กระแสข่าวที่ร้อนแรงผสมคำประณามด่าแช่งที่หนักหน่วงที่สุดในรอบสัปดาห์นี้ก็คงหนีไม่พ้น 2 เรื่องคือเรื่องภัยการก่อการร้ายที่ดูจะถี่เสียเหลือเกิน กับเรื่องน้ำรอระบายทำกรุงเทพมหาครอัมพาตไปครึ่งเมือง แต่ในเมื่อเราไม่มีผู้ว่าจากการเลือกตั้งมาไว้ให้ด่าหรือวิจารณ์ได้อีกต่อไปในกรณีน้ำท่วม ก็มาคุยกันเรื่องก่อการร้ายดีกว่าครับว่าอะไรทำไมมันจึงขยายตัวเยอะ หรือถี่บ่อยขยันบอมบ์กันปานนี้
หลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดอันเป็นเหตุการณ์ในลักษณะการก่อการร้ายที่โรงพยาบาลพระมงกุฏฯ (ซึ่งชัดๆ ก็คือเป็นโรงพยาบาลทหาร) ในวันครบรอบสามปีการรัฐประหาร คสช. ที่ห้องวงษ์สุวรรณที่เต็มไปด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่แล้วนั้น ก็เกิดเหตุก่อการร้ายขึ้นอีกหลายจุดอย่างต่อเนื่องตามมาทั้งในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ, เมืองมาราวี ประเทศฟิลิปปินส์ และกรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เรียกได้ว่าถี่กันระดับวันต่อวันเลยทีเดียว
จากการได้เห็นข่าวการก่อการร้ายมากมายที่ไล่เรียงมาเป็นลูกโซ่ ก็ดูจะเกิดกระแสคำถามผุดขึ้นมาในสังคมไทยอย่างถ้วนทั่วว่า อะไรมันจะเยอะขนาดนี้ โลกสวยใบเล็กของฉันมันกลายเป็นแบบนี้ไปได้ยังไง ฯลฯ เอาง่ายๆ คำถามหลักก็คือ การก่อการร้ายมันขยายตัวอะไรได้มากมายขนาดนี้กันเนี่ย?
การจะตอบคำถามนี้อาจต้องตอบจากหลายๆ มุมหน่อย อย่างแรกเลยครับที่อยากบอกก็คือ การที่สังคมไทยเราเพิ่งมารู้สึกตื่นเต้นกับความถี่อะไรแบบนี้ โดยส่วนตัวหากให้พูดแบบไม่เกรงใจผมก็คิดว่าก็ควรจะตำหนิและสำเหนียกในความไม่แยแส ไม่สนใจ ไม่ยี่หระของตนเองด้วยในระดับหนึ่ง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรามา 13 ปีนั้น ก็มีความต่อเนื่องและความถี่ที่นับว่าสูงมากมาโดยตลอด แต่เราไม่เคยเห็นกันเลย ตราบเท่าที่เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคลื่อนเข้ามาสู่พื้นที่อย่างกรุงเทพมหานคร และหากเป็นอย่างที่เคยๆ เราก็คงจะรักษาความสนใจหรือการ ‘เห็นภัย’ นี้ได้นานสุดไม่เกินสองสัปดาห์ พูดชัดๆ ก็คือ เราปฏิบัติต่อภัยก่อการร้ายเสมือนหนึ่งกับคริสปี้ครีมก็มิปาน ที่ฮิตฮอตคิวยาวอยู่สามอาทิตย์แล้วก็ซาลง (ว่ากันตรงๆ คริสปี้ครีมยังได้รับความสนใจนานกว่าปัญหาการก่อการร้ายเลย)
ฉะนั้นในแง่นี้ความถี่ ความเยอะที่ตอนนี้มาโอดครวญกันนั้นมันคือ สิ่งที่สังคมเราเลือกละเลยที่จะเห็นเองแต่ต้นด้วยส่วนหนึ่ง แม้มันมีแบบนี้อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนหน้าเหตุการณ์สามสี่ครั้งต่อเนื่องที่พูดถึงข้างต้น นอกจากตัวอย่างของเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดๆ และเป็นความสนใจพอสมควรทั่วโลก แต่เงียบงันนักในไทยก็เห็นได้จากช่วงปลายฤดูถือศีลอดปีที่แล้ว เกิดเหตุวินาศกรรมก่อการร้ายระดับร้ายแรงมากต่อเนื่องไปหมดทั้งในพื้นที่ตะวันออกกลางทั้งอิรัก ซาอุดิอาระเบีย และอื่นๆ แต่เราก็เฉยเสมือนหนึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้น นั่นเพราะเราเลือกจะไม่เห็นมันเอง
พูดแบบไม่เกรงใจก็คือ ปัญหาของการที่เราจู่ๆ ก็รู้สึกว่าภัยก่อการร้ายมันขยายตัวอย่างมากมหาศาลในทันทีนั้น เป็นปัญหาทางด้านสายตาของสังคมเราเอง (พึงหมั่นวัดสายตาและตัดแว่นเป็นระยะด้วยครับ!)
ทีนี้มาดูที่ตัวการเพิ่มขึ้นของคนที่หันมาเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายกันบ้าง จุดนี้ผมอยากอธิบายย้อนไปก่อนว่า ไม่เฉพาะแต่การก่อการร้าย แต่การใช้ความรุนแรงทางการเมืองแทบทุกอย่างนั้น มักจะเริ่มมาจากการที่ในสังคมนั้น มีคนซึ่งรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นพวกเดียวกันกับคนหมู่มากของสังคมที่ตนสังกัดอยู่ (หรือก็คือรู้สึกเป็นอื่น) หรือรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมไม่เป็นธรรมขึ้น ว่าง่ายๆ แบบหลวมๆ ก็คือ รู้สึกว่าโดนกดขี่อยู่นั่นเอง หากเราย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมืองแล้ว ก็วางพื้นฐานอยู่บนสาเหตุนี้แทบทั้งสิ้น อย่างสงครามระหว่างฝ่ายเหนือกับใต้ของสหรัฐอเมริกาคงจะไม่เกิดขึ้นหากคนผิวสีไม่รู้สึกว่าโดนกดขี่ แน่นอน รวมไปถึงขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการปลดแอก ที่ถูกเรียกว่าเป็นขบวนการก่อการร้ายอื่นๆ ด้วย เช่นปาเลสไตน์ ไออาร์เอ เป็นต้น
ฉะนั้นในสังคมที่คนรู้สึกว่าตนเองโดนกดขี่ จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดการเรียกร้องผ่านการใช้ความรุนแรงขึ้น เพราะผู้ก่อเหตุมองว่าไม่มีหนทางอื่นจะทำให้รัฐหันมาสนใจหรือสามารถต่อสู้กับการกดขี่ของรัฐ หรือโครงสร้างของโลกสมัยใหม่ได้อีกแล้ว นอกจากผ่านวิธีการของความรุนแรงครับ
ที่ว่ามามันไปเกี่ยวกับการขยายตัวเพิ่มมาขึ้นของผู้ก่อการร้ายที่เรียกว่า Home-grown terrorist หรือผู้ก่อการร้ายที่เกิดและโตในประเทศที่ตนเองก่อเหตุ รวมไปถึงผู้ให้ความสนับสนุนกับกลุ่มก่อการร้ายที่มีพื้นที่ปฏิบัติการณ์หลักไกลจากตนมากๆ (อย่างกรณีฟิลิปปินส์ ที่แสดงท่าทีชัดว่าเป็นผู้สนับสนุนแนวคิดหรือวิธีการแบบกลุ่มไอเอส) อย่างไร มันมีคำอธิบายโดยเฉพาะกับกรณีโฮมโกรนอย่างนี้ครับ
ผู้ก่อเหตุที่เป็นโฮมโกรนนั้น มักเป็นคนในรุ่นที่ 2 หรือรุ่นที่ 3 ที่อพยพเข้าไปในชาติตะวันตก โดยเกิดและเติบโตที่นั่น อย่างกรณีการก่อเหตุที่คอนเสิร์ตในเมืองแมนเชสเตอร์ล่าสุดนี้เองก็ใช่ โดยมีคำอธิบายที่มองว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนรุ่นที่ 2 หรือ รุ่นที่ 3 นั้นมีแนวโน้มที่จะรู้สึกถึงการโดนกดขี่มากกว่า หรือหากจะพูดให้ถูกก็คือ มี “ภูมิต้านทานต่อความรู้สึกโดนกดขี่ต่ำกว่า” รุ่นแรกนั่นเอง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าคนรุ่นแรกที่ย้ายเข้ามาในโลกตะวันตกนั้น หลายคนย้ายมาเพราะการหนีความยากลำบากแร้นแค้นในพื้นที่ หรือภัยสงคราม ลองนึกภาพอากงอาม่าคนจีนโล้สำเภามาไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ทำนองนั้น ฉะนั้นต่อให้คนรุ่นแรกที่เข้ามาจะต้องเจอกับการปฏิบัติด้วยหรือมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม เท่าเทียมนัก ก็มีขีดความสามารถในการอดกลั้นต่อการกดขี่ที่เกิดขึ้นได้มากกว่า เพราะมีภาพความทรงจำเชิงเปรียบเทียบอยู่ว่า อย่างไรเสียก็ยังดีกว่าสภาพแบบเดิมที่จากมา
ตรงกันข้ามคนรุ่นที่ 2 หรือ 3 นั้นไม่ได้มีภาพความทรงจำที่นำไปเทียบย้อนได้ จึงมีแนวโน้มที่จะมีความสามารถในการอดกลั้นกับการโดนกดขี่น้อยกว่า อีกทั้งยังเกิดมาโดยอยู่ในเงื่อนไขของชีวิตที่มองว่าตนพึงได้รับการปฏิบัติอย่าง ‘ไม่เป็นอื่น’ ดังที่เป็นอยู่แต่ต้นด้วย ฉะนั้นโอกาสในการจะอ่อนไหวต่อความรู้สึกว่าโดนกดขี่จึงสูงขึ้นตามมาได้ (หากอ่านมาถึงจุดนี้ โปรดอย่าทำหาช่องจิกด่าประชาธิปไตยแบบตะวันตกโดยยกอ้างชาติไทยของเรานะครับ ว่านี่ไงโลกประชาธิปไตยตะวันตกสร้างเงื่อนไขนี้ให้คนรู้สึกโดนกดขี่เลยมีโฮมโกรนขึ้นได้มาก แบบเรานี่ดีแล้ว อะไรทำนองนั้น เพราะระดับการกดขี่ของรัฐไทยนั้นสูงส่งขนาดที่มีการก่อการร้ายในประเทศต่อเนื่องมา 13 ปีแล้ว แค่ ‘ตาเรา’ เลือกที่จะไม่เห็นเอง)
เมื่อมองตนเองว่าอยู่ในสถานะของการเป็นผู้ถูกกดขี่หรือผู้เป็นอื่นแล้ว การมีใครก็ตามที่ประกาศตนว่าจะทำลายโครงสร้างวิธีคิดแบบที่เขามองว่ากดขี่เขาอยู่ หรือพร้อมยอมรับและปฏิบัติกับเขาในฐานะ ‘พวกเดียวกัน’ แล้ว ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นไปอีกที่พวกเขาเหล่านี้จะสมาทานตัวเองเข้ากับอิทธิพลวิธีคิดที่ปฏิปักษ์กับรัฐได้ และนี่เองคือคำอธิบายหนึ่งว่าทำไมคนที่เกิดและโตในโลกตะวันตกจำนวนมาก จึงกลายมาเข้าร่วมกับไอเอส
แต่เรื่องมันไม่จบเพียงแค่นี้ด้วยครับ เพราะความรุนแรงมันไม่ได้เกิดจากฝั่งผู้ถูกกดขี่ข้างเดียว คือ หากกลุ่มก้อนของผู้ถูกกดขี่นั้นนับเป็นกลุ่มก้อนประชากรชายขอบของสังคมที่รัฐหรือสังคมผลักออกไปให้ห่างจากศูนย์กลางความสนใจ นั่นย่อมแปลว่าต้องมีอีกกลุ่มก้อนของประชากรที่เป็นกลุ่มก้อนประชากรหลักของสังคมนั้นที่รัฐอุ้มชูดูแลและมองว่ารัฐเป็นของตน คนกลุ่มนี้มีข้อเรียกร้องกับรัฐที่สำคัญที่สุดก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ความมั่นคงตามพันธะสัญญา’ ครับ
เดิมทีก่อนเกิดรัฐสมัยใหม่ในระบอบประชาธิปไตยขึ้นนั้น เราเรียกร้องหรือวิงวอนขอความมั่นคงจากพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ให้คุ้มครองดูแลเรา ไม่ให้โดนโจรผู้ร้ายดักปล้น ไม่ให้มีโรคภัยไข้เจ็บรุมทำร้าย หรือขอให้ผลผลิตทางการเกษตรออกดอกออกผลดี เป็นต้น แต่เมื่อเกิดรัฐสมัยใหม่ในระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐเข้ามาทำหน้าที่แทนพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการประกันความมั่นคงให้กับประชากรของรัฐ และประชากรก็หันมาเรียกร้อง ‘ความมั่นคงตามพันธะสัญญา’ จากตัวรัฐ เราเรียกร้องให้รัฐมีระบบกฎหมายที่ดี กำลังตำรวจที่เข้มแข็งพอที่จะทำให้เรารู้สึกปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย ให้รัฐมีระบบสาธารณะสุขที่ดี ที่จะป้องกันเราจากโรคภัยไข้เจ็บหรือเมื่อเกิดซวยเป็นอะไรขึ้นมาก็พร้อมดูแลรักษา เรียกร้องให้รัฐมีระบบชลประทานที่ดีเพื่อให้เราผลิตพืชผลของเราได้ดีงาม สรุปก็คือ รัฐทำหน้าที่ในการจัดหา, รักษาและคุ้มครองความมั่นคงของชีวิตเรา และเราก็เรียกร้องหน้าที่นี้จากรัฐ
เพราะฉะนั้นหากมันเกิดการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายผู้ถูกกดขี่ขึ้นมา ที่ทำให้กลุ่มประชากรหลักนี้รู้สึกว่าความมั่นคงของชีวิตตนถูกท้าทาย (ว่าง่ายๆ คือ ‘กลัวตาย’ นั่นแหละครับ) ก็จะเรียกร้องหรือทวง ‘ความมั่นคงตามพันธะสัญญา’ จากรัฐทันที ให้รัฐจัดการหรือตอบโต้กับต้นตอของภัยนี้อย่างทันท่วงทีและอย่างเด็ดขาด ดังที่เราเห็นได้จากนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายในปัจจุบันโดยเฉพาะนับตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา แต่ผมอยากจะอธิบายตรงนี้เลยครับว่าการทำแบบนี้ยิ่งเป็นการทำให้การก่อการร้ายขยายตัวหนักหน่วงขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้
ที่ว่าเช่นนั้นก็เพราะว่า มาตรการตอบโต้ที่ทันท่วงที เด็ดขาด และเกรี้ยวกราดของรัฐนั้น เอาจริงๆ ไม่มีทางที่จะลงมือจัดการแล้วจะจัดการได้เฉพาะผู้ก่อการร้ายเป๊ะๆ ทุกครั้งไปหรอกครับ นี่มันหมายความว่าทุกๆ ครั้งที่เราคิดว่าเรากำลังลงมือแก้ปัญหา ลงมือกำจัดภัยที่เราหวาดกลัวนั้น มันมีคนซึ่งไม่เกี่ยวข้อง ‘โดนลูกหลง’ ไปด้วย นอกเหนือจากตัวผู้ก่อเหตุเอง และนี่มันหมายความว่าอะไรในเชิงภาพรวมครับ? มันก็แปลว่า ‘จำนวนคนที่โดนกดขี่จากนโยบายของรัฐนั้นเพิ่มจำนวนขึ้น (แทนที่จะลดลง)’ การขยายตัวของกลุ่มก่อการร้ายจึงยิ่งเพิ่มมากขึ้น และกระจายตัวมากยิ่งขึ้นไปครับ
นี่แหละครับคือเหตุผลว่าทำไมผู้ก่อการร้ายก่อความรุนแรง ไร้ความชอบธรรมใดๆ แล้วยังดันเกิดแนวร่วมใหม่ๆ ขึ้นได้อยู่เรื่อยๆ คุณคิดจริงๆ หรือครับว่าคนที่ก่อเหตุนั้นเขาไม่รู้ว่าหากระเบิดโรงพยาบาลหรือโรงคอนเสิร์ตแล้วเขาจะโดนด่าโดนประณามมากมาย… “เขารู้ครับ! เป็นใครก็รู้!” ประเด็นคือเขาไม่ได้สนใจคำด่าคำวิจารณ์คำประณามของเราอยู่แล้วแต่แรก เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าจะต้องโดน แต่สิ่งที่ฝ่ายผู้ก่อการร้ายดูจะได้รับนั้นกลับเป็นผลต่อเนื่องจากกระแสการประณามและกดดันรัฐให้เร่งดำเนินนโยบายอย่างแข็งกร้าวต่างหาก เพราะมันจะส่งผลให้ ‘ผู้ถูกกดขี่’ หรือ ‘แนวร่วม’ ของเขา เพิ่มมากขึ้นในท้ายที่สุดนั่นเอง
ที่ตลกร้ายไปยิ่งกว่านั้นก็คือ วิธีการคิดว่าเอาระเบิดไปทิ้ง เอาปืนไปไล่ฆ่าผู้ก่อการร้ายให้หมดแล้วจะแก้ปัญหาได้นั้น มันไม่ได้ตอบโจทย์อะไรตั้งแต่ต้นเลย คนที่เอาระเบิดมาพันตัวเพื่อจะระเบิดพลีชีพนั้น คือคนพวกที่เขา ‘พร้อมจะตาย’ หรือสละชีวิตของเขาเพื่อคุณค่าบางประการที่เขาให้ค่ามากกว่าชีวิตเขาอยู่แล้วแต่ต้น
ฉะนั้นเราเอาปืนไปยิงให้เขาตายมันก็ไม่ตอบโจทย์อะไรเลย ในเมื่อเขาพร้อมจะตาย เขาไม่ได้กลัวตายในแบบที่เรากลัวครับ แต่ว่าเราจะมีวิธีการจัดการอย่างไรจึงดูจะตรงจุดกว่านั้น ผมคงต้องขอยกไว้ไปพูดในบทความชิ้นต่อไปแล้วกันครับ เพราะเนื้อที่วันนี้หมดลงแล้ว