บทความชิ้นก่อนหน้านี้ผมได้อภิปรายถึงความไม่สมประกอบทางความคิด ที่มองว่าการส่งปืน ส่งรถถัง หรือเครื่องบินทิ้งระเบิด ไปจัดการคนที่พร้อมจะเอาระเบิดมาพันตัวเองแล้วปฏิบัติการเพื่อสิ่งที่พวกเขาเชื่อหรือเรียกร้อง โดยมองว่านี่จะเป็นทางแก้ปัญหาได้ เพราะคนที่เขาพร้อมจะนำเอาระเบิดมาพันตัวเขานั้น คือคนที่พร้อมจะตายเพื่อสิ่งที่เขาเชื่อหรือเรียกร้องแต่ต้นอยู่แล้ว
ฉะนั้นการเอาปืนไปเป่าสมองเขาหรือทิ้งระเบิดลงกลางกระหม่อมพวกเขา มันจึงไม่ได้ตอบโจทย์ แก้ปัญหา หรือทำให้พวกเขากลัวเลย เพราะเขาไม่ได้กลัวมัน เขาทำใจที่จะต้องเจอมันอยู่แล้วแต่ต้น… ‘พวกเขาพร้อมที่จะตาย’ ครับ
แน่นอนเมื่อผมวิจารณ์วิธีการแบบที่ทำๆ กันอยู่ว่าเลวร้ายหลงผิดขนาดนี้ คำถามต่อมาที่จะเกิดขึ้นทันทีก็คือ… “แล้วจะแก้ไขยังไงล่ะ?” อันเป็นที่มาของบทความชิ้นนี้ ที่ผมมั่นใจว่าหลายท่านอ่านแล้วคงเบ้ปากหาว่าผมเป็นพวกอุดมคตินิยม ซึ่งผมไม่ปฏิเสธอะไรทั้งสิ้นครับ ผมคิดว่าตัวเองนั้นอุดมคตินิยม อย่างไรก็ดีผมคิดว่าในสภาพการเมืองที่แสนจะโสมมอย่างที่เป็นอยู่นี่นั้น การยังคงสามารถรักษาความหวังและอุดมการณ์ของตนไม่ว่าจะถูกมองว่าอุดมคติแค่ไหนนั้น เป็นคุณลักษณะที่จำเป็นประการหนึ่ง ฉะนั้นผมจะถือว่าเป็นคำชมแล้วกัน (555) แหม่ ก็โลกนี้มันก็แย่พอแล้ว ถ้าเรามาลดทอนความหวังของเราให้แย่ลงไปอีก คงไม่รู้จะอยู่กันไปทำไมแล้วครับ
ก่อนจะไปสู่คำอธิบายถึงนอร์เวย์โมเดลที่จั่วหัวไว้ ผมอยากอภิปรายให้เข้าใจก่อนว่าการก่อการร้ายนั้นคือการก่อเหตุซึ่งฝ่ายที่ก่อเหตุรู้แต่ต้นอยู่แล้วว่าต่อกรกับอำนาจที่เหนือกว่ามากๆ ลองนึกภาพง่ายๆ กับภาพสมมติว่าฝ่ายหนึ่งมีปืนสิบกระบอกระเบิดสอง สู้กับรัฐทั้งรัฐที่มีปืนเป็นหมื่นกับเครื่องบิน รถถัง ฯลฯ ภายใต้ความแตกต่างทางปริมาณทรัพยากรและขีดความสามารถในการทำลายที่แตกต่างอย่างมากนี้ ต่อให้ฝ่ายรัฐเพิ่มปืนอีกหมื่นกระบอก เครื่องบินรบอีกสามฝูงบิน เรือดำน้ำอีก 6 ลำอะไรไป มันก็ไม่ได้ทำให้สมการในเชิงกำลังในสายตาของผู้ก่อเหตุแตกต่างไป ว่าแต่ขบวนการก่อการร้ายต่อสู้กับรัฐซึ่งมีกำลังและถือครองทรัพยากรเหนือกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้อย่างไร?
ความเหนือกว่าหลักๆ ของฝ่ายขบวนการก่อการร้ายที่มีต่อรัฐหรือสังคมสมัยใหม่นั้นแทบจะเรียกได้เลยครับว่ามีเพียงประการเดียว นั่นก็คือ ‘การเหนือกว่าในเชิงข้อมูล’ แต่มันไม่ใช่ข้อมูลจำเพาะต้องสืบราชการลับอะไรมาแบบนั้นนะครับ มันคือข้อมูลหลักสำคัญเพียงชุดเดียวเลยนั่นก็คือ พวกเขารู้ว่ารัฐหรือสังคมสมัยใหม่กลัวอะไร ในขณะที่เราไม่เคยรู้เลยว่าพวกเขานั้นกลัวอะไรกันแน่… พวกเรากลัวความตาย กลัวระเบิด และเขารู้จุดอ่อนนี้ของเรา แต่เราไม่เคยรู้จุดอ่อนของเขาเลย เราเพียงหลงผิดคิดว่าเราเข้าใจพวกเขาเท่านั้น และนำมาซึ่งการตอบโต้ด้วยนโยบายที่ตอบโจทย์แบบผิดๆ อย่างสงครามต่อต้านการก่อการร้าย
เท่าที่ผ่านมาประเทศนอร์เวย์ดูจะเป็นประเทศเดียวที่เข้าใจกับปัญหาที่ว่ามานี้จริงๆ จังๆ
ดังที่เราจะเห็นได้จากคดีของแอนเดอร์ส์ เบห์ริง เบรวิก (Anders Behring Breivik) โดยอีตาเบรวิกคนนี้คือคนที่ก่อเหตุความรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นอร์เวย์นับจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2011 เขาได้วางระเบิดที่อาคารที่ทำการรัฐบาลนำมาซึ่งผู้เสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บราว 200 ราย จากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมงก็ก่อเหตุกราดยิงเยาวชนที่เกาะอูเตย่าเสียชีวิตอีก 69 ชีวิต และบาดเจ็บอีก 110 คน เอาเป็นว่ารวมแล้วอีตาเบรวิกคนเดียวนี่ก่อเหตุจนมีคนตาย 77 คน และบาดเจ็บประมาณ 310 คน ซึ่งนับได้ว่าเป็นการก่อการร้ายในสเกลที่ใหญ่มากๆ เลยทีเดียวครับ
หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่อื่นย่างสหรัฐอเมริกา ก็คงจะถูกตัดสินประหารไป ไม่ก็ขังลืมที่กวนตานาโมไปแล้ว หรือถ้าเป็นที่ไทยก็คงจะฮึ่มแฮ่กันยกใหญ่อยู่สองสามสัปดาห์แล้วก็เลือนไปจากความจำเราซะงั้น ก็ขนาดกรณีการสังหารมวลชนเสื้อแดงเกือบร้อยกลางเมืองยังลืมและปล่อยผ่านกันได้เลย….แต่เรื่องแบบที่ว่ามามันไม่เป็นอย่างนั้นครับ ในกรณีของนอร์เวย์
สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีของนายเบรวิกผู้นี้ก็คือ เมื่อเขาถูกจับกุม เขาได้รับการปฏิบัติในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอย่างเต็มที่ เริ่มจากได้รับการเข้าตรวจสอบสภาพทางจิตก่อนว่ามีปัญหาด้านนี้ไหม (หากมีก็จะได้จัดให้เข้าทำการรักษาได้) แต่เมื่อพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้มีอาการผิดปกติทางจิตอะไร ในวันที่ 22 มิถุนายน 2012 เขาก็ได้รับการตัดสินจำคุกเป็นเวลา 21 ปี ซึ่งเป็นการลงโทษระดับสูงสุดของนอร์เวย์ หรือก็คือเขาอยู่ในคุกมาเกือบๆ 5 ปีแล้ว และเมื่อครบระยะแล้วก็มาดูกันว่าเขาพร้อมที่จะกลับเข้าสู่สังคมอีกครั้งหรือยัง? ถ้ายังก็อยู่ในคุกคุณภาพปานโรงแรมของนอร์เวย์นั้นต่อไปอีกวาระละ 5 ปี
สิ่งที่รัฐบาลนอร์เวย์ทำนั้นมันคืออะไร? มันคือการเชื่อในความเป็นมนุษย์ของเบรวิกเสียยิ่งกว่าที่เบกวิกเชื่อตนเองเสียอีกครับ ว่าง่ายๆ ก็คือ ในเมื่อผู้ก่อการร้ายอย่างเบรวิกเป็นคนที่ไม่รักชีวิต ไม่รู้ว่าเขากลัวอะไร ไม่รู้จะต่อรองกับคนแบบนี้ด้วยวิธีการไหน วิธีการแก้ไขก็คือ การทำให้เขากลับมาเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ปฏิเสธคุณค่าแบบยุคสมัยใหม่อีกต่อไป ทำให้เขากลับมารักชีวิตตนเองสูงสุดอย่างเราๆ เพราะว่าเราจะเข้าใจเขาได้ก็เฉพาะเมื่อเขากลายมาเป็นคนที่วางอยู่บนฐานตรรกะ วิธีคิด และความกลัวแบบเดียวกับเราเท่านั้น วิธีการแก้ปัญหาการก่อการร้ายด้วยการอัดความเป็นมนุษย์ใส่เข้าไปในตัวผู้ก่อการร้ายแบบนอร์เวย์จึงเกิดขึ้นครับ
นั่นเป็นวิธีการพูดแบบที่หลายๆ ท่านคงจะคิดว่าอุดมคตินิยม แต่หากผมเปลี่ยนวิธีพูดสักนิดอาจจะทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าจริงๆ แล้วมันเมกเซนส์มากทีเดียว คือ อย่างที่ผมอภิปรายไว้ในตอนต้น เงื่อนไขเดียวที่ทำให้ผู้ก่อการร้ายสามารถต่อกรกับรัฐหรือสังคมสมัยใหม่ที่เหนือกว่ามากๆ ได้นั้นมันเป็นเพราะเขารู้จุดอ่อนเรา แต่เราไม่รู้จุดอ่อนของเขา ฉะนั้นในกรณีนี้มันก็คือการแก้ปัญหาว่า
ในเมื่อเราไม่รู้จุดอ่อนของพวกเขาหรือสิ่งที่พวกเขากลัว อีกทั้งหายังไงก็ไม่มีทีท่าว่าจะพบง่ายๆ ก็เปลี่ยนวิธีคิดเป็นว่า ‘หาทางสร้างหรือจับยัดจุดอ่อนใส่ให้คนเหล่านี้แทน’
การทำให้เขามาเป็นแบบเรา มารักชีวิตเหมือนเรา จึงเป็นการ ‘สร้างจุดอ่อนที่พวกเราสามารถเข้าใจได้’ ให้กับผู้ก่อการร้ายที่ดูจะไร้จุดอ่อนนั่นเองแหละครับ แต่แน่นอนการจะทำอะไรแบบนี้ได้ มันต้องการความเข้าใจและอดทนอดกลั้น (Toleration) จากทุกฝ่ายของสังคมมากๆ สังคมที่ไร้วุฒิภาวะคงไม่มีทางจะเกิดอะไรแบบนี้ได้ ฉะนั้นการจะเริ่มแก้ปัญหาการก่อการร้ายในระดับรากฐานได้ มันจึงหนีไม่พ้นการเริ่มต้นจากการสร้างวุฒิภาวะและความอดทนอดกลั้นในการจัดการกับปัญหาของสังคมหนึ่งๆ ก่อนเท่านั้นแหละครับ
ผมบอกแล้วแต่ต้น ว่าผมเองนั้นยอมรับว่าสิ่งที่อภิปรายมานั้นมันทำได้ยากมาก มันอุดมคตินิยมเสียเหลือเกิน อย่างไรก็ดีผมคิดว่ามันคือความเพ้อเจ้อ เพ้อฝันเสียยิ่งกว่าครับ สำหรับคนที่คิดว่าการเอาระเบิดไปโปรย การเอารถถัง เอากองกำลังไปถล่มกราดยิง หรือการใช้ความรุนแรงอุกอาจจะนำมาซึ่งสังคมที่สงบสุขสันติได้ เอาจริงๆ แล้วที่ผ่านมาสิบกว่าปีนับแต่ 9/11 อันนำไปสู่สงครามต่อต้านการก่อการร้าย หรือการแก้ปัญหาเดิมๆ กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่ 13 ปีมานี้มีแต่เลวร้ายขึ้นนั้น ก็น่าจะให้คำตอบอยู่แล้วว่ามันล้มเหลวไม่เป็นท่า การก่อการร้ายไม่เคยลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากท่าทีการตอบกลับแบบที่ทำกันอยู่
แล้วเราจะต้องไร้สติปัญญาขนาดไหนอีกที่จะยืนยันทำมันซ้ำๆ ต่อไป!
ผมอยากจบบทความนี้ไปด้วยข่าวที่เกี่ยวข้องกับเบรวิกอีกเล็กน้อยครับ คือเมื่อราวปีกว่าๆ ที่แล้ว เบรวิกที่อยู่ในคุกยื่นเรื่องต่อศาลยุโรปเพื่อฟ้องรัฐบาลนอร์เวย์ว่าไม่ปฏิบัติกับเขาอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม เพราะว่ามีผู้คุมบางคนที่มีความโกรธเบรวิกเป็นการส่วนตัว จึงมีการกลั่นแกล้งบ้าง เช่น การแกล้งเคาะให้เกิดเสียงดังให้เบรวิกแทบไม่ได้นอน เป็นต้น รวมไปถึงการที่นักโทษคนอื่นๆ มีเครื่องเพลย์สเตชั่น 4 เล่น ในขณะที่เขาได้รับมาเพียงแค่เครื่องเพลย์สเตชั่น 2 …ศาลยุโรปตัดสินให้เบรวิกชนะคดี และรัฐบาลนอร์เวย์นอกจากจะต้องปฏิบัติกับเขาอย่างเท่าเทียมต่อไปแล้ว ยังต้องจ่ายค่าปรับจำนวนไม่น้อยให้กับเขาอีกด้วย (ใช่ครับ ตอนนี้นายเบรวิกมีเครื่องเพลย์สเตชั่น 4 เล่นแล้ว….บางท่านที่อ่านยังไม่มีล่ะสิ)
แต่ที่ผมประทับใจยิ่งกว่านั้นก็คือ พี่สาวของเหยื่อที่โดนเบรวิกฆ่านั้น ออกมากล่าวขอบคุณศาลยุโรปที่มีคำตัดสินแบบนั้น เพราะมันคือการยืนยันหลักการประชาธิปไตยและคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่หนักแน่นของสังคมนี้ ว่าจะไม่อ่อนไหวหรือบิดเบือนไป เพียงเพราะต้องมาเจอกับภัยบางอย่าง (และมันเป็นสิ่งที่น้องสาวของเธอที่ตายไปเชื่อด้วย) เพราะหากเพียงแค่เจอกับภัย แล้วประชาธิปไตยก็ต้องยอมถอยให้กับวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม นั่นย่อมแปลว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่อ่อนแอ ไร้ซึ่งกลไกในการจัดการกับปัญหาด้วยวิธีการอันเป็นประชาธิปไตยได้ จึงต้องหันไปพึ่งกลไกแบบอำนาจนิยม
ผมคิดว่าจุดยืนของคุณพี่สาวคนนี้ วันนี้ก็คงจะได้พิสูจน์แล้วว่าหากสังคมประชาธิปไตยเจอกับภัยเข้าก็บิดเบือนตัวเองให้กับอำนาจนิยมทันทีจะเกิดอะไรขึ้น…ก็กระแสฝ่ายขวาอำนาจนิยมที่แผ่ซ่านทั่วโลกอย่างตอนนี้แหละครับ