต่เอาเป็นว่า หลังจากนี้หากเจอหนังที่ฉายด้วยขนาดภาพที่ไม่คุ้นเคย ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกแล้วกันนะครับ
FYI
- ‘อัตราส่วนทองคำ’ หรือ Golden Ratio คืออัตราส่วนที่จริงๆ แล้วตีเป็นตัวเลขออกมาได้ประมาณ 618 : 1 ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ถูกนำมาใช้สร้างงานออกแบบ งานศิลปะ และสถาปัตยกรรมสำคัญต่างๆ ของโลกมากมาย เช่นวิหารพาร์เธนอน ภาพโมนาลิซ่า ไปจนถึงโลโก้สินค้าต่างๆ โดยว่ากันว่าเป็นสัดส่วนที่สมดุลที่สุดและสามารถอิงกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติได้แทบทุกอย่าง แม้กระทั่งร่างกายมนุษย์
- สำหรับหนังไทย สมัยที่ยังมีแค่การถ่ายทำด้วยฟิล์ม การใช้เลนส์ที่เรียกว่า Anamorphic (อย่างที่หนัง ‘สยามสแควร์’ ใช้) เพื่อให้ได้ภาพแบบ Scope ที่แท้จริงตั้งแต่ตอนถ่ายทำโดยไม่ต้องมา crop ตัดส่วนภาพทิ้งภายหลัง ถือเป็นสิ่งที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงมากเพราะเลนส์เหล่านี้มีไม่มากในเมืองไทย ก็จะสังเกตได้ว่าหนังไทยช่วงยุค 90 เป็นต้นมาจนถึงช่วงรอยต่อของดิจิทัลมักถ่ายทำกันแบบ Flat มาโดยตลอด แต่ในยุคก่อนหน้านั้นที่หนังไทยเฟื่องฟูมากๆ ก็มีการถ่ายทำแบบ Scope อยู่บ้างเหมือนกัน
- อันนี้เป็นเกร็ดขำๆ: การถ่ายแบบ Flat ก็อาจถูกใช้สัมพันธ์ในเชิงโปรดักชัน ให้หนังที่มีต้นทุนไม่มากดูแพงขึ้นได้ด้วย หากต้นทุนของหนังไม่มากพอที่จะเซ็ทฉากใหญ่ การถ่ายทำแบบ Scope ก็อาจทำให้เราเห็นฉากหลังด้านซ้าย-ขวาที่ว่างเปล่าโล่งโจ้งได้เพราะไม่สามารถเซ็ทฉากใหญ่ได้ขนาดนั้น บางทีการถ่ายแบบ Flat แล้วเห็นทุกอย่างสวยงามเต็มจอก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าก็เป็นไปได้